
18 มิถุนายน 2568 – สวทช. โดย NECTEC SMC TMEC และพันธมิตร ร่วมกับ RX Tradex จัดเวทีเสวนา NEPCON Forum ภายใต้หัวข้อ “พลังขับเคลื่อน AI และเซมิคอนดักเตอร์อัจฉริยะสู่ Industry 4.0” ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้สนใจด้านเทคโนโลยีการผลิตเป็นจำนวนมาก ภายในงาน Manufacturing Expo 2025 ณ ฮอลล์ 104 ไบเทค บางนา
เริ่มต้นด้วยการบรรยาย โดย ดร.ปรอง กองทรัพย์โต ผู้อำนวยการอาวุโส และ Chief of Staff บริษัท ลูเมนตั้ม อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ในหัวข้อ “ก้าวกระโดดของประเทศไทย ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ เซมิคอนดัคเตอร์ โฟโตนิกส์ และอุตสาหกรรม 4.0” กล่าวถึงทิศทางและศักยภาพของประเทศไทยในการยกระดับฐานการผลิตด้วยเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ โฟโตนิกส์ และระบบอุตสาหกรรม 4.0 โดยมองว่าเส้นทางใหม่ของประเทศไทยในอุตสาหกรรม 4.0 คือจุดเปลี่ยนในการยกระดับประเทศผู้ผลิตแบบดั้งเดิม ไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอัจฉริยะแห่งภูมิภาค และได้เปรียบเทียบ “AI” คือสมองที่เรียนรู้ วิเคราะห์ และตัดสินใจแทนมนุษย์ “เซมิคอนดักเตอร์” คือระบบประสาท ที่ตรวจจับ เปลี่ยนสัญญาณและควบคุมเครื่องจักร ส่วน “โฟโตนิกส์” ก็คือหลอดเลือดที่ส่งข้อมูลด้วยความเร็วแสง สร้างการเชื่อมต่อแบบไร้ร้อยต่อ เมื่อทั้งสามเทคโนโลยีนี้ถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกัน อุตสาหกรรม 4.0 จึงไม่ใช่เพียงความฝัน แต่เป็นภารกิจและโอกาสที่สำคัญ
ต่อด้วยการบรรยายหัวข้อ “ระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมไทย” โดย ดร.นิธิ อัตถิ หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมพื้นผิววัสดุและอุปกรณ์ไมโครฟลูอิดิก ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) กล่าวว่า TMEC ยังคงเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงสนับสนุนลูกค้าที่ออกแบบชิปแต่ไม่มีโรงงานผลิตของตนเอง สำหรับระบบนิเวศของเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยด้าน Wafer Fabrication ยังมีขนาดเล็กอยู่เมื่อเทียบกับตลาดและความต้องการของผู้ใช้งาน ปัจจุบันรัฐบาลเองก็มีหลายกลไกที่จะผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอันดับแรกที่ต้องพัฒนาก็คือด้านกำลังคน
จากนั้น ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “AI กับการยกระดับอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมสู่ Industry 4.0” กล่าวถึง ความสำคัญของเทคโนโลยี 3 ด้าน ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์, AI และ Industry 4.0 เป็น “พลังสามประสาน” ทำงานร่วมกันอย่างเป็นองค์รวม โดย เซมิคอนดักเตอร์ คือรากฐานของการพัฒนา AI ทั้งในรูปของชิปประมวลผลและเซนเซอร์ IoT ที่ช่วยให้เครื่องจักรอัจฉริยะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้แนวโน้มการใช้ AI จะเพิ่มขึ้น แต่ในอุตสาหกรรมการผลิตของไทยยังมีอัตราการนำมาใช้น้อยเมื่อเทียบกับภาคการศึกษา การเงิน และโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้ตั้งคณะกรรมการ AI แห่งชาติและเริ่มขับเคลื่อนแผนพัฒนา ทั้งด้านกำลังคน โครงสร้างพื้นฐาน และการให้บริการ AI สาธารณะ ด้าน Generative AI และ Chatbot ก็มีบทบาทใหม่ เช่น ระบบจับคู่โรงงานผลิตตามความต้องการลูกค้าด้วย LLM ที่เข้าใจทั้งข้อความและรูปภาพ ตลอดจน “DocChat” แชตบอทสำหรับถาม-ตอบเอกสารเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมอย่างคู่มือการผลิตหรือมาตรฐาน ISO ปัจจุบันภาครัฐยังมีสิทธิประโยชน์สนับสนุนหลายด้านในการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ด้วย AI อย่างยั่งยืน
ด้าน คุณอิทธิโชติ ดำรงรักษ์ธรรม ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวถึงบทบาทและยุทธศาสตร์ของ BOI ในการขับเคลื่อนการลงทุนของไทย ส่งเสริม สนับสนุน และให้บริการแบบ Start-to-Stop Service แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่ให้ข้อมูลเบื้องต้น สิทธิประโยชน์ การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรในประเทศ ไปจนถึงการประสานกับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี BOI เน้นส่งเสริมเศรษฐกิจใหม่ผ่าน 3 แนวทางหลัก คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรม การเพิ่มขีดความสามารถประเทศ และการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive growth) โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคการผลิตในยุคดิจิทัล

- ดร.ปรอง กองทรัพย์โต ผู้อำนวยการอาวุโส และ Chief of Staff บริษัท ลูเมนตั้ม อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
- ดร.นิธิ อัตถิ หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมพื้นผิววัสดุและอุปกรณ์ไมโครฟลูอิดิก ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC)
- คุณอิทธิโชติ ดำรงรักษ์ธรรม ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
- ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย สวทช.
ดำเนินรายการโดย ดร.มติ ห่อประทุม หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเซนเซอร์แสงไฟฟ้าเคมี เนคเทค สวทช.
มาร่วมกันฉายภาพความท้าทาย โอกาส และทิศทางการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยมี AI, Industry 4.0, เซมิคอนดักเตอร์ และโฟโตนิกส์ เป็นฟันเฟืองหลัก ทั้งนี้การเข้ามาของ AI และ Machine Learning ได้กระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมโฟโตนิกส์อย่างก้าวกระโดด
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนและกองทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการดึงดูดผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาบุคลากรและระบบนิเวศในประเทศ นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม Thailand i4 checkup และ BOI Online Clinic ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในการยกระดับสู่ Industry 4.0 สะท้อนให้เห็นถึงพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และวงการวิจัย ในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมไทยสู่ความมั่นคงและยั่งยืนในยุคดิจิทัล
