ความแตกต่างระหว่างบุพบทกับวิเศษณ์

คำบุพบทบางคำมีรูปอย่างเดียวกับคำวิเศษณ์ จึงมักทำให้เกิดฉงน แต่ความจริงมีวิธีแก้ต่างกันดังนี้
๑. คำบุพบทต้องนำหน้าคำที่อยู่ข้างหลัง จะใช้ตามลำพังไม่ได้ แต่คำวิเศษณ์ต้องใช้ประกอบคำที่อยู่ข้างหน้า จะมีคำตามหลังก็ได้ แต่ต้องเป็นบทขยายหรือบทกรรม เช่น
๑) เขาอยู่ ใน บ้าน (บุพบท)
๒) เขาอยู่ ใน (วิเศษณ์)
๓) เขาอยู่ ใกล้ บ้าน (บุพบท)
๔) เขาอยู่ ใกล้ (วิเศษณ์)
๕) เขาอยู่ เหนือ บ้าน ฉันอยู่ ใต้ บ้าน (บุพบท)
๖) เขาอยู่ เหนือ ฉันอยู่ ใต้ (วิเศษณ์)
๗) เขาอยู่ ใกล้มาก (วิเศษณ์)


๒. คำที่ตามหลังบุพบท ย่อมทำหน้าที่เป็นการกต่าง ๆ แต่คำที่ประกอบข้างหลังวิเศษณ์, บทกรรมหรือบทขยาย เช่น
๑) เขาพูดดัง มาก (เป็นคำวิเศษณ์)
๒) คนเดียวมี ๒ มือ (เป็นบทกรรม)
๓) เขาเป็นเด็กดีเกิน เด็ก ทั้งหลาย (เป็นบทขยาย)


๓. คำบุพบทไม่มีความหมายเกาะอยู่ที่ตัวเอง แต่ความหมายไปตกอยู่ที่คำตามหลัง แต่คำวิเศษณ์มีความหมายในตัวเอง เช่น
๑) เขาเป็นลูก ของ ฉัน (บุพบท)
๒) เขาพูด ไพเราะ (วิเศษณ์)
.......ในประโยคที่ ๑ ความหมายไปตกอยู่ที่คำ “ฉัน” หาได้อยู่ที่คำ “ของ” ซึ่งเป็นคำบุพบทไม่
.......ในประโยคที่ ๒ คำ “ไพเราะ” เป็นคำวิเศษณ์ประกอบกริยา “พูด” ให้ได้ความชัดเจนขึ้น เป็นคำที่มีความหมายในตัวเอง


๔. คำบุพบทไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ถ้าเป็นที่รู้ความหมายกันอยู่โดยทั่วไปแล้ว ก็มักจะละบุพบทไว้ในฐานเข้าใจ เช่น
๑) นักเรียนไปโรงเรียน
๒) เด็กนอนเตียง
๓) หนังสืออยู่บ้าน
แต่คำวิเศษณ์ใช้ได้ทั่วไป เพราะเป็นขยาย จะละไว้ในฐานเข้าใจไม่ได้