ซิป้า อัดฉีดงบปั้นเอกชน 200 รายร่วมซอฟต์แวร์เอสเอ็มอี

ผนึก สสว.คัดเลือกอุตสาหกรรมนำร่อง 5 กลุ่ม

ซิป้า ทุ่มงบปี 48 อัดฉีดเอสเอ็มอี 200 ราย นำร่องโครงการซอฟต์แวร์เพื่อเอสเอ็มอี สนับสนุนต้นทุนซอฟต์แวร์กว่า 100 โปรแกรม ในสัดส่วนสูงสุดถึง 50% คาดภายใน 3 ปี มีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย

 

นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กำลังคัดเลือกธุรกิจเอสเอ็มอี จำนวน 200 ราย เพื่อเข้าร่วมโครงการซอฟต์แวร์เพื่อเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นโครงการนำร่องโดยซิป้า โดยภายใต้โครงการดังกล่าว ได้มีการรวบรวมซอฟต์แวร์ของคนไทยที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจจำนวน 100 โปรแกรม ไว้ให้ดาวน์โหลดใช้งานในราคาประหยัด ทั้งนี้ ซิป้าจะให้งบสนับสนุนกับเอสเอ็มอีที่ได้รับการคัดเลือกอย่างน้อย 50% ของงบประมาณทั้งหมดที่ต้องลงทุน โดยมีวงเงินไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย ซึ่งเท่าที่ได้ประเมินเฉลี่ยเอสเอ็มอี 1 ราย จะมีการลงทุนทั้งฮาร์ดแวร์และบริการ รวมถึงซอฟต์แวร์ไม่เกินบริษัทละ 4 แสนบาท ดังนั้น เพดานวงเงินดังกล่าวน่าจะเพียงพอ

 

"เราตั้งเป้าสนับสนุนให้กับเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 200 ราย ภายใน 12 เดือนข้างหน้า ครอบคลุม 30-40 อุตสาหกรรมหลักของไทย โดยจะเป็นงบประมาณของซิป้าเอง ซึ่งคาดว่าในปี 48 ที่จะเริ่มเดือนตุลาคมนี้ เราจะได้รับเงินจากรัฐบาลจำนวน 400 ล้านบาท เพื่อสานต่อในโครงการที่ได้ดำเนินการมาอื่นๆ อีกด้วย ทั้งไอทีซิตี้, โครงการร่วมลงทุน กับบริษัทด้านแอนิเมชัน มัลติมีเดีย และโครงการซอฟต์แวร์เอสเอ็มอี" นายมนู กล่าว

 

เลือก 10 บริษัทนำร่อง

โดยซิป้าจะคัดเลือก 10 บริษัทนำร่องในโครงการดังกล่าว และครอบคลุม 5 อุตสาหกรรมหลัก ทั้งด้านอาหาร, ท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมการผลิต, ยานยนต์ที่เน้นผู้ผลิตขนาดเล็กที่ป้อนชิ้นส่วนให้กับรถยนต์ และบริษัทเทรดดิ้ง

ขณะเดียวกัน มีแผนนำข้อมูลการใช้ซอฟต์แวร์เอสเอ็มอีของบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ มาให้บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทย ใช้เพื่อพัฒนาปรับปรุงซอฟต์แวร์ของเอสเอ็มอีให้ตรงกับความต้องการใช้งานมากขึ้น

"โครงการนี้เป็นเฟสที่ 2 ของการกระตุ้นการใช้งานซอฟต์แวร์ในกลุ่มเอสเอ็มอี โดยในเฟสแรกมีการจัดตั้งไซต์ท่า ที่จะให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เข้ามาลงทะเบียนร่วมกับซิป้า เพื่อจะเป็นศูนย์รวมให้เอสเอ็มอีเข้ามาเลือกซื้อ และจัดหาซอฟต์แวร์เพื่อใช้งานได้ ปัจจุบันมีบริษัทซอฟต์แวร์ในโครงการแล้ว 150 ราย" นายมนู กล่าว

ปูทางสู่เครือข่ายบริการในเฟส 3

 

พร้อมกันนี้ ซิป้าอยู่ระหว่างการอบรมบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ให้เรียนรู้เทคโนโลยีการพัฒนาสมัยใหม่ ที่จะรองรับการทำงานของซอฟต์แวร์ในระบบเครือข่าย (เน็ตเวิร์คกิ้ง) โดยจะรองรับเป้าหมายของโครงการในระยะที่ 3 ที่จะขยายผลให้ซอฟต์แวร์เอสเอ็มอี เป็นเสมือนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่เอสเอ็มอีจะจ่ายค่าใช้งานซอฟต์แวร์ตามการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง นายมนู กล่าวด้วยว่า หากผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เริ่มมีความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ในโครงการระยะที่ 3 ซิป้าจะพิจารณาว่าจ้างผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับเอสเอ็มอี ทั้งระบบงานสนับสนุน (แบล็กออฟฟิศ) และระบบที่จะใช้เชื่อมต่อเข้าสู่ซัปพลายเชนส์ (บีทูบี)

รวมทั้งเปิดให้เป็นโอเพ่นซอร์ส สำหรับผู้ประกอบการนำไปเรียนรู้พัฒนาต่อยอดการใช้งานได้ หรืออาจอยู่ในรูปแบบการร่วมลงทุนกับบริษัทซอฟต์แวร์ เพื่อพัฒนาสินค้าออกมา โดยให้เอกชนจ่ายเงินสนับสนุนคืนกับซิป้าเมื่อมีรายได้เกิดขึ้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 สิงหาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.