ฮอร์โมนเพิ่มความสูงมีจริงหรือ?

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีค่านิยมเรื่องความสูง คือ สูงดีกว่าเตี้ย ส่วนมากต้องการให้ลูกชายสูงประมาณ 6 ฟุต หรือ 180 เซนติเมตร โดยเปรียบเทียบกับพระเอกในภาพยนต์ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าสูงแล้วดูสง่างามมีอำนาจ และมีลักษณะผู้นำส่วนลูกสาวควรสูงประมาณ 170 เซนติเมตรขึ้นไป โดยเปรียบเทียบกับนางแบบหรือนางงามจักรวาลซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าผู้หญิงสูงดูสวยและมีเสน่ห์

เราทราบมานานแล้วว่าร่างกายมนุษย์มีฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตหรือช่วยเพิ่มความสูงที่สำคัญมากชนิดหนึ่งคือ ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตที่เรียกว่า โกรทฮอร์โมน หรือ ฮอร์โมนจีเอช (growth hormone, GH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างและหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง

ฮอร์โมนจีเอชจะกระตุ้นให้มีการยืดของกระดูกในแนวยาวทำให้ร่างกายของคนเราสูง ขึ้น

เด็กที่เป็นโรคขาดฮอร์โมนจีเอชมักมีการเจริญเติบโตช้าและเป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนสูงประมาณ 120-140 เซนติเมตร การรักษาด้วยฮอร์โมนนี้ช่วยให้เด็กกลุ่มนี้โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสูงปกติ

ในทางตรงกันข้ามเด็กที่เป็นโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองชนิดที่มีการสร้างฮอร์โมน จีเอชมากผิดปกติมักจะเจริญเติบโตเร็วและเป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนสูงประมาณ 200-250 เซนติเมตร

ทำไมแต่ละคนสูงต่างกัน

ปัจจัยสำคัญที่กำหนดความสูงของแต่ละคนคือ พันธุกรรม ภาวะโภชนาการสิ่งแวดล้อม และความเจ็บป่วยในคนๆ นั้น

ปัจจัยทางพันธุกรรม เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ความสูงของพ่อแม่เป็นดัชนีกำหนดศักยภาพความสูงของลูก

ตัวอย่างเช่น

พ่อสูง 165 เซนติเมตร แม่สูง 155 เซนติเมตร ในกรณีที่ลูกแข็งแรงปกติดี สามารถคำนวณความสูงของลูกได้ดังนี้

ลูกชายจะสูง = (165+155)/2 + 5.5 = 165.5 เซนติเมตร + 10

ลูกสาวจะสูง = (165+155)/2 - 5.5 = 145.5 เซนติเมตร + 10

ดังนั้นพี่น้องจากพ่อแม่เดียวกันจึงมีความสูงที่แตกต่างกันได้มากพอสมควร ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละคนได้รับหน่วยพันธุกรรมที่ควบคุมความสูงแตกต่างกัน

ปัจจัยทางโภชนาการและการออกกำลังกาย ก็เป็นปัจจัยสำคัญมากเช่นกันกล่าวคือ เด็กที่ขาดอาหารก็จะมีการเจริญเติบโตช้า และโตเป็นผู้ใหญ่ที่เตี้ยกว่าที่ควรจะเป็นตามศักยภาพทางพันธกรรม

ในขณะที่เด็กที่ได้อาหารครบส่วนก็จะมีการเจริญเติบโตได้เต็มที่ตามศักยภาพความสูงในครอบครัวนั้น

ตัวอย่างเช่น คนญี่ปุ่นหลังสงครามโลกมีการเจริญเติบโตสูงขึ้นเนื่องจากมีภาวะโภชนาการดีขึ้น แต่ความสูงเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นก็ยังน้อยกว่าชาวอเมริกันหรือยุโรป ทั้งนี้สืบเนื่องจากศักยภาพทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกันขณะนี้ความสูงเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เซนติเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับคนไทยเมื่อ 20-30 ปีก่อน ดังนั้นเด็กหนุ่มสาวในปัจจุบันจึงมักจะสูงกว่ารุ่นพ่อแม่ แต่มักจะไม่สูงเกินกว่าศักยภาพความสูงในครอบครัวนั้นๆ

สิ่งแวดล้อม เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอีกเช่นเดียวกัน ประเทศที่มี 4 ฤดู จะพบว่าฤดูร้อนมีแสงแดดจัด เด็กจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าฤดูหนาวซึ่งใส่เสื้อผ้าหนาไม่ถูกแสงแดด ทั้งนี้เนื่องจากแสงแดดมีความสำคัญต่อการสร้างวิตามินดีของร่างกาย และวิตามินดีมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของกระดูกโดยตรง

นอกจากนี้โรคหรือความเจ็บป่วยก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ โรคขาดฮอร์โมนบางชนิด โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคกระดูก เป็นต้น โรคเหล่านี้มีส่วนสำคัญทำให้เจริญเติบโตช้า

ปัจจุบันมนุษย์สามารถสังเคราะห์ฮอร์โมนจีเอชได้จำนวนมากๆ ในห้องทดลองโดยไม่จำเป็นต้องไปสกัดจากต่อมใต้สมองของคนที่เสียชีวิตเหมือนในสมัยก่อน

ฮอร์โมนจีเอชจะช่วยเพิ่มความสูงของเด็กปกติให้สูงกว่าศักยภาพทางพันธุกรรมได้หรือไม่

ขณะนี้ทั่วโลกมีเด็กปกติซึ่งไม่ขาดฮอร์โมนจีเอชและได้รับการฉีดฮอร์โมนนี้หลายหมื่นราย โดยให้ขนาดยาประมาณ 2-3 เท่าของขนาดที่ร่างกายคนปกติสร้างขึ้น (GH secretory rate) พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีการเจริญเติบโตเร็วขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีแรกและปีที่สองของการรักษา ปีถัดๆ ไปอัตราการเจริญเติบโตจะค่อยๆ ลดลง

ความสูงเมื่อเป็นผู้ใหญ่จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอที่จะบอกได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ของเด็กกลุ่มนี้ยังไม่หยุดการเจริญเติบโต ข้อเท็จจริงที่พบได้ในเด็กกลุ่มนี้คือ เมื่อฮอร์โมนจีเอชเร่งการเจริญเติบโตให้เร็วขึ้นก็จะเร่งการปิดของกระดูกให้เร็วขึ้นด้วย เมื่อกระดูกปิดแล้วก็จะไม่มีการยืดของกระดูกอีกต่อไป ดังนั้นฮอร์โมนจีเอชอาจทำให้โตเร็วขึ้นในระยะที่สั้นลง ความสูงเมื่อเป็นผู้ใหญ่อาจจะไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเด็กปกติที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนนี้

การศึกษาจากประเทศอิตาลีที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ (Journal of Pediatrics) เมื่อปลายปี 2537 ได้รายงานการรักษาเด็กเตี้ยที่ไม่ได้ขาดฮอร์โมนจีเอชจำนวน 15 ราย นานติดต่อกันเป็นเวลา 4-10 ปี พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีการเจริญเติบโตเร็วขึ้นใน 4 ปีแรกของการรักษา แต่ความสูงเมื่อเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้แตกต่างกับความสูงตามศักยภาพทางพันธุกรรม และก็ไม่แตกต่างกับความสูงที่คำนวณได้ก่อนให้การรักษา แสดงว่าฮอร์โมนจีเอชเร่งการเจริญเติบโต และก็เร่งให้กระดูกปิดเร็วขึ้นด้วย เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับความสูงตอนเป็นผู้ใหญ่ในเด็กกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนจีเอชยังมีน้อยมากฉะนั้นคงต้องติดตามผลในระยะ 5-10 ปี จึงจะมีข้อมูลที่เด่นชัดว่าฮอร์โมนนี้ช่วยเพิ่มความสูงในเด็กปกติได้มากน้อยแค่ไหน

การได้รับฮอร์โมนจีเอชสูงจะมีผลอย่างไร

มีการพบว่า เด็กที่มีเนื้องอกของต่อมใต้สมองชนิดที่มีการสร้างฮอร์โมนจีเอชมากผิดปกติมีความสูงได้กว่า 200 เซนติเมตร เนื่องจากฮอร์โมนจีเอชที่เนื้องอกสร้างขึ้นมีปริมาณมากขึ้นหลายสิบเท่า ดังนั้นหากฉีดฮอร์โมนจีเอชขนาดสูงหลายสิบเท่าให้เด็กปกติ ก็น่าจะช่วยให้เด็กปกติสูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยแต่ก็คงจะเกิดโรคแทรกซ้อนจากการที่มีระดับฮอร์โมนจีเอชในร่างกายมากเกินไป เช่น โรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคกระดูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น โรคเหล่านี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกดังกล่าว จึงไม่คุ้มที่จะมีความสูงเพิ่มขึ้นแต่มีโรคแทรกซ้อนหลายอย่างตามมา

มีฮอร์โมนอื่นช่วยในการเจริญเติบโตหรือไม่

ฮอร์โมนเพศ (sex teroids) ซึ่งมีทั้งฮอร์โมนเพศหญิง-เอสโตรเจน (estrogen) และฮอร์โมนเพศชาย-เทสโตสเตอโรน (testosterone) ฮอร์โมนเพศนี้ช่วยในการเจริญเติบโตโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่เริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาว

ทั้งฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิงกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนจีเอชเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้กระดูกยืดยาวออก จึงทำให้เด็กวัยรุ่นโตเร็วขึ้นมาก

สาเหตุของเด็กเตี้ยในช่วงอายุ 9-15 ปี ที่พบบ่อยคือ ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวช้า เด็กมักจะมีประวัติครอบครัวคือ พ่อหรือแม่เป็นหนุ่มเป็นสาวช้ากว่าปกติ ตัวอย่างเช่น แม่มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุ 16 ปี หรือพ่อเริ่มเป็นหนุ่มและโตเร็วเมื่ออายุ 18 ปี ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวช้านี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ เพราะในที่สุดเด็กจะเจริญเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสูงปกติ

เด็กบางรายที่มีปัญหาทางจิตใจมาก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเป็นหนุ่มเป็นสาวช้า แพทย์จะพิจารณาให้ฮอร์โมนเพศปริมาณน้อยๆ นาน 3-6 เดือน มักให้เมื่อเด็กอายุมากกว่า 13-14 ปี เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเริ่มเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาว

การให้ฮอร์โมนในลักษณะนี้เป็นการให้เลียนแบบธรรมชาติซึ่งไม่มีผลต่อการทำให้กระดูกปิดเร็วขึ้น และไม่มีผลต่อความสูงเมื่อเป็นผู้ใหญ่กล่าวคือ ไม่ทำให้ความสูงตอนเป็นผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นหรือลดลง การให้ฮอร์โมนจีเอชในเด็กที่มีภาวะนี้ก็จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตได้ แต่ไม่มีข้อมูลว่าจะทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความสูงสุดท้ายเพิ่มขึ้นจากปกติ

การใช้ฮอร์โมนเพศมีผลดี ผลเสียอย่างไร

การใช้ฮอร์โมนเพศที่ไม่มีข้อบ่งชี้ตามหลักวิชาการจะให้โทษมากกว่าเป็นประโยชน์ต่อเด็ก เช่น ผสมฮอร์โมนเพศในอาหาร หรือใช้เป็นยากระตุ้นให้อยากอาหาร ถ้าใช้ในเด็กจะทำให้เด็กกินอาหารได้มาก และเจริญเติบโตเร็วขึ้นอย่างชัดเจน คล้ายๆ กับเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งเป็นหนุ่มสาว ซึ่งมีฮอร์โมนเพศในร่างกายมาก แต่ข้อเสียที่ตามมาคือ เด็กจะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ตัวอย่างเช่น บางรายมีเต้านมโตตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เด็กชายบางรายมีขนที่หัวเหน่าตั้งแต่อายุ 4 ขวบ นอกจากนั้นการเจริญเติบโตของกระดูกที่เร็วผิดปกติจะทำให้กระดูกปิดเร็วก่อนกำหนด ทำให้หยุดการเจริญเติบโตทางด้านความสูงก่อนวัย จึงกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เตี้ยกว่าปกติ

อยากสูงโดยไม่ใช้ฮอร์โมนควรทำอย่างไร

ขณะที่เราพยายามหาสารจากภายนอกมาใช้เพิ่มความสูงของมนุษยชาติ เราควรมองปัจจัยธรรมชาติที่สามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อที่จะให้เด็กมีการเจริญเติบโตได้สูงสุดตามศักยภาพที่มีอยู่

ปัจจัยที่สำคัญคือ ภาวะโภชนาการ อาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตอย่างมาก คือต้องได้ปริมาณหรือแคลอรีเพียงพอ และได้คุณภาพหรืออาหารครบส่วน เด็กที่กินอาหารโปรตีนพอเหมาะจะเจริญเติบโตดีกว่าเด็กที่กินอาหารโปรตีนต่ำ

เด็กที่ดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์นม ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของแคลเซียม จะทำให้กระดูกมีการเจริญเติบโตและหนาตัวมากกว่าเด็กที่กินอาหารแคลเซียมต่ำ

ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะทำให้สุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนจีเอชเพิ่มขึ้น

ปัจจัยสุดท้ายคือการนอนหลับ โดยปกติฮอร์โมนจีเอชจะหลั่งออกมากในขณะที่หลับสนิท ขณะตื่นหรือหลับๆ ตื่นๆ ฮอร์โมนจีเอชจะหลั่งออกมาน้อยมาก ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เด็กปรับพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย และการนอนหลับเพื่อให้เด็กเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพความสูงโดยไม่ต้องอาศัยสาร กระตุ้นจากภายนอกร่างกาย

ปัญหาการใช้ฮอร์โมนจีเอช

การบริหารยาฮอร์โมนจีเอชในปัจจุบันมีเพียงวิธีเดียวคือการฉีดเข้าใต้ผิวหนังวันละครั้งก่อนนอน โดยทั่วไปจะฉีดจนกระทั่งเด็กหยุดการเจริญเติบโตหรือกระดูกปิด ดังนั้นการรักษาจึงต้องฉีดยาติดต่อกันเป็นเวลาหลายๆ ปี ปัญหาที่สำคัญคือการฉีดยาทุกวันอาจมีผลเสียทางด้านจิตใจในเด็กหลายๆ คน นอกจากนี้ราคายาสูงมากคือ ประมาณ 2 - 5 แสนบาทต่อคนต่อปี และสุดท้ายปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบก็คือ ผลเสียระยะยาวจะมีหรือไม่ยังไมีมีข้อมูลเพียงพอที่จะบอกได้ เนื่องจากยาที่สังเคราะห์ขึ้นนี้ใช้มานานไม่ถึง 10 ปี

สรุป

ฮอร์โมนเพิ่มความสูงมีจริง และช่วยให้เด็กที่ขาดมีความสูงปกติได้ ส่วนเด็กปกติที่ไม่ได้ขาดฮอร์โมน คงต้องติดตามผลการศึกษาวิจัยต่อไปว่าฮอร์โมนจีเอชขนาดที่ปลอดภัยจะช่วยเพิ่มความสูงได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งมีผลเสียระยะยาวที่จะติดตามมาหรือไม่
โดย มหาโชคเลิศวัฒนา, พัฒน์ 2540 หมอชาวบ้าน 19(219) : 12-16