สภาวะแวดล้อมกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับคนรุ่นต่อไป
จากปี 1980  มีความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น การสูญเสียโอโซน การทำลายป่าไม้เมืองร้อน การสูญเปล่าของทรัพยากร การขยายตัวของทะเลทราย และการเสื่อมโทรมของดิน  การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอาจจะทำให้พื้นที่กลายเป็นทะเลทรายและสูญเสียป่าไม้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ระบบนิเวศต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลง การเสื่อมโทรมของดินและการสูญเสียป่าไม้ก็มีบทบาทสำคัญในการแปรเปลี่ยนของภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกวัย และผลที่จะเกิดกับชีวิตมนุษย์ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลา และจะเป็นสิ่งที่ตกทอดจากรุ่นปัจจุบันไปสู่อนุชนรุ่นต่อ ๆ ไป ตลอดจนเป็นภัยคุกคามทั้งต่อกำลังพัฒนาและประเทศอุตสาหกรรม แต่จะกระทบมากที่สุดต่อประชากรที่ยากจนที่สุด ในประเทศที่ยากจนที่สุดซึ่งต้องพึ่งกับทรัพยากรที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม

 
การร้อนขึ้นของโลกยิ่งทำให้สภาพการณ์เลวร้ายลงไป การแปรเปลี่ยนของภูมิอากาศเป็นอันตรายที่สุดต่อคนยากจนในประเทศกำลังพัฒนา ด้วยเหตุผล 2 ประการ โดยทั่วไปประเทศที่ยากจนและกลุ่มคนที่ยากจนในประเทศเหล่านี้มีความสามารถในการปรับตัวที่น้อยกว่า นอกจากนั้น ประเทศที่ยากจนโดยทั่วไปมีระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องพึ่งพาทรัพยากรด้านเกษตรกรรม และทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าประเทศอื่น ๆ   กลุ่มคนที่มีซึ่งมีความสามารถในการปรับตัวน้อยสุด ก็คือเด็ก ๆ นั่นเอง

 
โครงการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ ก็ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ใกล้เคียงกัน สุขภาพของมนุษย์อาจจะถูกกระทบได้โดยการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยเพียงเล็กน้อย และโรคร้ายส่วนมากแพร่เชื้อได้ดีในสภาวะที่อบอุ่น และจะมีการติดเชื้อที่ดื้อยามากขึ้นด้วย

 
กลวิธีในปัจจุบันเพื่อการเสริมสร้างภูมิต้านทาน ซึ่งได้แก่ การควบคุมจำนวนเชื้อโรค การจัดหาน้ำดื่มที่สะอาด การพัฒนาด้านโภชนาการต่างก็มีพื้นฐานอยู่บนสภาพอากาศระบบนิเวศระดับน้ำทะเล และระดับการแผ่รังสีดวงอาทิตย์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปรไป

 
สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใดก็ไม่สามารถคาดคะเนได้อย่างถูกต้อง ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะปรับกลวิธีด้านสาธารณสุขและโภชนาการไว้เตรียมรับกับสภาพอากาศในอนาคต การแปรเปลี่ยนของสภาพอากาศอาจจะทำให้บางส่วนของโลกมีความชื้นมากกว่า และบางส่วนก็แห้งแห้งมากกว่า สภาวะแห้งแล้งอาจจะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง และจะเกิดขึ้นยาวนานในบางภูมิภาค ในขณะที่ภาวะน้ำท่วมอาจจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมเลย

 
 การเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของก๊าซต่าง ๆ ที่เกิดจากปฏิกิริยาเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ โคลโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCS) และโอโซนในชั้นบรรยากาศระดับต่ำและไอน้ำจะทำให้อุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูง ขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดภายในช่วงไม่กี่ทศวรรษ ไม่ใช่

 
ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวนั้น จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นโลกเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 3 องศาเซลเซียส ในช่วงเวลา 40-60 ปี การเพิ่มขึ้นนี้จะยิ่งสูงขึ้นหากยิ่งห่างออกจากเส้นศูนย์สูตร ในฤดูร้อนอากาศอาจจะแห้งกว่าในบริเวณใจกลางทวีปที่ตั้งอยู่ส่วนกลางของซีกโลกทางเหนือ (UNEP, 1980b)
การเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิจะมีทำให้ระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นด้วยประมาณ 30 เซนติเมตรในช่วงเวลา 40 ปี ข้างหน้าหรือมากกว่านั้น สิ่งนี้จะก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมเพิ่มขึ้นในพื้นที่ระดับต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นที่ที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้เห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับขนาดของน้ำท่วมที่เป็นผลมาจากปฏิกิริยาเรือนกระจก แต่การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเพียงประมาณ 1 หรือ 2 เมตรก็จะสามารถทำให้บริเวณที่ชื้นและพื้นที่ระดับต่ำหลายแห่งต้องตกอยู่ใต้น้ำตลอดไป ทำให้เร่งการผุกร่อนของแนวชายฝั่ง น้ำท่วมชายฝั่งมีความรุนแรงขึ้น คุกคามโครงสร้างบริเวณชายฝั่ง และเพิ่มความเค็มให้กับลำน้ำที่เชื่อมต่อกับทะเล

 
ระบบนิเวศชายฝั่ง ซึ่งช่วยดูแลพื้นดินและฝูงปลารวมทั้งแหล่งทรัพยากรใต้น้ำต่าง ๆ ก็จะแปรเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง การเพิ่มสูงของระดับน้ำทะเล จะทำให้มีน้ำขึ้นสูงและเพิ่มความแรงของพายุ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นต่อบ้านเรือน อาคารและพื้นดิน รวมทั้งชีวิตมนุษย์ด้วย การแปรเปลี่ยนเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมหาศาลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสภาพแวดล้อม สำหรับหลายประเทศ ประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเกาะ พื้นที่ต่ำ หรือหมู่เกาะจะถูกกระทบได้ง่ายเป็นพิเศษ


ที่มา : รวบรวมจาก ดร. เกษม จันทร์แก้ว หนังสือวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะกรรมการบัณฑิตศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์