หญ้าใต้ใบ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus urinarria Linn.

ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae

ชื่ออื่นๆ ไฟเดือนห้า มะขามป้อมดิน หมากไข่หลัง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุกอายุปีเดียว บางคร้งอายุหลายปี สูงได้ถึง 50 ซม. ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบหรือรูปขอบขนาน บางคร้งโค้งคล้ายรูปเคียว กว้าง 2-9 มม. ยาว 6-25 มม. ปลายมนหรือแหลมมีติ่งหนาม โคนใบมน บางคร้งเบี้ยว ท้องใบขอบใบและเส้นใบมีขน ดอกช่อกระจุกกลมออกที่ซอกใบ ดอกย่อยแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวเมีย 1 ดอก ออกที่โคนและดอกตัวผู้ออกเป็นกระจุกด้านเดียว 5-7 ดอก ที่ปลายช่อ ดอกตัวผู้มีก้านดอกย่อยยาวน้อยกว่า 0.5 มม. เป็นข้อต่อที่บริเวณกึ่งบนของก้านดอกย่อยกลีบเลี้ยงรูปวงรีถึงรูปไข่กลับแกมขอบขนาน กว้าง 0.2-0.4มม.ยาว 0.3-0.5 ซม. ปลายมน จานฐานดอกบัวเว้าเป็น 6 พู รูปลิ่มหรือกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.1มม. เกสรตัวผู้ 3 อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นมัดเดียว ยาว 0.1 -0.2 มม .อับเรณูยาว 0.1-0.2 มม. ดอกตัวเมียมีก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.5 มม. กลีบเลี้ยงรูปแถบแกมขอบขนานหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง 0.2-0.3 มม.ยาว 0.6-0.9 มม. กระดกขึ้นเมื่อติดผล ปลายมนหรือกลม จานฐานดอกเป็นเหลี่ยม บางครั้งหยักมน รังไข่มีขนปุ่มเล็กและหยิกย่น ก้านเกสรตัวเมียแบน โคนเชื่อมติดกัน เป็นแผ่นรูปสามเหลี่ยมกว้าง 0.3-0.4 มม. ผลแห้งแตกได้ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-2.2 มม. ผิวมีปุ่มเป็นขุยหรือเกือบเกลี้ยง เมล็ด ยาว 1.1-2.2 มม. มีสันตามขวาง 12-15 สัน

สรรพคุณทางยา ราก แก้ไข้หวัด แก้ท้องเสีย แก้บวม แก้ปัสสาวะขัด แก้นิ่ว บำรุงกระเพาะ บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ แก้บิด

ต้น แก้ไข้หวัด แก้บวม แก้ปัสสาวะขัด เป็นนิ่ว แก้ปวดฝี แก้ฟกบวม ทั้งต้น แก้ไข้ทุกชนิด

ใบ แก้ไข้หวัด แก้บวม แก้ปัสสาวะขัด เป็นนิ่ว แก้ดีซ่าน ตัวเหลือง ลูก แก้พิษตานซาง แก้ร้อนใน แก้ไข้

วิธีใช้และการรักษา

1นายพล คงคิด หญ้าใต้ใบ 3 บาท ต้มรับประทาน ครั้งละ 1-2 ถ้วยชา เช้า - เย็น ก่อนอาหาร

2.นายแก้ว มีพวกมาก ใช้หญ่าใต้ใบ และตะไคร้ มาล้างน้ำให้สะอาด เอามาหั่นเป็นท่อนๆ นำไปต้มกับน้ำ ให้เหลือน้ำ 1ใน 3 แล้วรินใส่แก้ว พร้อมดื่ม รักษาอาการภูมิแพ้ต่างๆ เช่น เกสรดอกไม้ แพ้อากาศ เป็นต้น ใช้รักษาอาการหืดหอบ

ผู้ให้ภูมิปัญญา

1.นายพล คงคิด ที่อยู่ บ้านเลขที่ 64 หมู่ 3 ต. ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

2. นาย แก้ว มีพวกมาก ที่อยู่ บ้านเลขที่ 41/2 หมู่ 4 ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลาจ.นครศรีธรรมราช

ข้อดีของสมุนไพร หาง่าย คนนิยมนำมาทำเป็นยารักษาโรค

ข้อเสียของสมุนไพร ขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่นิยมปลูกผู้คนทั่วไปไม่รู้จักตายง่าย