กสท. รุดชี้แจง "ซีดีเอ็มเอ" ไอซีทีศุกร์นี้

กสท. เตรียมเข้าชี้แจงโครงการซีดีเอ็มเอภูมิภาค "หมอเลี้ยบ" ศุกร์นี้ ย้ำเป็นโครงการที่จำเป็นต่อการแข่งขันกับผู้ประกอบการโทรมือถือ

 

แหล่งข่าวจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) กล่าวว่า ในวันศุกร์นี้ กสท. จะเข้าพบนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบภูมิภาคซีดีเอ็มเอ ซึ่ง กสท. คัดเลือกบริษัท เรียลไทม์ จำกัด ยื่นประมูลร่วมกับบริษัท นอร์เทล จำกัด มูลค่า 32,928.724 ล้านบาท เป็นผู้ติดตั้งโครงข่าย โดยที่ผ่านมา น.. สุรพงษ์ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับมูลค่าโครงการนี้ ว่าราคาที่เอกชนเสนอเข้ามา สูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้

 

อย่างไรก็ตาม กสท. กำลังจัดทำเอกสารเพื่อเตรียมประกอบการชี้แจงโครงการในวันศุกร์นี้ โดยจะนำผลการศึกษาของบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส ที่ปรึกษาด้านการเงินโครงการ รวมถึงผลจากคณะทำงานของ กสท. ที่จัดทำควบคู่กัน "จากผลการศึกษาดังกล่าว จะแสดงให้เห็นว่ามูลค่าโครงการไม่ได้สูงเกินจริง เนื่องจากเฉพาะราคาอุปกรณ์ที่ใช้ก็ตกประมาณ 16,000 ล้านบาทแล้ว ส่วนมูลค่าที่เกินขึ้นมานั้น เพราะได้รวมค่าใช้จ่ายดำเนินงานโครงการ ดอกเบี้ย และอื่นๆ ตลอดระยะการเช่าใช้โครงข่ายเวลา 12 ปีเข้าไปด้วย" แหล่งข่าว กล่าว

 

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า โครงการนี้จำเป็นต่อ กสท. หลังจากแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชน เพราะต้องมีธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากยังเป็นตลาดที่มีช่องว่างอยู่ และยังมียอดผู้ใช้งานต่อประชากรในอัตราที่ไม่สูงนัก อีกทั้ง โครงการนี้จะใช้เทคโนโลยีระบบมัลติมีเดีย ที่สามารถรับข้อมูลได้ทั้งภาพ เสียง และข้อมูล ซึ่ง กสท. จะเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่เปิดให้บริการในประเทศไทย ดังนั้น หากไอซีทียกเลิกเพื่อประมูลใหม่ ก็จะทำให้โครงการนี้ล่าช้าออกไป ทำให้ กสท. เสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจ

 

ทางด้านแผนงานโครงการ กำหนดติดตั้งสถานีฐานครบ 1,000 แห่ง ภายใน 3 ปี แบ่งเป็น ปีแรก 600 แห่ง ปีที่ 2 และปีที่ 3 ทยอยติดตั้งอีกปีละ 200 แห่ง ขณะที่ ข้อเสนอในแนวทางที่ 2 จะติดตั้งสถานีฐาน 1,000 แห่ง ภายใน 2 ปี แบ่งเป็น 600 แห่งในปีแรก และ 400 แห่งในปีที่ 2 ระยะเวลาเช่า 12 ปี จ่ายส่วนแบ่งรายได้ 27% สำหรับโครงการนี้ กำหนดให้เอกชนหาลูกค้าเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 420,000 เลขหมาย หรือประมาณ 30% ของความสามารถของโครงข่ายที่รองรับผู้ใช้บริการได้ถึง 1.68 ล้านเลขหมาย ระยะเวลาการทำตลาดประมาณ 12 ปี โดยต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ กสท. 27% ของผลตอบแทนการลงทุน (ไออาร์อาร์) 18% ของงบลงทุนการตลาดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นช่องทางจัดจำหน่าย, การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการนำเครื่องลูกข่ายระบบซีดีเอ็มเอเข้ามาจำหน่าย รวมถึงการขยายโครงข่ายครอบคลุม 51 จังหวัด

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 มกราคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.