รายงาน : อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ยึด "จีน" ตั้งฐานผลิตระดับโลก

ผู้ผลิตต่างชาติ เมินปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ หันยึดจีนเป็นศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์แห่งใหม่ เหตุมีค่าแรงราคาถูก แต่ศักยภาพระดับแนวหน้า ด้านนักวิเคราะห์ แนะรัฐบาลปักกิ่ง เร่งคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หากต้องการแข่งขันระดับโลก

 

ด้วยเหตุที่มีสถิติจำนวนประชากรสูงที่สุดในโลก และมีบริษัทนับไม่ถ้วนเข้าดำเนินกิจการ ทั้งในธุรกิจพลังงาน, โทรคมนาคม และธนาคาร ป้อนแก่ลูกค้าในประเทศกว่า 1,300 ล้านคน จึงไม่น่าแปลกที่จีนกำลังได้รับการจับตามอง จากบรรดาผู้ผลิตซอฟต์แวร์ต่างชาติ ในฐานะแหล่งพัฒนาซอฟต์แวร์แห่งใหม่ด้วย "ค่าแรงในประเทศจีนอาจมีอัตราต่ำที่สุดในโลก แต่แรงงานเหล่านี้อาจมีคุณภาพสูงสุดเลยทีเดียว" นายจาเว่น ทัง นักวิเคราะห์ด้านเงินทุนเทคโนโลยี บริษัทร่วมทุนชาวจีน ที่มีเจ.พี.มอร์แกน เฟลมมิ่ง เป็นผู้ผลักดัน กล่าวในงานประชุมรอยเตอร์ส เอเชีย เทคโนโลยี ซัมมิท เมื่อวันอังคาร (21..) ที่ผ่านมา

 

ยึดฐานผลิตซอฟต์แวร์โลก

ปัจจุบัน ตลาดซอฟต์แวร์ส่งออกราว 95% ของจีน ถูกควบคุมโดยบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ต่างชาติ เช่น เอสเอพี, ออราเคิล, ซีเบส และบริษัทระดับโลกอีกหลายร้อยแห่ง ที่หันมาใช้จีนเป็นแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ของตัวเอง "จีนเปรียบเสมือนสนามทดลองสำหรับนักเทคโนโลยี เรานำเทคโนโลยีมาที่นี่ และหาทางพัฒนาให้มันทำงานได้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น" นายเควิน วอลช์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ของออราเคิล กล่าว ทั้งออราเคิล และบริษัทคู่ปรับตลอดการ อย่าง เอสเอพี ได้ว่าจ้างพนักงานในจีนเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นการจ้างพนักงานวิจัย ส่วนไอบีเอ็ม รีเสิร์ช ก็เข้าไปตั้งห้องแล็บในกรุงปักกิ่งไว้แล้วแห่งหนึ่ง โดยที่ห้องทดลองแห่งนี้ จะใช้พัฒนาซอฟต์แวร์จดจำตัวอักษร และเสียงในภาษาจีนโดยเฉพาะ

 

ชี้ปัญญาละเมิดลิขสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม นายแฟรงค์ กอง หัวหน้าฝ่ายนักเศรษฐศาสตร์ ของเจ.พี.มอร์แกน ไชน่า กล่าวว่า อุปสรรคที่สำคัญที่สุดของจีน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ที่มีศักยภาพพอจะสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ไม่ใช่คู่แข่งในระดับโลก หรือยอดขายแต่อย่างใด "สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ การตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาให้ได้ ผู้ผลิตมักจะได้เห็นสินค้าปลอมวางขายในตลาด ก่อนที่จะมีการเปิดตัวสินค้าเหล่านั้นเสียอีก" นายกอง กล่าว นี่อาจพออธิบายได้ว่า เหตุใดลูกค้าชาวจีนจึงยังมีอัตราค่าใช้จ่ายในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อาทิ เอสเอพี ผู้นำตลาดซอฟต์แวร์วางแผนธุรกิจ ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จในตลาดจีนพอสมควร เปิดเผยว่า สัญญาขนาดใหญ่ที่สุด คือสัญญากับบริษัทผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของประเทศ โดยมีมูลค่า 20-30 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ขณะที่ นายเคลาส์ ซิมเมอร์ ประธานเอสเอพี สาขาประเทศจีน เปิดเผยว่า ลูกค้าบริษัทจีนแห่งหนึ่ง จ่ายเงินค่าใช้ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ราว 250 ตัว แต่ต่อมา ก็มีการค้นพบว่าบริษัทแห่งนี้ ใช้ซอฟต์แวร์ของตนไปถึง 3,000 ก๊อบปี้ทีเดียว

 

เชื่อคุ้มค่าผลประโยชน์

วิธีหนึ่งที่บริษัทผลิตซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่เหล่านี้นำมาใช้แก้ปัญหา ก็คือ การแบ่งโครงการวิจัยออกเป็นหลายๆ ส่วน พร้อมกับป้องกันไม่ให้ผู้ที่อาจพยายามขโมยข้อมูลเหล่านี้ อยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นกระบวนการทั้งหมดได้ ปัจจุบัน วิศวกรซอฟต์แวร์ชาวจีน จะมีค่าตัวราว 6,500 ดอลลาร์ต่อปี เมื่อเทียบกับวิศวกรอินเดีย ซึ่งอยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์ หรือวิศวกรในสหรัฐ ซึ่งสูงถึง 100,000 ดอลลาร์ทีเดียว ด้วยเหตุนี้เอง แม้ว่าบริษัทต่างๆ จะยังต้องเผชิญกับปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ดูเหมือนจะไม่มีวันหมดไปได้ง่ายๆ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว ผู้บริหารส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า ประโยชน์ที่จะได้จากค่าแรงงานราคาต่ำ คุ้มค่าพอสำหรับการย้ายกระบวนการผลิตมาที่นี่ "ค่าแรงงานจีน ทำให้เราได้เปรียบด้านการลดต้นทุนในระดับโครงสร้างทีเดียว" นายจอน เซสตาร์ หัวหน้าฝ่ายบริหาร บริษัทฟรีบอร์เดอร์ ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์รายหนึ่งกล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.