รรณะมด

วรรณะมด

- มดราชินี (queen) เป็นมดเพศเมียที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ก่อนที่จะเป็นมดราชินี จะเป็นมดเพศเมีย (female) ธรรมดาก่อน เป็นมดมีปีก เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะสลัดปีกทิ้งไป แล้วเริ่มสร้างรังวางไข่ มดราชินีจะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมดทั้งรัง ตั้งแต่กำหนดเพศ จำนวนประชากร และพฤติกรรมต่างๆ เปรียบเหมือนเป็นศูนย์รวมของมดทุกชีวิตเลยก็ว่าได้ หากมดราชินีถูกฆ่าตาย มดตัวอื่นๆ จะขาดที่พึ่งและแตกกระจายกันไปไม่มีจุดหมาย อยู่เพื่อรอวันตายซึ่งอาจจะตายเองหรือถูกสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร โดยทั่วไปมดรังหนึ่งจะมีมดราชินีเพียงตัวเดียวเท่านั้น

- มดเพศผู้ (male) เป็นมดตัวผู้ มีปีกมีขนาดใกล้เคียงกับมดงาน มีหน้าที่เพียงแค่ผสมพันธุ์อย่างเดียว ในรังหนึ่งมีมดเพศผู้อยู่ไม่มาก และจะเกิดเพียงรุ่นเดียวเท่านั้นในรอบปี

- มดงาน (worker) เป็นมดตัวเมียที่เป็นหมัน ไม่มีปีก มีหน้าที่คอยหาอาหารป้องกันศัตรู ดูแลรังไข่และตัวอ่อนรวมทั้งมดราชินี มดที่เราเห็นส่วนใหญ่ล้วนเป็นมดงานทั้งสิ้น มดรังหนึ่งจะมีมดงานจำนวนมากเพราะเกิดได้หลายรุ่นในรอบปี มดบางชนิดยังอาจแบ่งมดงานเป็น “มดทหาร” ซึ่งมีขนาดลำตัวใหญ่ (แต่เล็กกว่ามดราชินี) อาจพบได้ภายในรังและบริเวณใกล้รังเพื่อป้องกันศัตรูต่างๆ อีกประเภทหนึ่งคือ “มดกรรมการ” มีขนาดเล็กกว่ามดทหาร พบได้ในบริเวณที่ห่างรังออกไปเนื่องจากต้องไปหาอาหารตามที่ต่างๆ

อาหารมด

เนื่องจากมดมีหลายเผ่าพันธุ์ อาหารของมันก็แตกต่างกันไป แต่อาหารหลักที่สำคัญของมดก็คือ สัตว์จำพวกแมลง ซึ่งมดจะได้สารอาหารโปรตีนในการสร้างร่างกาย โดยเฉพาะพวกหนอนผีเสื้อที่มดชอบมาก สารอาหารอีกประเภทก็คือ พวกน้ำตาลหรือน้ำหวาน ซึ่งมดจะไวมากกับอาหารหวานพวกนี้ ในธรรมชาติมดจะดูดน้ำหวานหรือน้ำเลี้ยงพืชเพื่อใช้เป็นพลังงาน

การหาอาหารของมด

มดมีพื้นที่ในการหาอาหารกว้างมาก และมีการออกหาอาหารทั้งกลางวัน และกลางคืนแล้วแต่ชนิดของมด กิจกรรมของมดจำนวนมากขึ้นกับอุณหภูมิเป็นสำคัญ

เมื่อมดตัวใดพบแหล่งอาหาร เช่น ซากแมลงที่มีขนาดใหญ่มันจะรีบวิ่งกลับรังด้วยความกระตือรือร้น เพื่อไปบอกพรรคพวก (มดงาน) ให้มาช่วยลากอาหารกลับรัง ขณะที่มันวิ่งกลับรังนั้นมันก็จะปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า ฟีโรโมนไว้ด้วยเพื่อที่มันจะได้กลับไปยังแหล่งอาหารได้ถูกต้อง มีรายงานจากผู้ศึกษามดในญี่ปุ่นพบว่าในแต่ละวัน มดจะหาแมลงมาเป็นอาหารเก็บไว้ในรังถึง 2,400 ตัว ขณะที่ในอังกฤษมีผู้ศึกษามดรายงานว่าทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษ มีรังมดที่เห็นเป็นเนินดินขนาดใหญ่มากอยู่รังหนึ่ง ข้างในมีสมาชิกมดนับแสนตัว

นอกจากนี้มดก็ยังกินมดพวกที่ตายแล้ว เป็นอาหารด้วย พบว่ามดจะลากแมลงมาเก็บไว้ในรังสูงถึง 1 แสนตัวต่อวันทีเดียว !!...

“มดหมู่” โจมตีแมลงเป็นอาหาร

เรามักจะกล่าวโทษพวกสุนัขที่ชอบรุมรังแกสุนัขตัวอื่นว่า “หมาหมู่” แต่พฤติกรรมในการล่าเหยื่อของมดแบบ “มดหมู่” นี้ก็มีเหมือนกัน นอกเหนือจากอาหารที่ตายซากแล้ว บางครั้งมดก็รุมทำร้ายเหยื่อพวกแมลงที่มีชีวิตเพื่อล่าเป็นอาหารเหมือนกัน เช่นพวกลูกตั๊กแตนตำข้าว เป็นต้น

รังมด

รังมดก็เปรียบเหมือนบ้าน เป็นที่อยู่ของมดทุกตัวรวมทั้งไข่และตัวอ่อน เป็นที่ที่ปลอดภัยจากศัตรู เราอาจพบรังมดได้ตามที่ต่างๆ กันไป แล้วแต่ชนิดของมด มดบางชนิดสร้างรังง่ายๆ อยู่ใต้ขอนไม้ผุ ใต้ก้อนหิน หรือวัสดุอื่นตามพื้นดิน บางชนิดสร้างรังอยู่บนต้นไม้ ตามกิ่งก้านต่างๆ โดยนำใบไม้มาห่อเป็นรัง และบางชนิดก็สร้างรังอย่างวิจิตรอยู่ใต้พื้นดินลึกเป็นเมตรๆ ส่วนบริเวณทางเข้าของรังมดเป็นทางเข้าแคบๆ เพียงรูเดียว แต่อาจมีมูลดินล้อมรอบ ตั้งแต่มูลดินต่ำวงแคบๆ ไปจนถึงมูลดินสูงแผ่ขยายกว้างออกไปเป็นเมตรๆ (มูลดินเหล่านี้มดขุดขึ้นมาจากใต้ดินจากการสร้างรังเป็นห้องต่างๆ ดังนั้นจึงพออนุมานได้ว่า รังมดที่มีมูลดินมาก รังของมันก็จะใหญ่และมีหลายห้องด้วย) และมดบางชนิดก็ไม่มีรังที่แท้จริง โดยจะพบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ บนพื้นดิน ในซากพืชหรือระหว่างรากพืช มดพวกนี้จะเคลื่อนย้ายรังบ่อยมาก ซึ่งเราสามารถพบได้ตามบริเวณที่เหมาะสมได้กว้างขวาง


การต่อสู้ของมด

มดจะต่อสู้กับผู้รุกรานก็ด้วยเหตุผล คือ ปกป้องตัวมัน ปกป้องรัง ครอบครัว มดราชินี หรือแหล่งอาหาร ส่วนวิธีการต่อสู้ก็ใช้ 3 วิธีหลักๆ คือ ใช้กัด (ด้วยปากหรือกราม) ใช้ต่อย (ด้วยเหล็กในบริเวณบั้นท้าย) และใช้ฉีดพ่นกรดมด (formic acid) หรือสารพิษ (จากบริเวณส่วนปลายก้น) หรืออาจใช้ 2 วิธีร่วมกัน เช่น กัดและฉีดกรดมด เป็นต้น ซึ่งแล้วแต่ชนิดของมด

นอกจากมดจะใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อต่อสู้กับผู้รุกรานแล้ว มดก็ยังใช้เพื่อการข่มขู่ศัตรู และการล่าเหยื่อด้วยผู้รุกรานหรือเหยื่ออาจโดนกัดและฉีดสารพิษ หรือกรดพิษ ทำให้บาดเจ็บ เป็นอัมพาต และอาจตายได้ สารพิษและกรดมดนี้จะผลิตขึ้นในบริเวณส่วนก้นของมดและเก็บไว้ในต่อมพิเศษ เตรียมพร้อมที่จะใช้ได้ทันที

ผู้รุกรานมดอาจเป็นมดชนิดเดียวกันแต่ต่างรัง หรือมดต่างชนิดกัน หรือเป็นสัตว์อื่น กระทั่งคนเราเองก็ตาม มดก็จะต่อสู้อย่างหาญกล้า ถ้าคู่ต่อสู้ไม่ฆ่ามันตายซะก่อน มันก็คงเป็นฝ่ายกำชัยโดยทำให้คู่ต่อสู้ได้รับบาดเจ็บหรือตายเพราะพิษสงมันได้เช่นกัน