แนะนำรุ่นพี่ NSC : นายมนัสวิน หาญมงคลชัย (NSC 2009)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนเมษายน 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ชาคริต นิลศาสตร์

สิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นอย่างไร เราก็จะเติบโตเป็นอย่างนั้น…สำหรับคนทั่วไป สิ่งแวดล้อมนั้นอาจหมายถึงของที่อยู่รอบตัวในวัยเด็ก กระบวนการสั่งสอนของผู้ปกครอง หรือการเรียนในโรงเรียน แต่สำหรับ ‘วิน’ มนัสวิน หาญมงคลชัย โปรแกรมเมอร์หนุ่มน้อยวัย 24 ปี แห่ง Wongnai (วงใน)..เว็บไซต์และแอปพลิเคชันค้นหาและรีวิวร้านอาหารยอดนิยมอันดับต้นๆ ของเมืองไทยแล้ว นอกเหนือจากสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมาข้างต้น การแข่งขัน NSC คืออีกหนึ่งเบ้าหลอมที่ขีดลากไทม์ไลน์ชีวิต ให้เขาแสวงหาและเติบโตขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งคนไอทีคุณภาพของยุคนี้ เราลองมาทำความรู้จักและเรียนรู้เรื่องราวของเขาไปพร้อมกันๆ จากบทสัมภาษณ์นี้…

เริ่มต้นจากกองสายไฟในวัยเด็ก

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ตอนเด็กๆ ที่บ้านจะมีคอมพิวเตอร์ เครื่องแรกที่ใช้เป็น Window 3.1 ที่ไม่ใช่เปิดมาปุ๊บแล้วดับเบิลคลิกเปิดเกมเล่นได้เลย แต่มันต้องเรียนรู้วิธีการใช้ระดับหนึ่ง ตอน ป.4 ผมซื้อหนังสือเขียนโปรแกรมมาอ่าน แล้วทดลองเขียนดู แต่เริ่มมาจริงจังตอน ป.6 ที่ชวนเพื่อนทำเกมกัน แต่สุดท้ายก็ล้มเลิกไป จนกระทั่ง ม.1 เริ่มรู้จักลีนุกซ์ (Linux) แล้วเอามาลงเครื่องที่บ้าน ตอนนั้นเป็น Window 98 แล้ว จนสามารถทำลีนุกซ์เองตั้งแต่ชิ้นแรกจนถึงมันใช้งานได้จริง ทำให้เราเข้าใจภาพของระบบทั้งหมด

เข้าสู่วงการไอทีกับ NSC ครั้งแรก

จนกระทั่งตอน ม.ต้น NECTEC จัดการแข่งขัน NLC (National Linux Competition) ครั้งที่ 8 เป็นการแข่งขันลีนุกซ์ พอทำมาสักพักเริ่มเห็นว่าบนลีนุกซ์มีของเล่นให้เล่นเยอะดี รู้สึกสนุก ก็เลยเป็นไอเดียโปรเจกต์ตัวแรกที่ส่ง NSC ครั้งที่ 11 แต่ไม่ได้รางวัล แต่สิ่งที่เห็นจากการแข่งรอบนั้นคือ เดิมผมเป็นคนเดียวในโรงเรียนที่เขียนโปรแกรมเลยไม่รู้ว่าทักษะคนอื่นประมาณไหน จนไป NSC ได้เห็นผลงานของคู่แข่ง ทำให้รู้ว่าต้องหาผลงานที่น่าสนใจกว่านี้ สร้าง impact กว่านี้ เข้าใจง่ายกว่านี้ ซึ่งครั้งแรกที่มันไม่เวิร์ค อาจเป็นเพราะเลือกหัวข้อที่ไม่ดีพอ ก็เลยลองไปนั่งคิดหัวข้อใหม่ดูว่า หัวข้อแนวไหนที่จะส่งแข่งขันได้

วิธีการทำงานแบบสร้างโจทย์จากปัญหา

ตอนนั้นผมเอาเงินที่แข่ง NLC ชนะไปซื้อ server วางไว้ในบ้าน เป็นแหล่ง control server ที่ให้บริการกันในบ้าน เป็นโจทย์ที่ตัวเองใช้เอง ซึ่งผมคิดว่าเป็น key point ในการทำโปรเจกต์เลยนะ พอใช้เองมันจะได้ requirement ว่าอันนี้ควรมี อันนี้ไม่ควรมี หลังจากนั้นมือถือเริ่มเข้ามาก็ลองเขียนเป็นเว็บฯ แล้วส่ง NSC ครั้งที่ 13 ได้รับรางวัลที่ 3 ครับ

ปีถัดมาก็ยังมองหาไอเดียส่งแข่งขัน ช่วงนั้นสิ่งที่เป็นกระแสคือเรื่อง real time web ที่เราเห็นกันจะเป็นทวิตเตอร์ แต่สำนักข่าวเขาจะไม่ใช้ทวิตเตอร์แต่ใช้เว็บฯ ของตัวเอง ก็เลยลอง implement ตัวนี้ส่งแข่งขัน จำได้ว่าปีนั้นน้ำท่วม ได้ยื่นข้อเสนอโครงการไป แต่ถอนโครงการออกมาก่อน ช่วงนั้นเพื่อนชวนไปทำเว็บฯ และนิตยสารเกี่ยวกับ animate ด้วยกัน เป็นช่วงที่ e-book กำลังเริ่มมา สิ่งที่ผมเห็น e-book ในตลาดมันไม่เหมือนหนังสือที่เป็นเล่ม แต่ก็อปปี้จากเล่มไปเป็นไฟล์ pdf ทั้งที่คอมพิวเตอร์ทำอะไรได้เยอะมาก มัน interact กับเราได้ มัน feedback กับเราได้ ก็เลยลองศึกษาตลาดดูว่ามีใครทำอะไรบ้าง

วิธีทำ e-book ของผมคือ เขียนหน้าเว็บฯ เองทั้งหมด แต่พอทำไปสักสองเล่มผมเริ่มเหนื่อย ต้องหาคนในทีมมาทำแทน เลยคิดสร้างเครื่องมือสำหรับคนที่ไม่ถนัดเขียนโค้ดขึ้นมา แล้วส่งเป็นผลงานเข้าแข่งขัน NSC ครั้งที่ 15 โปรเจกต์นี้ผมมองว่ามันเวิร์คมาก เพราะมีกลุ่มผู้ใช้งานจริง เราเห็น requirement บางอย่างซึ่งคนที่ไม่ได้ใช้จริงเขาจะไม่เจอ โปรเจกต์นี้มีทุกอย่างพร้อม ทำให้ได้รางวัลที่ 1 หลังจากนั้น NECTEC ก็แนะนำให้ส่งแข่งขันเวทีอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น TICTA (Thailand ICT Awards) และ APICTA (Asia Pacific ICT Alliance Awards) ครับ

Software Engineering คือคำตอบ

พอจบ ม.6 ผมเลือกเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ครับ เพราะมันเป็นคำตอบที่ตายตัวตั้งแต่ ม.4 ที่เลือกสายนี้มาและมีผลงานด้านนี้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันใน field มันก็กว้างมาก มีตั้งแต่ Computer Science, Computer Engineering, Software Engineering และ field ข้างเคียงอื่นๆ สุดท้ายผมเลือก Software Engineering ซึ่งเป็น major หนึ่งของวิศวกรรมฯ คอมพิวเตอร์ เพราะเป็นหลักสูตรใหม่ที่น่าสนใจ รวมถึงมันแตะกับซอฟต์แวร์ตรงๆ ไม่ต้องไปแตะกับฮาร์ดแวร์ซึ่งผมไม่ถนัด

หัวใจของการแข่ง NSC คือเลือกหัวข้อให้ดีตั้งแต่แรก

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ปีแรกๆ ที่ส่งผลงานแข่งขัน NSC ผมเห็นโปสเตอร์ติดประกาศที่โรงเรียนครับ ผมก็เริ่มตามข่าวว่าปีนี้จัดเมื่อไหร่ เพราะต้องเริ่มวางแผนหัวข้อตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าจะส่งอะไร ที่ผ่านมาพบว่าโปรเจกต์ที่ส่งแล้วสำเร็จจะเสร็จประมาณ 70 – 80% ก่อนส่งหัวข้อครับ พอส่งหัวข้อแล้วมันเป็นเวลาที่เราได้เกลาโปรเจกต์มากกว่า

พอเข้ามหาวิทยาลัยผมก็ยังหาโอกาสและหัวข้อส่งแข่งขันอยู่ แต่หัวข้อที่เข้าสู่รอบชิงหรือได้รางวัลในระดับมหาวิทยาลัยจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งผมมองว่า NSC แพ้ชนะมันอยู่ที่รอบแรกแล้วครับ ถ้าหัวข้อไม่ดีไปถึงรอบสุดท้ายมันก็ตกอยู่ดี เลยต้องเลือกหัวข้อดีๆ ตั้งแต่รอบแรก แต่ปีแรกผลงานที่สนใจยังไม่สามารถลงหมวดใดหมวดหนึ่งได้ ก็เลยไม่ได้ส่งปีนั้นครับ

ปีถัดมาเป็น NSC ครั้งที่ 17 เป็นปีสุดท้ายที่ผมส่ง NSC และมีหมวดลีนุกซ์ ก็เลยลองคิดโครงการที่ทำ Platform as a service บน desktop ทำเป็นโปรแกรม desktop ที่พอโยนโปรแกรมไปปุ๊บมันสร้าง server ให้เราและลงให้เสร็จเลย ได้รางวัลที่ 3 มา แต่ปีนั้นไม่มีรางวัลที่ 1 และ 2 นั่นคือครั้งสุดท้ายที่ส่ง NSC ครับ

ความแตกต่างของ NSC กับเวทีอื่นๆ

NSC เป็นการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดที่ผมเคยเจอมา มีคู่แข่งขันหลายๆ แบบ เราได้เห็นว่าคนที่อยู่รุ่นเดียวกันกับเราเขามีทักษะประมาณไหน ขณะเดียวกันโปรเจกต์ส่วนใหญ่ที่ NSC รับจะเป็นแนว research ส่วนเวทีอื่นอาจจะวัดอย่างอื่น เช่น ขายได้ไหม หรือมีคนใช้เท่าไหร่ แต่ของ NSC โปรเจกต์บางตัวที่ตีเข้าเป็น research ไม่ได้ จะส่งค่อนข้างยากนิดหนึ่ง ขณะเดียวกันเวทีอื่นถ้าโปรเจกต์ที่ไม่ค่อยมี value ทางด้านธุรกิจ ก็ค่อนข้างยากที่จะมา pitch ดังนั้น ต้องเลือกเวทีตามหัวข้อที่เรามีอยู่ในมือด้วยครับ

ตัดสินใจเข้าคลุกวงใน

การที่เรามีดีกรีจาก NSC ติดมา มีการแข่งขันอื่นๆ ติดมามันก็ช่วยได้ค่อนข้างเยอะครับ … ผมฝึกงานที่บริษัท วงใน จำกัด ตอนแรกวงในไม่ใช่ที่ที่ผมมองเลย เพราะเวลาเลือกงานผมจะมองจากงานที่ผมทำมา พวก Python , JavaScript แต่ในเมืองไทยมีคนใช้ Python ค่อนข้างน้อย ตอนนั้นมีเพื่อนชวนไปวงใน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากเพราะพอเข้ามาปุ๊บเขากำลังเริ่มโปรดักส์ใหม่ที่สามารถใช้ของใหม่ๆ ได้ เป็นทีมแรกๆ ที่เอา JavaScript และ Python เข้ามาในบริษัท พอฝึกงานเสร็จก็เลือกที่จะรับงานที่นี่ต่อ ตอนนี้อยู่ที่นี่ประมาณ 7 – 8 เดือนแล้วครับ งานที่ทำคือ set standard ต่างๆ มองภาพว่าระบบจะไปทางไหน แต่งานเขียนโค้ดยังเป็นงานหลักอยู่ครับ แค่โค้ดที่เขียนไม่ใช่โค้ด feature เท่านั้นเอง แต่เป็นการปรับโครงสร้างระบบใหม่เพื่อให้รองรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งที่วงในมีทีมที่เก่งและทันสมัย ทำให้เราทำงานแล้วได้ความรู้ด้วยครับ

ชีวิตจริงที่ต่างจากการแข่งขัน

ตอนแข่งขัน โปรเจกต์ทุกตัวผมจะเขียนโค้ดคนเดียว คนอื่นทำอย่างอื่น เช่น กราฟิก และผมเป็นคนดูภาพรวมของโปรเจกต์ด้วย คือ ผมจะเป็นคนกำหนดว่าจะไปทางไหน แต่พออยู่ที่วงในเรามีทีมที่มีความรู้ เราสามารถนั่งคุยดีเบทได้ว่า โซลูชั่นนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร เราไม่ต้องทำงานคนเดียวแล้ว และเราไม่สามารถที่จะทำบางอย่างที่เราเคยทำได้ ซึ่งก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการทำงานเป็นทีมด้วยครับ

แรงสนับสนุนจากครอบครัว

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ที่ผมมาถึงจุดนี้ได้ พ่อผมเป็นโคชที่ดีเลยครับ และสนับสนุนการแข่งขันตลอด ผมคุยเรื่องโปรเจกต์กับพ่อได้ตลอด รวมทั้งพ่อยังเป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ ได้ เช่น การนำเสนอ ซึ่งตอน NSC คุณพ่อไปทุกครั้งเลยนะ ถ้าผมไม่อยู่ที่บูธ เขาสามารถพรีเซนต์แทนผมได้ด้วย (หัวเราะ) นอกจากนี้มีคุณแม่ที่สนับสนุน แม้เขาอาจจะไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่เราทำ แต่ผลลัพธ์ที่กลับมาเขาเห็นชัดเจนว่าเราได้รางวัล ได้ความรู้ เขาก็โอเค

คุณพ่อเคยบอกว่า จริงๆ เขาควบคุมสภาพแวดล้อมได้ระดับหนึ่ง ส่งเสริมบรรยากาศให้เกิดการอยากรู้อยากลอง อย่างของเล่นเขาจะคิดว่า ถ้าซื้อมาแล้วผมสามารถเอาไปทำรางวัลได้เขาจะซื้อให้ มันเลยเป็นการสนับสนุนจากที่บ้านระดับหนึ่ง ซึ่งของบางอย่าง เช่น โทรศัพท์ เราเรียกมันว่าของใช้ แต่ผมมองว่าทุกอย่างคือของเล่น คอมพิวเตอร์คือของเล่น เราเล่นกับมันแล้วเราสนุก แต่บางคนจะรู้สึกว่าเขียนโปรแกรมยาก ไม่สนุก แต่เราเรียนเองมาก่อน และเริ่มสร้างความเข้าใจในแบบของตัวเองที่เข้าใจง่ายกว่า

อุปสรรคในการพัฒนาเด็กไอที

ผมคิดว่า การพัฒนาเด็กไอทีขาดการผลักดันจากหลายๆ ส่วนนะครับ หนึ่ง ครอบครัว บางคนเข้าใจว่าลูกเล่นเกมทั้งวัน แต่อย่างผมสามารถเล่นเกมและทำรายได้ได้ ผมเล่นเกมและอยากทำเกมแล้วเริ่มศึกษาจากโปรแกรม แต่พ่อแม่บางคนไม่เข้าใจ เห็นว่านั่งเล่นคอมพิวเตอร์อยู่ แต่ไม่รู้ว่าทำอะไรในคอมพิวเตอร์ แต่พ่อผมเข้าใจว่าผมทำอะไรและสิ่งที่ทำมีประโยชน์

สอง โรงเรียน บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ถ้าโรงเรียนให้เขามีโอกาสได้ลอง เขาอาจจะค้นพบว่าทำแบบนี้แล้วเขาสนุก โรงเรียนต้องทำให้เด็กเกิดความเข้าใจและความรักใน field นี้ โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่าย ใช้ความเข้าใจที่ง่ายกว่า ยกตัวอย่างหุ่นยนต์อาจจะจับต้องง่าย แต่ฟีดแบคไม่เร็วพอที่จะทำให้เขาสนุกได้ หรือเขาอาจจะมองว่าเรียนหุ่นยนต์แล้วได้อะไร กลับไปบ้านแล้วเขาไม่มีหุ่นยนต์ แต่มือถือจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า เอาไปใช้งานได้จริง เขาสนุกมากขึ้น ที่บ้านเปิดรับมากขึ้น

โอกาสของเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเข้าสู่เส้นทางไอที

ผมว่าเทคโนโลยีตอนนี้มีมากกว่าแต่ก่อน สิบปีที่แล้วถ้ามีคนบอกว่าเราจะเรียกแท็กซี่บนอินเตอร์เน็ตได้คงเป็นเรื่องเพ้อฝัน กระทั่งโทรศัพท์เรียกแท็กซี่ได้ จนมาถึงตอนนี้เรามีสิ่งที่เรียกว่า Internet of Things ซึ่ง NSC มีแบบนี้มานานมาก มีโปรเจกต์ที่ส่งแข่งขัน เช่น เปิดปิดไฟในบ้านได้ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตอนนี้เอาไปขายได้แล้ว กลายเป็นว่าเทคโนโลยีไม่ได้อยู่บนหน้าจอสี่เหลี่ยมแต่มันอยู่ในทุกที่ ซึ่งเขาสามารถหาความสนุกได้มากกว่าหุ่นยนต์ที่โรงเรียนชอบสอน field มันกว้างขึ้น จากหน้าจอมันทำอะไรได้เยอะ นี่คือโอกาสที่โรงเรียนยังไม่ได้สอนคนรุ่นใหม่ว่าคอมพิวเตอร์มันทำได้ขนาดนี้แล้ว

สิ่งสำคัญคือหาตัวเองให้เจอ

สำหรับคนที่สนใจเส้นทางนี้ อยากให้หาตัวเองก่อนว่าอยากเป็นโปรแกรมมิ่งอย่างไร คนข้างนอกมองว่าโปรแกรมมิ่งก็คือเขียนโปรแกรม แต่จริงๆ field มันกว้างมาก เขาควรรู้ว่าจะไปสายไหน เพราะเราเก่งทุกอย่างไม่ได้ เช่น ถ้าอยากเป็น web programing ก็ต้องศึกษาเรื่องเว็บให้ลึกๆ เรื่องอื่นก็พอรู้บ้างเผื่อประยุกต์ใช้ต่อได้ สำหรับน้องที่ยังไม่รู้ว่าชอบโปรแกรมมิ่งหรือเปล่า เขาอาจต้องหาตัวเองว่า field ไหนของโปรแกรมมิ่งที่เขาชอบ ยิ่งหาตัวเองได้เร็วยิ่งดี ถ้าเขาเจอ field ที่เขาชอบจะเริ่มสนุกและไปได้เร็ว และจะเริ่มอยากลองขยับตัวเองขึ้นไปอีก อย่างน้อยหา passion ของเราให้เจอในโปรแกรมมิ่ง ไม่ใช่บอกแค่ว่าเราเป็นโปรแกรมเมอร์แล้วคือหาตัวเองเจอ บางคนอาจจะบอกว่าหาเจอแล้วเพราะเราไม่ได้อยากเป็นหมอไง แต่มันยังแคบไม่พอ

สิ่งที่ได้จากการแข่ง NSC

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

การเข้าแข่งขัน NSC ทำให้เห็นว่าคนรุ่นเราเขากำลังทำอะไรกันอยู่ บางทีเขาอาจจะเห็นในสิ่งที่เราไม่เห็น หรือเขาอาจจะอยู่คนละ field กับเรา เช่น โรงเรียนต่างจังหวัดจะส่งหัวข้อที่อยู่ในชุมชนของเขาและเขาเข้าใจมากกว่าเรา หรือบางคนไปจับบางกลุ่ม เช่น คนตาบอด ซึ่งผมอาจไม่เคยคิดเรื่องนี้ในหัว หรือเรื่องเกี่ยวกับ smart farm สิ่งที่เขาทำอยู่ใช้เทคโนโลยีแบบนี้ เรานำไปประยุกต์ใช้ได้ไหม

อนาคตของ NSC ที่อยากเห็น

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

สิ่งที่อยากเห็นใน NSC คือ การสื่อสารระหว่างทีมที่มากขึ้น เพราะเดิมไม่มีเวลาให้ไปคุยกับทีมข้างๆ ต้องเฝ้าบูธตัวเอง ขณะเดียวกันคนอื่นเขาก็ต้องรับแขก ซึ่งบางทีเราอยากคุยอย่างอื่นที่ไม่ใช่โปรเจกต์เขาเลย อีกเรื่องหนึ่งคือหัวข้อ หัวข้อบางอย่างทำ startup ขายได้ แต่มันไม่ลงกับหัวข้อ NSC เช่น ถ้าเราทำโซเชียลเน็ตเวิร์คมันไม่มีที่ส่ง อาจต้องอ้อมไปหมวดอื่น คือ commercial demand มาทางนี้แต่หัวข้อ NSC ยังไม่เปิดกว้างมาทางนี้

ขณะเดียวกันพอโปรเจกต์จบแล้วคือจบ ไม่ได้มีการเอาไปประยุกต์ใช้งานต่อ ผมเข้าใจว่า NSC เอาโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่มาช่วยตรงนี้อยู่ แต่เท่าที่เห็นพอจบจากต่อกล้าฯ ก็จบไปอีกอยู่ดี หรืออย่างโปรเจกต์ที่ผมทำ e-book ผมต้องมานั่ง research อยู่นานว่าต้องทำแบบไหน พอทำจบสรุปได้ว่า e-book ไม่รอด มันควรจะเป็น web portal ที่ทำดีไซน์เหมือน e-book มากกว่า ความหมายคือ เทคโนโลยีหนึ่งปีระหว่างที่เราส่งหัวข้อมันไปไกลมาก จนกระทั่งสิ่งที่เราทำมันเก่าไปแล้ว ซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าช่วงหนึ่งปีเทคโนโลยีจะไปทางไหนบ้าง

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

ผมว่า ณ วันนี้ การเขียนโปรแกรมเป็นงานอดิเรกสำหรับผม ความสนุกของผมคือการได้เข้าใจทั้งหมด เพราะโปรแกรมมันไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยการเขียนโปรแกรมอย่างเดียว ข้างล่างโปรแกรมมีคอมพิวเตอร์อยู่ ในโปรแกรมที่รันมีซอฟต์แวร์หลายตัวซ่อนอยู่ ผมต้องเข้าใจข้างล่างถึงข้างบน นี่เป็นสิ่งที่ผมพยายามเป็นอยู่ เพราะถ้าไม่เข้าใจข้างล่างอาจจะออกแบบบางอย่างผิดได้ ฟังดูอาจจะย้อนแย้งกับสิ่งที่ผมบอกก่อนหน้านี้ที่เราต้องลงลึกใน field หนึ่ง แต่การมองภาพกว้างๆ ก็เป็นอีก field หนึ่งครับ

NSC ส่งผลต่อชีวิตจนถึงปัจจุบัน

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ผมว่าไทม์ไลน์ชีวิตที่เกิดขึ้นของผมน่าจะเกิดจาก NSC พอสมควร ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยมา ผมจะมีเว็บฯ ที่เป็น portfolio อยู่ เขาเริ่มเล่าลือว่าเราเป็นตัวเทพ เวลาเพื่อนมีปัญหาจะมาปรึกษาเรา เวลาเรียนเหมือนเราเรียนมาก่อนแล้ว ทำให้เข้าใจบทเรียนได้เร็ว แต่ก็มีบางอย่างที่ผมไม่เคยรู้ ตั้งแต่วิชาโปรแกรมมิ่งตัวแรกที่ต้องเริ่มทำความเข้าใจกับมัน ตอนเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังเรียนรู้อีกเยอะมากๆ ครับ พอมาทำงานก็คล้ายๆ กัน ซึ่งพอเรามีผลงานมาก่อนหน้านี้ ที่ทำงานเห็นเราและไว้ใจเราที่จะทำงานสเกลใหญ่ขึ้น เขาเห็นว่าเรามีผลงานมา เราเข้าใจระบบจริงๆ เขาก็ไว้วางใจเราครับ..

เพราะโลกไอทีก็ไม่ได้ต่างกับชีวิตคนเรา ที่มีองค์ประกอบหลากหลายด้าน มีโปรแกรมซ้อนโปรแกรม มีต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่เป็นแรมคอยขับเคลื่อนความฝัน สำหรับ ‘วิน’ สิ่งสำคัญในฐานะคนไอที จึงอยู่ที่การเข้าใจระบบแบบองค์รวม ขณะที่สิ่งสำคัญในฐานะมนุษย์ อยู่ที่การค้นหาตัวเองให้พบ

…… แล้วจบตรงที่ทำแล้วสนุกกับมัน! ……

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ข้อมูลการศึกษา
  • จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายจากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒
  • Bachelor of Engineering in Software and Knowledge Engineering, Kasetsart University IUP program
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์แห่งประเทศไทย: NLC” ตั้งแต่ปี 2007
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2009
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • รางวัลที่ 1 การแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9: NLC 2009
  • Level 1 และ 2 การสอบวัดระดับความรู้ความสามารถทางวิชาชีพในด้านการใช้งานระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (NECTEC Certified Linux Professional: NLCP)
  • รางวัลที่ 1 การแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10: NLC 2010
  • รางวัลที่ 1 การแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11: NLC 2011
  • รางวัลที่ 1 โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งาน ระดับนักเรียน การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15: NSC 2013 พร้อมได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • Merit, school project category at Asia Pacific ICT Award 2013 (APICTA 2013), Hong Kong
  • ได้รับคัดเลือกเป็น “เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ” สาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี จากคณะกรรมการจัดงานวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2557
ปัจจุบัน
  • Junior Architect บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด (wongnai)
ความเชี่ยวชาญ
  • Python, PHP และ JavaScript