กะเทาะเปลือก เอสเอ็มอีญี่ปุ่น สร้างรากฐาน เอสเอ็มอีไทย

คอลัมน์ ระเบียงทรรศนะ

รู้กันดีว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่น ตลอดจนเป็นหัวใจสำคัญในการก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน และถึงแม้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ญี่ปุ่นก็ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง

แนวนโยบายของญี่ปุ่นในการพัฒนาเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่งและมีศักยภาพนั้นเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเอสเอ็มอีในไทย นั่นเพราะญี่ปุ่นหวังว่าจะให้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ ชิเงรุ มะซึชิมะ จากมหาวิทยาลัย โฮเซและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบเอสเอ็มอีในญี่ปุ่น อธิบายถึงการพัฒนาเอสเอ็มอีในญี่ปุ่นในงานสัมมนา 'การสร้างและการพัฒนานโยบายเอสเอ็มอีของประเทศญี่ปุ่น' ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมาของญี่ปุ่น เช่นเดียวกันกับไทยในทุกวันนี้ที่อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ย้อนรอยเอสเอ็มอีญี่ปุ่น
ย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในช่วงปี 1950-1960 ที่ยังไม่มีการเปิดเสรีอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างสินค้าทดแทนการนำเข้าให้มากที่สุด และในขณะนั้นญี่ปุ่นมีความต้องการรถยนต์เป็นจำนวนมาก สิ่งที่บริษัทโตโยต้าและนิสสันต้องพยายามทำก็คือ การผลิตรถยนต์เพื่อออกสู่ตลาดให้มากที่สุด และเนื่องจากการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่แต่ละคันมีกว่า 30,000 ชิ้น การผลิตรถยนต์จึงต้องใช้ระยะเวลานานและเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการทั้งหมดเองได้ กลยุทธ์ของบริษัทในเวลานั้นก็คือ ชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนใหญ่จะสั่งจากบริษัทภายนอกและเป็นที่มาของโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นที่ผู้ผลิตผลิตชิ้นส่วนเอง 30% ขณะที่อีก 70% สั่งซื้อจากเอสเอ็มอี ต่างจากโครงสร้างของอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐที่มีสัดส่วนการผลิตเอง 70% และสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ 30%

 

สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามทำขณะนั้นคือ การพัฒนาเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพโดยมองข้ามชอตไปที่เงินทุน เครื่องมือ รัฐได้ส่งตัวแทนเข้าไปช่วยภาคเอกชนใน 'การวิเคราะห์ วินิจฉัยกิจการ' หรือที่เรียกว่า 'ชินได' นี่นับเป็นครั้งแรกในการเข้าไปพัฒนาและแก้ไขปัญหาในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้วิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญ ในปี 1956 รัฐบาลญี่ปุ่นยังออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมจักรกล ตลอดจนพัฒนารายละเอียดของผลิตภัณท์ให้มีการพัฒนาสาธารณูปโภคและอุปกรณ์ในการผลิต โดยรัฐบาลได้ให้เงินสนับสนุนและกำหนดเงื่อนไขว่าเอสเอ็มอีจะต้องเขียนแผนการทำงานระยะยาว 5 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเอสเอ็มอีในเวลานั้น ขณะที่บริษัทผู้ผลิตก็พยายามพัฒนาความแม่นยำในการผลิตเพื่อเตรียมตัวแข่งขันกับผู้ผลิตจากต่างประเทศ หลังเปิดเสรีรถยนต์ในปี 1960 ...อันเป็นนโยบายที่สอดรับกันอย่างดีทั้งภาครัฐและเอกชน

 

โมดุล อนาคตยานยนต์โลก
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน มะซึชิมะมองว่า อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังจะเกิดการเปลี่ยน แปลงครั้งใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนที่จะเป็นไปในลักษณะ 'โมดุล' (Module) คือ การผลิตในแบบสำเร็จรูปและนำไปประกอบได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโฉมหน้าใหม่ที่ท้าทายศักยภาพเอสเอ็มอีและเป็นก้าวหนึ่งที่เอสเอ็มอีจะต้องเข้าไปมีส่วนนำเสนอแบบกับบริษัทผู้ผลิต ต่างจากที่ผ่านมาที่บริษัทผู้ผลิตออกแบบและจ้างผลิต วิธีการนี้จะทำให้การพัฒนารถยนต์แต่ละรุ่นสั้นลง ...จากนี้ไปความสามารถของบริษัทซัพพลายเออร์ที่จะพัฒนาตนเองให้เป็น 'โมดุล ซิสเต็มส์ ซัพพลายเออร์' จึงเป็นสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ควรพิจารณาในการเลือกตั้งฐานการผลิตและเป็นสิ่งเร่งด่วนที่ไทยต้องเร่งพิจารณา

'ประเทศไทยจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ว่าจะไปในทิศทางไหน หากไม่มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายของทั้งภาครัฐและเอกชนแล้วก็จะทำให้มีอุปสรรคได้' มะซึชิมะกล่าว นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญระบบเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นยังระบุถึงเงื่อนไขของการสร้างความสำเร็จในระบบโมดุลว่า จะต้องเกิดจากความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และต้องเป็นผู้ผลิตโมดุลที่สามารถรวบรวมชิ้นส่วนอื่นได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ ดังเป็นที่รู้กันดีว่าระบบในการผลิตยุคปัจจุบันเป็นระบบ Just-in-time ซึ่งต้องพัฒนาให้สมบูรณ์ อีกทั้งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ระบบของบริษัทอื่น มะซึชิมะกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของไทยจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเอสเอ็มอี 2 เรื่อง ได้แก่ ประการแรก ต้องสร้าง 'ระบบใหม่' ที่เป็นกลยุทธ์และจุดแข็งของตัวเองเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมไทยอย่างแท้จริง รูปแบบระบบใหม่ของไทยต้องเป็นแบบไทย โดยอาจเป็นการนำของญี่ปุ่นและสหรัฐมาวิเคราะห์ และประการที่สองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดคือ นโยบายของภาครัฐและเอกชนต้องมีความสอดคล้องกัน

'บริษัทผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นบอกว่า มาตรฐานของไทยยังไม่ถึง แต่เขาก็สนใจที่จะขยายการผลิตชิ้นส่วนบางอย่างในไทย การจะทำให้บริษัทเหล่านั้นยอมรับมาตรฐานสินค้า ไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบมาตรฐานให้ดีกว่านี้' คำตอบนับจากนี้จึงอยู่ที่ว่า ไทยจะสร้างรูปแบบเอสเอ็มอีในแบบใดเพื่อจะสร้างขีดความสามารถของเอสเอ็มอีและสร้างตัวเองให้เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญในภูมิภาคให้ได้ !!!

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2545

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.