หัวไชเท้า


หัวผักกาดขาว หรือรู้จักกันดีในชื่อหัวไชเท้ามีขายทุกฤดูกาลในตลาดสด แต่จะมีมากที่สุดในช่วงฤดูหนาว คือระหว่างเดือนธันวาคม ถึงมีนาคม ช่วงเวลาดังกล่าวหัวผักกาดขาวจะมีราคาถูกมากและสดน่ารับประทาน หัวผักกาดขาวรับประทานได้ทั้งดิบ ๆ และหุงต้มสุกแล้วโดยนำมายำ ผัด แกงจืด แกงส้มตลอดจนนำมาทำเป็นผักกาดดองหวานกิมจิ และหัวผักกาดดองเค็มตากแห้ง (ไชโป้ว) เก็บไว้รับประทานได้ตลอดทั้งปี
หัวผักกาดขาวมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Raphanus sativus Linn วงศ์ Cruciferae เป็นพืชผักที่อุดมด้วยวิตามินซี และแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียมและฟอสฟอรัส และมีแร่เหล็กอยู่บ้าง ในส่วนที่รับประทานได้ของหัวผักกาดขาวดิบหนัก 100 กรัม จะให้คุณค่าอาหารดังนี้คือ แรงงาน 14 แคลอรี โปรตีน 0.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม, แคลเซี่ยม 24 กรัม, ฟอสฟอรัส 14 กรัม, แร่เหล็ก 0.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 22 มิลลิกรัม, วิตามินบี-หนึ่ง และบี-สอง อย่างละเล็กน้อย ราคาของหัวผักกาดขาวนั้นแตกต่างกันตามฤดูกาล ในช่วงฤดูหนาวซึ่งหัวผักกาดขาวปลูกได้ง่ายและเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่จะประมาณ 2-4 บาทต่อ 1 กิโลกรัม นอกฤดูกาลประมาณ 5-7 บาท และไม่เคยแพงไปกว่านั้น จึงนับได้ว่าเป็นพืชผักราคาถูกที่มีคุณค่าทางอาหารพอสมควรอีกชนิดหนึ่งที่ควรบริโภค
หัวผักกาดขาวดิบมีกลิ่นฉุน เนื่องจากมีน้ำมันมัสตาร์ด ซึ่งระเหยได้ กลิ่นฉุนนี้ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าช่วยกระตุ้นน้ำย่อย ดั้งนั้นในอาหารญี่ปุ่นหลาย ๆ ชนิด จึงใส่หัวผักกาดขาวขูดฝอยลงในซีอิ้วที่ใช้เป็น้ำจิ้ม หรือหั่นเป็นเส้นเล็กยาวรับประทานร่วมไปกับปลาดิบ ในน้ำจิ้มของอาหารเวียดนามจะใส่ผักกาดขาวขูดหรือสับลงเช่นเดียวกัน แต่ในการรับประทานปลาดิบของชาวจีนจะใช้ทั้งหัวผักกาดขาวดิบหั่นฝอย หัวไชโป๊ว รับประทานร่วมไปกับผักอื่น ๆ เช่น คื่นไฉ้ ตังโอ๋ มะเฟือง เป็นต้น
ในตำรายาพื้นบ้านของอินเดียกล่าวถึงการรับประทานหัวผักกาดขาวว่า ทำให้นอนหลับและแก้โรคประสาท ทางจีนถือว่าเป็นผักที่อยู่ในกลุ่มของหยัง (YANG) คือเป็นอาหารร้อน ไม่ควรรับปรทะานเมื่อร่างกายมีไข้ ในสาขาวิทยาศาสตร์การอาหารปัจจุบันได้มีการใช้ใบของหัวผักกาดขาวมาเตรียมโปรตีน ทางการค้าโปรตีนจากใบของหัวผักกาดขาวมีคุณค่าทางอาหารและใช้เป็นอาหารเสริมเมื่อขาดโปรตีน เมล็ดมีสารเคมีหลายชนิดซญึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และมีฤทธิ์ในทางปฏิชีวนะ น้ำมันจากเมล็ดใช้ทำสบู่ จุดตะเกียง และใช้เป็นอาหาร กากเมล็ดที่เหลือ (Seed Cake) หลังจากบีบน้ำมันมีโปรตีนในปริมาณสูง นำไปเลี้ยงสัตว์ได้


โดย : นางสาว สาวิตรี พละทรัพย์, -, วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544