ทีวีโอเวอร์ไอพี ขุมรายได้ใหม่บริการบรอดแบนด์

บายไลน์ - กิ่งกาญจน์ ตรียงค์

 

บริการเน็กซ์ เจนเนอเรชั่น ทีวี หรือทีวีโอเวอร์ไอพี จะเป็น 1 ใน 5 เทคโนโลยีหลักมาแรงในตลาดโทรคมนาคมไทยอันใกล้ โดยผู้ใช้จะสามารถเลือกดูรายการโทรทัศน์ที่ชอบได้ตามต้องการ โดยเครื่องรับโทรทัศน์ต้องเป็นดิจิทัล และผู้ให้บริการเคเบิลทีวี จะสามารถให้บริการดังกล่าวได้ ผ่านเอดีเอสแอล หรือลีสด์ไลน์

 

นายทวีสิทธิ์ กุลองคณานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท ไอดีซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวย้ำประโยคข้างต้นอย่างมั่นใจ โดยมองว่า จะสอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลก ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ได้แก่ การใช้สายไฟฟ้าต่อเชื่อมเครือข่ายแลน (Power Over Ethernet), พุช ทู ทอล์ค, ไว แม็กซ์ (Wi-MAx) และการสื่อสารเสียงผ่านบรอดแบนด์ (วอยซ์ โอเวอร์ บรอดแบนด์) ที่เริ่มมาแรงในออสเตรเลีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ และในไทยกำลังจะเริ่มให้บริการ

ขณะที่ ผลการศึกษาของ Myrio บริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์อินเตอร์แอคทีฟ และการแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ตโปรโตคอลระดับแถวหน้า สำหรับผู้ประกอบการด้านบรอดแบนด์ ก็ระบุว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของบริการแพร่ภาพและสัญญาณโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต (Television over Internet Protocal : TVoIP) ด้วยยอดผู้ใช้บริการที่จะเติบโตจากกว่า 1 ล้านรายในปีนี้เป็น 12 ล้านราย ภายในปี 2551 ขณะที่ ตลาดในยุโรป ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ใช้บริการในระดับไล่เลี่ยกับภูมิภาคนี้ มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 6 ล้านราย และอเมริกา 2 ล้านราย ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า

 

มารู้จักกับ ทีวีโอเวอร์ไอพี

ปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดให้บริการสื่อสาร บรอดแบนด์ และธุรกิจบริการเคเบิลทีวี ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานรายได้ของผู้ประกอบการ ตลอดจนสงครามราคาที่ส่งผลให้ลูกค้าบางกลุ่มโอนย้ายไปใช้บริการคู่แข่งในระดับใกล้เคียงกัน นับเป็นความลงตัวของ จังหวะเวลา ที่ทำให้ ทีวีโอเวอร์ไอพี (TVoIP) ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำเสนอรูปแบบบริการใหม่ ให้กับอุตสาหกรรมสื่อสาร ขณะที่ในส่วนของผู้บริโภคแล้ว ความน่าสนใจของการใช้บริการผ่านเทคโนโลยีนี้ ก็คือ นอกจากจะรับชมรายการที่ต้องการได้เหมือนดูผ่านรายการเคเบิลทีวีทั่วไป หรือรับชมรายการประเภทวิดีโอ ออน ดีมานด์แล้ว ผู้ชมยังสามารถสั่งหยุด, เริ่มต้น, ดูภาพซ้ำ หรือเร่งภาพ ในขณะที่ดูรายการถ่ายทอดสด หรือเรียกดูรายการก่อนหน้านี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอัดรายการเก็บไว้ในเครื่อง นอกจากนี้ ด้วยคุณสมบัติของกล่องสัญญาณ (เซ็ต-ท็อป บ็อกซ์) ที่ได้รับการพัฒนาให้ฉลาดมากขึ้น และมีการติดตั้งกล้องดิจิทัลไว้ภายใน ก็ทำให้จอโทรทัศน์ของผู้ใช้บริการทีวีโอเวอร์ไอพี สามารถกลายสถานะเป็นจอภาพในการทำวิดีโอโฟน หรือวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ได้ทันทีที่มีการรับสายเข้า หรือใช้โทรศัพท์ ซึ่งเป็นเลขหมายเดียวกับที่ใช้ต่อเข้าบรอดแบนด์

 

เพิ่มช่องทางรายได้-ผูกใจลูกค้า

ทางด้านผู้ให้บริการเองก็สามารถนำเสนอบริการเสริมใหม่ๆ ให้กับลูกค้าผ่านช่องทางนี้ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริการทีวี/คอนเทนท์เฉพาะบุคคล (personalized content/TV viewing), อินเตอร์แอคทีฟ ทีวี, อี-คอมเมิร์ซผ่านทีวี (ที-คอมเมิร์ซ), อีเมลภาพ (วิดีโอเมล), เกมออนไลน์ผ่านวิดีโอ ตลอดจนการเรียนทางไกล (distance learning) โดยเจ้าหน้าที่จากบริษัท ซีเมนส์ เอจี ได้ยกตัวอย่างถึงโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ จากเทคโนโลยีนี้ ว่า ผู้ใช้บริการสามารถเช่าพื้นที่เซิร์ฟเวอร์ จากบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายบรอดแบนด์ โดยจ่ายเงินจำนวนไม่มากนักในแต่ละเดือน เพื่อซื้อความสะดวกสบายในการจัดเก็บ และรับชมทีวีรายการโปรดได้แบบไม่พลาด นอกจากนี้ ลูกค้าไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านฮาร์ดดิสก์ ในการจัดเก็บข้อมูลไฟล์รายการทีวีจำนวนมาก แต่เมื่อไรที่ต้องการชมรายการไหน ก็เข้าไปดาวน์โหลดได้จากระบบของผู้ให้บริการได้ทันที

 

ขณะที่ นายทวีสิทธิ์ กล่าวว่า การนำเสนอบริการ ทีวีโอเวอร์ไอพี จะสนับสนุนผู้ให้บริการ (เซอร์วิสโพรไวเดอร์) ทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการเคเบิลทีวี สามารถสร้างบริการมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ

ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการจะมีช่องทางรายได้ใหม่ และสร้างความแตกต่างระหว่างผู้ให้บริการรายอื่น ลดอัตราการเปลี่ยนไปใช้บริการของคู่แข่ง (Churn Rate) โดยเขายกตัวอย่างของสตาร์ฮับ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในสิงคโปร์ ว่า เปิดให้บริการดังกล่าวแล้ว พร้อมกับบันเดิลเคเบิลโมเด็ม และบริการสื่อสารเสียงผ่านบรอดแบนด์ (วอยซ์ โอเวอร์ บรอดแบนด์) เป็นแพ็คเกจเดียวกันด้วย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า บริการนี้เหมาะกับประเทศที่มีจำนวนเครื่องรับโทรทัศน์มากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งราคาเครื่องรับโทรทัศน์ที่จะเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ก็จะต้องมีราคาต่ำเพียงพอ ขณะที่ กลุยทธ์การตลาดและรูปแบบธุรกิจก็เป็นประเด็นสำคัญของความสำเร็จทางธุรกิจ

 

ทางด้าน นายคริส โคลส์ ประธาน และซีอีโอ ของมายริโอ (Myrio) ก็เล่าถึงประสบการณ์จากตลาดสหรัฐอเมริกาว่า ภายหลังผู้ให้บริการอย่างยูเอส เวสต์ และคิวเวสต์ ตัดสินใจการนำเสนอบริการครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ เสียง, ข้อมูล และวิดีโอ ให้กับลูกค้าผ่านเครือข่ายเดียวด้วยเทคโนโลยีทีวีโอเวอร์ไอพี ก็สามารถกระตุ้นยอดใช้บริการวิดีโอผ่านบรอดแบนด์ได้เพิ่มถึง 30% และบริการข้อมูลเพิ่มขึ้น 12% โดยปัจจุบันเครือข่ายสื่อสารของบริษัทเหล่านี้ มียอดการใช้บริการข้อมูลถึง 60% และใช้บริการวิดีโอ 50%

 

5 ประสานส่งบรอดแบนด์ถึงบ้าน

ทั้งนี้ ทีวีโอเวอร์ไอพี นับเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการใช้บรอดแบนด์ตามบ้านที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของบริการรูปแบบนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาอุปกรณ์/ซอฟต์แวร์ สำหรับสนับสนุนการเข้าถึงบริการ รวมถึงคอนเทนท์ที่น่าสนใจ และหลากหลาย ให้ผู้บริโภคเลือกเสพความบันเทิงได้ตามชอบใจ ในการส่งตรงบริการทีวีโอเวอร์ไอพีถึงลูกค้าปลายทางนั้น จะมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์ ที่ถือเป็นต้นทางส่งผ่านบริการที่ผ่านการแปลงรูปแบบ ให้สามารถส่งไปเก็บไว้ที่แม่ข่ายกลาง เพื่อรอคนเข้ามาเรียกใช้บริการได้ 2.เครื่องแม่ข่ายซึ่งทำหน้าที่จัดเก็บคอนเทนท์ เพื่อส่งผ่านไปบนเครือข่ายบรอดแบนด์ 3.แบนด์วิธ ของเครือข่ายไอพี บรอดแบนด์ 4.เซ็ต-ท็อป บ็อกซ์ สำหรับแปลงคอนเทนท์ให้แสดงผลเป็นภาพและเสียงบนจอทีวี และ 5.ระบบงานหลังบ้านของผู้ให้บริการ ในการจัดทำระบบใบแจ้งหนี้ ซึ่งจะแบ่งแยกตามความหลากหลายของบริการทั้งข้อมูล ภาพ และเสียง

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.