(Tournament Management)

กติกาเทนนิส พ.ศ. 2539

( ปรับปรุงแก้ไขโดย พันโทศุภชัย มณีอินทร์ )

ลอนเทนนิสสมคมฯ แห่งประเทศไทย

เสริมเติมโดย อาจารย์เจริญชัย ใจขาน

การแข่งขันประเภทเดี่ยว ( The Singles Game )

                ข้อ 1 สนามเทนนิส ( The Court )  สนามต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 78 ฟุต ( 23.77 เมตร ) กว้าง 27 ฟุต ( 8.23 เมตร )

                สนามจะต้องแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยตาข่าย ( Net ) ซึ่งห้อยลงมาจากเชือกขึงตาข่าย ( Cord or Metal Cable ) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ไม่เกิน 1/3 นิ้ว ( 0.8 เซนติเมตร ) ปลายเชือกขึงตาข่ายต้องขึงติดกับหัวเสาหรือพาดผ่านหัวเสาสองต้น เสา ( Post ) ต้องเป็นเสาสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวไม่เกิน 6 นิ้ว ( 15 เซนติเมตร ) หรือเป็นเสากลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 6 นิ้ว ( 15 เซนติเมตร ) เสาทั้งสองนี้จะต้องไม่สูงกว่า ส่วนบนของเชือกขึงตาข่ายเกิน 1 นิ้ว ( 2.5 เซนติเมตร ) จุดกึ่งกลางของเสาทั้งสองต้นอยู่ห่างจากสนามข้างละ 3 ฟุต ( 0.914 เมตร ) ความสูงของเสาต้องทำให้ส่วนบนของเชือกขึงตาข่ายอยู่สูงจากพื้นสนาม 3 ฟุต 6 นิ้ว ( 1.07 เมตร )

                ในการแข่งขันประเภทเดี่ยวซึ่งใช้สนามและตาข่ายของประเภทคู่ ( ดูกติกาข้อ34 ) จะต้องปรับตาข่ายให้สูง 3 ฟุต 6 นิ้ว ( 1.07 เมตร ) โดย เพิ่มเสาขึ้นสองต้น เสาที่เพิ่มนี้เรียกว่า ไม้ค้ำตาข่าย(Singles Sticks ) เสานี้ต้องเป็นเสาสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวไม่เกิน 3 นิ้ว ( 7.5 เซนติเมตร ) หรือเป็นเสากลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 3 นิ้ว ( 7.5 เซนติเมตร ) จุดกึ่งกลางของไม้ค้ำตาข่ายต้องอยู่ห่างจากสนามประเภทเดี่ยวข้างละ 3 ฟุต      ( 0.914 เมตร )

                ตาข่ายต้องขึงเต็มปิดช่องระหว่างเสาทั้งสองต้นได้หมด ตาข่ายต้องมีตาขนาดเล็กพอที่จะไม่ให้ลูกเทนนิสลอดได้ ตรงจุดกึ่งกลางของตาข่าย ต้องสูงจากพื้น 3 ฟุต ( 0.914 เมตร ) และต้องมีแถบขึงตาข่าย ( Strap ) สีขาวกว้างไม่เกิน 2 นิ้ว ( 5 เซนติเมตร ) ยึดไว้กับพื้น แต่ละด้านของตาข่าย ต้องมีแถบหุ้มตาข่าย ( Band ) สีขาวหุ้มเชือกขึงตาข่ายและขอบบนของตาข่าย แถบนี้ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 2 นิ้ว ( 5 เซนติเมตร ) และต้องไม่มากกว่า 2 ½ นิ้ว ( 6.35 เซนติเมตร ) ต้องไม่มีการโฆษณาใดๆ บนตาข่าย แถบขึงตาข่าย แถบหุ้มตาข่ายหรือไม้ค้ำตาข่าย

                เส้นที่อยู่ปลายสุดของสนามทั้งสองข้างเรียกว่า เส้นหลัง ( Base-Lines ) เส้นที่อยู่ด้านข้างของสนามทั้งสองด้านเรียกว่า เส้นข้าง ( Side- Lines ) เส้นที่ลากขนานกับตาข่ายทั้งสองด้านและห่างจากตาข่ายด้านละ 21 ฟุต ( 6.40 เมตร ) เรียกว่า เส้นเสิร์ฟ ( Service-Lines) เส้นตรงที่ลากจาก จุดกึ่งกลางของเส้นเสิร์ฟด้านหนึ่งขนานกับเส้นข้างไปยังจุดกึ่งกลางของเส้นเสิร์ฟอีกด้านหนึ่งเรียกว่า เส้นเสิร์ฟกลาง ( Centre-Service-Line) เส้นนี้ ต้องกว้าง 2 นิ้ว ( 5 เซนติเมตร ) และจะแบ่งพื้นที่แต่ละข้างของตาข่ายระหว่างเส้นเสิร์ฟกับเส้นข้างออกเป็นสองส่วนเท่ากัน แต่ละส่วนเรียกว่า คอร์ต เสิร์ฟ( Service-Courts ) เส้นหลังทั้งสองด้านจะถูกแบ่งครึ่งโดยเส้นขีดกึ่งกลาง ( Centre – Mark ) ซึ่งเป็นเส้นเล็ก ๆ ที่ลากจากเส้นหลังในแนวตั้งฉาก เข้าไปในสนาม และอยู่แนวเดียวกับเส้นเสิร์ฟกลาง เส้นขีดกึ่งกลางนี้ต้องยาว 4 นิ้ว ( 10 เซนติเมตร ) กว้าง 2 นิ้ว( 5 เซนติเมตร ) เส้นอื่นๆ นอกจาก นี้ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 1 นิ้ว ( 2.5 เซนติเมตร ) และไม่มากกว่า 2 นิ้ว ( 5 เซนติเมตร ) เว้นแต่เส้นหลังอาจกว้างได้ไม่มากกว่า 4 นิ้ว (10 เซนติเมตร)  ความกว้างและขนาดของส่วนต่าง ๆ ของสนาม ต้องวัดจากขอบด้านนอกของแต่ละเส้น เส้นทุกเส้นต้องเป็นสีเดียวกัน

                ประกาศโฆษณาหรือวัตถุใดๆ ที่อยู่ด้านหลังของสนามต้องไม่มีสีขาว หรือสีเหลือ สีอ่อนอาจใช้ได้ถ้าไม่รบกวนสายตาของผู้เล่น ประกาศ โฆษณา ที่ติดอยู่กับเก้าอี้ของผู้กำกับเส้นซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังของสนาม ต้องไม่มีสีขาว หรือสีเหลือง สีอ่อนอาจใช้ได้ถ้าไม่รบกวนสายตาของผู้เล่น

 หมายเหตุ

                1. ในการแข่งขันเทนนิสชนะเลิศประเภททีมชายระหว่างประเทศ ( Davis Cup ) หรือการแข่งขันชิงชนะเลิศซึ่งจัดขึ้นเป็นทางการ โดย สหพันธ์เทนนิสระหว่างประเทศ ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีพื้นที่หลังเส้นแต่ละข้างไม่น้อยกว่า 21 ฟุต ( 6.4 เมตร ) และมีพื้นที่ข้างสนามแต่ละข้าง ไม่น้อย กว่า 12 ฟุต ( 3.66 เมตร ) เก้าอี้ผู้กำกับเส้นจะต้องวางไว้ทางด้านหลังสนามภายในระยะไม่เกิน 21 ฟุต และด้านข้างของสนามในระยะไม่เกิน 12 ฟุต     ( 3.66 เมตร ) แต่จะล้ำเข้ามาได้ไม่เกิน 3 ฟุต ( 0.914 เมตร )

                2. ในการแข่งขันเทนนิสชิงชนะเลิศประเภททีมชายระหว่างประเทศ ( Davis Cup ) ในเวิลด์กรุ๊ป หรือประเภททีมหญิง ( Federation Cup ) โดยใช้สเตเดี้ยม ( มีอัฒจรรย์สำหรับผู้ชม ) ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีพื้นที่หลังเส้นแต่ละข้างไม่น้อยกว่า 27 ฟุต ( 8.23 เมตร ) และมีพื้นที่ข้างสนาม แต่ละข้างไม่น้อยกว่า 15 ฟุต ( 4.57 เมตร )

                3. ตามสโมสรหรือสนามที่เล่นเพื่อสันทนาการ พื้นที่หลังเส้นหลังของแต่ละข้างควรจะไม่น้อยกว่า 18 ฟุต ( 5.5 เมตร ) และมีพื้นที่ข้างสนาม ควรจะไม่น้อยกว่า 10 ฟุต ( 3.05 เมตร )

                ข้อ 2 สิ่งติดตั้งถาวร ( Permanent Fixtures ) สิ่งติดตั้งถาวรของสนามเทนนิสมิได้หมายถึงตาข่าย เสา ไม้ค้ำตาข่าย เชือกขึงตาข่าย แถบตาข่าย แถบหุ้มตาข่ายเท่านั้น แต่รวมถึงสิ่งที่ใช้กั้นด้านหลังและด้านข้างสนาม อัฒจรรย์ เก้าอี้  ที่ติดตั้งอยู่กับที่หรือเคลื่อนที่ได้ซึ่งตั้งไว้รอบสนาม รวมทั้งผู้ที่นั่ง อยู่บนสิ่งเหล่านั้น เครื่องติดตั้งอื่น ๆ ซึ่งอยู่รอบและเหนือสนาม ผู้ตัดสิน ( Umpire ) กรรมการเน็ท ( Net-Cord Judge ) กรรมการฟุตฟ้อลท์ ( Footfault judge ) กรรมการกำกับเส้น ( Linesmen ) และเด็กเก็บลูก ( Ball Boys ) ซึ่งประจำตามหน้าที่อีกด้วย

 หมายเหตุ ตามความมุ่งหมายของกติกาข้อนี้ คำว่า ผู้ตัดสิน หมายถึง ผู้ตัดสินและผู้ช่วยเหลือผู้ตัดสินทั้งหมด

                ข้อ 3 ลูกเทนนิส ( The Ball ) ผิวนอกของลูกจะต้องกลมเรียบเสมอกันทั้งลูก ลูกต้องมีสีขาวหรือสีเหลือง ถ้ามีรอยต่อจะต้องไม่เป็นระเบียบ      ลูกต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2 ½ นิ้ว ( 6.35 เซนติเมตร ) แต่น้อยกว่า 2 5/8  นิ้ว ( 6.67 เซนติเมตร ) มีน้ำหนักมากกว่า 2 ออนซ์ ( 56.7 กรัม ) แต่น้อยกว่า 2 1/16 ออนซ์ ( 58.5 กรัม )

                การกระดอนของลูกเมื่อทิ้งลงจากที่สูง 100 นิ้ว ( 254 เซนติเมตร ) บนพื้นคอนกรีตจะต้องกระดอนสูงกว่า 53 นิ้ว ( 135 เซนติเมตร ) แต่ต่ำกว่า 58 นิ้ว ( 147 เซนติเมตร )

                เมื่อกดปลายทั้งสองข้างของเส้นผ่าศูนย์กลางของลูกด้วยกำลัง 18 ปอนด์ ( 8.165 กิโลกรัม ) ผิวของลูกจะยุบเข้าไปมากกว่า 0.220 นิ้ว ( 0.56 เซนติเมตร ) แต่น้อยกว่า 0.290 นิ้ว ( 0.74 เซนติเมตร) ส่วนที่โป่งออกมาต้องมากกว่า 0.315 นิ้ว ( 0.80 เซนติเมตร ) แต่น้อยกว่า 0.425 นิ้ว( 1.08 เซนติเมตร )  ตัวเลขเหล่านี้คิดเฉลี่ยจากการกดลูกในแนวแกนทั้งสามของลูกและค่าที่ได้จากการกดในระหว่างแกนที่ต่างกันคู่หนึ่งต้องไม่ต่างกัน มากกว่า 0.030 นิ้ว ( 0.08 เซนติเมตร ) หากมีการแข่งขันในสถานที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเกิน 4,000 ฟุต ( 1219 เมตร ) อาจใช้ลูกเพิ่มได้อีกสองแบบ

                แบบแรก มีลักษณะเหมือนดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่จะต้องมีแรงกระดอนสูงกว่า 48 นิ้ว ( 121.92 เซนติเมตร ) และต่ำกว่า 53 นิ้ว ( 135 เซนติเมตร ) และจะต้องมีแรงอัดภายในสูงกว่าแรงอัดภายนอก ลูกเทนนิสแบบนี้รู้จักกันในนามลูกเทนนิสแบบมีแรงอัด ( Pressurised Ball )

                แบบที่สอง มีลักษณะเหมือนกับที่กล่าวมาแล้ว แต่ต้องมีแรงกระดอนสูงกว่า 53 นิ้ว ( 135 เซนติเมตร ) ต่ำกว่า 58 นิ้ว ( 147 เซนติเมตร ) และจะต้องมีแรงอัดภายในพอๆ กับแรงอัดภายนอกจะต้องนำมาไว้ที่สถานที่แข่งขันแล้วประมาณ 60 วันหรือมากกว่านั้นเพื่อให้ปรับสภาพเท่ากับอากาศลูกเทนนิสแบบนี้ เรียกว่าลูกเทนนิสไร้แรงอัด ( Non-pressurised ball )

                ข้อ 4 ไม้เทนนิส ( The Racket ) ไม้เทนนิสที่ไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้ จะนำมาใช้แข่งขันภายใต้กติกาของเทนนิสไม่ได้คือ 

                (1) พื้นที่ส่วนที่ใช้ตีลูกของไม้เทนนิสต้องแบนเรียบในระนาบเดียวและประกอบด้วยเอ็นเส้นขวางซึ่งสานกับเอ็นเส้นตั้งอย่างมีรูปแบบที่คงที่ ติดกับกรอบ ( Frame ) และต้องสานสลับกันหรือซ้อนกันตรงที่เอ็นตัดผ่านกัน การขึงเอ็นโดยทั่วไปจะมีรูปแบบที่เป็นระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณ ตรงกลางของไม้เทนนิส ระยะห่างของเอ็นต้องน้อยกว่าบริเวณอื่น

                เอ็นของไม้เทนนิส ต้องไม่มีวัสดุใด ๆ ที่ติดอยู่หรือยื่นออกมา นอกจากสิ่งที่ใช้เพื่อป้องกันการสึกหรอและการฉีกขาดของเอ็น หรือการสั่น สะเทือนเท่านั้น สิ่งดังกล่าวต้องมีขนาดและตำแหน่งที่เหมาะสมกับจุดประสงค์นั้น ๆ

                (2) กรอบ ( Frame ) รวมทั้งด้าม ( Handle ) ต้องมีความยาวทั้งหมดไม่เกิน 32 นิ้ว ( 81.28 เซนติเมตร ) และกรอบต้องกว้างไม่เกิน 12 ½ นิ้ว ( 31.75 เซนติเมตร ) บริเวณพื้นที่สำหรับขึงเอ็นต้องมีความยาวไม่เกิน 15 ½ นิ้ว ( 39.37 เซนติเมตร ) และกว้างไม่เกิน 11 ½ นิ้ว ( 29.21 เซนติเมตร)

                (3) กรอบและด้ามต้องไม่มีวัตถุใดที่ติดอยู่หรือยื่นออกมา นอกจากสิ่งที่ทำไว้เพื่อป้องกันการสึกหรอและการฉีกขาดของเอ็นหรือ การสั่น สะเทือน การกระจายน้ำหนักเท่านั้น สิ่งดังกล่าวต้องมีขนาดและตำแหน่งที่เหมาะสมกับจุดประสงค์นั้นๆ

                (4) กรอบ ด้ามและเอ็นต้องไม่มีอุปกรณ์ใดๆซึ่งจะทำให้ผู้เล่นใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือเปลี่ยนแปลงการกระจายน้ำหนักของไม้เทนนิส ใน ระหว่าง    การแข่งขัน แต้มหนึ่งๆ 

                สหพันธ์เทนนิสนานาชาติจะเป็นผู้ตัดสินในกรณีที่มีปัญหาว่าไม้เทนนิสใดจะมีลักษณะตรงตามข้อกำหนดข้างต้นหรือไม่ หรือจะสามารถนำ ไม้เทนนิสนั้นมาใช้ในการเล่นได้หรือไม่ การตัดสินนี้จะทำได้เมื่อเห็นสมควรหรือเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักเทนนิส บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ สมาคมแห่ง ประเทศ ( National Association ) หรือสมาชิกได้ทักท้วงขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ

                ปัญหาที่ 1  ไม้เทนนิสอันหนึ่งจะขึงเอ็นมากกว่าหนึ่งชุดได้หรือไม่ 

                ข้อชี้ขาด ไม่ได้ ตามกติกาได้ระบุไว้ชัดแจ้งแล้วว่า  การขึงเอ็นไม้เทนนิส อย่างไร จึงจะถือว่ามีรูปแบบที่คงที่ถูกต้อง และอย่างไรไม่ถูกต้อง

ปัญหาที่ 2 การขึงเอ็นไม้เทนนิสจะถูกต้องหรือไม่ ถ้าระดับของเอ็นที่ขึงสูงต่ำมากกว่าหนึ่งระนาบ 

ข้อชี้ขาด ไม่ถูกต้อง

ปัญหาที่ 3 ักเทนนิสสามารถใช้ชิ้นส่วนกันสะเทือนติดบนเอ็นของไม้เทนนิสได้หรือไม่ ถ้าได้จะต้องติดตรงไหน 

ข้อชี้ขาด ติดได้ แต่ต้องติดไว้นอกเอ็นเส้นขวางที่ไขว้กับเอ็นเส้นตั้งเท่านั้น

ปัญหาที่ 4 ในขณะแข่งขัน ไม้เทนนิสเอ็นขาดโดยไม่เจตนา นักเทนนิสสามารถที่จะเล่นต่อไปด้วยไม้เทนนิสอันเดิมได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ได้

                ข้อ 5 ผู้เสิร์ฟ และผู้รับ ( Server & Receiver ) ผู้เล่นจะต้องอยู่คนละข้างของตาข่าย ผู้เล่นซึ่งเป็นผู้ส่งลูกก่อนเรียกว่า ผู้เสิร์ฟ( Server ) ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้รับ (Receiver )

                ปัญหาที่ 1  ผู้เล่นขณะพยายามตีโต้ลูก หากล้ำแนวเส้นสมมุติที่ลากตรงต่อจากตาข่ายออกไปด้านข้างจะเสียแต้มหรือไม่

(1)   ก่อนตีถูกลูก

(2)   หลังตีถูกลูกแล้ว

ข้อชี้ขาด         ไม่เสียแต้มทั้งสองกรณี เว้นแต่ผู้นั้นจะล้ำแนวเส้นสมมุตินี้แล้วเข้าไปในสนามของคู่ต่อสู้ ( กติกาข้อ 20(5) ) ในกรณีที่เกิด การขัดขวางใดๆ ขึ้น คู่ต่อสู้ของผู้นั้นอาจจะขอคำตัดสินจากผู้ตัดสินได้ตามกติกาข้อ 21 และข้อ 25

ปัญหาที่ 2                ผู้เสิร์ฟอ้างว่าผู้รับจะต้องยืนอยู่ภายในเส้นขอบของสนาม ถูกต้องหรือไม่

ข้อชี้ขาด                ไม่ถูกต้อง ผู้รับจะยืนอยู่ที่ใดในด้านของตนก็ได้ตามใจชอบ

ข้อ 6 การเลือกข้างและเลือกเสิร์ฟ (Choice of Ends & Service)การเลือข้างก็ดีการเลือกสิทธิ์ที่จะเป็นผู้เสิร์ฟหรือผู้รับในเกมแรกก็ดีให้ชี้ขาด ด้วยการเสี่ยงทาย ( Toss ) ผู้เล่นที่ชนะในการเสี่ยงทายจะมีสิทธิ์เลือกหรือบังคับให้คู่ต่อสู้เลือกก็ได้

(1)   สิทธิ์ที่จะเป็นผู้เสิร์ฟหรือผู้รับ ในกรณีนี้ผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้เลือกข้าง หรือ

(2)   เลือกข้าง ในกรณีนี้ผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์ที่จะเลือกเป็นผู้เสิร์ฟหรือผู้รับ

ปัญหาที่ 1     ผู้เล่นที่ชนะการเสี่ยงทายมีสิทธิ์ที่จะเลือกใหม่ได้หรือไม่ ถ้าหากมีการเลื่อนการแข่งขันหรือก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้นโดยที่ยัง ไม่ทราบ เวลาแข่งขันที่แน่นอน

ข้อชี้ขาด   ได้ ผู้เล่นที่ชนะการเสี่ยงทายยังคงมีสิทธิ์อยู่และสามารถเปลี่ยนแปลงการเลือกใหม่ได้

ข้อ 7 การเสิร์ฟ ( The Service ) การเสิร์ฟจะต้องกระทำดังนี้ คือ ก่อนเสิร์ฟผู้เสิร์ฟต้องยืนด้วยเท้าทั้งสองข้างหลังเส้นหลัง( คือให้เส้นหลัง อยู่ระหว่างตาข่ายกับผู้เสิร์ฟ ) และยืนอยู่ระหว่างเส้นสมมุติที่ลากตรงต่อออกไปจากจุดกึ่งกลาง ( Centre-Mark ) และเส้นข้าง ต่อจากนั้น ให้ผู้เสิร์ฟ ใช้มือโยนลูกขึ้นไปในอากาศในทิศทางใดก็ได้แล้วใช้ไม้เทนนิสตีลูกนั้นก่อนตกถึงพื้น เมื่อไม้เทนนิสสัมผัสลูกก็ถือว่า การเสิร์ฟ ครั้งนั้นเสร็จสิ้นแล้ว ถ้าผู้เล่นมีแขนข้างเดียวจะใช้ไม้เทนนิสช่วยโยนลูกในการเสิร์ฟก็ได้

ปัญหาที่ 1 ในการเล่นเดี่ยว ผู้เสิร์ฟจะยืนหลังเส้นหลังในแนวที่อยู่ระหว่างเส้นข้างของสนามประเภทเดี่ยวกับเส้นข้างของสนาม ประเภทคู่    ได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ไม่ได้

ปัญหาที่ 2  ผู้เล่นขณะทำการเสิร์ฟ โยนลูกขึ้นไป 2 ลูก หรือมากกว่า แทนที่จะโยนลูกเดียวจะถือว่าผู้นั้นเสิร์ฟเสียหรือไม่

ข้อชี้ขาด ไม่ถือว่าเสีย ผู้ตัดสินควรขาน เล็ท แต่ถ้าผู้ตัดสินเห็นว่าการกระทำนั้นเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจอาจจะถือปฏิบัติตามกติการข้อ 21 ก็ได้

ข้อ 8 ฟุตฟ้อลท์ ( Foot Fault )

(1)   ตลอดการเสิร์ฟผู้เสิร์ฟจะต้อง

(ก)   ไม่เปลี่ยนจุดยืนด้วยการเดินหรือวิ่ง ผู้เสิร์ฟที่เคลื่อนไหวเท้าเพียงเล็กน้อยโดยไม่ทำให้เท้าเคลื่อนจากจุดเดิม จะไม่ถือว่า เปลี่ยนจุดยืนด้วยการเดินหรือวิ่ง

(ข)   ไม่สัมผัสที่พื้น ส่วนอื่นใดนอกจากพื้นที่อยู่หลังเส้นในระหว่างเส้นสมมุติที่ลากตรงต่อออกไปจากจุดกึ่งกลาง ( Centre Mark ) และขอบนอกของเส้นข้าง

(2)   คำว่า เท้า หมายถึงส่วนของปลายขานับตั้งแต่ข้อเท้าลงไป

ข้อ 9 วิธีการเสิร์ฟ ( Delivery of Service )

(1) ในการเสิร์ฟ ผู้เสิร์ฟต้องยืนหลังสนามด้านขวาและซ้ายสลับกันไป เริ่มจากด้านขวาก่อนทุกเกม ถ้ามีการเสิร์ฟผิดด้านโดยไม่มีผู้ทักท้วง แต้มและการเสิร์ฟที่ผ่านไปคงใช้ได้ทั้งหมด แต่เมื่อพบข้อผิดพลาดให้เปลี่ยนไปเสิร์ฟในด้านที่ถูกต้องทันที

                (2) ลูกที่เสิร์ฟจะต้องข้ามตาข่ายไปสัมผัสพื้นสนามภายในคอร์ตเสิร์ฟ ซึ่งอยู่ทแยงกันหรือบนเส้นหนึ่งเส้นใดที่ล้อมรอบคอร์ตเสิร์ฟนั้น ก่อน ผู้รับจะตีโต้ลูกกลับ

                ข้อ 10 ลูกเสิร์ฟเสีย ( Service Fault การเสิร์ฟที่ถือว่าเสียคือ

(1)   ถ้าผู้เสิร์ฟทำผิดกติกาข้อ 7,8 หรือ 9(2)

(2)   ถ้าผู้เสิร์ฟตีลูกอย่างเจตนาแต่ไม่ถูก

(3)   ถ้าลูกที่เสิร์ฟไปนั้นสัมผัสสิ่งติดตั้งถาวรอย่างอื่น ( นอกจากตาข่าย แถบขึงตาข่าย หรือแถบหุ้มตาข่าย )  ก่อนสัมผัสพื้น

ปัญหาที่ 1 หลังจากโยนลูกเพื่อเสิร์ฟแล้ว ผู้เสิร์ฟเปลี่ยนใจไม่ตีลูก แต่ใช้มือรับลูกจะถือว่าลูกนั้นเสียหรือไม่

ข้อชี้ขาด ไม่เสีย

ปัญหาที่ 2 ในการเล่นเดี่ยวที่ใช้สนามประเภทคู่ โดยมีเสาขึงตาข่ายประเภทคู่และไม้ค้ำตาข่ายประเภทเดี่ยวหากเสิร์ฟลูกไปกระทบไม้ค้ำ ตาข่ายประเภทเดี่ยวและตกลงในสนามที่ถูกต้อง ลูกนี้จะถือว่าเสียหรือเล็ท

ข้อชี้ขาด ถือว่าเสีย เพราะเสาขึงตาข่ายประเภทคู่ และไม้ค้ำตาข่ายประเภทเดี่ยว รวมทั้งตาข่ายและแถบหุ้มตาข่ายที่อยู่ระหว่างเสา ทั้งสอง ถือเป็นสิ่งติดตั้งถาวร ( ตามกติกาข้อ 2 ข้อ 10 และหมายเหตุท้ายกติกาข้อ 24 )

ข้อ 11 การเสิร์ฟลูกที่สอง ( Second Service ) เมื่อเสิร์ฟลูกแรกเสีย ผู้เสิร์ฟจะต้องเสิร์ฟอีกลูกหนึ่งจากหลังสนามด้านเดิมที่เสิร์ฟลูกแรก ไปแล้ว ถ้าลูกแรกที่เสิร์ฟเสียนั้นผู้เสิร์ฟยืนผิดด้านให้ผู้เสิร์ฟนั้นเสิร์ฟใหม่อีกลูกเดียวจากหลังสนามอีกด้านหนึ่ง ตามกติกาข้อ 9

ปัญหาที่ 1 ผู้เล่นยืนผิดด้าน เสิร์ฟลูกจนเสียแต้มไปแล้ว จะอ้างว่าเขาเสิร์ฟเสียเพราะยืนผิดด้านได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ไม่ได้แต้มต้องเป็นไปตามที่เล่นไปแล้ว สำหรับการเสิร์ฟลูกต่อไปต้องเสิร์ฟจากด้านที่ถูกต้องตามแต้มที่เล่นเสร็จไปแล้ว

ปัญหาที่ 2 ขณะแต้ม 15 เท่ากันผู้เสิร์ฟทำผิดโดยเสิร์ฟจากสนามด้านซ้ายแล้วได้แต้มนั้นต่อมาเขาเสิร์ฟจากด้านขวาและเสียไปหนึ่งลูกแล้ว จึงรู้ว่าเสิร์ฟผิดด้าน ผู้เสิร์ฟนั้นจะได้แต้มที่ได้ไปแล้วหรือไม่ และลูกต่อไปจะต้องเสิร์ฟจากด้านใด

ข้อชี้ขาด แต้มที่ได้นั้นถือว่าชอบแล้ว ลูกต่อไปต้องเสิร์ฟจากด้านซ้ายตามแต้มที่ได้คือ 30-15 และเสิร์ฟเสียไปแล้วหนึ่งลูก

ข้อ 12 โอกาสที่จะเสิร์ฟ ( When to Serve ) ผู้เสิร์ฟจะเสิร์ฟไม่ได้จนกว่าผู้รับพร้อมที่จะรับ หากผู้รับได้พยายามรับลูกต้องถือว่าผู้รับพร้อม ที่จะรับลูกแล้ว ในกรณีที่ผู้รับแสดงท่าทางว่าตนยังไม่พร้อมที่จะรับลูก แม้ว่าลูกเสิร์ฟนั้นมิได้สัมผัสพื้นสนามที่ถูกต้อง ผู้รับจะอ้างว่าลูกเสิร์ฟนั้นเสียไม่ได้

                ข้อ 13 การขานเล็ท ( The Let ) ทุกกรณีที่ขานคำว่า เล็ท ตามกติกานี้หรือขานเพื่อหยุดยั้งการเล่นครั้งใดก็ตามให้ตีความหมายดังนี้

(1)   เมื่อการขานนั้นบ่งเฉพาะลูกเสิร์ฟลูกหนึ่งลูกใด ให้เสิร์ฟลูกนั้นใหม่

(2)   เมื่อขานขึ้นในกรณีอื่นๆ ให้เล่นแต้มนั้นใหม่

ปัญหาที่ 1 ถ้าการเสิร์ฟมีสิ่งขัดขวางเกิดขึ้นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในกติกาข้อ 14 ควรให้เสิร์ฟลูกนั้นใหม่หรืออย่างไร

ข้อชี้ขาด ไม่ใช่ ต้องเล่นแต้มนั้นใหม่ทั้งหมด

ปัญหาที่ 2 ถ้าลูกที่อยู่ในการเล่นเกิดแตกขึ้น ควรขานเล็ทหรือไม่

ข้อชี้ขาด ควร

 ข้อที่ 14 การขานเล็ทในขณะเสิร์ฟ ( The “Let” in Service ) การเสิร์ฟที่ถือว่าเล็ท คือ

(1)   เมื่อลูกที่เสิร์ฟไปสัมผัสตาข่าย แถบขึงตาข่ายหรือแถบหุ้มตาข่าย แล้วตกในสนามที่ ถูกต้อง หรือเมื่อลูกเสิร์ฟไปสัมผัส ตาข่าย แถบขึงตาข่าย แถบหุ้มตาข่ายแล้วสัมผัสร่างกายผู้รับหรือสิ่งของที่ผู้รับสวมใส่หรือ ถืออยู่ที่มือก่อนที่ ลูกนั้น จะสัมผัสพื้น

                (2) เมื่อได้เสิร์ฟลูกไปแล้วในขณะผู้รับยังไม่พร้อมที่จะรับ ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ฟที่ดีหรือเสียก็ตาม (ดูกติกาข้อ 12) เมื่อการเสิร์ฟ เป็นเล็ท ไม่มีฝ่ายใดได้แต้ม และผู้เสิร์ฟต้องเสิร์ฟลูกนั้นใหม่ การเสิร์ฟที่เป็นเล็ทไม่ทำให้การเสิร์ฟที่เสียไป ในลูกแรกกลับเป็นลูกดีได้

       ข้อ 15 ลำดับการเสิร์ฟ ( Order of Service )  เมื่อจบเกมแรก ผู้รับจะต้องเปลี่ยนเป็นผู้เสิร์ฟ และผู้เสิร์ฟต้องเปลี่ยนเป็นผู้รับสลับกันเรื่อยไป จนกว่าจะจบการแข่งขัน ( Match ) ถ้าผู้เล่นคนใดเสิร์ฟผิดรอบ ผู้เล่นที่ควรจะเป็นผู้เสิร์ฟจะต้องเป็นผู้เสิร์ฟต่อไปทันทีที่ได้พบข้อผิดพลาด แต้มที่เล่น ไปแล้วก่อนพบข้อผิดพลาดให้คงมีการนับไว้เช่นเดิม แต่ถ้าผู้เสิร์ฟผิดรอบได้ทำการเสิร์ฟเสียไปแล้วเพียงหนึ่งลูก ซึ่งเกิดขึ้นก่อนพบข้อผิดพลาด ถือว่า ไม่ต้องมีการนับ ผู้เล่นที่ควรจะเป็นผู้เสิร์ฟให้เริ่มเสิร์ฟลูกที่หนึ่งใหม่ และถ้าเกมนั้นจบลงก่อนพบข้อผิดพลาด ลำดับการเสิร์ฟเกมต่อๆไปให้เป็น ไปตามที่ผิดพลาดไปแล้วนั้น

                ข้อ 16 การเปลี่ยนข้าง ( When Players Change Ends ) ผู้เล่นจะต้องเปลี่ยนข้างเมื่อจบเกมที่หนึ่ง เกมที่สาม และทุกๆ เกมคี่ของแต่ละเซ็ท    ( Set ) และต้องเปลี่ยนข้างเมื่อจบเซ็ท นอกจากจำนวนเกมในเซ็ทนั้นรวมกันแล้วเป็นเลขคู่ ในกรณีนี้จะไม่เปลี่ยนข้างจนกว่าจะจบเกม ที่หนึ่งของ เซ็ทต่อไป ถ้าเกิดข้อผิดพลาดทำให้ลำดับการเปลี่ยนข้างไม่ถูกต้อง ผู้เล่นต้องเปลี่ยนข้างให้ถูกต้องทันทีที่พบข้อผิดพลาดและดำเนินการต่อไป ตาม ลำดับการเปลี่ยนข้างที่เลือกไว้แต่เดิม

                ข้อ 17 ลูกอยู่ในการเล่น ( The Ball in Play ) นับตั้งแต่เมื่อได้ทำการเสิร์ฟไปแล้วจนกระทั่งผู้เล่นได้หรือเสียแต้ม ถือว่าลูกนั้นอยู่ในการเล่น เว้นแต่จะมีการขานว่าเล็ทหรือเสีย

ปัญหาที่ 1 ผู้เล่นฝ่ายหนึ่งตีโต้ลูกไปแต่เสีย กรรมการไม่ขานว่าเสียและการเล่นยังคงดำเนินต่อไปผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่งจะอ้างว่าตน ได้แต้ม นั้น หลังจากตีโต้กันจนจบ แต้ม นั้น แล้ว ได้หรือ ไม่

้อชี้ขาด ไม่ได้ ถ้าผู้เล่นยังเล่นต่อไปหลังจากมีลูกเสียเกิดขึ้นแล้ว ผู้เล่นจะอ้างว่าตนได้แต้มนั้นไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่าคู่ต่อสู้ขัดขวางการเล่น

 ข้อ 18 ผู้เสิร์ฟได้แต้ม ( Server Wins Point ) ผู้เสิร์ฟจะได้แต้มเมื่อ

(1)   ลูกที่เสิร์ฟซึ่งมิได้เป็นเล็ทดังที่ระบุไว้ในกติกาข้อ 14 ไปสัมผัสผู้รับหรือสิ่งที่ผู้รับสวม ใส่หรือถืออยู่ ก่อนที่ลูกนั้นจะ สัมผัสพื้น

                (2) ผู้รับทำเสียแต้ม ดังที่ระบุไว้ในกติกาข้อ 20

ข้อ 19 ผู้รับได้แต้ม ( Receiver Wins Point ) ผู้รับจะได้แต้มเมื่อ

(1)   ผู้เสิร์ฟเสียสองลูกติดต่อกัน

(2)   ผู้เสิร์ฟทำเสียแต้ม ดังที่ระบุไว้ในกติกาข้อ 20

ข้อ 20 ผู้เล่นเสียแต้ม ( Player Loses Point ) ผู้เล่นจะเสียแต้มเมื่อ

(1)   ผู้นั้นไม่สามารถตีลูกที่อยู่ในการเล่นให้ข้ามตาข่ายกลับไป ก่อนที่ลูกจะสัมผัสพื้นสองครั้งติดต่อกัน เว้นแต่ที่ระบุไว้ในกติกา ข้อ 24(1)  หรือ (3)) หรือ

                (2) ผู้นั้นตีลูกที่อยู่ในการเล่นไปสัมผัสพื้น สิ่งติดตั้งถาวรหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอยู่นอกเส้นที่ล้อมรอบสนามของคู่ต่อสู้ หรือ

                (3) ผู้นั้นตีลูกบนอากาศ ( Volleys ) แต่เสีย แม้จะยืนอยู่นอนสนามก็ตาม หรือ

                (4) ผู้นั้นใช้ไม้เทนนิสสัมผัสลูกหรือตีลูกอยู่ในการเล่นมากกว่าหนึ่งครั้ง หรือ

                (5) ร่างกายหรือไม้เทนนิสของผู้นั้น (ไม่ว่าจะถืออยู่หรือหลุดจากมือแล้วก็ตาม ) หรือสิ่งที่ผู้นั้นสวมใส่หรือถืออยู่สัมผัสตาข่าย, เสา ,ไม้ค้ำ ตาข่าย  เชือกขึงตาข่าย แถบขึงตาข่าย แถบหุ้มตาข่ายหรือสนามของคู่ต่อสู้ในขณะที่ลูกอยู่ในการเล่น หรือ

                (6) ผู้นั้นตีลูกบนอากาศ ( Volleys ) ก่อนที่ลูกนั้นจะข้ามตาข่ายมา หรือ

                (7) ลูกที่อยู่ในการเล่นสัมผัสร่างกายของผู้นั้น หรือสิ่งใดที่สวมใส่หรือถืออยู่ ยกเว้นไม้เทนนิสที่เขาถืออยู่ด้วยมือเดียว หรือสองมือก็ตาม หรือ

                (8) ผู้นั้นขว้างไม้เทนนิสไปถูกลูก หรือ

                (9) ผู้นั้นตั้งใจทำให้รูปร่างของไม้เทนนิสที่ใช้ตีอยู่เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างการเล่นแต้มนั้น

ปัญหาที่ 1 ในการเสิร์ฟ ถ้าไม้เทนนิสหลุดมือไปสัมผัสตาข่ายก่อนลูกสัมผัสสนามจะถือว่าผู้เสิร์ฟเสียลูกนั้นหรือเสียแต้มนั้นทั้งหมด

ข้อชี้ขาด ผู้เสิร์ฟเสียแต้ม เพราะไม้เทนนิสสัมผัสตาข่าย ขณะลูกอยู่ในการเล่น (กติกา ข้อ 20 (5))

ปัญหาที่ 2 ในการเสิร์ฟ ถ้าไม้เทนนิสหลุดมือไปสัมผัสตาข่ายหลังลูกสัมผัสพื้นนอก เขตสนามที่ถูกต้อง จะถือว่าผู้เสิร์ฟเสียลูกนั้นหรือ เสียแต้มทั้งหมด

ข้อชี้ขาด เสียเฉพาะลูกนั้น เพราะขณะไม้เทนนิสสัมผัสตาข่าย ลูกมิได้อยู่ในการเล่นแล้ว

ปัญหาที่ 3 ก. และ ข. กำลังแข่งขันกับ ค. และ ง. ขณะ ก. เสิร์ฟไปที่ ง. ปรากฏว่า ค. สัมผัสตาข่ายก่อนลูกที่ ก. เสิร์ฟจะสัมผัสสนาม ปรากฏว่าลูกที่ ก. เสิร์ฟตกนอกคอร์ตเสิร์ฟ ผู้ตัดสินจึงขานว่า ฟ้อลท์ ดังนี้ฝ่าย ค. และ ง. จะเสียแต้มหรือไม่

ข้อชี้ขาด การขานว่า ฟ้อลท์ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะ ค. และ ง. จะเสียแต้มหรือไม่ ก่อนขานว่า ฟ้อลท์ เนื่องจาก ค. สัมผัสตาข่ายขณะลูก อยู่ในการเล่น ( กติกา ข้อ 20 (5)) จึงไม่ควรมีการขานว่า ฟ้อลท์

ปัญหาที่ 4 ขณะลูกอยู่ในการเล่น ผู้เล่นจะกระโดดข้ามตาข่ายไปในสนามของคู่ต่อสู้ได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ไม่ได้ ผู้นั้นต้องเสียแต้ม ( กติกาข้อ 20 (5))

ปัญหาที่ 5 ก. ตีลูกตัด ลูกวิ่งข้ามตาข่ายไปแล้วแต่ลูกบอลดีดย้อนกลับมาในสนามด้านของ ก. อีก ข. ไม่สามารถเอื้อมตามลูกไปตีลูกได้ทัน จึงขว้างไม้เทนนิสไปกระทบลูกทั้งไม้เทนนิสของ ข. และลูกบอลข้ามตาข่ายไปตกในสนามด้านของ ก. ก. ตีลูกกลับไป แต่ตกนอกสนามด้านของ ข. ดังนั้น ข. จะได้แต้มหรือเสียแต้ม

ข้อชี้ขาด ข. เป็นผู้เสียแต้ม ( กติกาข้อ 20 (5) และ (8))

ปัญหาที่ 6 ผู้เล่นยืนอยู่นอกคอร์ตเสิร์ฟ ลูกเสิร์ฟลอยมาสัมผัสผู้เล่นนั้นก่อนสัมผัสพื้น ผู้เล่นนั้นจะได้แต้มหรือเสียแต้ม

ข้อชี้ขาด เสียแต้ม ( กติกาข้อ 20 (7)) เว้นแต่จะเป็นไปตามกติกาข้อ 14 (1)

ปัญหาที่ 7 ผู้เล่นยืนอยู่นอกสนาม ใช้ไม้เทนนิสตีลูกบนอากาศหรือใช้มือรับลูก แล้วอ้างว่าตนได้แต้มนั้นเนื่องจากลูกนั้นจะต้องตก นอกสนาม อย่างแน่นอน

ข้อชี้ขาด ผู้เล่นนั้นจะอ้างว่าตนได้แต้มไม่ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ

(1)   ถ้าใช้มือรับลูก ผู้นั้นเสียแต้มตามกติกาข้อ 20(7)

(2)   ถ้าตีลูกบนอากาศแต่เสีย ผู้นั้นเสียแต้มตามกติกาข้อ 20 (3)

(3)   ถ้าตีลูกบนอากาศและโต้ลูกกลับไปดี ถือว่าการแข่งขันยังคงดำเนินต่อไป

ข้อ 21 การขัดขวางคู่ต่อสู้ ( Player Hinders Opponent ) หากผู้เล่นฝ่ายใดกระทำโดยจงใจเพื่อขัดขวางมิให้คู่ต่อสู้ตีลูก ถือว่าผู้นั้นเสียแต้ม หากมิได้ กระทำโดยจงใจ ให้เล่นแต้มนั้นใหม่

                ปัญหาที่ 1    ผู้เล่นจะถูกลงโทษหรือไม่ ถ้าหากขณะตีลูกผู้เล่นนั้นสัมผัสตัวของคู่ต่อสู้

                ข้อชี้ขาด     ไม่ถูกลงโทษ เว้นแต่ผู้ตัดสินเห็นว่าจำเป็นต้องลงโทษตามกติกาข้อ 21

ปัญหาที่ 2 เมื่อลูกซึ่งข้ามตาข่ายมาสัมผัสพื้นแล้วกระดอนข้ามตาข่ายกลับไปอีก ผู้เล่นที่จะต้องตีลูกนั้นสามารถเอื้อมข้ามตาข่ายไปตีลูกนั้นได้ จะใช้กติกาข้อไหนตัดสินถ้าหากผู้เล่นนั้นถูกคู่ต่อสู้ ขัดขวางไม่ให้ตีลูก

ข้อชี้ขาด ใช้กติกาข้อ 21 คือ ผู้ตัดสินอาจให้ผู้เล่นที่ถูกขัดขวางได้แต้มนั้น หรืออาจสั่งให้เล่นแต้มนั้นใหม่ก็ได้ ( ดูกติกาข้อ 25 )

ปัญหาที่ 3 การตีลูกสองครั้งโดยไม่จงใจถือว่าเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางคู่ต่อสู้ตามกติกาข้อ 21 หรือไม่

ข้อชี้ขาด ไม่ใช่

ข้อ 22 ลูกที่ตกบนเส้น ( Ball Falls on Line ) ลูกที่ตกบนเส้นใดๆ ก็ตาม ให้ถือว่าตกในสนามที่เส้นนั้นล้อมอยู่

ข้อ 23 ลูกสัมผัสสิ่งติดตั้งถาวร ( Ball Touches Permanent Fixtures ) ถ้าลูกที่อยู่ในการเล่นไปสัมผัสสิ่งติดตั้งถาวรใดๆ ( นอกจากตาข่าย เสา ไม้ค้ำตาข่าย เชือกขึงตาข่าย แถบขึงตาข่ายหรือแถบหุ้มตาข่าย ) หลังจากลูกได้สัมผัสสนามไปแล้ว ถือว่าผู้เล่นที่ตี ลูกนั้นได้แต้ม แต่ถ้าลูกนั้นสัมผัสสิ่งติดตั้งถาวรดังกล่าวข้างต้นก่อนแล้วจึงสัมผัสสนามทีหลัง ถือว่าคู่ต่อสู้เป็นฝ่าย ได้แต้ม

ปัญหาที่ 1 ในการตีโต้ลูก ลูกสัมผัสผู้ตัดสิน เก้าอี้หรือขาเก้าอี้ของผู้ตัดสิน ผู้เล่นจะอ้างว่าลูกนั้นกำลังจะลอยไปตกในสนามได้หรือไม่

                ข้อชี้ขาด    อ้างไม่ได้ ต้องถือว่าผู้นั้นเสียแต้ม

                ข้อ 24 การตีโต้ที่ดี ( A Good Return ) การตีโต้ที่ถือว่าดี คือ

                (1) ถ้าลูกสัมผัสตาข่าย เสา ไม้ค้ำตาข่าย เชือกขึงตาข่าย แถบขึงตาข่าย หรือแถบหุ้มตาข่ายแล้วข้ามสิ่งดังกล่าวไปตกในสนาม หรือ

                (2) เมื่อลูกเสิร์ฟหรือตีโต้กลับมา ข้ามตาข่ายตกลงในสนามที่ถูกต้องแล้วกระดอนข้ามตาข่ายกลับไป ถ้าผู้เล่นที่ถึงรอบจะต้องตีลูก เอื้อมข้าม ตาข่ายไปตีลูก โดยมิให้ร่างกายหรือส่วนใดของเสื้อผ้าหรือไม้เทนนิสสัมผัสตาข่าย เสา ไม้ค้ำตาข่าย เชือกขึงตาข่าย แถบขึงตาข่าย แถบหุ้มตาข่ายหรือ สนามด้านของคู่ต่อสู้ ถือว่าลูกนั้นเป็นลูกดี ( ดูกติกาข้อ 20 (5)) หรือ

                (3) ถ้าลูกวิ่งอ้อมนอกเสาหรือไม้ค้ำตาข่าย ไม่ว่าจะวิ่งในระดับสูงหรือต่ำกว่าตาข่าย หรือแม้จะสัมผัสเสาหรือไม้ค้ำตาข่ายแล้วไปสัมผัสสนามที่ ถูกต้อง หรือ

(4) ถ้าไม้เทนนิสของผู้เล่นข้ามตาข่ายไปหลังจากตีลูกกลับไปแล้ว แต่ต้องตีลูกที่ข้ามตาข่าย เข้ามาในสนามด้านของตนแล้ว ถือว่าเป็นการ ตีโต้ที่ดี หรือ

                (5) ถ้าผู้เล่นรับลูกเสิร์ฟกลับไปดีหรือเสิร์ฟลูกหรือลูกที่อยู่ในการเล่นไปกระทบลูกอื่นซึ่งอยู่ภายในสนาม

                หมายเหตุ ในการแข่งขันประเภทเดี่ยวในสนามประเภทคู่เพื่อความสะดวกจะใช้ไม้ค้ำตาข่ายมาค้ำตาข่ายไว้ กรณีเช่นนี้เสา ส่วนของตาข่าย เชือกขึงตาข่ายและแถบหุ้มตาข่ายซึ่งอยู่นอกไม้ค้ำตาข่ายต้องถือว่าเป็นสิ่งติดตั้งถาวร และไม่ถือว่าเป็นเสาหรือตาข่ายของการแข่งขันประเภทเดี่ยวลูกที่ ตีโต้กัน หากวิ่งลอดใต้เชือกขึงตาข่าย ( Net Cord ) ระหว่างไม้ค้ำตาข่ายและเสาโดยมิได้สัมผัสเชือกขึงตาข่าย ตาข่าย หรือเสา แล้วตกในสนามถือว่า เป็นลูกดี

ปัญหาที่ 1    ลูกซึ่งกำลังจะลอยออกไปนอกสนามแต่ชนเสาหรือไม้ค้ำตาข่ายและตกลงในสนามของคู่ต่อสู้ จะถือว่าเป็นลูกดีหรือไม่

ข้อชี้ขาด     ถ้าเป็นลูกเสิร์ฟถือว่าเสีย ตามกติกาข้อ 10(3) ถ้าเป็นลูกอื่นนอกจากลูกเสิร์ฟถือว่าดี ตามกติกาข้อ 24 (1)

ปัญหาที่ 2    จะถือว่าลูกที่ตีโต้กลับไปเป็นลูกดีหรือไม่ถ้าผู้นั้นจับไม้เทนนิสสองมือในการตีลูก

ข้อชี้ขาด       ถือเป็นลูกดี

ปัญหาที่ 3    ถ้าลูกเสิร์ฟหรือลูกที่อยู่ในการเล่นไปกระทบลูกซึ่งอยู่ในสนามจะถือว่าได้เสียแต้มเลยหรือไม่

ข้อชี้ขาด       ยังไม่ได้หรือเสียแต้ม การแข่งขันต้องดำเนินต่อไป หากผู้ตัดสินไม่แน่ใจว่าลูกที่ตีโต้กลับไปนั้นเป็นลูกเดิม ก็ควร ขานเล็ท

ปัญหาที่ 4     ในระหว่างการเล่น ผู้เล่นจะใช้ไม้เทนนิสมากกว่าหนึ่งอันได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด       ไม่ได้ กติกาที่มีอยู่ทั้งหมดนี้หมายถึงการใช้ไม้เทนนิสอันเดียวเท่านั้น

ปัญหาที่ 5     ผู้เล่นจะขอให้เอาลูกที่ตกอยู่ในสนามของคู่ต่อสู้ออกไปก่อนได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด        ได้ แต่ต้องไม่ใช่ขณะลูกอยู่ในการเล่น

ข้อ 25 ผู้เล่นถูกขัดขวาง ( Hindrance of a Player ) ในระหว่างการตีลูก ถ้าผู้เล่นถูกขัดขวางโดยสิ่งใดซึ่งพ้นวิสัยที่เขาจะแก้ไขได้ เว้นแต่สิ่งติดตั้งถาวรหรือสิ่งซึ่งระบุไว้ในกติกาข้อ 21 ให้ขาน เล็ท

ปัญหาที่ 1 ถ้าผู้ดูเข้ามาขัดขวาง ทำให้ผู้เล่นไม่สามารถตีโต้ลูกกลับไปได้ ผู้เล่นจะขอให้ขานเล็ทได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ได้ ถ้าผู้ตัดสินเห็นว่าผู้เล่นถูกขัดขวางโดยสภาพที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของผู้เล่น แต่ต้องไม่ใช่เนื่องมาจากสิ่งติดตั้งถาวร หรือ อุปกรณ์ที่ถูกจัดเตรียมไว้บริเวณสนาม

ปัญหาที่ 2 ผู้เล่นถูกขัดขวางเช่นเดียวกับปัญหาที่ 1 และผู้ตัดสินขานว่าเล็ท ถ้าผู้เสิร์ฟได้เสิร์ฟลูกเสียไปแล้วหนึ่งลูกก่อนขานเล็ท ผู้เสิร์ฟ มีสิทธิ์เสิร์ฟใหม่สองลูกหรือไม่

ข้อชี้ขาด มีสิทธิ์ เพราะลูกกำลังอยู่ในการเล่น ซึ่งตามกติกาจะต้องเล่นแต้มนั้นใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เล่นใหม่เฉพาะลูกเดียว

ปัญหาที่ 3 ผู้เล่นจะขอให้เล่นแต้มนั้นใหม่ตามกติกาข้อ 25 เนื่องจากผู้เล่นคิดว่าคู่ต่อสู้ถูกขัดขวางในการเล่นลูก ดังนั้นผู้เล่นจึงไม่คิดที่จะ ตอบโต้ลูกนั้นกลับไป จะได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ไม่ได้

ปัญหาที่ 4 จะถือว่าเป็นลูกดีหรือไม่ หากลูกที่อยู่ในการเล่นไปกระทบลูกอีกลูกหนึ่งในอากาศ

ข้อชี้ขาด ควรขานเล็ท เว้นเสียแต่ว่าลูกที่อยู่ในอากาศนั้นเกิดจากการกระทำของผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง ในกรณีเช่นนี้ผู้ตัดสินจะชี้ขาด ตาม กติกาข้อ 21

ปัญหาที่ 5 ถ้าผู้ตัดสินหรือกรรมการอื่นขานผิดพลาดว่า ฟ้อลท์ ( Fault ) หรือ เอ้าท์ ( Out ) แล้วขานใหม่เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเอง เช่นนี้จะถือว่าการขานครั้งใดถูกต้อง

ข้อชี้ขาด ผู้ตัดสินจะต้องขานเล็ท เว้นแต่จะเห็นว่าไม่มีฝ่ายใดถูกขัดขวางการเล่นเนื่องจากการขานดังกล่าวนั้นในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่า การขานที่แก้ไขใหม่นั้นถูกต้อง

ปัญหาที่ 6 ถ้าลูกที่เสิร์ฟเสียไปจากการเสิร์ฟลูกแรกกระดอนขึ้นมาขัดขวางผู้รับในขณะรับลูกเสิร์ฟลูกที่สอง ผู้รับจะขอให้ขานเล็ทได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ด้ แต่ถ้าผู้รับมีโอกาสที่จะเอาลูกที่เสิร์ฟเสียลูกแรกออกไปให้พ้นสนามได้ แต่เพิกเฉยไม่ทำ ผู้รับจะขอให้ขานเล็ทไม่ได้

ปัญหาที่ 7 ลูกที่ตีโต้กันอยู่จะถือว่าเป็นลูกดีหรือไม่ ถ้าลูกนั้นไปสัมผัสวัตถุใดที่อยู่กับที่หรือเคลื่อนไหวอยู่ในสนาม

ข้อชี้ขาด หากวัตถุที่อยู่กับที่นั้นเข้ามาภายในสนามหลังจากที่เริ่มเล่นลูกไปแล้ว ต้องขานเล็ท แต่ถ้าวัตถุอยู่กับที่นั้นเข้ามาในสนามก่อน เริ่มเล่นลูก ต้องถือว่าลูกนั้นเป็นลูกดี ถ้าลูกที่อยู่ในระหว่างการเล่นไปกระทบวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวบนสนามหรือเหนือพื้นสนาม จะต้องขานเล็ท

ปัญหาที่ 8 ถ้าหากลูกเสิร์ฟลูกแรกเสีย ลูกเสิร์ฟลูกที่สองดี แล้วเกิดความจำเป็นต้องขานเล็ท ทั้งนี้ไม่ว่ากรณีจะเป็นไปตามกติกาข้อ 25 หรือกรณีที่ผู้ตัดสินไม่สามารถตัดสินว่าแต้มนั้นเป็นของใครก็ดีจะใช้กติกาข้อไหนตัดสิน

ข้อชี้ขาด จะต้องยกเลิกลูกเสิร์ฟที่เสียไปแล้ว และเล่นแต้มนั้นใหม่ทั้งหมด

                ข้อ 26 วิธีนับแต้มในแต่ละเกม ( Score in a Game ) ถ้าผู้เล่นคนใดได้แต้มแรก ให้ขานแต้มว่า 15 สำหรับผู้เล่นนั้น เมื่อเขาได้แต้มที่สอง ให้ขานแต้มว่า 30 สำหรับผู้เล่นนั้น เมื่อเขาได้แต้มที่สาม ให้ขานแต้มว่า 40 สำหรับผู้เล่นนั้น และถ้าเขาได้แต้มที่สี่ ก็ถือว่าผู้เล่นนั้นชนะในเกมนั้น ทั้งนี้เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ ถ้าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายได้แต้มสามแต้มเท่ากันให้ขานแต้มว่า ดิวส์ ( Deuce ) ถ้าผู้เล่นฝ่ายใดได้แต้มต่อไปใช้ขานแต้ม ได้เปรียบว่า แอ็ดแวนเท็ค ( Adventage ) สำหรับผู้เล่นนั้น ถ้าผู้เล่นคนเดียวกันนั้นได้แต้มต่อไป อีกหนึ่งแต้ม ก็ถือว่าผู้เล่นคนนั้นชนะในเกมนั้น แต่ถ้าผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่งกลับเป็นผู้ได้แต้มได้เปรียบให้ขานแต้มเป็นดิวส์อีก และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนกระทั่งผู้เล่นคนใดคนหนึ่งได้สองแต้ม ติดต่อ กันหลังจากดิวส์แล้ว จึงถือว่าผู้เล่นคนนั้นเป็นผู้ชนะในเกมนั้น      

ข้อ 27 วิธีนับแต้มในแต่ละเซ็ท ( Score in a Set )

                (1) ผู้เล่นฝ่ายที่ชนะหกเกมก่อนถือว่าชนะเซ็ทนั้น และต้องเป็นการชนะคู่ต่อสู้อย่างน้อยห่างกันสองเกม และถ้าจำเป็นก็ต้องเล่นกันต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชนะห่างกันสองเกม

                (2) อาจนำการนับแต้มระบบ ไท-เบรก (The Tiebreak System ) มาใช้แทนการนับตามข้อ 27 (1) ของกติกานี้ได้ แต่ต้องมีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าก่อนเริ่มแข่งขันคู่นั้น

กติกาของการนับแต้มระบบไท-เบรก มีดังนี้

                จะใช้การนับแต้มระบบไท-เบรก ต่อเมื่อแต้มเป็นหกเกมเท่ากันไม่ว่าในกรณีใด ยกเว้นเซ็ทที่สามหรือห้าของการแข่งขันที่เล่นในระบบชนะกันสองในสามเซ็ทหรือสามในห้าเซ็ทตามลำดับ ซึ่งจะต้องใช้การนับแต้มแบบต่อเซ็ท (Advantage Set) คือมีการชนะห่างกันสองเกมตามกติกาข้อ 27(1) ยกเว้นกรณีที่ได้ประกาศล่วงหน้าก่อนการแข่งขันคู่นั้นว่าจะใช้การนับแต้มระบบไท-เบรก ในทุกเซ็ท

                การแข่งขันในเกมไท-เบรก จะทำดังนี้

                การแข่งขันประเภทเดี่ยว ( Singles )

                (ก) ผู้เล่นที่ชนะเจ็ดแต้มก่อน จะเป็นผู้ชนะในเกมและเซ็ทนั้น แต่ต้องชนะคู่ต่อสู้อย่างน้อยห่างกันสองแต้ม ถ้าแต้มเป็นหกเท่ากันจะต้องต่อเกมออกไปจนกว่าจะมีฝ่ายหนึ่งชนะสองแต้มติดต่อกันตลอดเกมไท-เบรก การนับแต้มให้นับแบบเรียงลำดับตัวเลข

                (ข) ผู้เล่นที่ถึงรอบเสิร์ฟจะเป็นผู้เสิร์ฟแต้มแรก คู่ต่อสู้จะเสิร์ฟแต้มที่สองและที่สาม และจะสลับกันเสิร์ฟคนละสองแต้มเรื่อยไป จนกว่าจะมีผู้ชนะในเกมและเซ็ทนั้น

                (ค) เริ่มจากแต้มแรก ผู้เสิร์ฟแต่ละคนต้องเสิร์ฟลูกสลับกันไปจากสนามด้านขวาและซ้ายโดยเริ่มจากขวาก่อน ถ้ามีการเสิร์ฟผิดด้านโดยไม่มีผู้ทักท้วง แต้มและการเสิร์ฟที่ผ่านไปคงใช้ได้ทั้งหมดแต่เมื่อพบความผิดพลาดให้เปลี่ยนไปเสิร์ฟในด้านที่ถูกต้องทันที

                (ง) ผู้เล่นต้องเปลี่ยนข้างทุกๆ หกแต้มและหลังจากจบเกมไท-เบรก

                (จ) ต้องนับเกมไท-เบรกเป็นหนึ่งเกมสำหรับการเปลี่ยนลูกด้วย นอกจากถึงกำหนดที่จะต้องเปลี่ยนลูกเมื่อเริ่มต้นเกมไท-เบรก กรณีเช่นนี้ยังไม่เปลี่ยนลูกจนกว่าจะเริ่มเกมที่สองของเซ็ท ต่อไป

                การแข่งขันประเภทคู่ ( Doubles )

                ในการแข่งขันประเภทคู่ ให้ใช้วิธีการเช่นเดียวกับการแข่งขันประเภทเดี่ยว ผู้เล่นที่ถึงรอบเสิร์ฟจะเป็นผู้เสิร์ฟแต้มแรก หลังจากนั้นผู้เล่นแต่ละคนจะผลัดกันเสิร์ฟคนละสองแต้มตามลำดับที่จัดไว้เดิมจนกว่าจะจบเกมและเซ็ทนั้น

                ลำดับการเสิร์ฟ ( Rotation of Service )

                ผู้เล่นหรือคู่ที่เสิร์ฟก่อนในเกมไท-เบรก จะต้องเป็นผู้รับในเกมแรกของเซ็ทต่อไป

                ปัญหาที่ 1                มีการแข่งขันระบบไท-เบรกไปแล้ว ทั้งๆ ที่ได้ประกาศไว้ล่วงหน้าว่าจะ

แข่งขันแบบต่อเซ็ท (Advantage Set ) แต้มที่ได้เสียไปแล้วจะนับด้วยหรือไม่

ข้อชี้ขาด ถ้าพบข้อผิดพลาดก่อนเริ่มแข่งขันแต้มที่สองให้นับแต้มที่หนึ่งด้วย แต่จะต้องแก้ไขข้อผิดพลาดให้ถูกต้องโดยทันที ถ้าพบข้อผิดพลาดหลังเริ่มแข่งขันแต้มที่สองแล้วให้ดำเนินการแข่งขันต่อไปตามระบบไท-เบรก

ปัญหาที่ 2 มีการแข่งขันแบบต่อเซ็ทไปแล้ว ทั้งๆ ที่ได้ประกาศไว้ล่วงหน้าว่าจะแข่งขันระบบไท-เบรก แต้มที่ได้เสียไปแล้วจะนับด้วยหรือไม่

ข้อชี้ขาด ถ้าพบข้อพลาดก่อนเริ่มแข่งขันแต้มที่สองให้นับแต้มที่หนึ่งด้วย แต่จะต้องแก้ไขข้อผิดพลาดให้ถูกต้องโดยทันที ถ้าพบข้อผิดพลาดหลังเริ่มแข่งขันแต้มที่สองแล้วให้ดำเนินการแข่งขันต่อไปแบบต่อเซ็ท แต่ถ้าแต้มที่แข่งขันถึงแปดเกมเท่ากัน หรือแต้มเท่ากันที่มากกว่าแปดเกม ให้แข่งขันต่อไปในระบบไท-เบรก

ปัญหาที่ 3 การแข่งขันประเภทเดี่ยวหรือคู่ในเกมไท-เบรกที่ผู้เล่นเสิร์ฟผิดรอบควรที่จะให้คงลำดับการเสิร์ฟที่ผิดนั้นไว้จนจบเกมหรือไม่

ข้อชี้ขาด ถ้าผู้เล่นนั้นได้เสิร์ฟจนจบรอบแล้ว ก็จะคงลำดับการเสิร์ฟนี้ไว้จนจบ แต่ถ้าหากพบข้อผิดพลาดนี้ก่อนที่จะเสิร์ฟครบรอบ จะต้องทำการแก้ไขทันทีแต้มที่เล่นไปแล้วจะนำมานับเหมือการเล่นปกติด้วย

ข้อ 28 จำนวนเซ็ทที่จะแข่งขัน ( Maximum Number of Sets ) ในการแข่งขันแต่ละคู่ (Match) จะแข่งขันอย่างมากเพียงห้าเซ็ท คู่ที่มีสตรี ลงแข่งขันด้วยให้แข่งขันเพียงสามเซ็ท

                ข้อ 29 หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสนาม ( Role of Court Officials )

                ในการแข่งขันที่มีการแต่งตั้งผู้ตัดสิน ( Umpire ) คำตัดสินของผู้ตัดสินถือเป็นที่สุด แต่ในการแข่งขันที่มีการแต่งตั้งผู้ชี้ขาด ( Referee ) ข้ออุทธรณ์คำตัดสินของผู้ตัดสินในปัญหาเกี่ยวกับกฎข้อบังคับ ( Question of Tennis Law ) จะอยู่ในดุลยพินิจของผู้ชี้ขาด และในกรณีต่างๆ ข้างต้นนั้น คำชี้ขาดของผู้ชี้ขาดถือเป็นที่สุด

                ในการแข่งขันที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วย ( เช่นผู้กำกับเส้น กรรมการเน็ทและกรรมการฟุตฟ้อลท์) คำตัดสินของกรรมการผู้ช่วยในปัญหาข้อเท็จจริง (Question of Fact) ถือเป็นที่สุด เว้นแต่ตัดสินจะเห็นว่าคำตัดสินนั้นผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง ผู้ตัดสินมีสิทธิ์เปลี่ยนคำตัดสิน ( Overrule ) ของกรรมการผู้ช่วย หรือขานเล็ทก็ได้ กรณีที่กรรมการผู้ช่วยไม่สามารถให้คำตัดสินได้จะต้องรีบแจ้งให้ผู้ตัดสินทราบทันที และผู้ตัดสินจะเป็นผู้ตัดสินในกรณีนั้น แต่ถ้าผู้ตัดสินไม่อาจตัดสินในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นได้อีก ผู้ตัดสินอาจขานเล็ทก็ได้

                ในการแข่งขันเดวิสคัพ และการแข่งขันประเภททีมอื่นๆ ซึ่งผู้ชี้ขาดประจำจะอยู่ในสนามด้วยคำตัดสินทุกชนิด (Any Decision ) อาจเปลี่ยนได้โดยผู้ชี้ขาดและผู้ชี้ขาดอาจสั่งให้ผู้ตัดสินขานเล็ทก็ได้

                ถ้าเกิดความมือหรือสภาพของสนามหรือสภาพของอากาศไม่ดีพอ ผู้ชี้ขาดอาจใช้ดุลยพินิจของตนเองสั่งเลื่อนการแข่งขันออกไปเมื่อใดก็ได้ ในการเลื่อนการแข่งขันทุกกรณี แต้มที่ได้หรือเสียและตำแหน่งการเล่นที่เป็นอยู่ก่อนการเลื่อนต้องถือเหมือนเดิม นอกจากผู้ชี้ขาดและผู้เล่นทุกคนจะตกลงให้เป็นอย่างอื่น

ปัญหาที่ 1 ผู้ตัดสินขานว่า เล็ท แต่ผู้เล่นค้านว่าจะเล่นแต้มนั้นใหม่ไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้จะใช้ผู้ชี้ขาดทำการชี้ขาดได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ได้ เพราะถือว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับกฎข้อบังคับ (Question of Tennis Law) อันเป็นกรณีเกี่ยวกับการนำกฎข้อบังคับ มาประกอบ เป็นข้อมูล(Application) ในการตัดสินถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ผู้ตัดสินจะต้องตัดสินเป็นอันดับแรก ต่อเมื่อผู้ตัดสิน ไม่มีความมั่นใจหรือผู้เล่นคัดค้านคำตัดสินของผู้ตัดสิน ผู้ชี้ขาดจะต้องทำการชี้ขาดปัญหานั้นและ คำชี้ขาดนั้น ถือเป็น ที่สุด

ปัญหาที่ 2 ลูกถูกขานว่า เอ้าท์ แต่ผู้เล่นค้านว่าเป็นลูกดี กรณีนี้จะใช้ผู้ชี้ขาดทำการชี้ขาดได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ไม่ได้ เพราะในปัญหาเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง (Question of Fact) อันเป็นกรณีที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะนั้น จะต้องถือว่าคำตัดสินของเจ้าหน้าที่ในสนาม ( The on-court Officials ) เป็นที่สุด

ปัญหาที่ 3 ผู้ตัดสินจะเปลี่ยนคำตัดสินของผู้กำกับเส้นเมื่อจบการแข่งขันแต้มนั้นแล้วได้หรือไม่ ในเมื่อผู้ตัดสินเห็นว่าผู้กำกับเส้น ขานผิด อย่างแน่นอนในขณะโต้ลูก

ข้อชี้ขาด ไม่ได้ ผู้ตัดสินมีสิทธิ์เปลี่ยนคำตัดสินของผู้กำกับเส้นได้ แต่จะต้องเปลี่ยนทันทีเมื่อพบข้อผิดพลาด

ปัญหาที่ 4 ผู้กำกับเส้นขานว่า เอ้าท์ แต่ผู้ตัดสินมองเห็นลูกนั้นไม่ชัดเจนแต่คิดว่าเป็นลูกดี ผู้ตัดสินจะเปลี่ยนคำตัดสินของ ผู้กำกับเส้น ได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ไม่ได้ ผู้ตัดสินจะเปลี่ยนคำตัดสินได้ต่อเมื่อมั่นใจว่าคำตัดสินนั้นไม่ถูกต้องเท่านั้น กรณีผู้กำกับเส้นตัดสินว่าลูกดี ผู้ตัดสินจะ เปลี่ยนคำตัดสินได้ต่อเมื่อผู้ตัดสินมองเห็นพื้นที่ว่าง ( Space ) ที่อยู่ระหว่างลูกกับเส้นขณะลูกสัมผัสพื้นสนามเท่านั้น หรือกรณีที่ผู้กำกับเส้นตัดสินว่าออกหรือเสีย ผู้ตัดสินจะเปลี่ยนคำตัดสินได้ต่อเมื่อตนเห็นลูกตกสัมผัสเส้น หรือตก ในสนามเท่านั้น

ปัญหาที่ 5 หลังจากผู้ตัดสินให้ผู้เล่นคนหนึ่งได้แต้มแล้ว ผู้กำกับเส้นจะเปลี่ยนคำตัดสินของตนเองได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ได้ หากผู้กำกับเส้นมั่นใจว่าตนตัดสินผิดพลาด เขามีสิทธิ์แก้ไขให้ถูกต้อง ( Correction ) ได้แต่ต้องทำโดยทันที

ปัญหาที่ 6 ผู้กำกับเส้น ขานว่า เอ้าท์แต่ผู้เล่นค้านว่าลูกนั้นดี ผู้ตัดสินจะเปลี่ยนคำตัดสินของผู้กำกับเส้นได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ไม่ได้ ผู้ตัดสินไม่มีอำนาจเปลี่ยนคำตัดสินของผู้กำกับเส้นในกรณีอันเนื่องมาจากมีการคัดค้านหรืออุทธรณ์ของผู้เล่น

ข้อ 30 เวลาสำหรับแข่งขันและหยุดพัก ( Continuous Play & Rest Periods ) การแข่งขันจะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องกันตั้งแต  ่เริ่มเสิร์ฟลูกแรกจนกระทั่งจบการแข่งขันยกเว้นในกรณีต่อไปนี้

(1)   เมื่อเสิร์ฟลูกแรกเสีย ต้องเสิร์ฟลูกที่สองโดยไม่ชักช้าผู้รับต้องอยู่ในสภาพเดียวกับผู้เสิร์ฟคือ ต้องพร้อมที่จะรับเมื่อผู้เสิร์ฟพร้อมที่จะ เสิร์ฟ เมื่อมี การเปลี่ยนข้างระยะเวลาตั้งแต่จบเกมก่อนเปลี่ยนข้างถึงการเสิร์ฟลูกแรกของเกมที่เปลี่ยนข้างแล้ว ต้องไม่เกินหนึ่งนาที สามสิบวินาที ผู้ตัดสินจะใช้ดุลยพินิจตัดสินในกรณีที่มีการทำให้การแข่งขันไม่สามารถดำเนินไปได้โดยต่อเนื่อง ผู้จัดการแข่งขัน ระหว่างประเทศที่สหพันธ์เทนนิสนานาชาติ ( ITF) รับรอง อาจจะเป็นผู้กำหนดเวลาระหว่างแต้มขึ้นเองได้ แต่ต้องไม่เกินยี่สิบวินาที

                (2) ต้องมิให้การแข่งขันใดยุติลงหรือถูกถ่วงเวลาหรือถูกขัดขวางมิให้แข่งขันอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งหมายที่จะรอให้ผู้เล่นคนใดมีร่างกาย แข็งแรง เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีการบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุ (Accidental Injury ) ผู้ตัดสินอาจอนุญาตให้หยุดพักได้ครั้งละไม่เกินสามนาที      ผู้จัดการแข่งขันระหว่างประเทศที่สหพันธ์เทนนิสระหว่างประเทศรับรอง อาจจะขยายเวลาหยุดพัก เพราะบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุจากสามนาทีเป็นห้า นาทีก็ได้

                (3) ถ้าเสื้อผ้าของผู้เล่น รองเท้า ถุงเท้าหรืออุปกรณ์การเล่น (นอกจากไม้เทนนิส) เกิดบกพร่องขึ้น จนกระทั่งไม่สามารถที่จะเล่นหรือ ไม่สะดวกที่จะเล่นต่อไป ผู้ตัดสินอาจอนุญาตให้หยุดพักเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องนั้นได้

                (4) เมื่อมีความจำเป็น ผู้ตัดสินอาจสั่งให้หยุดการแข่งขันในเวลาใดก็ได้ตามที่เห็นสมควร

                (5) เมื่อได้แข่งขันจนจบเซ็ทที่สาม หรือกรณีที่สตรีลงแข่งขันด้วยเมื่อจบเซ็ทที่สองคู่แข่งขันมีสิทธิ์หยุดพัก (Rest) ได้ไม่เกินสิบนาที ถ้าเป็น การแข่งขันในประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดสิบห้าองศาเหนือ ถึงสิบห้าองศาใต้ มีสิทธิ์หยุดพักได้สี่สิบห้านาทีหรือมากกว่านั้น และถ้ามีความจำเป็น เพราะเหตุการณ์แวดล้อมพ้นวิสัยที่ผู้แข่งขันจะแก้ไขได้ ให้ผู้ตัดสินหยุดการแข่งขันไว้ได้นานเท่าที่เห็นสมควร ถ้าการแข่งขันที่ต้องหยุดลงเช่นนี้ ไม่สามารถจะแข่งขันในวันนั้นได้อีก คู่แข่งขันมีสิทธิ์พักหลังจากจบเซ็ทที่สาม ( หรือจบเซ็ทที่สอง กรณีมีสตรีลงแข่งขันด้วย ) ของวันรุ่งขึ้น สำหรับ การแข่งขันเซ็ทที่ค้างอยู่นั่นให้นับเป็นหนึ่งเซ็ท

                ถ้าการแข่งขันต้องหยุดและไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ภายในสิบนาทีของวันนั้น สิทธิ์ที่จะพักของคู่แข่งขันจะต้องอยู่หลังจากจบการแข่งขัน เซ็ทที่สาม (หรือจบเซ็ทที่สองกรณีมีสตรีลงแข่งขันด้วย) ของการแข่งขันที่เริ่มใหม่ สำหรับการแข่งขันที่ค้างอยู่นั้นให้นับเป็นหนึ่งเซ็ท

                ข้อบังคับเรื่องนี้ประเทศใดและหรือคณะกรรมการจัดการแข่งขันจะดัดแปลงหรือไม่ถือเป็นหลักในการแข่งขันของตนก็ได้ ยกเว้นแต่ การแข่งขันเทนนิสประเภททีมชายและหญิงชิงชนะเลิศระหว่างประเทศ (Davis Cup & Federation Cup ) แต่จะต้องประกาศให้ทราบทั่วกันก่อนเริ่ม การแข่งขันครั้งนั้น

                (6) คณะกรรมการจัดการแข่งขันมีสิทธิ์กำหนดระยะเวลาสำหรับการวอร์มโต้ลูก (Warm-up) ซึ่งต้องไม่เกิน 5 นาที และจะต้องประกาศ ให้ทราบก่อนเริ่มการแข่งขันครั้งนั้น

                (7) กรณีที่มีการนำระบบลงโทษตัดคะแนน ( Point Penalty And Non-Accumulative Point Penalty system ) มาใช้ ผู้ตัดสิน ( Umpire) จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินเกี่ยวกับการลงโทษตัดคะแนน

                (8) เมื่อผู้ตัดสินได้ตักเตือนผู้เล่นที่กระทำผิดกติกา ( Code of Violation ) แต่การกระทำผิดนั้นยังคงกระทำต่อเนื่องอีก ผู้ตัดสินมีอำนาจสั่ง ปรับผู้กระทำผิดให้แพ้ ( Disqualify)

                ข้อ 31 การสอน ( Coaching )

                ในระหว่างการแข่งขันประเภททีม ผู้เล่นมีสิทธิ์ได้รับการสอนจากหัวหน้าทีม (Captain)ซึ่งนั่งอยู่ในสนามได้ในขณะเปลี่ยนข้างเมื่อจบเกม เว้นแต่ขณะเปลี่ยนข้างในเกมไท-เบรก

                สำหรับการแข่งขันประเภทอื่น ไม่อนุญาตให้มีการสอนผู้เล่นในระหว่างการแข่งขัน  บทบัญญัติขอกติกาข้อนี้จะต้องนำมาใช้บังคับ อย่างจริงจัง

                เมื่อมีการเตือนผู้เล่นที่ฝ่าฝืนกติกาข้อนี้ครั้งหนึ่งแล้ว หากมีการฝ่าฝืนกติกาข้อนี้อีก ผู้เล่นอาจถูกปรับให้แพ้การแข่งขัน (Disqualify) ได้ ในกรณีที่มีการนำระบบการลงโทษตัดคะแนนมาใช้ผู้ตัดสินมีอำนาจตัดคะแนนผู้ฝ่าฝืนนั้นได้

ปัญหาที่ 1 ควรมีการเตือนหรือปรับผู้เล่นให้แพ้การแข่งขันหรือไม่? ในกรณีที่ผู้เล่นได้รับการสอนโดยวิธีให้สัญญาณด้วยท่าทางอย่างเด่นชัด

ข้อชี้ขาด ผู้ตัดสินต้องเตือนทันทีที่รู้ว่ามีการสอนด้วยวาจาหรือให้สัญญาณ หากผู้ตัดสินไม่รู้ว่ามีการสอนดังกล่าว ผู้เล่นคนใดอาจแจ้งให้ผู้ตัดสินทราบก็ได้

ปัญหาที่ 2 ระหว่างการหยุดพักสิบนาที ในกรณีการแข่งขันห้าเซ็ท หรือในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการแข่งขันต่อไปได้ และผู้เล่นได้ออกไปนอกสนาม ผู้เล่นมีสิทธิ์ได้รับการสอนหรือไม่

ข้อชี้ขาด ได้ ในกรณีดังกล่าวนั้น เมื่อผู้เล่นไม่ได้อยู่ในสนาม ไม่มีข้อจำกัดใดๆ เกี่ยวกับการสอน

หมายเหตุ คำว่า โค้ชชิ่ง รวมถึงคำแนะนำหรือการสอนทุกชนิด

ข้อ 32 การเปลี่ยนลูกบอล (Ball Change ) ในกรณีที่จะมีการเปลี่ยนลูกตามจำนวนเกมที่กำหนดไว้ หากไม่ได้เปลี่ยนลูกตามจำนวนเกม ที่กำหนดไว้เดิมก็ให้แก้ไขโดยเปลี่ยนลูกใหม่เมื่อผู้เล่นหรือคู่ขาของผู้เล่นประเภทคู่ซึ่งสมควรจะได้รับการเปลี่ยนลูกใหม่ในรอบของการเสิร์ฟรอบต่อไป และในการเปลี่ยนลูกครั้งต่อไปจะต้องเปลี่ยนตามจำนวนเกมที่ได้ตกลงไว้เดิมการแข่งขันประเภทคู่ (The Doubles Game)

                ข้อ 33 การแข่งขันประเภทคู่ ( The Doubles Game) กติกาต่างๆ ที่ระบุมาแล้วข้างต้น สามารถนำมาใช้ในการแข่งขันประเภทคู่ได้ด้วย เว้นแต่ที่จะกล่าวต่อไปนี้

                ข้อ 34 สนามประเภทคู่ ( The Doubles Court)  สำหรับการแข่งขันประเภทคู่ สนามจะต้องกว้าง 36 ฟุต (10.97 เมตร) คือกว้างกว่าสนาม สำหรับการแข่งขันประเภทเดี่ยวข้างละ 4 ½ ฟุต (1.37 เมตร) ส่วนเส้นข้างของสนามประเภทเดี่ยว  (Singles Side-Lines) ซึ่งอยู่ระหว่าง เส้นเสิร์ฟ ทั้งสองข้างเรียกว่าเส้นเสิร์ฟข้าง (Service Side-Lines) นอกจากนี้รูปร่างของสนามคงมีลักษณะเหมือนกันกับที่ระบุไว้ในกติกาข้อ 1 เส้นข้างของสนาม ประเภทเดี่ยว (Singles Side-Lines) ระหว่างเส้นหลังกับเส้นเสิร์ฟในแต่ละข้างของตาข่ายจะไม่ตีเส้นไว้ก็ได้ถ้าต้องการ

                ข้อ 35 ลำดับการเสิร์ฟ (Order of Service in Doubles )  ลำดับการเสิร์ฟจะต้องพิจารณาจัดไว้ตั้งแต่เริ่มต้นเซ็ทของแต่ละเซ็ท ดังนี้

                ฝ่ายที่จะต้องเป็นผู้เสิร์ฟในเกมแรกของแต่ละเซ็ทจะต้องตกลงว่าจะให้ผู้เล่นคนใดของฝ่ายคนเสิร์ฟในเกมแรก และฝ่ายตรงข้ามก็จะกระทำ เช่นเดียวกันโดยพิจารณาว่าจะให้ผู้เล่นคนใดของฝ่ายคนเสิร์ฟในเกมที่สอง ต่อจากนั้นคู่ขา ( Partner) ของผู้เสิร์ฟเกมแรกจะเป็นผู้เสิร์ฟในเกมที่สาม และคู่ขาของผู้เสิร์ฟในเกมที่สองจะเป็นผู้เสิร์ฟในเกมที่สี่ และเรียงลำดับการเสิร์ฟเช่นนี้เรื่อยไปจนกระทั่งจบเซ็ทนั้น

ปัญหาที่ 1 ในการแข่งขันประเภทคู่ ผู้เล่นคนหนึ่งไม่ปรากฎตัวตามเวลาแข่งขันคู่ขาของผู้เล่นที่ไม่มานั้นจะขอแข่งขันเพียงคนเดียวกับคู่ต่อสู้ สองคนได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ไม่ได้

ข้อ 36 ลำดับการรับ (Order of Receiving in Doubles ) ลำดับการรับลูกเสิร์ฟจะต้องพิจารณาจัดไว้ตั้งแต่เริ่มต้นเซ็ทของแต่ละเซ็ท ดังต่อไปนี้ ฝ่ายที่จะ ต้องเป็นผู้รับลูกเสิร์ฟในเกมแรก จะต้องตกลงใจว่าจะให้ผู้เล่นคนใดของฝ่ายตนรับลูกเสิร์ฟ ลูกแรก และ ผู้เล่นคนนั้นจะต้องเป็นผู้รับลูกเสิร์ฟลูกแรกของเกมคี่ทุกเกมจนกว่าจะจบเซ็ทนั้นฝ่ายตรงข้ามก็กระทำเช่นเดียวกัน โดย พิจารณาว่าจะให้ผู้เล่นคนใดของฝ่ายตนรับลูกเสิร์ฟลูกแรกของเกมที่สอง และผู้เล่นคนนั้นจะต้องเป็นผู้รับ ลูกเสิร์ฟ ลูกแรกของเกมคู่ทุกเกม จนกว่าจะจบเซ็ทนั้น ผู้เล่นทั้งสองคนของฝ่ายรับลูกเสิร์ฟจะต้องผลัดกันรับลูกเสิร์ฟ คนละครั้งสลับกันตลอดไปจนจบเกม

ปัญหาที่ 1 ในการแข่งขันประเภทคู่ คู่ขาของผู้เสิร์ฟหรือคู่ขาของผู้รับลูกเสิร์ฟจะยืนอยู่ในตำแหน่งที่บังสายตาของผู้รับลูกเสิร์ฟได้หรือไม่

ข้อชี้ขาด ได้ คู่ขาของผู้เสิร์ฟหรือคู่ขาของผู้รับลูกเสิร์ฟจะยืนในตำแหน่งใดๆ ก็ได้ตามต้องการ ในด้านของตาข่ายที่เป็นของตน ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกสนาม

ข้อ 37 การเสิร์ฟผิดลำดับ (Service out of Turn in Doubles) ถ้าคู่ขาของผู้เล่นฝ่ายใดเสิร์ฟลูกก่อนถึงลำดับของตน ให้คู่ขาซึ่งถึงลำดับจะต้อง เสิร์ฟ ทำการเสิร์ฟแทนทันทีที่ได้พบข้อผิดพลาด แต้มที่ได้หรือเสียไปแล้วหรือลูกเสิร์ฟที่เสียไปแล้วก่อนพบ ข้อผิดพลาดคงนับด้วย ถ้าพบข้อผิดพลาดเมื่อจบเกมแล้วให้คงใช้ลำดับการเสิร์ฟตามที่ผิดพลาดนั้นต่อไป

                ข้อ 38 ลำดับการรับผิดพลาด (Eerror in Order of Receiving in Doubles) ถ้าในระหว่างการแข่งขันเกมใด ลำดับการรับลูกเสิร์ฟได้เปลี่ยนไป โดยฝ่ายรับลูกเสิร์ฟ ให้ลำดับการรับลูกเสิร์ฟในเกมที่ได้พบข้อผิดพลาดเป็นไปตามที่ผิดพลาดนั้นจนจบเกม แต่ในเกมต่อไปจะต้องจัดลำดับการรับ ลูกเสิร์ฟ ให้ถูกต้องตามที่ได้จัดไว้เดิมตั้งแต่เริ่มต้นเซ็ทจนกระทั่งจบเซ็ท

                ข้อ 39 เสิร์ฟเสีย (Service Fault in Doubles )  ลูกเสิร์ฟจะเป็นลูกเสียต่อเมื่อมีเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในกติกาข้อ 10 หรือเมื่อลูกสัมผัสคู่ขา ของผู้เสิร์ฟหรือสิ่งใดที่เขาสวมใส่หรือถืออยู่ แต่ถ้าลูกเสิร์ฟนั้นมิได้เป็นเล็ทตามที่ระบุไว้ในกติกาข้อ14(1) แต่ไปสัมผัสคู่ขาของผู้รับลูกเสิร์ฟ หรือสิ่งใด ที่เขาสวมใส่หรือถืออยู่ ก่อนที่ลูกจะสัมผัสพื้น ผู้เสิร์ฟจะเป็นคนได้แต้ม

                ข้อ 40 การตีโต้ลูก ( Playing the Ball in Doubles )  ผู้แข่งขันแต่ละฝ่ายจะต้องผลัดกันตีลูกฝ่ายละครั้งสลับกันถ้าผู้แข่งขันคนใดเอาไม้เทนนิส กระทบลูกที่กำลังอยู่ในการเล่นผิดกติกาข้อนี้ ให้ฝ่ายตรงข้ามได้แต้มนั้น

หมายเหตุ ถ้ามิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น กติกาข้างต้นทั้งหมดนี้ใช้บังคับทั้งผู้เล่นหญิงและชาย

ข้อสังเกต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 ITF มีการเปลี่ยนแปลงเวลาพักระหว่างแต้ม โดยผู้เสิร์ฟจะต้องพร้อมที่จะทำการเสิร์ฟลูก และผู้รับ พร้อมที่จะรับลูกเสิร์ฟจากเดิมภายในเวลา 25 วินาที เป็น 20 วินาที ดูกติกาข้อ 30(1) สำหรับ ATP เคยเปลี่ยนการพัก ระหว่างแต้มเป็น 20 วินาทีแล้ว แต่ก็ได้เปลี่ยนกลับมาเป็น 25 วินาทีตามเดิม