ค่ายอิเล็กฯ หันเน้นร่วมมือคู่แข่งในวงจำกัด

โตเกียว - ค่ายผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในญี่ปุ่น เล็งนำมาตรการจับมือกับคู่แข่งในวงจำกัดมาใช้เสริมความแกร่งในการแข่งขัน หลังผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาส ชี้ผลพวงจากเหตุการณ์วินาศกรรมสหรัฐเป็นสาเหตุหลักทำให้ราคาชิพ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกตกต่ำ อีกทั้งยังเพิ่มจำนวนคู่แข่งในตลาดเอเชียให้มากขึ้น

ทั้งนี้ แม้ผู้บริหารของหลายบริษัท ยอมรับว่า ภาคธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น เคยประสบกับปัญหาวิกฤติ ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าครั้งนี้ แต่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำทั้งหมด ยกเว้น โซนี่ คอร์ป. ต่างคาดว่าจะมีตัวเลขขาดทุนในรายงานผลประกอบการประจำปีงบการเงิน ซึ่งสิ้นสุดเดือนมีนาคม ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจอื่นในประเทศแห่งนี้ มีความกังวลเช่นเดียวกับธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนต่ำของกระบวนการผลิตจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานสำหรับสินค้าที่ "ผลิตในญี่ปุ่น" มาเป็นระยะหลายปี โดยในปัจจุบันสินค้าที่ผลิตในจีน, เกาหลีใต้ และประเทศในภูมิภาคเอเชียเกือบทั้งหมด ต่างใช้กลยุทธ์ดังกล่าว ส่งผลธุรกิจของญี่ปุ่น ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่สูงขึ้น

นายยูกิโอ โชตุกุ กรรมการผู้จัดการมัตสึชิตะ อิเล็กทริก อินดัสเทรียล โค. เปิดเผยว่า เขารู้สึกเป็นกังวลว่า มัตสึชิตะจะกลายเป็นเป้าหมายในการควบกิจการได้โดยง่าย และได้นำมาตรการลดต้นทุนมาใช้เพื่อให้บริษัทอยู่รอด กระนั้นการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างบริษัทก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยจะเป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่างบริษัทคู่แข่งในวงจำกัด ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกันเต็มตัว เมื่อเดือนตุลาคม มัตสึชิตะ ได้จัดตั้งธุรกิจร่วมทุนกับโตชิบา คอร์ป. เพื่อรวมธุรกิจผลิตจอแอลซีดีของทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน ขณะที่เมื่อช่วงต้นปี มัตสึชิตะ ซึ่งผลิตสินค้าภายใต้ชื่อพานาโซนิค ได้จับมือกับเอ็นอีซี คอร์ป. เพื่อแบ่งปันเทคโนโลยีผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับยุคที่ 3 หรือ 3จี (3G) ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ตัวแทนของมัตสึชิตะ เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำงานร่วมกับฮิตาชิ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือน ซึ่งรวมถึงตู้เย็น และเครื่องซักผ้า

หลายแห่งเตรียมเดินตาม

ด้านชาร์ป คอร์ป. และซันโย อิเล็กทริก โค. ก็มีโครงการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคร่วมกัน นอกจากนี้ ชาร์ป ยังผลิตเตาไมโครเวฟให้กับซันโยเพื่อขายในยุโรป ขณะที่ ซันโย ก็จัดป้อนตู้เย็นให้กับชาร์ปในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน

ส่วนฟูจิตสึ อยู่ระหว่างจัดตั้ง ธุรกิจร่วมทุนกับมินอลตา โค. บริษัทผู้ผลิตกล้องในญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาเครื่องพิมพ์เลเซอร์สี และยังเป็นพันธมิตรกับซิสโก้ ซิสเต็มส์ ยักษ์ใหญ่ด้านเครือข่ายในสหรัฐ เพื่อผลิตระบบเครือข่าย ด้วยการรวมซอฟต์แวร์ของฟูจิตสึกับอุปกรณ์เครือข่ายของซิสโก้

ขณะที่โซนี่ คอร์ป. ได้จัดตั้งธุรกิจร่วมทุนโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมกับแอลเอ็ม อีริคสัน ผู้ผลิตชุดอุปกรณ์ด้านไร้สายในสวีเดน

นายเจอราล์ด คาวานักห์ โฆษกของโซนี่ เห็นว่า การจับมือกับพันธมิตรในวงจำกัด ดีกว่าการต่อสู้ตามลำพัง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อและยุ่งยาก ทั้งนี้ นายมาซาฮิโร โอโน นักวิเคราะห์ของยูบีเอส วอร์เบิร์ก ในโตเกียว ประเมินว่า จะมีธุรกิจร่วมทุนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในวงการอุตสาหกรรมแห่งนี้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.