ทิศทาง-แนวโน้ม : บรอดแบนด์-เน็ตไร้สาย ทางออกไอเอสพีรุกตลาดปี 46

 

ตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนเทคโนโลยีไวร์เลสแลน กำลังจะเป็นทางออกเพิ่มมูลค่าแก่ไอเอสพีรับการแข่งขันในตลาดปีหน้า หลังงัดกลยุทธ์ราคาห้ำหั่นกันในปีนี้แล้ว จับตาร้านอาหารแฟรนไชส์ชูจุดขายใหม่ยุคชีวิตดิจิทัล ร่วมมือไอเอสพีเปิดบริการเน็ตความเร็วสูงในร้าน

 

นายสุพจน์ ศรีนุตพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต) และการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายไร้สายสำหรับกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป (พับลิค ไวร์เลส แลน : PWL) จะกลายเป็น "อาวุธ" ใหม่ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ในประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างกำลังหาทางออกในการเสริมมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งจุดเด่นในการให้บริการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปลายปีนี้จนถึงปีหน้าจะมีการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปมากขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการผ่านเทคโนโลยีโครงข่ายไร้สาย (ไวร์เลส แลน) เจาะกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีอุปกรณ์พกพา อาทิ พีดีเอ, โน้ตบุ๊ค เป็นต้น ทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ก็รับว่า การพัฒนาเครื่องรุ่นใหม่ๆ จะมีการ์ดไวร์เลสแลนติดตั้งมาในเครื่อง

 

โดยในอนาคตอันใกล้ ไอเอสพีอาจเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และเปิดตลาดใหม่ โดยการจับมือกับเจ้าของสถานที่ อาทิ ร้านอาหารแฟรนไชส์ชื่อดัง ร่วมกันเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในร้าน ซึ่งหากต้องการใช้บริการก็จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตแอคเคาน์ของไอเอสพีรายนั้น เท่ากับเป็นการเพิ่มยอดขายแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตไปในตัว ทั้งมองว่า ปัจจุบันผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะมีอินเทอร์เน็ตแอคเคาน์มากกว่าหนึ่งรายอยู่แล้วเป็นแรงหนุน

นอกจากนี้เทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายยังสามารถนำไปปรับให้บริการในลักษณะเดียวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถแจ้งข้อมูลแก่ผู้ใช้ได้ทันทีที่เข้ามาภายในเครือข่าย โดยสามารถพัฒนาบริการเป็นได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์

 

"เมื่อผู้ใช้บริการเดินเข้ามาในพื้นที่ซึ่งเครือข่ายครอบคลุมและเปิดใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ก็อาจจะมีข้อมูล (ป๊อปอัพ) ขึ้นมาที่เครื่องพีดีเอ หรือโน้ตบุ๊คอัตโนมัติ โดยอาจเป็นรายการส่งเสริมการขายของห้างสรรพสินค้า หรือเป็นข้อมูลที่ต้องการให้ผู้ใช้บริการในพื้นที่นั้นๆ ทราบ และอาจต่อยอดให้ผู้ใช้งานรับสิทธิพิเศษผ่านการเปิดเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมในเวบไซต์ ที่ต้องอาศัยการออนไลน์ โดยใช้แอคเคาน์ของไอเอสพี ซึ่งโมเดลนี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศอังกฤษ" นายสุพจน์กล่าว

 

ปลายปีนี้เริ่มหลายโครงการ

สำหรับปลายปีนี้ มีโครงการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไร้สายหลากรูปแบบ เห็นได้จากการเริ่มเปิดตัวโครงการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายไร้สายตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมีบริการสามารถ อินเทอร์เน็ต ของบริษัท สามารถอินโฟเน็ต จำกัด เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายแรกที่นำร่องโครงการให้บริการภายในห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ นอกจากนี้บริษัทผู้ทำตลาดโน้ตบุ๊ค เช่น ฟูจิตสึ ก็เตรียมเปิดตัวให้บริการไวร์เลสอินเทอร์เน็ตในแนวทางใกล้เคียงกัน และบริษัทเองก็มีแผนจับมือกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายในปลายปีนี้ โดยเป็นการจับมือให้บริการ เพื่อต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มและบริการใหม่แก่ผู้ใช้บริการการท่าอากาศยาน เบื้องต้นจะเป็นโครงการนำร่องโดยใช้อินเทอร์เน็ตแอคเคาน์ภายในองค์กร สามารถต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ 3 จุด โดย 2 จุดแรกจะติดตั้งที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และอีก 1 จุด ณ อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ โดยตั้งเป้าให้บริการเช่นเดียวกับท่าอากาศยาน "ชางฮี" ของสิงคโปร์ ทั้งมองว่าหากผลตอบรับดีก็จะขยายสู่ความร่วมมือกับไอเอสพีในเชิงพาณิชย์ต่อไป

 

บรอดแบนด์พร้อมรุกตลาด 2 กลุ่ม

ทั้งนี้รูปแบบการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ  1.การให้บริการในวงกว้างผ่านสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงผู้ใช้ตามบ้าน ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการจากระบบโครงสร้างพื้นฐานหลัก (คอร์เน็ตเวิร์ค) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จากผู้ให้บริการหลายราย อาทิ ระบบเคเบิลใยแก้วนำแสง, ระบบดาวเทียม, ระบบสายโทรศัพท์สายทองแดง เป็นต้น ซึ่งผู้ให้บริการสามารถเปิดให้บริการได้โดยลงทุนอุปกรณ์เพิ่มบางอย่างเท่านั้น ส่วนผู้ใช้บริการจะต้องลงทุนเพิ่มในส่วนของอุปกรณ์แยกสัญญาณ  2.การให้บริการกับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยจับกลุ่มเฉพาะอาคารสำนักงาน เป็นการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในแนวดิ่ง โดยเทคโนโลยีนี้คือ "เมโทรแลน" เพิ่มจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่เข้าสู่อาคารเพื่อสร้างเป็นโครงข่ายกลาง (แบ็คโบน) และให้บริการภายในอาคาร โดยการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตภายในอาคารนั้น สามารถเลือกใช้รูปแบบการให้บริการได้มาก อาทิ บริการอินเทอร์เน็ตผ่านไวร์เลสแลนภายในอาคาร, บริการเอดีเอสแอลผ่านสายโทรศัพท์ เป็นต้น แทนการใช้การเดินสายเครือข่ายภายในอาคาร ปัจจุบันมีไอเอสพีหลายรายเริ่มรุกตลาดนี้แล้ว ได้แก่ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด หรือไอเน็ต, บริษัท ซีเอส อินเตอร์เน็ต เป็นต้น

 

บริการวอยซ์โอเวอร์ไอพีเตรียมเสริมทัพ

ด้านนายแอนดรูว์ เมอร์เรย์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายเซอร์วิสโพรไวเดอร์ เซลล์ บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ จำกัด ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้บริการบนเครือข่ายไอพีเริ่มได้รับความนิยมในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย แต่การใช้งานจะต้องขึ้นอยู่กับระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม อย่างไรก็ตามเมื่อความนิยมในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้น การใช้บริการดังกล่าวก็จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นในตลาดคือ เทคโนโลยีและความพร้อมของระบบโครงข่ายในท้องที่นั้น เพราะการใช้บริการบนโครงข่ายไอพีสามารถใช้งานได้ทั้งบริการด้านเสียงและวิดีโอ ซึ่งบริการที่อยู่บนโครงข่ายดังกล่าว อาทิ ดิจิทัลวิดีโอ, วิดีโอออนดีมานด์ เป็นต้น ล้วนสามารถเป็นแรงหนุนให้ผู้ใช้บริการเกิดแรงกระตุ้นได้ "ในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยนั้น ความเร็วในการให้บริการจะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้เทคโนโลยีนี้ได้รับความนิยม เพราะระบบเดิมอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการเข้าถึงข้อมูล ขณะเดียวกันมองว่า ผลจากการใช้งานและได้เห็นเทคโนโลยีดังกล่าว ได้รับการยอมรับและปรับใช้ในหลายประเทศ ก็น่าจะเป็นจุดดึงดูดให้ประเทศเหล่านี้หันมาใช้เทคโนโลยีดังกล่าวแทนที่เทคโนโลยีเดิม" นายแอนดรูว์กล่าว ขณะอุปสรรคในการเติบโตของตลาดคือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมเป็นระบบที่ลงทุนไปแล้วจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ลงทุนระบบจึงต้องอาศัยระยะเวลาในการพิจารณาลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ว่าจะสามารถใช้งานได้นานเพียงใด และจะถ่ายโอนจากเทคโนโลยีเดิมไปเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างไร

 

ด้านนางสาวพาเมล่า แธม ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ กลุ่มประเทศอาเซียน บริษัท นอร์เทล เน็ทเวิร์คส์ กล่าวว่า การปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในกลุ่มประเทศอาเซียน กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยประเทศที่เป็นผู้นำในภูมิภาคนี้คือสิงคโปร์ ซึ่งมีบริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งสำนักงานสาขาประจำภูมิภาคจำนวนมาก จึงรับเทคโนโลยีใหม่ได้เร็ว สำหรับกลุ่มที่เหมาะแก่การนำร่องใช้เทคโนโลยีดังกล่าวนอกจากบริษัทข้ามชาติ ได้แก่ 1.กลุ่มองค์กรภาครัฐบาล เพราะเป็นหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่ หากปรับใช้เป็นการนำร่องเอกชน จะช่วยให้เกิดการผลักดันให้เอกชนเห็นตัวอย่างและเริ่มปรับใช้ได้เร็ว  2.กลุ่มองค์กรด้านการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่มีสาขาจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งหากปรับใช้เทคโนโลยีตามความจำเป็นในการใช้สื่อมัลติมีเดียประกอบการเรียนการสอน จะช่วยให้เกิดแรงกระตุ้นและการส่งเสริมระบบการเรียนการสอนมากขึ้น อาทิ การปรับใช้ระบบอี-เลิร์นนิ่งในการสอน พร้อมกับช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.