โรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน
( Diabets Mellitus )

โรคเบาหวาน เป็นโรคอีกชนิดหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่เข้าสู่วัยกลางคนสาเหตุหนึ่งของโรคเกิดจากตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย ทำให้การเผาผลาญอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลในร่างกายมีน้อย จึงเกิดการคั่งในกระแสเลือด หรือเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและถูกไตกรองออกมาในปัสสาวะ บางคนอาจสังเกตว่า ปัสสาวะมีมดขึ้น ซึ่งเป็นอาการเตือนของโรคเบาหวานนั่งเอง
ใครที่มีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน
สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานยังไม่แน่นอน แต่สิ่งที่อาจเป็นต้นเหตุของการเกิดโรค ได้แก่ กรรมพันธุ์ ความเครียด อายุมากขึ้น ความอ้วน หญิงที่มีบุตรยาก การอักเสบจากตับอ่อนจากการติดเชื้อไวรัส หรือยาบางชนิด
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการ กระหายน้ำและดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย รับประทานอาหารมากแต่ผอมลง อ่อนเพลีย ซึม ตาพร่ามัว แผลหายช้า คันตามตัว ตกขาวคันในผู้หยิง ชาตามปลายมือปลายเท้า บางคนอาจสังเกตว่า ปัสสาวะมีมดขึ้น
อาการแทรกซ้อน
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานนาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษาที่จริงจังต่อเนื่อง หรือรักษาไม่ถุกวิธี จนทำให้อาการเป็นมากขึ้น อาจเกิดอาการแทรกซ้อนตามมา คือ ตามัวและเป็นต้อกระจกเร็วกว่าวัย ถ้ามีแผลจะรักษาหายยาก เส้นเลือดแข็งตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า ไตเสีย ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพาต
ในรายที่เป็นมาก จะหมดสติและหายใจหอบลึกหากรักษาไม่ทันอาจถึงตายได้
การป้องกันโรคเบาหวาน
1. ลดอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาลและไขมันให้น้อยลงและชดเชยด้วยโปรตีนและผักต่าง ๆ
2. ระวังไม่ให้อ้วนมาก
3. ออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ
4. เมื่อมีโรคติดเชี้อให้รีบรักษา
5. ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ระวังอย่างให้น้ำหนักขึ้นจากปกติเกิน 10 กิโลกรัม
6. เป็นผู้ที่มีสุขภาพที่ดี ไม่เครียด
7. ตรวจปัสสาวะ เจาะเลือด เพื่อตรวจสอบน้ำตาลเป็นระยะ ๆ
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
1. ควบคุมอาหารตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งการควบคุมอาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคน จะได้รับประทานอาหารที่ถูกต้อง ดดยควบคุมอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลและหันมารับประทานอาหารโปรตีนและผักต่าง ๆ ให้มากขึ้น
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. ใช้ยาให้ถุกต้องและมาตรวจตามแพทย์นัด
4. ตรวจน้ำตาลในเลืออดอย่างสม่ำเสมอ
5. พกน้ำตาล หรือลูกกวาดติดตัวเสมอ ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น หิว ตัวสั่น เหงื่อออก ปวดศรีษะ ตามัว ให้รีบกินน้ำตาลทันที
แต่ถ้าผู้ป่วยมีน้ำตาลในเลือดมากเกินไป อาจจะเกิดอาการง่วง ผิวหนังร้อนผ่าว คลื่นไส้ อาเจียนหายใจมีกลิ่นผลไม้ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
6. พกบัตรประจำตัวผู้ป่วยโรคเบาหวานติดตัวไว้เสมอ ขณะเดินทาง
7. ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้เส้นเลือดหดแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่ดี
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานานหรือตลอดชีวิต การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และควบคุมอาหารให้ดี มีส่วนช่วยให้ท่านดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติได้ และอย่าลืมว่า โรคเบาหวานป้องกันได้ ดังนั้นเราควรหันมาเอาใจใส่ดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเราต่อไป


ข้อมูล : วิทยา ศรีดามา บรรณาธิการ. การดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวาน. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: โครงการตำราจุฬาอายุรศาสตร์, 2543.






โดย : นาง พิกุล เทพพิพิธ, โรงเรียนนารีนุกูล, วันที่ 24 พฤศจิกายน 2544