คอมพิวเตอร์ล่องหน

ในความคิดของคนทั่วไป เมื่อถามถึงคอมพิวเตอร์ มักจะนึกถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซี ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพประกอบด้วยจอภาพ เคสซึ่งบรรจุพวกซีพียู หน่วยความจำแรม เมนบอร์ด การ์ดต่างๆ คีย์บอร์ด และเมาส์ เป็นต้น แต่จะมีใครสักกี่คนจะเอะใจว่า รอบตัวเรานี้เต็มไปด้วยคอมพิวเตอร์และการประมวลผลที่มองไม่เห็น

 

คอมพิวเตอร์ล่องหนคืออะไร

คอมพิวเตอร์ฝังตัวหรือ Embedded System คือระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ประมวลผลด้วยซีพียู แต่จะต่างจากที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ค หรือเครื่องเวิร์คสเตชั่น โดยที่คอมพิวเตอร์ฝังตัวมักจะใช้ชิพที่ออกแบบมาเฉพาะมากกว่า ที่ผ่านมาคอมพิวเตอร์ฝังตัวได้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในรถยนต์ เครื่องบิน รถไฟ ยานอวกาศ กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและสำนักงาน และที่คนจำนวนมากใช้งานกันอยู่ทุกวันโดยไม่รู้ตัวก็คือ โทรศัพท์มือถือ รวมถึงพวกพีดีเอ ตลอดจนของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ "ที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ล่องหนก็เพราะต้องการสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ คอมพิวเตอร์ล่องหน ก็คือคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่ง เพียงแต่ว่าเรามองไม่เห็นตัว ไม่เหมือนกับคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป หรือแลปท็อปที่เราใช้กัน" ดร.พันศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค และยังเป็นประธานสมาคมสมองกลฝังตัวกล่าว

 

ส่วนความหมายโดยตรงตัวนั้น ดร.พันศักดิ์ ขยายความให้ฟังว่า คอมพิวเตอร์ฝังตัว หรือล่องหนนี้คือ อุปกรณ์ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีเจ้าตัวไมโครชิพที่มีการเขียนโปรแกรมใส่เข้าไป ไมโครชิพที่ว่านี้มีหลายรูปแบบ เป็นทั้งแบบไม่ต้องมีโปรแกรมทำได้เลย กับแบบที่ต้องเขียนโปรแกรมเข้าไป เจ้าตัวคอมพิวเตอร์ล่องหนนี้ หมายถึงระบบที่มีเจ้าไมโครชิพทำหน้าที่ควบคุมอยู่ และการควบคุมนั้น เป็นการควบคุมโดยการเขียนโปรแกรมฝังเข้าไป"

 

อุปกรณ์ที่มีระบบคอมพิวเตอร์ฝังตัว หรือล่องหนอยู่ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ โทรศัพท์มือถือ ยกตัวอย่างโทรศัพท์มือถือเอสพีวีที่ ทีเอ ออเร้นจ์ นำมาเปิดตัวเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา เป็นโทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟน 2002 ของไมโครซอฟท์ ทั้งๆ ที่โดยรูปร่างแล้ว คนส่วนใหญ่จะไม่อาจเรียกมันได้ว่าเป็นคอมพิวเตอร์ แต่ในความเป็นจริง มันเป็นคอมพิวเตอร์ดีๆ นี่เอง ภายในประกอบด้วยบอร์ดวงจร และหน่วยความจำ ที่สำคัญที่สุดคือ ไมโครโปรเซสเซอร์ ซึ่งผู้ผลิตเอสพีวีนำมาใช้เป็นไมโครชิพของ ARM เวอร์ชั่น 720 เช่นเดียวกับ พีดีเอ iPaq ซึ่งรุ่นก่อนหน้านี้ก็ใช้ไมโครชิพของ ARM รุ่น SA1110 และเพิ่งจะเปลี่ยนมาใช้โปรเซสเซอร์ Xscale ของอินเทล ซึ่งประหยัดแบตเตอรี่มากกว่าและมีความเร็วสูงกว่า

 

"โทรศัพท์มือถือทั้งหมดเป็น embedded system พูดง่ายๆ เดิมเราเห็นคอมพิวเตอร์เป็นคอมพิวเตอร์ ถ้าเราอยากให้ทำงานอะไร เราก็จะใส่โปรแกรมเข้าไป มันก็จะทำงาน ถ้าเป็น Embeded System เราจะมองไม่เห็นการใส่โปรแกรม เวลาจะใช้ก็สามารถกดใช้งานโดยตรงได้เลย เหมือนกับการใช้เครื่องเล่นวิดีโอ เราไม่ต้องโหลด หรือเรียกโปรแกรมเวลาเราต้องการใช้ก็สามารถกดปุ่มสั่งให้เครื่องทำงานได้เลย" ดร.พันศักดิ์ อธิบาย

 

หลายคนอาจติดภาพเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีจอภาพ มีฮาร์ดดิสก์ ซีพียู มีแผงหน่วยความจำ RAM มีเมาส์ ฯลฯ เป็นส่วนประกอบ แต่ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ฝังตัว ซอฟต์แวร์ต่างๆ จะถูกฝังลงในหน่วยความจำชนิดอ่านได้อย่างเดียวหรือที่เรียกว่า ROM (Read Only MemoryX หรือพวก flash memory chip การเรียกใช้โปรแกรมจึงทำได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซีที่โปรแกรมจะถูกเรียกมาไว้ที่หน่วยความจำ RAM (Random Access Memory) ทุกครั้ง

 

จะเห็นได้ว่า คอมพิวเตอร์ฝังตัวสามารถนำไปใช้งานได้ไม่จำกัด โดยในแต่ละปีไมโครโปรเซสเซอร์นับพันล้านจะถูกผลิตออกมาป้อนสู่ตลาดเพื่อประกอบในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าบางตัวสามารถใช้ชิพที่มีราคาไม่ถึงห้าสิบบาท โดยไม่จำเป็นต้องมีความจุมหาศาล หรือความเร็วในการประมวลผลระดับสูง อุปกรณ์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ฝังตัวนี้จึงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ชิพขนาดเล็ก กินไฟน้อย มีระบบปฏิบัติการและโปรแกรมประยุกต์อยู่ในตัว

 

ดร.พันศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า embedded system มีใช้กันมานานแล้ว โดยเริ่มแรกจะจำกัดอยู่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมที่ใช้ในการควบคุมเครื่องจักรอุตสาหกรรม และยังมีพวกเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เล็กๆ นี้เข้าไปฝังควบคุม "ไมโครชิพสามารถทำงานได้หลายอย่างมาก และเมื่อตัวไมโครชิพและหน่วยความจำมีขนาดเล็กลง และราคาถูกลง แถมมีความสามารถสูง จึงสามารถเอาไปใส่ในอุปกรณ์ขนาดเล็กได้ เมื่อมีความสามารถสูง มันก็สามารถเขียนโปรแกรมที่มีความซับซ้อนใส่เข้าไปได้ เพราะฉะนั้น โทรศัพท์มือถือบางเครื่องจึงมีความสามารถเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อนมาก" ดร.พันศักดิ์ กล่าวและเสริมว่า ชิพที่มีขนาดเล็กลงนี้ทำให้ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อย และสามารถใช้งานเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนได้ โดยไม่ต้องมีสายระโยงระยาง

 

ข้อดีของคอมพิวเตอร์ล่องหนก็คือ สมองกลฝังตัวนี้มีย่านการใช้งานได้หลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของซีพียู ยกตัวอย่าง ไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ทั่วไป ปัจจุบันจะอยู่ที่ 32 บิต แต่สำหรับสมองกลฝังตัวนี้จะมีตั้งแต่ 4 บิต 8 บิต 16 บิต และ 32 บิต หรือ 64 บิต ขึ้นอยู่กับลักษณะการนำไปใช้งาน

ถ้าใช้ในเครื่องซักผ้าอาจจะใช้แค่ 8 บิต หรือ 4 บิต หรือถ้าใช้กับโทรศัพท์มือถือก็ต้อง 32 บิต หรือถ้าใช้ในการควบคุมเครื่องจักรอาจจะเป็น 16 หรือ 32 บิต เป็นต้น

 

ความหมายของคำว่า บิต ก็คือ การทำงานของไมโครชิพ หรือไมโครคอมพิวเตอร์หนึ่งครั้งสามารถประมวลผลได้ยาวกี่ตัวอักษร บิตเป็นตัวเลขที่เล็กที่สุดที่คอมพิวเตอร์ หรือระบบดิจิทัลจะเข้าใจได้คือเลข 0 กับ เลข 1 ถ้ามันสามารถทำงานพร้อมกันได้หลายบิตมากแสดงว่ามันมีความสามารถสูง สามารถเอาตัวเลข 32 บิต มาต่อกันแล้วไปคำนวณได้เลย พวกยิ่งสูงมากยิ่งเก่ง และคำนวณได้ไวด้วย การทำงานของไมโครชิพขนาด 4 บิต จะเป็นพวกอุปกรณ์ที่ใช้งานง่ายๆ อย่างเช่นใช้ในการสั่งงานปิดเปิด เปลี่ยนช่องทีวี และมักจะเป็นการคำนวณขั้นตอนธรรมดา แต่ถ้าเป็นระบบ 16 หรือ 32 บิต ต้องเอาข้อมูลมาคำนวณผลก่อน ถึงตัดสินใจว่าไมโครชิพจะสั่งงานให้อุปกรณ์ทำอะไรบ้าง

 

แนวโน้มของ embedded system

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว บริษัท การ์ดเนอร์ ดาต้าเควส์ และอีอีไทมส์-เอเชีย รีเสิร์ช ได้ออกแบบสอบถามสำรวจความเห็นของนักออกแบบคอมพิวเตอร์ล่องหนในเอเชีย โดยผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยนักออกแบบคอมพิวเตอร์ล่องหนกว่า 900 คน ในเอเชีย ผลสำรวจพบว่า ปัจจุบันในภูมิภาคนี้ ไมโครโปรเซสเซอร์และไมโครคอนโทรลเลอร์ขนาด 32 บิต เป็นไมโครชิพที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด และอย่างกว้างขวาง ตามมาด้วยการใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ ขนาด 8 บิต และในปีนี้บรรดาวิศวกรออกแบบคาดว่าการใช้งานไมโครโปรเซสเซอร์และไมโครคอนโทรลเลอร์ขนาด 32 บิต จะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การใช้งานไมโครชิพขนาด 8 บิต จะลดลง เนื่องจากการออกแบบในอนาคตจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ไมโครชิพแบบดีเอสพี 32 บิต ที่มีความสามารถในการคำนวณแบบ floating-point คาดว่า จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตเช่นกัน

 

ในแง่ของภาษาที่ใช้กับพวก firmware และใช้เขียนโปรแกรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยผู้ออกแบบสำรวจตั้งสมมติฐานไว้ว่า ภาษาแอสเซมบลี และภาษาซีน่า จะเป็นภาษาที่ใช้เพื่อการพัฒนา firmware และภาษา C และ C+ น่าจะเป็นภาษาที่ใช้เพื่อการพัฒนาซอฟต์แวร์มากที่สุด ผลสำรวจเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ขณะที่ภาษา C ยังคงเป็นภาษาหลักที่จะใช้เพื่อการพัฒนาในอนาคต โดยภาษา C++ คาดว่าจะเริ่มมาแทนภาษาแอสเซมบลีมากขึ้น ทั้งนี้ ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า ภาษาแอสเซมบลี C และ C++ เป็นภาษายอดนิยมสำหรับผู้ตอบแบบสอบถามที่พัฒนาโปรแกรมบนชิพของอินเทล อัตเมล และโมโตโรล่า

 

ดร.พันศักดิ์ กล่าวว่า ถึงแม้ไทยจะส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก แต่เป็นการนำเอาสินค้าสำเร็จรูปของต่างประเทศมาผลิตเลย เรียกได้ว่าไทยรับจ้างผลิตอย่างเดียว อย่างเช่น เมนบอร์ด ฮาร์ดดิสก์ที่มี embedded อยู่ในตัว หรือพวกทีวี จอมอนิเตอร์ ล้วนเป็นการนำชุดประกอบมาจากต่างประเทศแล้วผลิตอย่างเดียว อีกส่วนหนึ่งก็จะมีพวกงานสเกลเล็กๆ ที่คนไทยทำกันเอง โดยนักพัฒนาจะออกแบบเอง แต่ปริมาณการผลิตมีจำนวนไม่มาก "การผลิต embeded System จะมากหรือน้อย มันจะโตไปกับอุตสาหกรรมอื่น อย่างเช่นถ้าผลิตมือถือเยอะ ผู้ผลิตก็จะต้องทำ embedded ใส่เข้าไปมาก ยกตัวอย่าง ในต่างประเทศเขาใช้ embedded system กันมาก อย่างในญี่ปุ่น ซึ่งมีฐานของอุตสากรรมยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใส่ไว้ในรถมากขึ้น หรือในจีนก็เริ่มมีเยอะขึ้น เพราะจีนต้องทำไปเพื่อรองรับอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ผลิตเอง ในยุโรปเองก็มีการพัฒนาคอมพิวเตอร์ฝังตัวกันมากเช่นกัน" ดร.พันศักดิ์ กล่าว

 

ดร.พันศักดิ์ เสนอว่า การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ฝังตัวของไทย น่าจะเล่นในเวทีระดับกลาง เนื่องจากไทยมีฐานอุตสาหกรรมบางอย่างมากอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่อุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งหากสามารถนำ embedded system มาประยุกต์ใช้กับเครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตรได้ก็จะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น "ในบ้านเรายังไม่มีจุดศูนย์รวมของนักพัฒนา และผู้ประกอบการ ผมจึงได้ก่อตั้ง สมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือ TESA ขึ้นมาเพื่อเป็นจุดรวมให้นักพัฒนาเข้ามารวมตัวกัน เวลาต่างชาติมองเข้ามาก็จะดูว่าใครเป็นคนดูแล และให้ข้อมูลได้ เป็นตัวเชื่อมระหว่างอุตสาหกรรมข้างในให้เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ ก่อน ให้มีแรงดึงดูดก่อน เรายินดีประสานงานกับภายนอกด้วย"

 

โตโยต้าส่งทีมงานมาสำรวจ

ดร.พันศักดิ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีทีม Embeded System งานของโตโยต้าเดินทางเข้ามาเพื่อศึกษาศักยภาพในการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวของไทย ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็น embedded system ในรถยนต์เริ่มมีความต้องการสูงขึ้นมาเรื่อยๆ โดยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ยอดการผลิตระบบควบคุมในรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า "กล่าวกันด้วยว่า รถยนต์ในอนาคตเครื่องยนต์จะเหมือนกันหมด แต่จะให้เป็นอย่างไรนั้น มันขึ้นอยู่กับสมองที่จะเข้าไปควบคุม ซึ่งสมองพวกนี้สามารถโปรแกรมได้ ต่อไปอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รถยนต์จะไม่ใช่แค่ควบคุมการจุดระเบิดอย่างเดียว แต่จะเข้าเกี่ยวข้องกับการปรับสภาพการขับขี่ เช่น ระบบช่วงล่าง ระบบล้อ นอกจากนั้นก็จะเป็นระบบนำเส้นทางต่างๆ ซึ่งมีความต้องการเยอะมาก" ดร.พันศักดิ์ กล่าวเสริม "แต่ในรถยนต์ความสำคัญของมันก็คือทำอย่างไรไม่ให้มันมีบักเลย เพราะถ้าเกิดบักการเรียกรถคืนกลับมาเพื่อทำการซ่อมจะเสียค่าใช้จ่ายมาก"

 

เดิมหน่วยวิจัยและพัฒนาของโตโยต้านั้น ตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ต่อมามีความคิดว่าจะเอาท์ซอร์สมาให้ประเทศในเอเชีย ทางโตโยต้าเลยเข้ามาทำการ โดยแบ่งทีมสำรวจเป็นสองสาย สายหนึ่งไปอินเดียและจีน อีกสายหนึ่งไปสิงคโปร์ ไทย และออสเตรเลีย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการย้ายงานบางอย่างมายังประเทศอื่น และเพื่อดูว่าในแต่ละประเทศมีศักยภาพด้าน embedded system มากน้อยแค่ไหน โดยทางเนคเทคและสมาคมสมองกลฝังตัวได้โอกาสจัดเวทีให้โตโยต้าเจอกับนักพัฒนา และระดับนโยบายของไทย "ไทยมีโอกาสดีเนื่องจากโตโยต้าใช้ฐานการผลิตในไทยมาก การเข้ามาอยู่ใกล้กันจะมีประโยชน์ เพราะงาน embedded system เป็นสิ่งที่ต้องไปฝังอยู่กับอุปกรณ์ตัวอื่นๆ เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้าไปทำต้องมีความเข้าใจระบบนั้นด้วย คนเขียน embedded system ในรถยนต์ก็ต้องเข้าใจรถยนต์ได้ดีพอ" ดร.พันศักดิ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ขั้นตอนการพัฒนาสมองกลฝังตัวก็เหมือนกับการทำซอฟต์แวร์ทั่วไป มีการกำหนดความต้องการว่าจะต้องทำอะไรบ้าง อาจจะเริ่มจากการเขียนโปรแกรมก่อนแล้วส่งไปตรวจสอบรับรอง และถ้าโตโยต้าเห็นว่านักพัฒนาของไทยสามารถทำได้ มีแนวโน้มว่าจะมีโครงการต่อเนื่องตามมา เหมือนกับที่บังกาลอว์ของอินเดียทำแล้วส่งขายทั่วโลก อย่างไรก็ดี การ์เนอร์กรุ๊ป ชี้ว่า ถ้าไทยจะทำอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ก็ต้องคิดกันให้ดี ถ้าจะทำเหมือนกับที่อินเดียทำมันเป็นคำถามใหญ่มาก เนื่องจากไทยอาจจะสู้อินเดียไม่ไหว เนื่องจากที่อินเดียทำ embedded system ที่วิ่งอยู่บนพีซีเป็นหลัก และอินเดียมีบุคลากรจำนวนมาก ไทยจึงไม่สามารถไล่ทันได้ "จึงได้ข้อสรุปว่า ถ้าไทยจะทำอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ น่าจะทำเป็น embedded system มากกว่า เพราะแนวโน้มอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั่วไป ยุคพีซีจะเริ่มหมดไปแล้ว จเครื่องพีซีอย่างที่เห็นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเริ่มเปลี่ยนไป เป็นพีดีเอ หรืออยู่ในรูปของโทรศัพท์มือถือมากขึ้น"

 

นอกจากนี้ การ์เนอร์ยังเสนอแนะด้วยว่า ไทยควรจะทำ embedded system ที่เป็นการประมวลผลแบบไร้สายจะดีกว่า เนื่องจากในอนาคตอันใกล้จะหมดยุคของพีซีแล้ว และจะเข้าสู่ยุค device era อุปกรณ์จะมีขนาดเล็กลงเหมือนกันหมด และทุกอย่างจะเชื่อมโยงถึง

 

แนวโน้มบุคลากรในไทย

อย่างไรก็ดี การสร้างบุคลากรเพื่อให้มาทำงานในด้านนี้ อันดับแรกจะต้องเริ่มในสถาบันการศึกษา โดยประธานสมาคมสมองกลฝังตัวไทย กล่าวว่า เด็กนักศึกษาให้ความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาคอมพิวเตอร์ล่องหนกันมาก เพราะมันท้าทาย และสามารถใช้จินตนาการเขียนเป็นโปรแกรมแล้วใส่ไปในไมโครชิพให้อุปกรณ์ทำงานได้เลย

"คอมพิวเตอร์ฝังตัวเป็นการนำเอาความรู้ในสาขาต่างๆ มาย่อส่วนใส่ลงในไมโครชิพ เพื่อเอาไปใช้งานต่างๆ ให้มันเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญของมัน ผมคิดว่ามันจะทำให้องค์ความรู้หลายๆ อย่างที่เรามีเป็นจริงได้ และยังขายได้ด้วย ใช้ได้หลายอย่างด้วย เป็นตัวที่ช่วยให้เราก้าวไปได้ แต่มันก็ต้องมีตลาดเพื่อนำไปขายได้ด้วย

 

"ความยากของเราคือว่า เมืองไทยเราอาจจะต้องมานั่งดูว่าเราควรจะอยู่ตรงไหน เพราะอย่างที่กล่าวว่า embedded system มันมีตั้งแต่ธรรมดาไปถึงยากมาก บางทีเราบอกว่าสูงมาก ทีมงานต้องสูงตามไปด้วย embedded system เป็นส่วนผสมระหว่างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ผู้ศึกษาต้องรู้ฮาร์ดแวร์ด้วย เราอาจต้องเน้นคนตรงกลางมากขึ้น เน้นคนที่เป็นเอนจีเนียริ่งมากขึ้น นอกจากนี้ต้องมีความรู้อื่นมาเสริม การควบคุมอุณหภูมิต้องทำอย่างไร เป็นต้น ถ้าจะเอา embeded ไปใช้กับรถยนต์ เราก็ต้องเข้าใจกลไกการทำงานของรถยนต์ ต้องทำงานร่วมกับคนที่รู้เรื่องรถยนต์ เราต้องแปลความต้องการให้มาเป็นชุดคำสั่งที่คอมพิวเตอร์ทำงานได้ ความยากของมันต้องมีการผสมผสานระหว่างศาสตร์ต่างๆ มากขึ้น ข้อดีคือถ้ารวมกันได้"

 

ดร.พันศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า เนคเทคและสมาคมสมองกลฝังตัวไทยพยายามส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดประกวดสมองกลฝังตัว โดยเขียนบนไมโครคอนโทรลเลอร์ชิพ มีหลายรุ่น ให้เลือกฝึกหัด และในระดับต่อไปก็จะนำรุ่นที่มีความยากยิ่งขึ้นมาให้ใช้ เพราะในอนาคต สมองกลฝังตัวจะทำงานซับซ้อนขึ้น นักพัฒนาของไทยจะต้องหัดเขียน ซีพียูที่ใช้อยู่บนมือถือ พวก ARM ที่ใช้อยู่บนมือถือ เป็นต้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 เมษายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.