ไอทีไร้พรมแดน / อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไทย

นาวิก นำเสียง navik@sundae.co.th

หากจะถามว่ากลุ่มประเทศใดในโลกคือ ผู้นำการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แล้วละก็ หลายคนอาจไม่เชื่อว่ากลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้กลายเป็นผู้นำการใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ไม่ใช่ประเทศแถบยุโรปหรืออเมริกา และก็มีแนวโน้มว่าจะครองแชมป์นี้ไปตลอดกาลด้วย เนื่องจากอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่สูงขึ้นในประเทศจีนและญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี ถือว่าเป็นแชมป์โลกของการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ สูงถึงร้อยละ 21.3 ของจำนวนบ้านพักอาศัยทั้งหมด รองลงมาก็เป็นฮ่องกง แคนาดา และไต้หวันด้วย อัตราส่วนร้อยละ 14.9, 11.2 และ 9.4 ตามลำดับ (จากรายงานการศึกษา "กำเนิดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์" ของสถาบันไอทียู อินเทอร์เน็ต ปี พ.. 2546) นอกจากนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศเกาหลีมากกว่าร้อยละ 93 ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านบรอดแบนด์ ทั้งจากที่ทำงาน ที่บ้านและอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือประมาณ 10.13 ล้านสมาชิก

 

สำหรับประเทศไทย ผมไม่มีรายงานเปรียบเทียบว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ต่อบ้านพักอาศัยทั้งหมด แต่จากรายงานของไอดีซี ได้ระบุว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มีเพียง 12,000 รายเท่านั้นเอง ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจใกล้เคียงกันเรายังล้าหลังประเทศมาเลเซีย และฟิลิปปินส์เสียอีก

 

จำนวนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั่วโลกมีประมาณ 63 ล้านสมาชิก เปรียบเทียบกับ 1.13 พันล้านสมาชิกของโทรศัพท์พื้นฐาน และ 1.16 พันล้านของโทรศัพท์เคลื่อนที่ แน่นอนว่า ตัวเลขของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ยังต่ำอยู่มาก แต่คาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะต้องเข้าไปใกล้ หรืออาจมากกว่าตัวเลขการใช้งานอื่นๆ ในเร็วๆ นี้แน่ จากการศึกษาในสหรัฐ พบว่าคนยุคใหม่ในสังคมเมืองจะยกเลิกการใช้โทรศัพท์พื้นฐาน และหันมาใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์และโทรศัพท์เคลื่อนที่แทน จะเห็นว่าความจำเป็นของโทรศัพท์พื้นฐานเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

 

ความหมายของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์คือ การใช้อินเทอร์เน็ตที่ความเร็วตั้งแต่ 256 kbps ถึง 100 Mbps ผ่านสื่อ ดีเอสแอล, ไอเอสดีเอ็น, สายสัญญาเช่า (ลีสด์ไลน์), เครือข่ายพื้นที่ภายใน (แลน), เครือข่ายภายในไร้สาย (WLAN) หรือดาวเทียม หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ก็ได้ โดยเทคโนโลยีดีเอสแอล (Digital Subscriber Line) ได้รับความนิยมสูงสุด และกลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่หลายรายใช้งานกันทั่วโลก หลายคนอาจยังนึกถึงอัตถประโยชน์ ที่จะได้รับจากอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไม่ออก ที่เห็นชัดๆ ก็คือ ความเร็วที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสายโมเด็มธรรมดา ที่ความเร็วเพียง 56 kbps และด้วยความเร็วสูงนี้จึงทำให้ผู้ใช้งานไม่มีอุปสรรคที่จะใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ อาทิ การชมภาพยนตร์ การฟังเพลง การเล่นเกม การใช้งานโปรแกรมธุรกิจเหมือนกับใช้ในสำนักงาน และอีกมาก ในประเทศเกาหลี ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ สามารถร้องเพลงคาราโอเกะที่บ้าน เล่นเกมที่บ้าน รวมไปถึงสามารถทำงานที่บ้านได้อย่างสบาย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จำนวนการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศได้เช่นกัน

 

อุปสรรคใหญ่ของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในประเทศไทย ก็คือ "ราคา" ที่ยังสูงอยู่มาก เปรียบเทียบกับ 2,000 บาทต่อเดือน ที่อินเทอร์เน็ตความเร็ว 20 mbps ในประเทศเกาหลี อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าที่จะถึงนี้เราๆ ท่านๆ จะต้องได้ยินสงครามการตลาดของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แน่ๆ คนไทยจะได้ใช้บรอดแบนด์ในราคาต่ำกว่าพันบาทต่อเดือน แบบไม่จำกัดชั่วโมงด้วย

 

รายงานของไอดีซี ได้พูดถึงสถานการณ์บรอดแบนด์ในประเทศไทยว่า ถ้าราคาของบรอดแบนด์ลดลงเพียงครึ่งของราคาปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์จะสูงถึง 50,000 สมาชิกภายในสิ้นปีหน้า ถ้าถึงจุดนั้นได้ ผมรับรองว่าประเทศไทยจะก้าวหน้าไปอีกมาก และผู้ให้บริการเนื้อหาและแอพพลิเคชั่นอินเทอร์เน็ต ก็จะหายใจหายคอกันได้มากขึ้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.