ชนิดของบุพบท

บุพบทแบ่งออกเป็น ๕ ชนิดคือ
๑. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง นามกับนาม นามกับสรรพนาม หรือนามกับกริยา
๑) ฉันชอบนาฬิกาของนายแดง
๒) โต๊ะในห้องเรียนมีสามสิบห้าตัว
๓) มือของเขาสวยมาก
๔) อาหารสำหรับท่านมีอยู่พร้อมแล้ว
๕) อาหารสำหรับรับประทานมีไหม ?
๖) ของเผื่อเลือกมีหลากหลาย


๒. บุพบทที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสรรพนามกับนาม สรรพนามกับสรรพนาม หรือสรรพนามกับกริยา เช่น
๑) ท่านจะต้องการอะไรที่นายแดง ?
๒) เธอพบใครในห้องนั้น ?
๓) เธอของฉันหายไปไหน ?
๔) อะไรของเธออยู่ในกระเป๋าฉัน ?
๕) อะไรสำหรับเล่นมีบ้างไหม ?
๖) ขอให้บอกมาว่า ไหนสำหรับกิน ไหนสำหรับเก็บ ?


๓. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างกริยากับนาม กริยากับสรรพนาม กริยากับกริยา หรือกริยากับวิเศษณ์ บุพบทชนิดนี้อาจนำหน้า บทกรรม บทที่เป็นเจ้าของหรือบทขยายก็ได้ เช่น
๑) เขาเห็นแก่หน้ากัน (หน้า เป็นกรรม)
๒) เขาอยู่ในบ้าน
๓) ฉันไปกับเขา
๔) ฉันนั่งใกล้เขา
๕) เขาเป็นของฉันแล้ว
๖) เขาคิดของเขาเอง
๗) เขาอยู่เพื่อกิน
๘) เขาโฆษณาเพื่อหาเสียง
๙) เขาไปโดยเร็ว


๔. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างประโยคกับประโยค เช่น
๑) เขานอนตั้งแต่ฝนตกครั้งแรก
๒) เขาเก็บอาหารไว้สำหรับคนดายหญ้าที่สนาม


๕. บุพบทที่ไม่แสดงความสัมพันธ์กับบทอื่น ได้แก่คำ ดูกร, ดูก่อน, ดูแนะ, ดูรา, ข้าแต่, ยัง
สี่คำข้างต้นคือ ดูกร, ดูก่อน, ดูแนะ, ดูรา, ข้าแต่, ใช้สำหรับนำหน้าคำนามหรือสรรพนามที่เป็นคำร้องเรียกหรือคำทักทายเพื่อเตือนให้ผู้พูดด้วยรู้ตัว เช่น
๑) ดูกร มหาพราหมณ์ ท่านจงทำตามคำที่เราบอก
๒) ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนท่านทั้งหลายให้เป็นผู้สงบ
๓) ดูแน่ะ พี่น้องทั้งหลาย บัดนี้เรามาช่วยท่านแล้ว.
๔) ดูรา สหายที่รัก ขอท่านจงมีความอดทนเถิด
๕) ข้าแต่ ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอแสดงคารวะต่อท่านอย่างสูง
บุพบทในตัวอย่างข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๕ สำหรับผู้ใหญ่ใช้พูดกับผู้น้อยหรือบุคคลทั่วไปใช้กับบุคคลที่เสมอกัน
ตัวอย่างในข้อที่ ๕ สำหรับผู้น้อยใช้กับผู้ใหญ่ หรือบุคคลทั่วไปใช้กับบุคคลทั่วไปที่ตนยกย่องนับถือ
บุพบท “ยัง” ใช้นำหน้านามหรือสรรพนามที่เป็นการิตการก คือผู้ถูกใช้เช่น
๑) บิดายังบุตรให้ทำงาน
๒) อาจารย์ยังศิษย์ให้เรียนหนังสือ
บุพบททั้ง ๖ คำดังกล่าวนี้แม้จะทำหน้าที่หรือสรรพนาม ก็มิได้แสดงว่านามหรือสรรพนามนั้นมีความสัมพันธ์กับบทอื่น และบัดนี้ไม่ใคร่นิยมใช้ในที่ทั่วไป จะมีอยู่ก็แต่ในหนังสือเก่า ๆ หรือในการแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน หรือในหนังสือที่เกี่ยวกับศาสนา หรือในข้อความที่ต้องการจะให้เป็นสำนวนเก่าเท่านั้น โดยเฉพาะบุพบท “ยัง” ไม่นิยมใช้นำหน้าการิตการกเลย เพราะไม่ใช่สำนวนที่ถูกต้องตามระเบียบของภาษาไทย แต่เป็นสำนวนที่ท่านบัญญัติขึ้นใช้ในไวยากรณ์บาลีเพื่อแปลประโยค “เหตุกรรมวาจก” ซึ่งวาจกชนิดนี้หามีใช้ในภาษาไทยไม่
ในวากยสัมพันธ์ คำที่มีบุพบท -ดูกร, ดูก่อน, ดูแนะ, ดูรา, ข้าแต่, นำหน้า จัดเข้าอยู่ในประเภท “บทเชื่อม” ส่วนการิตการกที่มีบุพบท “ยัง” นำหน้า จัดเป็นบทขยายกริยา