"อุตสาหกรรมรถยนต์" ดาวดวงใหม่ในโลกเทคโนโลยี

โตเกียว - ผู้เชี่ยวชาญชี้แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ครองตลาดชิพแซงหน้าพีซีภายใน 5 ปี เหตุมาตรการรักษาความปลอดภัยช่วยกระตุ้นนวัตกรรมใหม่ ด้านโตโยต้าชูรังไหมไฟฟ้าบังคับทิศทางรถอัตโนมัติ ขณะที่เตือนผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ปรับตัวพร้อมรับกระแส

 

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 คอมพิวเตอร์บุคคล หรือพีซี เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตมากที่สุด และเป็นตลาดหลักสำหรับรองรับนวัตกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น เทคโนโลยีจอแบน และแอลเอสไอ (LSIs) และต่อมาในช่วงปลายทศวรรษเดียวกัน อุตสาหกรรมมือถือก็สามารถเบียดขึ้นมาเป็นเจ้าตลาดได้อีกราย แต่นักวิเคราะห์ ได้ทำนายว่า การพัฒนาอุปกรณ์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคตจะพุ่งเป้ามาที่อุตสาหกรรมรถยนต์แทน

 

ปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่

แต่เดิมนั้น เป็นที่รู้กันว่าอุตสาหกรรมรถยนต์จะใช้เฉพาะอุปกรณ์ที่ได้รับการค้นคว้าวิจัยอย่างสมบูรณ์แล้วในการผลิตรถ เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้บริโภคโดยตรง แต่ผู้เชี่ยวชาญ ให้ความเห็นว่า ในอนาคต พฤติกรรมเช่นนี้อาจเปลี่ยนแปลงไป โดยรถยนต์จะได้รับการพัฒนาให้สามารถสั่งงานเทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆ ได้ ขณะที่ตลาดสำหรับอุปกรณ์ภายในรถจะมีอัตราการเติบโตแซงหน้าอุตสาหกรรมพีซีไปภายในช่วงเวลาเพียง 2-3 ปี จริงๆ แล้ว อุปกรณ์สำหรับรถยนต์จะต้องมีคุณภาพทัดเทียมกับชิ้นส่วนเครื่องบิน ขณะที่มีราคาเทียบเท่ากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะไม่สามารถทำยอดขายใดๆ ได้ในช่วง 4 ปีแรกของการก่อตั้งบริษัท ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่มองว่าการผลิตอุปกรณ์สำหรับติดตั้งในรถยนต์ไม่ใช่ธุรกิจที่ดีนัก

แต่ก็ยังคงมีผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลายรายที่ให้ความสนใจในตลาดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นชาร์ป, เอ็นอีซี หรือมัตสึชิตะ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก และเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ยังสามารถดัดแปลงไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ "การเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ป้อนบริษัทรถยนต์ช่วยให้เรามีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ และช่วยให้สามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าให้แก่ลูกค้ารายอื่นๆ ได้" ตัวแทนบริษัท เอสที ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เอ็นวี กล่าว

 

คาดโตแซงพีซีใน 5 ปี

การที่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เริ่มหันไปสนใจตลาดระบบงานรถยนต์ ไม่เพียงแต่มีสาเหตุมาจากทิศทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะอุตสาหกรรมนี้ยังเปิดโอกาสในการก้าวขึ้นสู่การเป็นเจ้าตลาดด้วย ศูนย์วิจัยโนมูระ ซิเคียวริตี้ ไฟแนนเชียล รีเสิร์ช คาดประมาณว่า อุตสาหกรรมระบบงานรถยนต์จะครองส่วนแบ่งตลาดชิพสูงกว่าพีซีภายในปี 2551-2552 และหากอุตสาหกรรมรถยนต์กลายเป็นเจ้าตลาดชิพขึ้นมาจริงๆ ผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ทั้งหลายก็คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปรับเปลี่ยนระบบพัฒนาและจัดจำหน่ายของตนใหม่ เนื่องจากตลาดรถยนต์จะต่างจากตลาดพีซีตรงที่ผู้ที่ป้อนเทคโนโลยีชิ้นส่วนและวัสดุต่างๆ จะมาจากบริษัทหลากหลายประเภท ตัวอย่างเช่น เซมิคอนดัคเตอร์ในพีซีจะประกอบด้วยชิพประมวลผลและชิพดีแรม (DRAMs) เป็นหลัก ขณะที่เทคโนโลยีอุปกรณ์ภายในรถยนต์มีอยู่ 2 ระบบ (bipolar technology) และเซมิคอนดัคเตอร์กำลังสูงอย่าง ไอจีบีที (IGBT) ก็มีส่วนแบ่งตลาดไม่น้อยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ป้อนอุปกรณ์ยังมีความหลากหลายกว่ามาก บริษัทผลิตระบบงานรถยนต์ 10 อันดับแรกยังมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันไม่เกิน 60% ขณะที่ความล้ำหน้าของเครือข่ายสื่อสารในรถยนต์จะส่งผลให้ตลาดเซมิคอนดัคเตอร์เติบโตเพิ่มขึ้นไปด้วย

 

เน้นมาตรการความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรถยนต์ ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดัคเตอร์ของตัวเองด้วยเช่นกัน อาทิ บริษัทนิสสัน มอเตอร์ โค. ซึ่งกำลังวิจัยเทคโนโลยีกระบวนการทางสถาปัตยกรรมรถยนต์ร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียวอยู่ เพื่อพัฒนาระบบผู้ช่วยและระบบขับขี่อัตโนมัติ ที่มีความสามารถในการจดจำสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์คันข้างๆ, คนเดินเท้า, เส้นสีขาวบนถนน รวมไปถึงสัญญาณไฟจราจร เป็นต้น ขณะที่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 ก็กำลังวางโครงการพัฒนา "รังไหมไฟฟ้า" (electric cocoon) สำหรับติดตั้งลงบนรถยนต์ ระบบดังกล่าวประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจจับขนาดเล็กหลายร้อยตัว ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจำนวนมากป้อนให้แก่ชิพประมวลผล ผลการคำนวณจะถูกส่งไปยังส่วนควบคุมอีกที เพื่อบังคับเบรกหรือทิศทางล้อให้มีความปลอดภัยสูงสุด ไม่ต้องสงสัยว่า ชิพหรืออุปกรณ์เซมิคอนดัคเตอร์จะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของรถยนต์ในอนาคตอย่างแน่นอน ส่งผลให้ผู้ผลิตหลายราย เช่น ฮอนด้า หรือโตโยต้า เร่งจ้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาประเภท "เทคโนโลยีจดจำภาพ" หรือ "การพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังสูงและชิพ" กันเป็นการใหญ่

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 กรกฎาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.