บรอดแบนด์ตัวแปรบริการสื่อสาร ผลักดันผู้ใช้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

แนวโน้มความต้องการใช้เทคโนโลยีบรอดแบนด์ เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดผู้คาดการณ์ว่า อีก 1 ทศวรรษข้างหน้า อัตราการเพิ่มของผู้ใช้จะมีระดับถึง 30% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต สำหรับย่านเอเชีย-แปซิฟิก เหตุเพราะความสามารถในการจัดส่ง-รับข้อมูลสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงส่งผลให้ผู้ให้บริการทั้งภาครัฐ และเอกชน เร่งเตรียมพร้อมบุกตลาดด้านนี้กันอย่างเต็มที่ ที่สำคัญ เทคโนโลยีนี้จะเป็นปัจจัยหลักทำให้เกิดการเปลี่ยนในธุรกิจบริการสื่อสารครั้งใหญ่

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัยกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานการขาย บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) จำกัด คาดการณ์ว่า ปี 2553 ในย่านเอเชีย-แปซิฟิกจะมีผู้ใช้ เทคโนโลยีบรอดแบนด์ ราว 120 ล้านคน หรือ 30% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และจะสร้างรายได้ราว 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับข้อได้เปรียบของบรอดแบนด์ดาวเทียม อยู่ที่สามารถจัดส่งในพื้นที่กว้าง, เร็ว และคล่องตัวในการดำเนินการ จึงเหมาะสำหรับพื้นที่ห่างไกล, ชนบท หรือประเทศที่พื้นที่กว้าง ขณะที่ บริษัทวางกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไว้ที่บริษัท, ธุรกิจขนาดใหญ่, อาคารชุดต่างๆ สำนักงานสาขา, ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ธุรกิจขนาดเล็ก และธุรกิจภายในครัวเรือน รวมถึงผู้ใช้บริการรายย่อยทั่วไป โดยไอพีสตาร์ตั้งเป้ามีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 5-20% ของตลาดบรอดแบนด์ทั้งหมด

ทศท. ลดราคาเพิ่มฐาน

แหล่งข่าวจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) กล่าวว่า ทศท. ต้องการสร้างและขยายฐาน การตลาดของบริการนี้ โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเลิกค่าตั้งแบบให้ผู้ใช้บริการ วงเงิน 3,584.50 บาท ซึ่งเท่ากับโทรศัพท์พื้นฐาน พร้อมทั้งคิดอัตราค่าบริการเท่ากับอัตราโทรศัพท์พื้นฐาน ได้แก่ 1. ค่าเช่าหมายละ 100 บาทต่อเดือน 2. ค่าเช่าอุปกรณ์ตัวนำเข้าระบบ (Network Terminal:NT) 100 บาท และ 3. ค่าโทรครั้ง 3 บาทในพื้นที่เดียวกัน และโทรทางไกล 3, 6, 9,12 บาทต่อนาที จากเดิมที่ค่าติดตั้งและอุปกรณ์ไอเอสดีเอ็น มีราคาสูงกว่าโทรศัพท์ประมาณ 2 เท่า

ทั้งนี้ เทคโนโลยีระบบไอเอสดีเอ็น มีความแตกต่างจากโทรศัพท์พื้นฐาน ตรงที่มีช่องสัญญาณในการรับ-ส่งข้อมูล 2 ช่องสัญญาณ ทำให้สามารถใช้กับอุปกรณ์ปลายทางพร้อมกัน 2 เครื่อง เช่น อินเทอร์เน็ตกับโทรศัพท์ หรือแฟ็กซ์กับโทรศัพท์ มีความเร็วช่องสัญญาณละ 64-128 กิโลบิต นอกจากนี้ ไอเอสดีเอ็นยังสามารถใช้งาน กับอุปกรณ์สื่อสารได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ภาพ (Video Phone), การประชุมทางไกลผ่านจอภาพ, ระบบสำรองข้อมูล (ISDN Back Up) ศูนย์ข้อมูลทางโทรศัพท์ (Call Center), ระบบรักษาความปลอดภัย, การเรียนการสอนทางไกล และการรักษาทางไกลผ่านจอภาพ

แหล่งข่าว กล่าวว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายส่วนใหญ่ จะมีบริการ วงจรเช่า เพราะเป็นการใช้โครงข่ายที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพ และเสริมรายได้จากบริการหลักที่ทำอยู่ โดยคาดการณ์ว่าอัตราการใช้อินเทอร์เน็ต น่าจะเพิ่มมากขึ้นจากที่มีการใช้งานอยู่เพียง 2 ล้านราย จากจำนวนประชากรที่มีประมาณ 60 ล้านคน แนวโน้มตลาดน่าจะขยายได้อีกมาก สำหรับบริการ บรอดแบนด์นั้น มักจะมีการใช้งานมากในประเทศที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือประเทศที่เปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม ซึ่งในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมานั้น กระแสการธุรกิจอินเทอร์เน็ต และดอทคอม มีแนวโน้มจะขยายตัวมากทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทำการขยายโครงข่าย และพัฒนาอุปกรณ์รองรับธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไว้จำนวนมาก ดังนั้นผู้ประกอบไทยจึงคาดการณ์ว่า ตลาดไทยน่าจะมีการขยายตัวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก "เมื่อมีการลงทุนมากแต่ผู้ใช้บริการน้อยราคาจะมีการปรับลดลง ทำให้มีผู้ประกอบการต้องปรับอัตราค่าบริการลง และคาดว่าเมื่อมีผู้ให้บริการเพิ่มมากขึ้น จะทำให้ราคามีการปรับลดลงมาอีก" แหล่งข่าวกล่าว

เน้นให้ความรู้ตลาด

แหล่งข่าวจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีโครงข่ายความเร็วสูง ให้สามารถส่งข้อมูลปริมาณเป็นไปทิศทางของการใช้อินเทอร์เน็ต ที่ไม่จำกัดเพียงการรับส่งข้อมูล-ภาพ-เสียง ยังมีภาพเคลื่อนไหวที่มีลักษณะการใช้งานเพื่อความบันเทิง เช่น การชมภาพยนตร์ได้ ซึ่งโครงข่ายโทรศัพท์ที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันยังข้อจำกัดในเรื่องนี้ เพราะเทคโนโลยีคู่สายโทรศัพท์นั้น ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานยังเสียงเท่านั้น

ทั้งนี้ ทศท. เน้นการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้กับตลาด เพื่อกระตุ้นการใช้งานให้มากขึ้น เนื่องจากโครงข่ายความเร็วสูงนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ จะต้องส่งเสริมตลาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาให้บริการ เป็นระบบสื่อสารร่วมดิจิทัลความเร็วสูง (Broadband Integrated Services Digital Network:B-ISDN เพื่อให้บริการเสริมบริการโทรศัพท์

ปัจจุบันบริการโทรศัพท์มี 5 ประเภท ได้แก่ 1. บริการรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงระบบเอทีเอ็ม (Asynchronous Transfer Mode) 2. บริการเฟรม รีเลย์ (Frame Relay) และดาต้าคอม 3. บริการจัดสรรวงจรเช่าตามขนาด และปริมาณการใช้งานของแต่ละองค์กร (Circuit Emultion Service:CES) 4. บริการรีโมท แอคเซ็ส เนทเวิร์ค (Remote Access Network:RAN) สำหรับองค์กรที่มีหลายสาขากระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องการโครงข่ายส่วนตัวสำหรับหน่วยงาน 5. บริการเอดีเอสแอล (Asymmetric Digital Subscriber Line : ADSL) บริการสื่อสารความเร็วสูงบนสายทองแดง ที่มีความเร็วกว่าระบบคู่สายโทรศัพท์ปกติประมาณ 30 เท่าขึ้นไป

โดยที่ผ่านมาบริการสื่อสารความเร็วสูงยังไม่แพร่หลายมากนัก ยังจำกัดผู้ใช้บริการเพียงบริษัทข้ามชาติ และองค์กรที่มีหลายสาขา ที่ต้องการวงจรต่อเชื่อมการรับส่งข้อมูลระหว่างสำนักงานที่ตั้งอยู่ตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงอัตราค่าบริการที่มีราคาสูงจึงยังไม่เป็นนิยมมากนัก

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.