อาหารเป็นพิษ


โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)

สาเหตุ และอาการของโรค

โรคอาหารเป็นพิษมักพบการเจ็บป่วยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะ เวลาอันสั้นภายหลังจากการรับประทานอาหาร เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น Salmonella, Staphylococcus aureus, Vibrio parahaemolyticus, Clostridium perfringens, bacillus cereus, Botulinum ฯลฯ เชื้อรา เห็ดมีพิษ หรือสารเคมีต่างๆ การติดต่อโดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไข่เป็ด ไข่ไก่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ ถ้าไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอก่อนรับประทานก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้ อาการสำคัญคือ อุจจาระร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องเนื่องจากเชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ นอกจากนี้อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว รายที่ท้องเสียมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้ และบางรายอาจมีอาการรุนแรง เนื่องจากมีการติดเชื้อและเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ข้อและกระดูก ถุงน้ำดี กล้ามเนื้อ หัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตจะทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
การรักษา
1. ในระยะเริ่มแรกที่มีอาการอุจจาระร่วง ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาการเหลวที่เตรียมได้เองในบ้านเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ เช่น น้ำข้าว (ใส่เกลือ 2 หยิบมือ) น้ำแกงจืด น้ำผลไม้ โจ๊ก หรือข้าวต้ม และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ทุกครั้งที่ถ่ายเหลว โดยให้ในสัดส่วนที่ถูกต้อง ถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้ดื่ม 50-100 ซีซี (1/4-1/2 แก้ว) เด็กอายุ 2-10 ปี ดื่ม 100-200 ซีซี (1/2-1 แก้ว) อายุ 10 ปีขึ้นไปให้ดื่มได้มากกว่า 1 แก้ว หรืออาจเตรียมสารละลายเกลือแร่ได้เอง โดยการผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา กันน้ำต้มสุกเย็น 750 ซีซี (1 ขวดน้ำปลากลม)
2. สำหรับเด็กที่ยังกินนมแม่ ให้กินต่อไปโดยไม่ต้องหยุด ส่วนเด็กที่กินนมผสม ให้ผสมตามปกติแล้วให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่สลับกันไป
3. ไม่ต้องงดอาหารในระหว่างท้องร่วง ให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มผสมผัก ปลา เนื้อสัตว์ต้มเปื่อย
4. การรักษาดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น ยังคงถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก อาเจียนบ่อย กระหายน้ำมาก ตาลึกโหล กินอาการหรือดื่มน้ำไม่ได้ มีไข้ ถ่ายเป็นมูกมีเลือดปน ให้นำผู้ป่วยไปตรวจรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านต่อไป
5. ไม่จำเป็นต้องกินยาหยุดถ่าย เพราะภาวะอุจจารร่วงส่วนใหญ่จะหายได้เองและการถ่ายอุจจาระเป็นกลไกของร่างกายที่จะขับของเสีย สารพิษ และเชื้อโรคออกจากร่างกาย การกินยาหยุดถ่ายไม่ได้ทำให้ร่างกายลดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ภายในลำไส้ และยังอาจรบกวนประสิทธิผลของยาปฏิชีวนะในรายที่มีการติดเชื้อลำไส้อักเสบ
6. การใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ และควรใช้เฉพาะในรายที่เป็นบิด ถ่ายเป็นมูกหรือมีเลือดปน และในรายที่เป็นอุจจาระร่วงอย่างแรง หรือมีอาการอื่นแทรกซ้อน การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยาหรือดื้อยาได้
การป้องกัน
1. ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหาร หรือก่อนเตรียมนมให้เด็ก และภายหลังจากการเข้าห้องน้ำ หรือห้องส้วมทุกครั้ง
2. ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก
3. รับประทานอาหารที่สะอาดและสุกใหม่ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆดิบๆโดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม
4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ค้างมื้อ เพราะจะทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ง่าย หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิดและเก็บไว้ในตู้เย็น แล้วนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง
5. ผักสดหรือผลไม้ ควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำประปา หรือน้ำผสมคลอรีนครึ่งช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร
6. กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ขยะที่เปียกแฉะควรใส่ถุงพลาสติกผูกให้แน่นแล้วทิ้งในถังรองรับ แล้วกำจัดโดยการฝังหรือเผา เพื่อป้องกันมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน
7. ถ่ายอุจจาระลงในส้วม หรือในสถานที่ที่อุจจาระไม่สามารถลงไปปะปนในแหล่งน้ำได้
8. สำหรับผู้ประกอบอาหารและพนักงานเสริฟอาหาร ควรหมั่นล้างมือก่อนจับต้องอาหารทุกครั้ง และดูแลรักษาความสะอาดภาชนะในครัว และอุปกรณ์เครื่องใช้ในการประกอบอาหาร ตลอดจนกำจัดขยะมูลฝอยและเศษอาหารทุกวัน หากมีอาการอุจจาระร่วง ควรหยุดปฏิบัติงานจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อ ในอุจจาระ






โดย : นาง สมัธยา เพ็ชรวงศ์, ร.ร.มัธยมวัดสิงห์, วันที่ 27 พฤษภาคม 2545