ขิง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Rosc.

ชื่อวงศ์ Zingiberaceae

ชื่ออื่นๆ ขิงเผือก (เชียงใหม่) ขิงแกลง ขิงแดง (จันทบุรี) สะเอ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ขิงเป็นพืชล้มลุกที่มีแง่งใต้ดิน แง่งจะแตกแขนงคล้ายนิ้วมือ เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว ลำต้นที่อยู่ใต้ดินงอกจากแง่งตั้งตรงยาวประมาณ 2-3 ศอก ใบเป็นรูปพายกาบใบยาวหุ้มลำต้น และจะเป็นสีเขียว เรียวแคบ ปลายใบแหลม มีดอกเป็นช่อขนาดเล็ก ก้านดอกสั้น กาบสีแดง ดอกสีเหลือง และจะบานจากโคนไปหาส่วนปลาย ผลกลม นิยมปลูกไว้เป็นอาหาร ขยายพันธ์โดยการแตกหน่อ

สรรพคุณทางยา
เหง้า รสหวานเผ็ดร้อน ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ แก้บิด

ต้น รสเผ็ดร้อน ขับลมให้ผายเรอ แก้จุกเสียด แก้ท้องร่วง

ใบ รสเผ็ดร้อน บำรุงกำเดา แก้ฟกช้ำ แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ แก้โรคตา ฆ่าพยาธิ

ดอก รสเผ็ดร้อน แก้โรคประสาทซึ่งทำให้ใจขุ่นมัว ช่วยย่อยาอาหาร แก้ขัดปัสสาวะ

ราก รสหวานเผ็ดร้อนขม แก้แน่น แก้ศอเสมหะ เจริญอาหาร แก้ลม แก้เสมหะ แก้บิด บำรุงเสียงให้เพราะ

ผล รสหวานเผ็ด บำรุงน้ำนม แก้ไข้ แก้คอแห้ง เจ็บคอ แก้ตาฟาง เป็นยาอายุวัฒนะ

วิธีใช้และการรักษา
นายแก้ว มีพวกมาก ใช้แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และอาการคลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากธาตุไม่ปกติ เมารถ เมาเรือ โดยใช้เหง้าแก่สดขนาดเท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม

นางช่วย สุขแก้ว ใช้แก้อาการไอมีเสมหะ ฝนกับน้ำมะนาว หรือใช้เหง้าสดตำผสมกับน้ำเล็กน้อย คั้นเอาน้ำและแทรกเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ

นายพล คงคิดใช้ขิง 5 บาท ข่า ขมิ้นอ้อย หัวผักกาด ชะลูด กะลำพัก ขอนดอก กระทือ กระเทียม กระชาย หนักสิ่งละ 2 บาท ดอกคำฝอย ดีปลี พริกไทย เกลือ สิ่งละ 3 บาท มะกรูด 33 ลูก สารส้ม 5 บาท ยาทั้งต้น ต้มแล้วใส่โอ่งดอง ตากแดด 7 วัน 7 คืน รับปรัทานครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 4 เวลา เช้า เที่ยง เย็น และก่อนนอน

นายวิโรจน์ บรรลือพืช ใช้ขิงแก่ที่ล้างทำความสะอาด ล้างสิ่งสกปรกให้หมด แล้วทุบพอแตกใส่หม้อต้มที่ใส่น้ำสะอาดเอาไว้ก่อน จัดการต้มขิงให้เดือด แล้วค่อยๆลดไฟเคี่ยวให้นานๆจนขิงละลายน้ำผสมออกมา จนสีน้ำเป็นสีเหลืองอ่อน เคี่ยวต่อไปสัก 15 นาทีแล้วก็ยกลงได้ และก็ผสมเกลือน้ำตาลทรายแดงใส่น้ำขิงเวลาร้อนๆลงไป ดื่มได้ทั้งเวลาร้อนและเย็น

- ใช้ขิงแก่ขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือทุบให้ให้แตก หรือหั่นเป็นแว่นต้มกับน้ำ 1 แก้ว
ใช้ไฟอ่อนๆ ต้มให้เดือดนาน 5 นาที ต้มเสร็จเอาขิงออก เติมน้ำเล็กน้อย
ดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว เช้า-กลางวัน-เย็น

นางอำไพ อยู่ขำ ใช้ขิงแก่ขนาดหัวแม่มือ ฝานเป็นแผ่นบางๆเติมน้ำร้อนเดือดจัดๆให้เต็มถ้วย
ปิดฝาตั้งไว้ให้พออุ่น ใส่น้ำตาลเล็กน้อย ดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว

ผู้ให้ภูมิปัญญา

นายแก้ว มีพวกมาก ที่อยู่ บ้านเลขที่ 41/2 หมู่ 4 ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ประกอบอาชีพ หมอพื้นบ้าน

นายพล คงคิด ที่อยู่ บ้านเลขที่ 64 หมู่ 3 ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ประกอบอาชีพทำสวน และหมอพื้นบ้าน

นางช่วย สุขแก้ว ที่อยู่ บ้านเลขที่ 2 หมู่ 3 ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ประกอบอาชีพ รับจ้าง

นายวิโรจน์ บรรลือพืช ที่อยู่ บ้านเลขที่ 136 หมู่ 4 ต.บ้านเกราะ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ประกอบอาชีพ รับราชการ และแพทย์แผนโบราณ

นางอำไพ อยู่ขำ ที่อยู่ บ้านเลขที่ 113/1 หมู่ 7 ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ประกอบอาชีพ ทำนา

ข้อดีของสมุนไพร ใช้ปรุงอาหารได้สามารถจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดได้มีราคาแพง คนนิยมรับประทานเป้นอาหาร

ข้อเสียของสมุนไพร น้ำขิงที่มีความเข้มข้นมากๆ จะออกฤทธิ์ตรงข้ามกัน คือระงับการบีบตัวของลำไส้ ควรใช้ปริมาณพอดี