ทีซ่าดันไทยติดอันดับผู้พัฒนาสมองกลฯ 1 ใน 5 ของเอเชีย

หนุนสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ทีซ่า ตั้งเป้าดันไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ประเทศชั้นนำของเอเชีย ด้านการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัว (เอ็มเบ็ดเดด ซิสเต็ม) ภายใน 3 ปี มุ่งเจาะอุตสาหกรรม ยานยนต์และเทเลคอม พร้อมร่วม 8 สถาบันสร้างเครือข่ายนักพัฒนา เชื่อมโยงภาคข่ายเอกชน

 

นายพันธศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือทีซ่า (TESA) กล่าวว่า สมาคมฯ ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศชั้นนำของเอเชีย ในด้านสมองกลฝังตัว (Embeded System) รองจากประเทศจีน เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภายใน 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่คาดว่าไทยจะอยู่ในอันดับที่ 10 จากกลุ่มเอเชีย

โดยแผนงานเป้าหมาย จะต้องเริ่มจากการศึกษาวิจัยประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทยก่อน ทั้งจำนวนบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่มูลค่า (แวลลู เชน) ของอุตสาหกรรม จัดทำฐานข้อมูลนักพัฒนาระบบสมองกล และสายงานความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายนักพัฒนา และสามารถเชื่อมโยงทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้ รวมทั้งกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะใช้ระบบสมองกลเข้าไปมีบทบาทเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วที่ควบคุมภายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ ธุรกิจโทรคมนาคม และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะต้องสร้างการเชื่อมโยง และทำงานร่วมกันของทุกส่วน (คลัสเตอร์) ในห่วงโซ่มูลค่าของแต่ละอุตสาหกรรมให้ชัดเจน เขายกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของบริษัทรถยนต์ชั้นนำของโลก ดังนั้น บริษัทไทยสามารถรับออกแบบระบบสมองกล ที่จะใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ ตัวจุดระเบิด ฯลฯ ระบบควบคุมเบรกเอบีเอส

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันโดยเฉลี่ยรถยนต์ 1 คัน ประกอบด้วย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 15%-20% หากสามารถสร้างธุรกิจสมองกลในประเทศในสัดส่วน 1.5-2% ของอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ ก็นับว่าเป็นตลาดที่มีขนาดมหาศาลแล้ว

ด้านนายอภิเนตร อุนากูล เลขานุการสมาคมเดียวกัน กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ฝังตัวอย่างกว้างขวาง ทั้งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะที่ต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์ระบบอัตโนมัติ โดยตัวเลขมูลค่าระบบสมองกลทั่วโลกในปี 2544 อยู่ที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าเฉพาะในตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (เดสก์ทอป) มีเพียง 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

สร้างมูลค่าเพิ่มอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์

นายอภิเนตรกล่าวว่า ระบบสมองกลฝังตัว จะสร้างมูลค่าเพิ่มสูงให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกลเป็นอย่างมาก โดยอุปกรณ์อัตโนมัติบางอย่าง หากสามารถเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานในอุปกรณ์อัตโนมัติ ก็จะใช้ทดแทนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ ซึ่งแต่ละปี ประเทศไทยมีการนำเข้าอุปกรณ์เครื่องจักรอุตสาหกรรมประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท "อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีมูลค่าประมาณ 800,000-1 ล้านล้านบาท โดยมีอุตสาหกรรมใหญ่ในไอซี แพ็คเกจจิ้ง และฮาร์ดดิสก์ ซึ่งมูลค่าส่งออกรวม 500 พันล้านบาท และไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านระบบสมองกลฝังตัว และการเขียนโปรแกรมควบคุมในเครื่องจักรอัตโนมัติ เพื่อสร้างความได้เปรียบการแข่งขัน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ" นายอภิเนตรกล่าว

 

ร่วมมือ 8 สถาบัน

นายพันธศักดิ์กล่าวว่า ล่าสุด สมาคมฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อจัดสร้างฐานข้อมูลของผู้เกี่ยวข้องกันกับระบบสมองกล ทั้งสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ตลอดจนหาความเชี่ยวชาญหลักของแต่ละสถาบัน แบ่งปันมาตรฐานการพัฒนาและเทคโนโลยีที่มีอยู่ ทำให้สถาบันการศึกษาตอบสนองความต้องการภาคเอกชนแต่ละท้องถิ่น ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.