เอ็นไอทีซีปรับโครงสร้างเน้นคล่องตัว

มุ่งความสำเร็จทำงานร่วมเอกชน หนุนขับเคลื่อนกลไกสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

เอ็นไอทีซี เล็งปรับโครงสร้าง รับเพิ่มความคล่องตัว ในการทำงานร่วมเอกชน หนุนขับเคลื่อนกลไกสู่ยุครัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ด้านกระทรวงไอซีที เตรียมผลักดันจัดตั้งคณะทำงานสนับสนุนซีไอโอ ระดับกระทรวง พร้อมวางกรอบศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด สานเป้าหมายเชื่อมโยงข้อมูลรัฐทั่วประเทศ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบการกำกับดูแล กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวในฐานะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (เอ็นไอทีซี) ว่าอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างการทำงานของเอ็นไอทีซี ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านนโยบายไอทีของชาติ โดยจะขยายขอบข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากขึ้น จากเดิมที่จะจำกัดเฉพาะนโยบายในหน่วยงานรัฐ

 

สำหรับการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อลดขนาดของเอ็นไอทีซี และเพิ่มประสิทธิภาพความคล่องตัว (Small but Smart) โดยอาจยุบงานคณะอนุกรรมการบางส่วน จากปัจจุบันมีอยู่กว่า 20 คณะ อย่างไรก็ตาม ยังไม่กำหนดเวลาชัดเจนว่าจะปรับแล้วเสร็จ และนำเสนอสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อไร "การทำงานของเอ็นไอทีซี ต้องมองภาพรวมใหญ่ของประเทศมากขึ้นที่ต้องครอบคลุมทุกส่วน ทั้งรัฐ เอกชน อุตสาหกรรม" นายสุวิทย์ กล่าว ขณะที่ ในส่วนของกระทรวงไอซีที ก็ต้องเร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ เพื่อนำไอซีทีมาใช้ประโยชน์ในการบริหารและการให้บริการของภาครัฐ โดยรัฐมนตรีว่าการ และปลัดกระทรวงไอซีที จะต้องผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบโครงข่ายประสาทดิจิทัล ระหว่างหน่วยงานรัฐโดยเร็วที่สุด เพื่อให้รัฐบาลนำข้อมูลที่จัดเก็บมาบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารสารสนเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ตั้งองค์กรหนุนงานซีไอโอ

ด้านคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมายข้างต้น จำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ของหัวหน้าคณะปฏิบัติการด้านไอที (ซีไอโอ) ของทุกกระทรวง เนื่องจากเป็นผู้บริหารที่มีบทบาทสำคัญ ต่อการพัฒนาระบบการทำงานของราชการ โดยกระทรวงฯ เตรียมเสนอต่อ ครม. เพื่อขอจัดตั้งองค์กรสนับสนุนการทำงานของซีไอโอ ซึ่งจะสนับสนุนให้ซีไอโอมีคณะทำงานช่วยจัดการบริหารงานเรื่องไอซีทีของกระทรวง เนื่องจากปัจจุบันทุกกระทรวง มีหน่วยงานศูนย์สารสนเทศอยู่แล้ว แต่หลายแห่งไม่ได้ขึ้นกับซีไอโอ แต่ไปขึ้นตรงกับผู้บริหารท่านอื่น จึงทำงานไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจสั่งการ

"การทำงานของซีไอโอ จะต้องวางแผนโดยนำแผนแม่บทไอซีทีเป็นตัวตั้ง และหน่วยงานที่สนับสนุนจะต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์บูรณาการ ซึ่งจะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของระบบประสาทดิจิทัล เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับทุกหน่วยงานภาครัฐ" คุณหญิงทิพาวดี กล่าว ทั้งนี้ สำนักงานซีไอโอ จะมีบทบาทเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวง (เอ็มโอซี หรือมินิสตรี โอเปอเรติ้ง เซ็นเตอร์ ) ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการระดับกรม และศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติ ที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น พีเอ็นโอซี (Prime Minister Operating Center) เพื่อให้ทุกหน่วยงานมีข้อมูลเชื่อมโยงถึงกัน โดยตั้งเป้าหมายบรรลุผลภายใน 6 เดือน สำหรับการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว จะทำให้ทุกหน่วยงานของรัฐตั้งแต่ระดับกรม ไปจนถึงระดับชาติ มีฐานข้อมูลของตัวเอง และเชื่อมโยงข้อมูลของทุกหน่วยงานได้อย่างสะดวก ทำให้นำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ วางแผนตัดสินใจในระดับนโยบายได้อย่างมีเหตุมีผล

 

หนุนศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด

นอกจากนี้ กระทรวงไอซีทียังมีแผนงานที่จะให้ทุกจังหวัด จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด (พีโอซี) ขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชากร โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา การสาธารณสุข รวมถึงข้อมูลภูมิศาสตร์ และเชื่อมโยงกับกรมอุตุนิยมวิทยาระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัด จะแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการฯ ให้ทำหน้าที่เป็นซีไอโอของจังหวัด และมีสำนักงานจังหวัดเป็นศูนย์กลางข้อมูลของแต่ละจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบันการจัดเก็บข้อมูลไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากไม่มีศูนย์สารนิเทศจังหวัด "ผลของการจัดตั้งศูนย์พีโอซี จะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถวางแผนงานได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลทันสมัย ทันเหตุการณ์ และนำข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนางานบริการ ให้ตรงกับความต้องการของประชาชนได้" คุณหญิงทิพาวดีกล่าว พร้อมกันนี้ กระทรวงไอซีที จะไปเจรจากับกระทรวงมหาดไทย ในรายละเอียดของแนวทางจัดการต่อไป เช่น การตั้งทีมงานช่วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงการกำหนดมาตรฐานของข้อมูล ระบบซอฟต์แวร์ สำหรับพีโอซี เพื่อให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 ธันวาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.