ประเภทของเครื่องสำอาง

เครื่องสำอาง


ความหมายของ คำว่า "เครื่องสำอาง" ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ว่า
1. วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใด ต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม และรวมตลอดทั้งเครื่องประทิ่นผิวต่างๆด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
2. วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ หรือ
3. วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง
อาจสรุปได้ง่ายๆว่า
1. เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะกับผิวกายภายนอกเท่านั้น เช่น ผิวหนัง ริมฝีปาก และ ในช่องปาก เส้นผม เล็บ รวมทั้งอวัยวะเพศส่วนนอก
2. ใช้เพื่อความสะอาดในชีวิตประจำวัน เช่น ขจัดคราบเหงื่อไคล สิ่งสกปรกตามผิวกาย เส้นผม
3. ใช้เพื่อระงับกลิ่นกาย แต่งกลิ่นหอม
4. ใช้เพื่อปกป้องหรือส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี ปรับแต่งให้แลดูดี โดยที่ไม่สามารถไปมีผลต่อ โครงสร้างหรือการทำหน้าที่ใดๆของร่างกายมนุษย์

เครื่องสำอางไม่สามารถบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรค หรือมีผลต่อโครงสร้าง หรือ การทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายมนุษย์

การบริโภคเครื่องสำอาง
1. ผู้บริโภคเลือกใช้เองในชีวิตประจำวัน ใช้กันทุกเพศ ทุกวัย
2. ผู้บริโภคมักหวังผลแต่ด้านดี ใช้ตามความพึงพอใจ ไม่ค่อยคำนึงถึงอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้
3. ฉลากและภาชนะบรรจุมักจะสวยงาม ดึงดูดความสนใจ
4. จำหน่าย และส่งเสริมการขายได้โดยอิสระ
5. ไม่ต้องขออนุญาตก่อนทำการโฆษณา จึงมักพบว่ามีการโฆษณาเกินความจริง
จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงและประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแล้ว ได้จัดแบ่งเครื่องสำอางออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ
เป็นเครื่องสำอางที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอันตรายกับผู้บริโภค เนื่องจากพิษภัยหรืออันตรายของเคมีภัณฑ์ที่เป็นส่วนผสม การกำกับดูแลจึงเข้มงวดที่สุด ด้วยการให้ต้องมาขึ้นทะเบียนตำรับ เมื่อได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับเครื่องสำอางควบคุมพิเศษเรียบร้อยแล้ว จึงจะผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายได้ เครื่องสำอางที่จัดเป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ได้แก่ เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารควบคุมพิเศษ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ 2535 ได้แก่
o ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) เรื่อง กำหนดเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ
o ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2537 เรื่อง กำหนดเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ (ฉบับที่ 3)
o ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2538 เรื่อง กำหนดเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ (ฉบับที่ 4)
o ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2539 เรื่อง กำหนดเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ (ฉบับที่ 5)
ตัวอย่างเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ
o ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ไหมขัดฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
o น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของ เซทิลไพริดิเนียมคลอไรด์
o ผลิตภัณฑ์ดัดผม ยืดผม
o ผลิตภัณฑ์ย้อมผมชนิดถาวร
o ผลิตภัณฑ์ฟอกสีผม
o ผลิตภัณฑ์แต่งสีผมที่มีส่วนผสมของเลดแอซีเทต หรือซิลเวอร์ไนเตรต
o ผลิตภัณฑ์กำจัดขน หรือทำให้ขนร่วง
2. เครื่องสำอางควบคุม
เป็นเครื่องสำอางกลุ่มที่อาจมีผลกระทบ หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายบ้าง การกำกับดูแลจึงไม่เข้มงวดเท่าเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ผู้ประกอบธุรกิจเพียงมาแจ้งรายละเอียดต่อหน่วยงานรัฐ ภายในเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร การกำหนดเครื่องสำอางควบคุม มี 2 ลักษณะ คือ
2.1 กำหนดประเภทของเครื่องสำอาง 4 ประเภท เป็นเครื่องสำอางควบคุม ได้แก่
o ผ้าอนามัย ทั้งชนิดแผ่น และชนิดสอด (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2536 เรื่อง ผ้าอนามัย)
o ผ้าเย็นหรือกระดาษเย็นในภาขนะบรรจุที่ปิด (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2536 เรื่อง ผ้าเย็น)
o แป้งฝุ่นโรยตัว(ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2536 เรื่อง แป้งฝุ่นโรยตัว)
o แป้งน้ำ (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2536 เรื่อง แป้งน้ำ)
2.2 กำหนดสารควบคุม ดังนั้น เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารควบคุม จะจัดเป็นเครื่องสำอางควบคุม ได้แก่
o สารป้องกันแสงแดด จำนวน 19 ชนิด ที่ปรากฏตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2536) เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีสารป้องกันแสงแดด
o สารขจัดรังแค (ซิงก์ไพริไทโอน และไพรอกโทน โอลามีน) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2537 เรื่องกำหนดเครื่องสำอางที่มีสารซิงก์ไพริไทโอน และไพรอกโทน โอลามีน เป็นเครื่องสำอางควบคุม
o สารขจัดรังแค (คลิมบาโซล) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2539 เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีสารคลิมบาโซล
3. เครื่องสำอางทั่วไป
ได้แก่เครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนผสมของสารควบคุมพิเศษ หรือสารควบคุม จะ มีข้อกำหนดในการผลิตหรือนำเข้าฯ ดังนี้
3.1 เครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศ สามารถผลิตได้โดยไม่ต้องมาแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพียงแต่จัดทำฉลากภาษาไทยให้มีข้อความอันจำเป็น ครบถ้วน ชัดเจน (ส่วนข้อความอื่นๆบนฉลากต้องเป็นความจริง และมีเอกสารหลักฐานพร้อมที่จะพิสูจน์ได้)
3.2 เครื่องสำอางที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้องส่งมอบหลักฐานประกอบการนำเข้า และต้องจัดทำฉลากภาษาไทยให้มีข้อความอันจำเป็น ครบถ้วน ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับการตรวจปล่อยให้นำเข้ามาในราชอาณาจักร (ส่วนข้อความอื่นๆบนฉลากต้องเป็นความจริง และมีเอกสารหลักฐานพร้อมที่จะพิสูจน์ได้) ตัวอย่างเครื่องสำอางทั่วไป ได้แก่
แชมพูสระผมที่ไม่มีสารขจัดรังแค ครีมนวดผม โลชั่น ครีมบำรุงผิว อายแชโดว์ อายไลเนอร์ ดินสอเขียนคิ้ว บลัชออนแต่งแก้ม ลิปสติก ครีมรองพื้น แป้งทาหน้า สบู่ก้อน สบู่เหลว โฟม น้ำมันทาผิว เครื่องสำอางระงับกลิ่นกาย สีทาเล็บ มูส หรือเยลแต่งผม เป็นต้น




โดย : นาง สมัธยา เพ็ชรวงศ์, ร.ร.มัธยมวัดสิงห์, วันที่ 27 พฤษภาคม 2545