ฟีโรโมน

สารเคมีที่แมลงสร้างขึ้นมาดึงดูดเพศตรงข้ามเรียกว่า ฟีโรโมน (pheromone) ต่อมาความรู้เรื่องฟีโรโมนขยายกว้างขวางขึ้น ไม่ได้อยู่ในวงจำกัดเฉพาะแมลงเท่านั้น โดยขยายวงกว้างไปยังสัตว์อื่นๆอีกหลายชนิด คำว่าฟีโรโมนในปัจจุบันหมายถึง สารเคมีเมื่อสร้างออกมาภายนอกร่างกายแล้วสามารถที่จะไปมีผลต่อสัตว์อื่นที่เป็นชนิดเดียวกัน ทำให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและสรีระเฉพาะอย่างได้
เมื่อสัตว์ปล่อยฟีโรโมนออกมานอกร่างกายแล้ว สัตว์ตัวอื่นจะได้รับฟีโรโมน3ทางด้วยกันได้แก่ ทางการดมกลิ่น ทางการกิน และทางการดูดซึม การรับฟีโรโมนทางกลิ่น ส่วนมากเพื่อประโยชน์ในการดึงดูดเพศตรงข้ามให้มาหา หรือเป็นการบอกตำแหน่งให้รู้ว่าอยู่ที่ไหนหรือเป็นการบอกอาณาเขต หรือเป็นสิ่งเตือนภัยให้รู้ถึงอันตราย ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมฟีโรโมนที่มีผลในทางกลิ่นก็มีเช่น ชะมด ที่มีกลิ่นตัวแรงมาก สร้างมาจากต่อมใกล้ๆอวัยวะสืบพันธุ์ และปล่อยออกมานอกร่างกายได้ทั้งในตัวผู้และตัวเมียมนุษย์ได้สกัดสารออกมาจากต่อมของสัตว์พวกนี้เพื่อใช้เป็นหัวน้ำหอม

การรับฟีโรโมนด้วยการกิน มีตัวอย่างไม่มากนัก เท่าที่รู้จักกันก็มีสารที่สร้างมาจากต่อมบริเวณรยางค์ปากของผึ้งราชินีเพื่อเอาไว้ให้ผึ้งงานซึ่งเป็นผึ้งตัวเมียกิน เมื่อกินแล้วผึ้งงานจะเป็นหมัน เพราะสารดังกล่าวมีผลไปห้ามการเจริญเติบโตของรังไข่และการสร้างไข่ จึงทำให้ผึ้งงานไม่มีโอกาสสืบพันธุ์เหมือนผึ้งราชินี แต่กลับทำงานรับใช้ผึ้งราชินี ผึ้งตัวผู้และตัวอ่อนผึ้งประดุจทาสจนตลอดชีวิตแม้ถึงฤดูผสมพันธุ์ก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับตัวผู้
ส่วนการรับฟีโรโมนโดยการดูดซึม พบในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางพวก เช่น แมลงสาบและแมงมุมบางชนิด ตัวเมียของสัตว์พวกนี้จะปล่อยฟีโรโมนทิ้งเอาไว้จนกระทั่งตัวผู้มาสัมผัสสารดังกล่าวจะซึมผ่านผิวเข้าไปกระตุ้นให้ตัวผู้เกิดความพอใจ และติดตามตัวเมียจนพบและทำการผสมพันธุ์ ในตั๊กแตนตัวผู้จะปล่อยฟีโรโมนทิ้งเอาไว้หลังผสมพันธุ์ เมื่อตัวอ่อนเติบโตและสัมผัสถูกสารนั้น สารจะซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายของตัวอ่อนแล้วกระตุ้นให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยและสามารถสืบพันธุ์ได้ สำหรับในคนยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีฟีโรโมนอะไรบ้าง

นอกจากนี้สัตว์บางชนิดใช้ฟีโรโมนในการเตือนภัยหรือแสดงความเป็นเจ้าของอาณาเขต เช่น กวางบางชนิด เช็ดสารบางชนิดที่สร้างจากต่อมบริเวณใบหน้ากับต้นไม้ตามทาง หรือสุนัขถ่ายปัสสาวะไว้ในที่ต่างๆเพื่อกำหนดอาณาเขต
ถ้าสังเกตมดที่เดินตามกันเป็นทาง จะเห็นว่ามดเดินตามรอยเดิมได้อย่างถูกต้อง แม้ว่าทางเดินจะคดโค้งไปอย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะมดปล่อยฟีโรโมนที่เป็นสารเคมีประเภทกรดฟอร์มิกไว้ตามทางที่มีกลิ่นนั้นไปยังแหล่งอาหารได้ แต่ถ้ามดไม่พบอาหารก็จะไม่ปล่อยสารฟีโรโมนออกมาขณะเดินกลับรัง