'สุวิทย์'ดันตั้ง 3 สนง.ใหม่รับนโยบายกระทรวงไอซีที

'สุวิทย์' แจงนโยบายกระทรวงไอซีที ชี้โครงสร้างไม่ใหญ่เน้นการสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนา ประกาศตั้ง 3 สำนักงานใหม่ดูแลรับผิดชอบการผลักดันโปรเจ็กต์อี-กัฟเวิร์นเมนต์, ส่งเสริมการสร้างอี-โซไซตี้และพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีโดยเฉพาะ

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งกระทรวง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า โครงสร้างกระทรวงไอซีทีตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนที่ผ่านมาจะประกอบด้วย สำนักรัฐมนตรี, สำนักงานปลัดกระทรวง, กรมไปรษณีย์โทรเลข, สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา โดย 3 หน่วยงานหลังจะจัดตั้งในรูปแบบกรม

ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงจะประกอบด้วยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (เอ็นไอทีซี) และฝ่ายนโยบายและวางแผน ส่วนกรมไปรษณีย์จะแยกไปเมื่อจัดตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แล้วเสร็จ ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจะเป็นส่วนที่เข้ามาเพื่อบริหารจัดการด้านข้อมูลของรัฐบาล ในการนำข้อมูลมาแปรเป็นตัวเลขสถิติเพื่อประกอบการบริหารงานของรัฐบาล ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากวุฒิสภาว่าจะมีความเห็นอย่างไร

นายสุวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากโครงสร้างตามพระราชบัญญัติซึ่งผ่านการเห็นชอบจากสภาแล้ว ยังได้พิจารณาให้มีสำนักงานเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการบริหารจัดการ รวมถึงส่งเสริมงานด้านไอซีทีของประเทศ โดยจัดตั้งในรูปแบบของสำนักงานขึ้นมา 3 ส่วน ประกอบด้วย

1. สำนักงานส่งเสริมการพัฒนางานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รับผิดชอบการสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาตนเองโดยนำกระบวนการด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ และปรับเปลี่ยนสังคมไทยให้เป็นสังคมอิเล็กทรอนิกส์ (อี-โซไซตี้)

2. สำนักงานส่งเสริมสนับสนุนด้านอุตสาห กรรมไอซีที ดูแลส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้อง และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ รวมทั้งการจัดตั้ง Software Industry Promotion Agency หรือ SIPA

3. สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (อี-กัฟเวิร์นเมนต์) ดูแลงานของรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนให้เป็นหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้อิเล็กทรอนิกส์

สำนักงานทั้ง 3 ส่วนไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย แต่เป็นหน่วยงานที่เป็นหัวใจและมีความสำคัญ เหตุที่ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมายก็เพื่อให้สำนักงานมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพัฒนาการอันรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศได้ 'งานของกระทรวงไอซีทีไม่ใหญ่ เพราะงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการส่งเสริมการใช้ไอทีในหน่วยงานราชการ หน่วยงานนั้นๆ จะเป็นผู้ดำเนินการเอง แต่กระทรวงจะทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ และวางมาตรฐาน รวมถึงบริหารงานที่เป็นส่วนกลาง ซึ่งไม่ใช่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นงานที่ทุกฝ่ายต้องใช้ร่วมกัน ดังนั้น จึงต้องคัดเลือกคนเข้ามาตามความเชี่ยวชาญ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการ' นายสุวิทย์กล่าว

นายสุวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลยังได้กำหนดกรอบการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศไว้หลักๆ 3 ส่วน คือ 1. การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เพื่อเป็นตัวนำในการเปิดตลาดเอาต์ซอร์ซงานให้แก่บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย รวมถึงการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยที่รัฐบาลจะปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่เอื้อ รวมถึงสนับสนุนด้านการเงิน และส่งเสริมให้เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ซอฟต์แวร์พาร์ค) เป็นบริการแบบครบวงจร มีอำนาจพิจารณาสิทธิประโยชน์ด้านภาษี หรือการออกใบอนุญาตการทำงานให้กับต่างชาติได้ เป็นต้น 2. การพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ, ภาคอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนางานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เน้นความเป็นเลิศด้านไอทีทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และจัดตั้งกองทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาด้านไอทีเพื่อการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม 3. การปฏิรูประบบราชการ เข้าสู่การเป็น อี-กัฟเวิร์นเมนต์ เพื่อแก้ไขปัญหา 3 ประเด็นหลัก คือ ด้านข้อมูล กำลังคน และการบริหารจัดการ โดยจัดให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนข้อมูล และดูแลมาตรฐาน, การจัดระบบระเบียบข้อมูล รวมถึงแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัยของราชการเพื่อรองรับการทำงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ และสนับสนุนโครงการทำบัตรประชาชนแบบสมาร์ตการ์ด นายสุวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าการจัดตั้งกระทรวงไอซีทีจะแล้วเสร็จก่อนเดือนตุลาคมนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากภายในเดือนนี้กระทรวงไอซีทีจะเตรียมการด้านคน ความรับผิดชอบ และการจัดองค์กร

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.