สมองกับไอคิวและอีคิว

      ไอคิว (I.Q. หรือ Intelligence Quotient) หมายถึง ความฉลาดทางเชาว์ปัญญา การคิด การใช้เหตุผล การคำนวณ และการเชื่อมโยง ไอคิวเป็นศักยภาพทางสมองที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยาก

    อีคิว (E.Q. หรือ Emotional Quotient) หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถในการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ทั้งของของตนเองและผู้อื่น ตลอดจนสามารถปรับหรือควบคุมได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ และพัฒนาให้ดีขึ้นได้

        การดำรงชีวิตที่มีประสิทธิภาพต้องมี 2 สิ่งควบคู่กันไปด้วยเสมอ คือ I.Q. และ E.Q. มนุษย์จะเกิดมาฉลาดหรือเป็นคนโง่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดยังคงเป็น " สมอง " เพราะสมองเป็นตัวรับรู้และสั่งการ ทำให้เรามีสติปัญญา ความคิด การกระทำที่เป็นไปอย่างราบเรียบ และสามารถควบคุมทางด้านอารมณ์ ถ้าปราศจากการสั่งการจากสมองแล้ว เราคงจะทำอะไรไม่ได้เลย เด็กที่จะฉลาดได้นั้นจะต้องมีการพัฒนาสร้างเสริมความรู้ประสบการณ์ให้เหมาะสมกับวัย เพื่อจะได้เข้าใจและส่งเสริมสมองให้เรียนรู้ได้อย่างถูกต้องตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม และมีการพัฒนาทางด้านอารมณ์ควบคู่กันไปด้วย

                       

      ในส่วนที่ลึกที่สุดของสมองเป็นที่ตั้งของกลุ่มระบบลิมบิก (Limbic system) สมองส่วนนี้มีศูนย์หลากหลายคอยควบคุมอารมณ์ ความจำ สันดาน ความประพฤติ ความอิ่มทางกายและทางเพศ ทั้งยังควบคุมระดับอุณหภูมิในร่างกาย ศูนย์สมองที่ควบคุมความจำมีรูปเหมือนม้าน้ำ (Hippocampus) ที่ปากม้าน้ำนี้จะอมลูกแก้วอยู่เรียกว่าเป็นศูนย์ก้าวร้าว (Aggressive center) ปลายหางของม้าน้านั้นจะมีนิวเคลียสแอบดูเซนส์(Nucleus Abducens) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์อ่อนโยนและอารมณ์ร้าย ในสมองระบบลิมบิกนี้ยังมีศูนย์อื่นๆ อีกเช่น ศูนย์สุขี (Reward center ; Pleasure Center) และศูนย์ดับความกังวลใจ ศูนย์เหล่านี้เมื่อถูกกระตุ้นจะก่อให้เกิดอารมณ์และการแสดงออกทางความประพฤติที่แตกต่างกันออกไป
      ขณะที่สมองส่วนลิมบิกมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอารมณ์ต่างๆนั้น สมองส่วนหน้าจะมีหน้าที่เกี่ยวกับสติปัญญา ความเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงความสามารถทางอารมณ์ด้วย กล่าวคือ สมองส่วนหน้ามี 3 บริเวณ สมองทั้ง 3 ส่วนจะมีผลต่อความสามารถทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน คือ
          1. บริเวณฐานสมอง(Orbito Frontal) จะเกี่ยวกับสมาธิ การยับยั้งชั่งใจ ความมั่นคงทางอารมณ์
          2. บริเวณผิวด้านนอก(Frontal Convexity) จะเกี่ยวกับการมีอารมณ์สุนทรีย์ ความไวต่ออารมณ์
          3. บริเวณแนวกลาง(Medial Frontal) จะเกี่ยวกับการควบคุมกล้ามเนื้อของขาทั้ง 2 ข้าง แต่หน้าที่ทางอารมณ์ยังไม่ชัดเจน
       นักวิทยาศาสตร์พบว่า มีเส้นประสาทเชื่อมระหว่างสมองส่วนหน้าและสมองส่วนอื่นๆ อีกมากมายโดยเฉพาะสมองส่วนลิมบิก ทาลามิก (Thalamic) และผิวสมอง (Cortex) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงของอารมณ์ที่เป็นสัญชาตญาณกับอารมณ์ที่ถูกปรับเปลี่ยน

       สมองของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ซีก แต่ละซีกจะมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่สมองทั้งสองซีกจะทำงานร่วมกันในการเพิ่มพูนการเรียนรู้ และทักษะการปฏิบัติ  โดยสมองซีกซ้ายจะมีหน้าที่ในเรื่องภาษา การคิดคำนวณ ตรรกวิทยา ความคิดที่เป็นเหตุผล ส่วนสมองซีกขวาจะมีหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก ความสุนทรีย์ เมื่อเป็นเช่นนั้นความสามารถทางอารมณ์ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับสมองซีกขวานั้นเอง แม้ว่าอารมณ์ อาจเริ่มต้นจากการได้รับสิ่งเร้าจากภายนอก แล้วมีผลต่อสมองส่วนลิมบิก โดยเฉพาะสมองซีกขวามีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ การปรับเปลี่ยนความรู้สึกและการแสดงออก โดยประสานการทำงานร่วมกับสมองซีกซ้ายในการคิด การวางแผน เพื่อให้มีทั้งส่วนเหตุผลและความคิดควบคู่ไปกับอารมณ์ความรู้สึกที่ดี
      อารมณ์ถูกจัดออกเป็น 2 ประเภทคือ อารมณ์ด้านบวก และอารมณ์ทางด้านลบ ในแต่ละวันอารมณ์ต่างๆจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสิ่งเร้าที่มากระตุ้นให้เกิดอารมณ์ และขึ้นอยู่กับการรู้จักอารมณ์และรู้จักปรับอารมณ์ของตน และรู้จักผ่อนคลายตัวเองด้วย
      จะเห็นได้ว่าสมองมีส่วนสำคัญในการควบคุมความสามารถทางสติปัญญา (I.Q.) และความสามารถทางอารมณ์ (E.Q.) ของมนุษย์ และหากว่าเราสามารถควบคุมความรู้สึกทางอารมณ์ของเราได้ดีเท่าไร เราก็จะดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการศึกษาที่พบว่า
          - คนที่มี I.Q. ปานกลาง แต่มี E.Q. สูงจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่มี I.Q. สูง แต่ E.Q. ต่ำ
          - คนที่มี I.Q. สูง และ E.Q. สูง จะยิ่งประสบความสำเร็จ
          - คนที่มี I.Q. ไม่ดีจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้นถ้าสามารถพัฒนา E.Q. ได้ดี
      ดังนั้น คนที่มี E.Q. ดีจะสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดีไม่ว่าในยามโกรธ เศร้า หมดหวังในชีวิต ไม่เอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่ มีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ยอมรับความเป็นจริงทั้งของตนเองและของคนอื่น และยังสามารถแก้ไขความขัดแย้งและความเครียดได้ และหากเรามี E.Q. มากเท่าไร การจะประสบความสำเร็จในชีวิตก็ย่อมจะมากตามไปด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลให้การพัฒนา I.Q. ดีตามไปด้วย

 

 
หน้าแรก
เกม
ทดสอบ I.Q.
  พิมพ์หน้านี้
©:2003 - 2004 Website Power of Brain by : Yannawate Wittayakom school all rights reserved.