Iodine
(I)
ไอโอดีน

เลขอะตอม 53 เป็นธาตุที่ 4 (นับจาก F) ของหมู่ VIIA ในตารางธาตุจัดเป็นโลหะ
น้ำหนักอะตอม 126.9044 amu
จุดหลอมเหลว 113.6 ํc
จุดเดือด 185 ํc
ความหนาแน่น 4.93 g/cc ที่ 20 ํc
4.886 g/cc ที่ 60 ํc
เลขออกซิเดชันสามัญ - 1, + 1, + 3, + 5, + 7

การค้นพบ

ค้นพบโดย Bernard Curtios นักเคมีชาวฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1811 นักเคมีผู้นี้ขณะนั้นทำการผลิตโพแทสเซียมไนเตรด (KNO3) สำหรับใช้ในกองทัพนาโปเลียน (Napoleon) ซึ่งกรรมวิธีการผลิตใช้เถ้าหยาบ ๆ จาก kelp (เถ้าสาหร่ายทะเลชนิดหนึ่ง) ช่วยเก็บรักษาโพแทส (potash หรือ K2CO3) ขณะที่เขาล้าง kelp ด้วยกรดซัลฟูริกเพื่อทำลายสิ่งปนเปื้อน เขาสังเกตเกิดควันสีม่วง ซึ่งควบแน่นบนเครื่องมือที่ทำด้วยทองแดงของเขา และทำให้เครื่องมือนั้นผุกร่อน เขาพบว่าถ้านำสารละลายจากการล้าง kelp มาเติมกรดแก่มาก ๆ จะได้ตะกอนเป็นผงสีดำ และเมื่อนำตะกอนนี้ไปทำให้ร้อน ก็จะให้ไอสีม่วงเช่นกัน

ต่อมา F. Clement และ J.B. Desormes ได้ศึกษาสมบัติของสารที่ค้นพบใหม่นี้ J.L. Gay-Lussac เป็นคนแรกที่พบว่าสารนี้เป็นธาตุใหม่ และตั้งชื่อธาตุนี้ตามคำกรีกซึ่งมีความหมายว่าสีม่วง (violet)

การใช้ประโยชน์

1. ใช้ฆ่าเชื้อโรค เนื่องจาก I2 มีสมบัติฆ่าเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ I2 และสารประกอบของ I2 ยังใช้ฆ่าเชื้อโรคของน้ำในสระว่ายน้ำฆ่าเชื้อโรคในน้ำดื่ม และฆ่าเชื้อโรคในระบบอื่น ๆ
2. ใช้เป็นตัวเร่ง ไอโอดีนและสารประกอบของไอโอดีน เช่น ในปฏิกิริยา dehydrogenation ของอัลเคน เป็นต้น
3. ใช้ในปฏิกิริยาการสังเคราะห์สารอินทรีย์ เช่น ปฏิกิริยาของ Hofmann, Williamson, wurtz และ Grignard
4. ใช้ในเคมีวิเคราะห์ ตามที่รู้จักกันว่า "Iodometry"
5. ไอโซโตปกัมมันตรังสี 131I ใช้เป็นตัว tracer ในปฏิกิริยาเคมี

ความเป็นพิษ

ไอโอดีนเป็นพิษมาก (ถ้าเข้าสู่ร่างกายในปริมาณสูงเกินไป) ไอของไอโอดีนทำให้แสบตา กัดเยื่อจมูก และกัดผิวหนัง ระดับการทนได้ของไอของ I2 ในอากาศ คือ 0.1 ppm
ผู้เขียน : ดร.ชัยวัฒน์ เจนวาณิชย์
ที่มา : รวบรวมจาก หนังสือสารานุกรมธาตุ