คำอุทาน

คำอุทาน คือ คำที่ไม่มีความหมายในตัวเอง แต่แสดงอารมณ์ของผู้กล่าวหรือเสริมคำในการพูดจากัน คำอุทานไม่จัดเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือภาคใดภาคหนึ่งของประโยค เป็นส่วนที่เสริมคำเข้ามาเพื่อแสดงอารมณ์ หรือช่วยให้ข้อความสละสลวย หรือ เป็นคำที่แสดงถึงเสียงที่เปล่งออกมาในเวลาที่ ดีใจ เสียใจ ตกใจ ประหลาดใจ หรือ กริ่งใจ เป็นคำที่ใช้หรือต่อสร้อยเสริมบทยิ่งขึ้น
เสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำอุทานนั้น อาจจะเป็น
๑. คำ :- แหม! พุทโธ่! โอ้! โอ๊ย! อุ๊ย!
๒. วลี :- เวรกรรมจริงหนอ! กลุ้มใจจริงโว้ย! โอ้อกเราเอ๋ย!
๓. ประโยค :- ไฟไหม้เจ้าข้า! อกแตกแล้วโว้ย!
รวมความว่า คำ วลี หรือประโยคใดๆก็ตาม ถ้านำมาใช้แสดงถึงเสียงที่ดีใจ หรือ ตกใจ เป็นต้น นับว่าเป็นอุทานทั้งสิ้น
คำอุทานบางชนิดก็มีคำแปล เช่น :- พุทโธ่! อนิจจา! ตายจริง! เวรๆ! แต่ถึงแม้มีคำแปลก็ไม่ต้องแปลตามตัวเสมอไป เพราะในกรณีเช่นนี้ ความหมายย่อมเปลี่ยนไปตามความรู้สึกของผู้พูด เพราะฉะนั้นคำๆเดียวกัน ถ้าใช้แสดงความรู้สึกที่ต่างกันความหมายก็ย่อมต่างกันด้วย เช่น :- พุทโธ่! เธอเองเหรอ ฉันนึกว่าใครเสียอีก พุทโธ่! เขาไม่น่าอายุสั้นเลย

คำอุทานบางชนิดก็ไม่มีคำแปล เช่น : ชิ! ชิชะ! แหม! โอ๊ย! โอย! เหม่! ฮึ! เฮ้ย! เอ๊ะ! ไฮ้! อ๊ะ! โอ้ว! ชนิดของคำอุทาน
คำอุทานมีทั้งหมด ๒ ชนิด คือ
๑. อุทานบอกอาการ
๒. อุทานเสริมบท

๑.อุทานบอกอาการ


๑.๑) ใช้แสดงความรู้สึกต่างๆในการพูด

เช่นคำ ชิ! ชิๆ! ชิชะ! โธ่! ป๊ะ! หื้อหือ! เหม่! แหม! อนิจจัง! อ๊ะ! อนิจจา! อุป๊ะ! เอ! เอ้ย! เอ๊ว! เอ้อเฮอ! โอ! โอย! โอ๊ย! ฮะ! ฮ้า! ฮึ! เฮ้! เฮ้ย! เฮ้ว! เฮ้อ! ไฮ้! เป็นต้น
คำเหล่านี้ใช้แสดงความรู้สึกที่ต่างๆ กันคือ
พุทโธ่! ใช้แสดงความ สงสาร, น้อยใจ, เสียใจ
แหม ,, ,, แปลก หรือ ประหลาดใจ
โอ ,, ,, รู้สึกเมื่อนึกอะไรขึ้นมาได้
หื้อหือ ,, ,, ห้ามหรือมักท้วง
เฮ้ว ,, ,, เยอะเย้ย
ฮ้า ,, ,, ห้าม ประหลาดใจ หรือเอะใจ

๑.๒) ใช้เป็นคำขึ้นต้นประโยคในคำประพันธ์

เพื่อแสดงความรำพึง รำพัน วิงวอน หรือปลอบโยน เป็นต้น ได้แก่คำ อ้า โอ้ โอ้ว่า และใช้แสดงความรำพึง พรรณนาวิงวอน
ตัวอย่างเช่น
โอ้ว่ารักหนอรักนี้หนักจิต บางคราวคิดว่าสนุกเป็นสุขี
บางคราวโอนแรงหึงตรึงทวี บางครั้งกลุ้มฤดีนี้อย่างไร.

๒.อุทานเสริมบท

คือ คำอุทานใช้เป็นคำสร้อย หรือ คำเสริมบทต่างๆ เพื่อให้มีคำที่ครบถ้วนตามที่ต้องการหรือให้มีความกระชับ มีทั้งหมด ๓ ชนิด คือ
๑. อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำสร้อย
๒. อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำแทรก
๓. อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำเสริม

๒.๑) อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำสร้อย

คือ อุทานใช้เป็นสร้อยของโคลงและร่าย หรือ ใช้เป็นคำลงท้ายในบทประพันธ์ มีพยางค์ครบตามบัญญัติของฉันทลักษณ์เท่านั้น หรือเติมลงไปแล้วจะไม่มีความหมายอะไรเพิ่มขึ้นในข้อความนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น

- ขาดทรัพย์ อับมิตรหมอง หม่นจิตร จริงแฮ
- ฟังคิดเขียนขีดข้อ ควรเขียน เขียนแฮ
- เสริมศิลป์ส่งเกียรติก้อง กังวาล โลกแล

๒.๒ ) อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำแทรก

ใช้แทรกลงในระหว่างคำหรือข้อความ มีทั้งหมด ๒ ชนิด คือ

(๒.๒.๑) ใช้เป็นบทบูรณ์

คือ เป็นคำที่ทำให้บทประพันธ์มีพยางค์ครบถ้วนตามฉันทลักษณ์ ได้แก่คำ นุ ซิ สิ นิ ตัวอย่างเช่น เวียนมา สิ เวียนไป
แต่งอเนก นุ ประการ

(๒.๒.๒) ใช้ประกอบข้างท้ายให้มีการกระชับสละสลวยมากขึ้น

ได้แก่คำ นา นะ เอย เอ๋ย เอ่ย โอย
ตัวอย่างเช่น เด็ก เอ๋ย เด็กน้อย
ตัวอะไร เอ่ย มี ๔ ตา
มาเถิดนา พ่อ นา

๒.๓) อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำเสริม

คือ ต้องใช้ต่อถ้อยเสริมคำให้ยาวขึ้น แต่ไม่ต้องการความหมายที่เสริมนั้น มี ๓ ชนิด คือ

(๒.๓.๑) คำเสริมที่สอดลงไปในระหว่าง

เพื่อให้เป็นสะพานเสียงทอดสัมผัส ระหว่างคำหน้ากับคำหลัง เช่น วัด วา อาราม พิธี รี ตอง ลูก เต้า เหล่าใคร

คำ - นาง , วา , ผ่อน , ผา , หญ้า , เต้า , รี , สารา เป็นคำเสียงสอดลงไปให้เกิดเสียงสัมผัส

(๒.๓.๒) คำเสริมที่เลียนเสียงคำเดิม

จะเสริมข้างหน้าหรือข้างหลังก็ได้ คำชนิดนี้ไม่มีความหมายอะไร แต่บางคำก็ช่วยกระชับความหรือเน้นเสียงให้หนักแน่นขึ้น และส่วนมากใช้ในภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน
เช่น ไม่รู้ไม่ชี้ กระดูกกระเดี้ยว หนังสือหนังหา เข้าอกเข้าใจ

(๒.๓.๓)คำเสริมที่พ่วงเข้ามาเพื่อเติมเสียงให้เต็มตามที่เคยใส่ในที่อื่น

เช่น มือของเขาช่างไว ไฟ เหลือเกิน
เขาตั้งใจศึกษา เล่า เรียน


การใช้คำอุทาน


คำอุทาน จะเรียงไว้ข้างหน้าหรือข้างหลังบทต่างๆ ก็ได้ หรือสอดลงในระหว่างบทก็ได้ และไม่ต้องประกอบด้วยระเบียบของคำทั้ง ๘ ชนิด
การเขียนคำอุทานในสมัยโบราณ ไม่ต้องหมายอะไรกำกับ เพราะรู้กันได้โดยรูปของคำ แต่บัดนี้นิยมใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) กำกับ ตามแบบของยุโรป แต่นิยมใช้กับอุทานทั่วไป เพราะต้องการให้อ่านออกเสียงเป็นสำเนียงพูดจากันจริงๆ ส่วนคำอุทานชนิดอื่นๆจะไม่นิยมใช้


วิธีกระจายคำอุทาน

๑. ให้บอกได้ว่าเป็นอุทานชนิดใดเท่านั้น เพราะคำอุทานไม่มีบุรุษ , ลิงค์ , พจน์ , การก , กาล , มาลา , วาจก และราชาศัพท์
๒ . ถ้าเป็นอุทานบอกอาการ ให้บอกว่าเป็น "อุทานบอกอาการ" เท่านั้น เพราะไม่ได้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับบทอื่น
๓ . ถ้าเป็นเสริมบท ย่อมหน้าที่ประกอบหรือขยายบทอื่นๆด้วย (ยกเว้นชนิดที่ใช้เป็นบทบูรณ์ซึ่งไม่ได้ขยายบทอื่น ) เพราะฉะนั้น จึงต้องบอกด้วยว่าเป็นอุทานเสริมบทของอะไร และไม่ต้องแยกออกกระจายเป็นคำๆ ถึงแม้จะมีหลายคำรวมกันก็ตาม เพราะถือว่าเป็นอุทานเสริมบทหมดทั้งกลุ่ม

ตัวอย่างการกระจายคำอุทาน
๑. พุทโธ่! เขาตายเสียแล้วหรือ ?
๒. ฮ้า แม่พิมลสกลโฉม สิริโลมลออตา
๓. เด็ก เอย ทำไมจึงร้อง
๔. เที่ยงนาง กลางคืน
๕. หนังสือหนังหา ไม่มี
๖. ฉันไม่รู้ ฉันไม่ชี้อะไรเลย
๗. สนุก นิ เราเศร้าลิ้น สบหน้าหมั่นเกษม
๘. ขาดทรัพย์ อับมิตรหมอง หม่นจิตร จริงแฮ