เมื่อจีนเริ่มขยับ

"ความสามารถในการแข่งขัน" วลีนี้ดูเหมือนจะเป็นภาษาพูดสากลไปเสียแล้ว เมื่อทุกประเทศต่างมุ่งที่จะชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน เพื่อที่จะขายของและแย่งตลาดกันให้มากที่สุดเท่าที่ความสามารถของประเทศหนึ่งจะทำได้ บางประเทศได้เปรียบมาก ก็ดูเหมือนจะยิ่ง "เอาเปรียบ" ทุกครั้งที่ได้ที บางประเทศ ที่เสียเปรียบมาโดยตลอด ก็ได้แต่มองตาปริบๆ แล้วก็ซื้อเขากินซื้อเขาใช้ไปวันๆ จะว่าขี้เกียจแข่งกับเพื่อนคงไม่ใช่ แต่ "ไม่พร้อมแข่ง" และ "สู้เขาไม่ได้" มากกว่า แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก็คือ "ความสามารถในด้านสร้างสรรค์" ที่เรียกยากๆ ว่า "นวัตกรรม" ของคนในสังคม ของอุตสาหกรรมในภาคการผลิต และของการคิดค้นในแวดวงวิชาการ ประการหลังนี้เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับความสามารถของประเทศในการ "วิจัย" เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตสินค้าใหม่ๆ การผลิตบริการใหม่ๆ และประเทศยักษ์ใหญ่ที่กำลังตื่นจากหลับอย่างจีน ก็มีอะไรที่น่าสนใจแก่การเรียนรู้ของเราอยู่ทีเดียว

คุณหวัง ยีบิง (Wang Yibing) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทางไกล ประจำองค์การยูเนสโกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ได้เล่าเรื่อง "ระบบการวิจัยของมหาวิทยาลัยในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่" ในงานประชุมประจำปีด้านการวิจัยของที่ประชุม อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า การที่จะเข้าใจกลไกของการวิจัยในมหาวิทยาลัยจีนนั้น จำเป็นต้องรู้เบื้องหลังของสังคมจีน ตั้งแต่วิสัยทัศน์ของผู้นำรุ่นคุณเติ้ง เสี่ยวผิง ที่เคยกล่าวสุนทรพจน์ไว้ว่า "การก้าวไปสู่สิ่งทันสมัยนั้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกุญแจ และการศึกษาเป็นรากฐาน … ประเทศของเรา (คือจีน) ควรจะมีที่นั่งด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีอยู่ในแถวหน้าของโลก"

ในขณะที่ผู้นำปัจจุบันอย่างคุณเจียง เจ๋อหมิน ได้กล่าวว่า "การไปสู่ความทันสมัยนั้น จีนควรจะต้องมีมหาวิทยาลัยระดับโลก" นอกจากนี้อิทธิพลจากขงจื๊อคงเป็นส่วนที่ทำ ให้การผลักดันของสังคมมีแบบแผน ดังที่รัฐมนตรีว่า การกระทรวงการต่างประเทศในสมัยหนึ่ง คือ นายพลเชน ยี (Marshall Chen Yi) ซึ่งเป็นผลิตผลของยุคสงครามเย็นได้เคยกล่าวไว้ว่า "จีนจะต้องทำทุกอย่างเพื่อออมเงินเอาไว้ผลิตระเบิดนิวเคลียร์ แม้เราจะต้องขายกางเกงของตัวเองก็ตาม"

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ความตระหนักในหมู่ปัญญาชนที่มีความละเหี่ยใจ ในการของบประมาณเพื่อการวิจัยจากรัฐบาล (ฟังดูคล้ายของไทย) ที่เริ่มเห็น "อ่างทองคำ" ในอุ้งมือของตัวเอง อ่างทองคำที่ว่าก็คือ "ทรัพย์สินทางปัญญา" ซึ่งเลี้ยงตัวเองได้หากทำอย่างถูกวิธี รัฐบาลจีนเองในระยะหลังก็ดูจะเข้าใจ และเริ่ม "เปิดทาง" ให้มหาวิทยาลัยสามารถ เป็นเจ้าเข้าเจ้าของใน "กิจการ" ที่ทำรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยได้ โดยให้สิทธิมหาวิทยาลัยในการจัดตั้งกิจการ ที่เป็นธุรกิจนอกระบบบริหารของมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งมีผลทำให้เกิดภาวะการแข่งขันซึ่งมีทั้งผลประโยชน์และความเสี่ยงที่จะต้องแบกรับกันเองไปพร้อมๆ กัน และทำให้บทบาทของมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคมเด่นชัดขึ้นโดยลำดับ จากอาการข้างๆ คูๆ ก็กลายเป็น "ศูนย์กลางของสังคม" ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั่นเอง

เมื่อปีพ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยในประเทศจีน ได้ดำเนินกิจกรรมที่จัดได้ว่าเป็น "ธุรกิจ" มูลค่ารวมเกือบ 38,000 ล้านหยวน หรือในราวสองแสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นธุรกิจประเภทไฮเทคร้อยละ 70 ทำให้มีเงินกำไรไว้ใช้ในมหาวิทยาลัยถึง 15,000 ล้านบาทก่อนหักภาษี

ผลผลิตสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของระบบวิจัยในจีนก็คือ สิทธิบัตร ในปีเดียวกันนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการได้ให้การสนับสนุนแก่ มหาวิทยาลัยจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น ผลการสำรวจจากอุทยาน 22 แห่งพบว่า มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนที่เข้าร่วม 67 แห่ง มีการลงทุน 17,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 85,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้สามในสี่ได้มาจากการระดมทุน ที่เหลือมหาวิทยาลัยออกเองร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น ส่วนราชการตรงกลางใช้เงินเพียงเล็กน้อย เท่านั้นในการส่งเสริม ผลก็คือ ทำให้มีบริษัทเอกชนเกิด ขึ้นในอุทยาน 2,778 บริษัท ซึ่งในจำนวน นี้สามารถแจ้งเกิดกิจการอย่างเป็นรูปเป็นร่างได้ถึง 459 บริษัท ทำให้เกิดการจ้างงานหกหมื่นกว่าตำแหน่ง มีผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้น 4,813 ชิ้นที่เป็น ทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเอง มีสิทธิบัตรเกิดขึ้น 3,482 จากคำขอจดถึง 9,184 ชิ้น เป้าหมายในอีก 4 ปีข้างหน้า คือการคลอดบริษัทไฮเทค 5,000 บริษัท โดยตั้งเป้าให้มี 50 บริษัททางด้าน อุตสาหกรรมสารสนเทศ ชีวภาพ และวัสดุใหม่ ที่ "เก่งระดับโลก"

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2544)

 

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.