ต่อมาภายหลังจึงเริ่มเล่นกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น จนเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2470 โดยการนำของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระยาสุพรรณ  สมบัติและมิสเตอร์ อาร์ ดี เดร็ก ได้ขอความร่วมมือไปยังสโมสรต่างๆ ถึง 12  สโมสร คือ

ราชกรีฑาสโมสร สโมสรภูเก็ต 
สโมสรกีฬาสมัคยาจารย สโมสรสงขลา
สโมสรการรถไฟแห่งประเทศไทย สโมสรลำปาง
สโมสรสีลม  สโมสรเชียงใหม่ยิมคานา
สโมสรกลาโหม สโมสรนครสวรรค์
สโมสรนวรัฐ  สโมสรอังกฤษ         

        เข้าร่วมประชุมและจัดตั้งลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไปขึ้น  ได้มีการออกกฎข้อบังคับที่ใช้เป็นมาตรฐานทั่วไป โดยมีกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็น นายกลอนเทนนิสสมาคมนานถึง 12 ปี ใน พ.ศ. 2470 ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย  ได้จัดการแข่งขันชิงชนะเลิศ แห่งประเทศไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกที่สโมสรสีลมในปี พ.ศ. 2494 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 ทรงรับเอาลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยไว้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงนับได้ว่าพระองค์ทรงเป็น "บาดแห่งวงการเทนนิสไทย" ดังนั้นคณะกรรมการสมาคมจึงได้กำหนดตราเครื่องหมายสมาคม โดยใช้เลข 7 ใต้พระมหามงกุฎเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ปี พ.ศ. 2495 ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้แปลกติกา ของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติเพื่อใช้ในการเล่นและแข่งขัน

ลอนเทนนิสสมาคมฯ

ประวัติฉบับ น.พ.บรรจง กรลักษณ์ อดีตนายกลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย
          น.พ.บรรจง เขียนเป็นบันทึกเกี่ยวกับกีฬาเทนนิสในประเทศไทยไว้ว่า แต่เดิมนั้นกีฬาเทนนิส นิยมเล่นกันเฉพาะกลุ่มชาวต่างประเทศ ต่อมามีเจ้านายชั้นสูง และข้าราชการระดับสูง เริ่มเล่นกัน ครั้งนั้น นักเทนนิสไทย ยังนุ่งผ้าม่วงเล่นเทนนิส บางคนระหว่างการเล่นยังกินหมากไปด้วย ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นกางเกง และต้องสีขาว ตามแบบฉบับของชาวฝรั่ง ที่ถือว่าการเล่นเทนนิสต้องนุ่งกางเกงขายาวสีขาว เป็นการสุภาพกว่าขาสั้น อย่างไรก็ตาม นักเทนนิสในประเทศไทยรุ่นก่อน มักจะเป็นชาวอังกฤษ และอเมริกัน จนถึงปลาย พ.ศ. 2462 คนไทยจึงเริ่มเล่นกันมากขึ้น
          "ระหว่างที่ข้าพเจ้าเพิ่งอายุได้ 7 ขวบ บิดาเคยซื้อลูกเทนนิสให้เตะเล่น เวลานั้นลูกเทนนิสบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษ กล่องหนึ่งมี 6 ลูก เล่นกันตามสนามเอกชนของชาวฝรั่งที่เข้ามาอาศัย หรือทำงานในประเทศไทย ต่อมาก็มีสนามเทนนิสตั้งขึ้นตามบริษัทต่างๆ เช่นที่ บริษัท บอร์เนียว ธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ บริษัท บอมเบย์เบอร์ม่า ีตามบ้านเอกชนฝรั่ง เช่นบ้านมิสเตอร์คอลลินส์" ฉบับ นายนัติ นิยมวานิช อดีตเลขานุการ กิตติมศักดิ์

           นายนัติ นิยมวานิช ผู้ก่อตั้งบริษัท ไนติงเกล - โอลิมปิค จำกัด อดีตเลขานุการกิตติมศักดิ์ หรือตำแหน่งเลขาธิการในปัจจุบัน ในช่วงปี 2494 - 2495 ได้บันทึกไว้ในหนังสือลอนเทนนิสสมาคมฯ ปี 2494 ว่า "พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเล่าว่า สโมสรลอนเทนนิสแห่งแรก ในประเทศไทย ตั้งขึ้นที่พระราชอุทยานสราญรมย์ เมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว ในสโมสรนี้มีสมาชิกราว 10 คน และมีสองสนาม ต่อมาจำนวนสมาชิก เพิ่มขึ้น จึงย้ายไปเล่นที่สนามของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สโมสรนี้รุ่งเรืองอยู่หลายปี แต่ที่สุดก็ต้องล้มเลิกไป เพราะไม่มีสนามเป็นิของตนเอง อนึ่ง ในระหว่างนั้นก็ยังมีสโมสรที่มีการเล่นเทนนิสอีกแห่งหนึ่งคือ บางกอกยูไนเต็ดคลับ แต่สนามนี้เป็นสนามซีเมนต์ และมีเพียงสนามเดียว
           นอกจากนี้ ยังปรากฎว่า ครั้งนั้นมีสนามเทนนิสเอกชนอีกหลายแห่ง เช่นที่ บ.บอร์เนียว ธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ บ.บอมเบย์เบอร์ม่า บ้านมิสเตอร์ คอลลินส์ ที่กระทรวงเกษตราธิการ บ้านมิสเตอร์ลอฟตัส ซึ่งอยู่ใกล้โรงเรียนนายเรือ ธนบุรี บ้านหมอแม็คฟาแลนด์ ที่โรงพยาบาลศิริราช และบ้านมิสเตอร์บัสโฟร์ หลังกองทัพเรือ เป็นต้น
           ในครั้งนั้น นักเทนนิสไทยนุ่งผ้านุ่งเล่นเทนนิส ส่วนชนอังกฤษ และอเมริกันสวมกางเกงสักกะหลาดขาวตามประเพณีนิยม ต่อมาราว กลางเดือน มกราคม พ.ศ. 2443 จึงมีนักเทนนิสผู้หนึ่งใช้กางเกงขาสั้นเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้คนอื่นมองค้อน และบางคนถึงกับให้คำตักเตือน แต่ที่สุดกางเกงขาสั้นก็เป็นฝ่ายชนะ และมีผู้นิยมตราบเท่าทุกวันนี้
           ดูเหมือนว่านักเทนนิสในประเทศไทยรุ่นก่อนจะเป็นคนอังกฤษ และอเมริกันโดยส่วนมาก แต่ไม่ช้าคนไทยก็เริ่มเล่นเทนนิสกันมากขึ้น ปลาย  พ.ศ. 2463 พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ มิสเตอร์ อาร์ ดี เคร็ก และ พระยาสุพรรณสมบัติ ได้จัดตั้งลอนเทนนิสสมาคมแห่ง ประเทศไทยฯ เมื่อ 14 เมษายน พ.ศ.2470 โดยความร่วมมือจากสโมสรเทนนิสต่างๆ รวม 12 สโมสร คือ ผู้แทนราชกรีฑาสโมสร สโมสรรถไฟ สโมสรกีฬาสามัคยาจารย์ สโมสรอังกฤษ สโมสรนครสวรรค์ สโมสรลำปาง สโมสรสีลม สโมสรรวรัฐ สโมสรเชียงใหม่ยิมนาคา สโมสรสงขลา สโมสร กลาโหม และสโมสรภูเก็ต และได้ตราข้อบังคับของลอนเทนนิสฯและใช้เป็นบรรทัดฐานต่อมาจนถึงปัจจุบัน กรรมการชุดแรกของลอนเทนนิส สมาคม แห่งประเทศไทยฯ คือ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็นนายก นายอาร์ ดี เคร็ก เลขานุการกิตติมศักดิ์ พระยาสุพรรณสมบัติ เหรัญญิกกิตติมศักดิ์ ส่วนสโมสรที่อยู่ในเครือแห่งสมาคมที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการคือ ราชกรีฑาสโมสร สโมสรกีฬาสามัคยาจารย์ สโมสรอังกฤษ สโมสรสีลม และสโมสรกลาโหม"ปลาย พ.ศ. 2470 สมาคมจัดการแข่งขันลอนเทนนิสเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่สโมสรสีลม" 

นางสาวสุปราณี  ตรุวรรณ์ ได้รับถ้วยรางวัลรองชนะเลิศ พร้อมคูปองเงินรางวัล 3,000 บาท ในการแข่งขันเทนนิสเยาวชนหญิงเดี่ยวรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี จากสโมสรสีลม ในพระบรมราชูปถัมป์

ฉบับ นายรองสนิท โชติกเสถียร อดีตกรรมการบริหารฯ นายรองสนิท เขียนบทความ "อนุสรณ์พระผู้ให้กำเนิด ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย" เมื่อ พ.ศ. 2494 - 2495 ไว้ว่า ย้อนหลังไป พ.ศ. 2469 อันเป็นปีรุ่งจากปีเสวยราชสมบัติแห่งพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สมาคมลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ได้รับการสถาปนาขึ้น องค์พระประมุขของประเทศทรงเป็นผู้ริเริ่ม และให้กำเนิดแก่ สมาคมนี้  พระองค์ทรงสนพระทัยในเกมของลอนเทนนิสมาตั้งแต่ยังมิได้เสวยราชสมบัติ ทรงมีสนามเทนนิสอยู่ที่วังสุโขทัย และได้ทรงพระมหากรุณา ให้นักเทนนิสผู้มีฝีมือดีไปฝึกซ้อมด้วย ท่านผู้หนึ่งซึ่งได้รับพระมหากรุณาเป็นเนืองนิจ คือ พระบำรุงนาวา มือชั้น 1 สมัยนั้นต่อมาเมื่อได้เสวย ราชสมบัติแล้ว  พระราชกรณียกิจได้ทวีขึ้นเป็นอันมาก แต่กระนั้นก็ยังทรงปลีกเวลาเสด็จไปทรงเทนนิสยังพระราชวังเดิมคือ วังสุโขทัย และได้ทรงมี กระแสรับสั่งให้ข้าราชการที่มีฝีมือในการเล่นเทนนิสไปร่วมเล่นด้วย มีพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ เป็นต้น     

        โดยเหตุที่ทรงสนพระทัยกีฬาประเภทนี้เป็นพิเศษ ภายหลังจากที่ได้เสวยราชสมบัติเพียงปีเดียวก็ได้ทรงพระราชดำริจัดตั้งลอนเทนนิสสมาคม ขึ้น  โดยได้ทรงมอบให้ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ในฐานะที่เสด็จในกรมพระองค์นั้นโปรดกีฬาประเภทนี้อยู่มากเหมือนกัน กับได้มีกระแสรับสั่งให้  มิสเตอร์ อาร์ ดี เคร็ก ที่ปรึกษากระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งทรงคุ้นเคยอยู่มากไปช่วยเหลือ เพื่อร่างข้อบังคับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายลอนเทนนิสสมาคม แห่งประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ และเป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่เริ่มตั้งเป็นต้นมา ต่อมาทุกครั้งที่ลอนเทนนิส สมาคม แห่งประเทศไทย เปิดการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทยขึ้น ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร และพระราชทานถ้วย เป็น ประจำทุกปี ในการประชุมกรรมการเพื่อคิดทำตราเครื่องหมายของสมาคม ในปี 2494 นี้ คณะกรรมการจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้เลขานุการ กิตติมศักดิ์ ไปจัดการออกแบบเครื่องหมาย โดยให้มีเลข ๗ อยู่ภายใต้พระมหามงกุฎ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้ทรงให้กำเนิดแก่สมาคมด้วย ในหนังสือ ลอน เทนนิสสฯ ฉบับเดียวกันนั้น ยังได้ลงพิมพ์เรื่องวันไว้ด้วยว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมกีฬาเทนนิสให้แพร่หลาย ยกมาตรฐานการเล่นเทนนิส ใน ประเทศไทยให้สูงขึ้น และเพื่อความสามัคคี ลอนเทนนิสฯ จึงกำหนดจัดให้มีวันเทนนิสขึ้นวันหนึ่งในทุกๆ รอบปี โดยถือวันที่ 15 เม.ย. ซึ่งตรงกับวันกำเนิดของสมาคม คือ 15 เม.ย. พ.ศ.2470

ที่ตั้งสมาคม

            พ.ศ.2509 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 มีการก่อสร้างสนามเทนนิส และอัฒจันทร์ พร้อมห้องทำงาน ในบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน เพื่อใช้ในการแข่งขันเทนนิส เมื่อการแข่งขันจบลงแล้ว กรมพลศึกษา ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่อนุญาตให้ ลอนเทนนิสฯ เข้ามาใช้ประโยชนในพื้นที่ดังกล่าว พ.ศ.2520 องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (การกีฬาแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน)  จัดสร้าง สนามเทนนิสจำนวน 6 คอร์ต ขึ้นในบริเวณองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก และมอบให้ลอนเทนนิสฯ เป็นผู้ครอบครอง เพื่อดำเนิน กิจการของสมาคม พ.ศ.2521 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 8 ลอนเทนนิสฯ ได้งบประมาณสร้างสนาม เทนนิส เพิ่มเติมอีก 2 คอร์ต และได้หางบประมาณเพิ่มเติม สร้างอัฒจันทร์สนามเทนนิสหัวหมาก รวมเป็น 8 คอร์ต ซึ่งได้รับการบูรณะซ่อมแซมมา เป็นระยะๆ และซ่อมแซมครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2528 เมื่อประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 10 พ.ศ.2541 เมื่อประเทศไทย เป็น เจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 การกีฬาแห่งประเทศไทย สร้างสนามกีฬาพร้อมอัฒจันทร์ขนาดใหญ่ "ราชมังคลากีฬาสถาน" ในบริเวณการกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดพิธีเปิด-ปิดการแข่งขัน ตลอดจนจัดการแข่งขันฟุตบอล ทำให้สนามเทนนิส บางส่วนถูกรื้อ เพื่อขยายเป็นถนน และคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 กำหนดให้กีฬาเทนนิส ไปทำการแข่งขันที่สนาม เทนนิส ศูนย์กีฬาเมืองทองธานี แจ้งวัฒนะ ลอนเทนนิสฯ ต้องย้ายที่ทำการไปอาศัยอยู่ที่สนามกีฬาไนติงเกลโอลิมปิค ถนนรามอินทรา ด้วยความ อนุเคราะห์ของ บริษัท ไนติงเกล - โอลิมปิค จำกัด และใช้สนามเทนนิสไนติงเกลโอลิมปิค เป็นสถานที่จัดการแข่งขันของสมาคม ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2540

หลังการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด เจ้าของพื้นที่ศูนย์กีฬาเมืองทองธานี ได้มอบสนามเทนนิสศูนย์กีฬาเมืองทองธานี พร้อมด้วยอาคารสระว่ายน้ำ ห้องสควอช และห้องพักอีก 10 ห้อง บนอาคารข้างสนามเทนนิสฯ ให้ลอนเทนนิสฯ ครอบครอง ใช้เป็นที่ทำการ และสนามจัดการแข่งขัน ตลอดจนเป็นศูนย์ฝึกเทนนิส และสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬาทีมชาติ และเยาวชน โดยมีการทำบันทึกสัญญาร่วมกันเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2542 มีกำหนดระยะให้ครอบครอง 5 ปี

รายนามนายกสมาคมลอนเทนนิส

จากอดีต ถึงปัจจุบัน

1. พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ระหว่าง พ.ศ. 2470 - 2482

2. พลเอก หลวงพรหมโยธี ระหว่าง พ.ศ. 2482 - 2484

3. พันตำรวจโท ขุนศรีศรากร ระหว่าง พ.ศ. 2484 - 2490

4. หม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ รพีพัฒน์ ระหว่าง พ.ศ. 2490 - 2494

5. นายชุณห์ ปิณฑานนท์ ระหว่าง พ.ศ. 2494 - 2495

6. นายเมืองเริง วสันตสิงห์ ระหว่าง พ.ศ. 2495 - 2505

7. นายแพทย์บรรจง กรลักษณ์ ระหว่าง พ.ศ. 2506 - 2507

8. พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ระหว่าง พ.ศ. 2507 - 2519

9. พลตรี วีรินท์ เบี้ยวไข่มุข ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม 2 ช่วง คือ ระหว่าง พ.ศ. 2519 - 2522 และ พ.ศ. 2524 - 2526

10. พลเรือตรี วินัศ ศิริกายะ ระหว่าง พ.ศ. 2522 - 2524

11. นายวาริน พูนศิริวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม 3 ช่วง คือ ระหว่าง พ.ศ. 2526 - 2528, พ.ศ. 2532 - 2534 และ พ.ศ. 2536 - 2538

12. พันเอก สุรพิชญ์ อมรวิเชษฐ์ ระหว่าง พ.ศ. 2528 - 2532

13. นายสมจิตร ทองประดับ ระหว่าง พ.ศ. 2534 - 2536

14. พลเอก สายหยุด เกิดผล ระหว่าง พ.ศ. 2538 - 2540 

15. พลเอก อัครเดช ศศิประภา ระหว่าง พ.ศ. 2540 - 2544

16. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ปัจจุบัน