กลวิธีขณะทำการแข่งขัน

ยุทธวิธีในขณะแข่งขัน  ( Strategy During the Match )

1.      จุดแข็งและจุดอ่อน ( Strengths and Weaknesses )

             ยุทธวิธีในการแข่งขันจะมีประสิทธิภาพมากในขณะแข่งขัน เว้นเสียแต่ว่าคุณไม่มีความหวังว่าจะชนะหรือไม่ก็ใจไม่สู้เอาเสียเลย ถ้าคุณพบ คู่ต่อสู้ที่เก่งกว่า คุณจะต้องเล่นในเกมที่คุณถนัดและดึงให้คู่ต่อสู้มาเล่นในเกมของคุณ ในช่วงสองหรือสามเกมแรกหรือว่าอยู่ในช่วงทดลอง หลังจาก นั้นให้คุณตัดสินใจว่าจะใช้ยุทธวิธีใดและก็ให้พยายามแรกเขามักจะเกิดอาการกลัวจน “ลน” ทำให้พยายามที่จะตีลูกแรงขึ้น ซึ่งเป็นการเร่งจังหวะ ในการตีของเขาเสียเอง ทำให้เขาไม่สามารถที่จะบังคับลูกบอลได้ดีเท่าเดิมผลตรงกันข้ามกลับทำให้คู่ต่อสู้เล่นง่ายขึ้น

            คุณไม่ควรที่จะพยายามทำในสิ่งที่คุณไม่สามารถที่จะทำได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คืออย่าใช้ยุทธวิธีที่คุณไม่อาจจะควบคุมได้หรือยากเกินไป ฉะนั้น ยุทธวิธีที่ดีนั้นก็ควรที่จะขึ้นอยู่กับระดับความสามารถของคุณซึ่งเป็นสิ่งที่คุณควรจะรู้ คุณอาจจะเคยเห็นนักเทนนิสหลายคนพยายามที่จะตีลูกที่ยาก  มาก ๆ กลยุทธ์เหล่านั้นจะไม่เกิดผลเลยถ้าหากคุณไม่สามารถที่จะตีลูกนั้น ๆ ได้ดี ดังนั้นคุณควรฝึกฝนที่จะเรียนรู้ถึงความสามารถของคุณเองให้ได้ กลยุทธ์เหล่านั้นจึงจะใช้ได้ผลดี นักเทนนิสหลายคนมักจะมีความปรารถนาที่จะลองตีลูกบอลต่างๆ ในระดับขั้นที่สูงเกินกว่าขีดความสามารถจริงของเขา  ผลที่ออกมาก็คือทำให้เขาเกิดความสับสนและความสับสนนี้นี่เองที่จะเป็นตัวหยุดยั้งพัฒนาการของเขาเอง

           คุณควรที่จะมีความเข้าใจที่ดีว่า ขอบเขตและความสามารถของคุณนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกๆวัน ซึ่งอาจเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ เช่น การนอน หลับไม่สนิท หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือคุณอาจจะหงุดหงิดจากสภาพการจราจรติดขัด หรือเพิ่งจะมีเรื่องทะเลาะมากับใครสักคน หรือแม้แต่ไม่มี เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เกิดขึ้นเลย แต่คุณก็ยังไม่สามารถที่จะตีได้เต็มความสามารถ

           หากนักกีฬาคนใดที่มีความคิดว่า ตัวเขาจะชนะได้นั้นก็ต่อเมื่อเขาสามารถตีลูกที่เป็นอาวุธสำคัญของตัวเขาเองได้ หรือไม่ก็เขาจะต้องตีได้ดี เต็มความสามารถของเขาในวันนั้น นักกีฬาประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ชนะการแข่งขัน เพราะเขาตัดสินเกมของเขาจากการตีที่เต็ม ความ สามารถของเขาเท่านั้นเอง ซึ่งไม่ค่อยจะตรงกับความเป็นจริงนัก เนื่องจากวันแข่งนั้นอาจจะเกิดขึ้นเพียงหนเดียวในรอบปีก็เป็นได้

           คุณควรที่จะเล่นเกมให้สอดคล้องกับขอบเขตความสามารถของคุณ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ แม้ว่าในช่วงตอนเช้า กับ ตอนบ่าย ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ การเสิร์ฟเสียทั้งสองลูก หลังจากที่เพิ่งจะเสิร์ฟเอซ ( Ace) ไปในแต้มที่ผ่านมา คุณจะต้องแข่งขันกับ คู่ต่อสู้ที่เปลี่ยนคนทุก ๆ ครั้งไป และเกมการเล่นของคุณก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บางวันคุณอาจจะตีลูกยาก ๆ ได้แต่แล้วในอีกวันคุณก็กลับตีไม่ได้ เสียแล้ว

             เกมการแข่งขันเทนนิสจะต้องมีไหวพริบและวิจารณญาณในการตัดสินใจที่จะตีลูกบอลในแต่ละครั้ง และการเรียนรู้จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทุกขณะ เช่นว่าถ้าหากคุณไม่สามารถที่จะตีลูกที่คุณถนัดได้ในวันนั้น คุณก็ควรที่จะมีไหวพริบและกล้าพอที่จะเปลี่ยนเกมและแก้ไข ยุทธวิธีของคุณให้เหมาะสม คุณต้องระลึกอยู่เสมอว่าถึงแม้ว่าคุณไม่สามารถที่จะเล่นในเกมปกติของคุณเองได้ คุณก็มีโอกาสที่จะชนะในวันนั้นได้เช่นกัน 

เหตุการณ์หลักในการประเมินขอบเขตจำกัดในการตีและขีดความสามารถของคุณ

                (1) การประเมินในขณะแข่งขัน เช่น คุณสามารถตีโยกคู่ต่อสู้ได้ทั่วคอร์ตเลย แต่คุณกลับไม่สามารถที่จะตีลูกหยอดให้ข้ามตาข่ายไปได้ นั่นก็คือข้อจำกัด หรือในขณะที่คุณเหนื่อยคุณก็ไม่ควรที่จะพยายามเสิร์ฟลูกเอซ (Ace) หรือคุณเจ็บขา คุณควรพยายามเลี่ยงการวิ่งตี

                (2) การประเมินในขณะฝึกซ้อม เป็นเวลาที่คุณควรจะเรียนรู้ถึงขอบเขตจำกัดในการตีและความสามารถของคุณจากการฝึกซ้อม เช่น คุณไม่สามารถที่จะตีลูกแบคแฮนด์ท็อปสปินทแยงมุมสั้นได้ คุณไม่ควรที่จะทำในขณะแข่งขันโดยเฉพาะในแต้มที่สำคัญ

                การประเมินขอบเขตจำกัดในการตีและขีดความสามารถของคุณ สามารถแบ่งได้ดังนี้ คือ

                (ก) การเคลื่อนที่ของคุณเป็นอย่างไร คุณมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่มากขนาดไหน ปฏิกิริยาตอบสนองของคุณเร็ว หรือไม่ ฟุตเวิร์คของคุณดีแค่ไหน

                (ข) คุณมีความสามารถที่จะตีลูกบอลในทุก ๆ ทิศทางหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการตีลูกตรงลูกขนานเส้นข้างหรือลูกทแยงมุม

                (ค) คุณมีความสามารถในการตีลูกหมุนชนิดต่าง ๆ เช่น ลูกอันเดอร์สปิน ลูกท็อปสปิน หรือลูกตีตัดด้านข้างได้เป็นอย่างไรบ้าง

                (ง) คุณมีความชำนาญในการตีลูกโยกคู่ต่อสู้เพียงใด คุณมีความสามารถที่จะตีลูกไปยัง   เป้าหมายทั้งเจ็ดแห่งบนสนาม ได้หรือไม่

                1.1 ความชอบและความไม่ชอบ ( Prefer and Uncomfortable ) ทุก ๆ คนจะต้องมีความชอบและความไม่ชอบบนสนามเทนนิส เช่น ลูกที่คุณชอบมากในการตี ตำแหน่งที่คุณสามารถยืนตีได้อย่างสบายใจ ความเร็วของลูกบอลที่คุณชอบมากในการตี นักเทนนิสทุกคนมีความชอบและ ไม่ชอบในสิ่งที่แตกต่างกันไป จึงไม่มีนักเทนนิสคนใดในโลกที่จะชอบการเสิร์ฟแล้วตามขึ้นหน้าตาข่ายพอ ๆ กับการยืนตีลูกจากท้ายคอร์ต

                ในกีฬาประเภทต่าง ๆ คู่ต่อสู้ของคุณจะพยายามทำในสิ่งที่คุณไม่ชอบ หรือหาวิธีการเลี่ยงจุดแข็งของคู่ต่อสู้ ในกีฬาเทนนิสก็เช่นเดียวกัน คือ คุณสามารถที่จะบอกได้ว่าสิ่งใดที่คู่ต่อสู้ของคุณชอบโดยวิธีการดูว่าคู่ต่อสู้ของคุณตีด้วยลูกอะไร ซึ่งเป็นการสังเกตที่ง่ายมาก เช่น ในขณะวอร์มโต้ลูก ก่อนการแข่งขันคู่ต่อสู้ของคุณไม่ขึ้นมาวอลเล่ย์ หรือตีลูกตบเหนือศีรษะเลย ก็แสดงว่าเขาไม่ชอบลูกวอลเล่ย์ เมื่อคุณรู้แน่นอนแล้วว่าคู่ต่อสู้ของคุณ ไม่ชอบลูกอะไรก็ให้ตีย้ำต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อทำให้เขารู้สึกอึดอัดใจและไม่มั่นใจในการตีลูกนั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกที่ตีมานั้นไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

                1.2 สภาวะฉุกเฉิน ( Emergency ) การจู่โจม ( Vulnerable ) และการทำแต้ม ( Finish the point ) ไม่มีนักเทนนิสคนใดในโลกที่จะไม่มี จุดอ่อน รวมทั้ง พีท แซมปราส ( Pete Sampras ) นักเทนนิสแต่ละคนยังมีความสามารถที่แตกต่างกันไปในการตีลูกบอลแต่ละชนิด การที่จะตัดสินว่า จุดใดอ่อนจุดใดแข็งนั้นมีความซับซ้อนและละเอียดมากพอสมควร เช่น นักเทนนิสบางคนอาจจะตีลูกวอลเล่ย์ โฟร์แฮนด์สูงได้ดี แต่กลับตีลูกวอลเล่ย์ โฟร์แฮนด์ต่ำไม่ค่อยได้ กุญแจสำคัญ ในการที่จะตัดสินว่าจุดใดคือจุดอ่อนของคู่ต่อสู้นั้น มีขั้นตอนดังต่อไปนี้คือในขณะที่คุณเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ คุณจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงการที่จะหาจังหวะที่คู่ต่อสู้ทำพลาดหรือเสียจังหวะในการตีลูกทำให้เขาตีลูกได้ไม่ดี ให้คุณฉวยโอกาสนี้จู่โจมจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ ทันทีที่มีโอกาส และถ้าโอกาสนั้นเหมาะสมเปอร์เซ็นต์ที่คุณจะได้แต้มก็จะสูงไปด้วย

                ยุทธวิธีที่จะใช้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพสูงก็คือ ในขณะที่คุณตกอยู่ในสถานการณ์เสียเปรียบ ก็ให้คุณคิดว่าคุณกำลังตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน และในขณะที่คุณอยู่ในสถานการณ์ได้เปรียบ ก็ให้คุณคิดถึงการจู่โจมที่มีประสิทธิภาพและจู่โจมไปยังจุดที่คู่ต่อสู้ตีไม่ถนัด เพื่อที่จะสร้างความกดดัน ให้แก่คู่ต่อสู้และตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน จากนั้นก็ให้คุณติดตามลูกที่คู่ต่อสู้โต้กลับมาซึ่งจะเป็นลูกที่ไม่ยากนักเพื่อทำแต้มต่อไป

                ถ้าคุณมีความสามารถที่จะตั้งรับในสภาวะฉุกเฉินได้ดี มีการจู่โจมคู่ต่อสู้ทุกครั้งที่มีโอกาสและตีลูกทำแต้มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในวัน เช่นนั้นคุณก็สามารถที่จะปิดประตูแห่งความแพ้ได้เลย

                นักเทนนิสหลายคนเข้าใจว่าการจู่โจม คือ การตีลูกที่แรงขึ้นหรือวิ่งให้เร็วขึ้น แต่การจู่โจมที่แท้จริงแล้วคือการตีลูกไปยังตำแหน่งที่คู่ต่อสู้ ตีไม่ถนัด หรือที่เป็นจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ คุณจะต้องค้นหาดูว่าคู่ต่อสู้ของคุณมีปัญหาในการตีลูกอะไร โฟร์แฮนด์หรือแบคแฮนด์ ลูกสูงหรือลูกต่ำ ลูกเบา หรือลูกแรง ลูกตรงตัวหรือลูกฉีกข้าง คู่ต่อสู้ชอบวิ่งตีหรือว่ายืนตี คู่ต่อสู้ของคุณชอบเล่นลูกหน้าตาข่ายหรือท้ายคอร์ตคู่ต่อสู้ของคุณ เคลื่อนที่ในแนว ขนานกับเส้นท้ายคอร์ตดีกว่า หรือว่าวิ่งขึ้นหน้าตาข่ายและถอยหลังดีกว่าสรุปก็คือให้คุณแยกแยะวิธีการเล่นต่าง ๆ ของคู่ต่อสู้ว่าจุดใดคือจุดอ่อน จุดแข็ง หรือจุดที่เขาชอบตีมากกว่าผมกล้ารับรองได้เลยว่าไม่มีนักเทนนิสคนใดในโลกที่จะมีความสามารถทำได้ดีไปหมดเสียทุกอย่าง

                ในการที่จะจู่โจมคู่ต่อสู้นั้น คุณจะต้องพัฒนาความสามารถในการตีลูกจู่โจมให้ดี ซึ่งคุณจะต้องเข้าใจว่าลูกบอลมีการกระดอนอย่างไร เช่น ถ้าคุณต้องการตีลูกให้ต่ำคุณต้องตีอย่างไร หรืออะไรจะเกิดขึ้นหลังจากที่คุณตีไปแล้ว นักเทนนิสส่วนใหญ่ที่ฝีมือไม่พัฒนาหรือไม่สามารถที่จะเอาชนะ คู่ต่อสู้ได้ก็เพราะไม่เข้าใจว่าจะจู่โจมคู่ต่อสู้ด้วยวิธีการใดนั่นเอง

                จุดแข็งของนักเทนนิสนั้นขึ้นอยู่กับว่าใครคือคู่ต่อสู้ของเขาในวันนั้น จุดแข็งที่จะใช้กับคู่ต่อสู้คนหนึ่งอาจจะเป็นจุดอ่อนเมื่อใช้กับคู่ต่อสู้ อีกคน ก็ได้ สถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปขึ้นอยู่กับคู่ต่อสู้แต่ละคน ตัวอย่างเช่นถ้านักเทนนิสคนหนึ่งที่ไม่ชอบการตีลูกวอลเล่ย์ต่ำ คู่ต่อสู้ของเขา จะต้องเก่งและมีความสามารถพอที่จะตีและบังคับลูกบอลให้เลียดลงต่ำได้จึงจะให้ได้เปรียบ ในกรณีที่คุณแข่งขันเจอกับคู่ต่อสู้ที่ฝีมืออ่อนกว่า คุณก็สามารถที่จะเลี่ยงไม่ตีในลูกที่คุณไม่ชอบก็ย่อมทำได้

                นักเทนนิสหลายคนไม่เข้าใจว่าเขากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่คู่ต่อสู้กำลังตีลูกบอลบีบและบังคับให้เขาตีในลูกที่ไม่ถนัด แต่เขามักจะคิดว่า วันนี้เขาตีไม่ดีเลย ซึ่งความจริงแล้วแบคแฮนด์ของเขาก็ตีไม่ได้แย่ไปกว่าทุกวันเลย เพียงแต่ว่าวันนี้เขาเจอกับคู่ต่อสู้ที่เข้าใจถึงความไม่ถนัดของเขา นั่นเอง

                1.3 จุดอ่อนขั้นพื้นฐาน ( Basic Weaknesses ) จุดอ่อนขั้นพื้นฐานนี้เปรียบได้กับเชื้อโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกระดับชนชั้น แม้กระทั่ง กับราชาแชมป์เปี้ยนโลก หรือในผู้เล่นระดับหัดใหม่

                (ก) ความมั่นใจสูงมากเกินไป หรือการขาดความมั่นใจในตัวเอง นักเทนนิสที่มีความมั่นใจสูงมากเกินไป เมื่อเจอคู่ต่อสู้ที่อ่อนกว่าในขณะ แข่งขัน อาจจะเกิดความประมาทและตีพลาดในลูกง่าย ๆ หรืออาจจะมีความตั้งใจในการตีน้อยลง แต่เมื่อตีเสียมาก ๆ ขึ้นจึงมีความต้องการที่จะตีอย่าง เอาจริงเอาจังในภายหลังขณะที่ตกเป็นรองอยู่ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการเกร็งและตีไม่ได้เลยก็เป็นไปได้เช่นกัน

                การขาดความมั่นใจในตัวเองก็ถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับนักเทนนิส เราจะเห็นได้จากนักเทนนิสทั่ว ๆ ไป เมื่อจะต้องลงแข่งขันกับ แชมป์ในรุ่นเดียวกัน เขามักจะหัวเราะและตอบกับโค้ชว่า “แพ้อยู่แล้ว” ในเมื่อนักกีฬายังไม่ทันที่จะเริ่มลงแข่งขันเลยก็มีความคิดในแง่ลบเช่นนี้ แล้วโอกาสที่เขาจะชนะนั้นจึงแทบจะไม่มีเลย คุณทราบหรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้วแชมป์หรือนักเทนนิสที่มีอันดับดีกว่าคุณมักจะมีความกลัวต่อความพ่ายแพ้เมื่อต้องแข่งขันกับนักเทนนิสที่เป็น รองแต่มีฝีมือดี ดังนั้น คุณควรที่จะใช้ประโยชน์จากแนวความคิดเช่นนี้และสู้อย่างสุดความสามารถ โอกาสที่คุณจะชนะก็จะมีมากขึ้น หากคุณเป็นแชมป์อยู่แล้วก็ควร ที่จะวอร์มร่างกายและวอร์มโต้ลูกให้พร้อมกก่อนที่จะลงแข่งขันโดยไม่ประมาท

                ผมอยากจะกล่าวย้ำเตือนนักเทนนิสไทยเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นอีกว่า นักเทนนิสไทยเรามีความสามารถพอที่จะก้าวไปสู่การเป็น นักเทนนิสในระดับอาชีพได้อย่างแน่นอน และขอให้คุณมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงขึ้น ขยันฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ หาโค้ชที่มีความสามารถในการ ถ่ายทอดความรู้ให้แก่คุณได้อย่างถูกต้อง มีความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ความฝันนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นความจริงได้

                (ข) การตีสโตรคที่มีความแน่นอนจะมีความสัมพันธ์กับจังหวะในการตี ฉะนั้นหากคุณต้องการทำลายความแน่นอนในการตีสโตรคของคู่ต่อสู้ คุณก็ควรที่จะทำลายจังหวะในการตีของคู่ต่อสู้โดยการตีใส่ตำแหน่งที่คู่ต่อสู้ของคุณไม่ชอบและเปลี่ยนวิธีการกระดอนของลูกบอลหรือเปลี่ยนวิถีการตี ลูกบอลในหลาย ๆ แบบ เพราะไม่มีนักเทนนิสคนใดที่สามารถตีลูกบอลในทุก ๆ ตำแหน่งหรือในทุก ๆ จังหวะได้อย่างแน่นอนและสม่ำเสมอ

                ถ้าหากว่าคุณต้องแข่งขันกับคู่ต่อสู้ที่มีการตีสโตรคแน่นอนมาก ให้คุณนึกถึง “สองสิ่งที่แตกต่างกัน” เช่นลูกสูง-ลูกต่ำ ลูกเบา-ลูกแรง ท็อปสปิน-อันเดอร์สปิน นักเทนนิสที่มีการตีสโตรคแน่นอนนั้น มักจะถนัดในการตีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ยืนตีท้ายคอร์ตหรือเสิร์ฟแล้วตามขึ้น วอลเล่ย์ ตัวอย่างเช่น คูเรียร์ (Courier) จะเล่นเก่งที่ท้ายคอร์ต หรือ แซมปราส ( Sampras) จะเสิร์ฟแล้วตามลูกบอลขึ้นหน้าตาข่ายเพื่อเล่นวอลเล่ย์

                (ค) นักเทนนิสที่ไม่สามารถจะระงับความรู้สึกได้ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความกดดันซึ่งความกดดันนี้เกิดขึ้นได้ทั้งทางด้านร่างกายและ จิตใจ นักเทนนิสบางคนเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความกดดันแต่ไม่สามารถระงับความรู้สึกได้จะมีการแสดงออกทางท่าทางและจังหวะในการตี ผิดเพี้ยนไปถ้าเขาต้องแข่งขันกับคู่ต่อสู้ที่จู่โจมอย่างหนักก็จะทำให้เขาตีลูกบอลผิดพลาดได้ง่าย หรือไม่ก็ตีลูกง่าย ๆ กลับไปเป็นการเปิดโอกาสให้คู่ต่อสู้ ตีลูกทำแต้มได้อย่างง่ายดาย

                นักเทนนิสที่ไม่สามารถที่จะระงับความรู้สึกทางด้านจิตใจได้นั้นจะแสดงออกในหลายรูปแบบสิ่งที่คุณต้องสังเกตดูเป็นพิเศษเช่น สังเกตดู คู่ต่อสู้ในขณะที่นั่งพัก มือเขาอาจจะสั่น หรือไม่ก็ทำอะไรอย่างงุ่มง่าม และสิ่งที่สังเกตได้ง่ายนั้นเห็นจะเป็นลูกเสิร์ฟ เมื่อคู่ต่อสู้เริ่มเสิร์ฟลูกผิดพลาด หรือ เสิร์ฟเสียสองลูก เสิร์ฟลูกที่สองเบามาก มือสั่นในขณะยืนในท่าเตรียมเสิร์ฟ หรือโยนลูกบอลเบี้ยวไปจากวิถีการโยนลูกบอลปกติ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น สัญญาณบอกให้คุณรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่คุณควรจะจู่โจมเพื่อทำแต้ม

                (ง) ร่างกายที่ไม่แข็งแรง นักเทนนิสที่มีร่างกายไม่แข็งแรงนี้ มักจะชนะคู่ต่อสู้ด้วยสกอร์ 6:0 7:5 โดยในเซ็ทแรกเขาจะตีดีมาก และเมื่ออ่อน กำลังลงเขาก็ไม่สามารถที่จะตีลูกบอลได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิม และถ้าต้องแข่งขันถึงสามเซ็ท นักเทนนิสเช่นนี้ก็มักจะแพ้ ฉะนั้นคุณควรที่จะฟิต ร่างกายให้แข็งแรงพร้อมอยู่เสมอ ตัวอย่างที่ดีคือ พีท แซมปราส จะสามารถเสิร์ฟลูกได้อย่างคงเส้นคงวาความเร็ว 120 ไมล์/ชั่วโมง ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งจบการแข่งขัน ซึ่งจะมีนักเทนนิสเพียงไม่กี่คนที่สามารถทำได้เช่นนี้

                ถ้าคุณรู้ว่าคุณกำลังแข่งขันกับนักเทนนิสที่มีร่างกายไม่แข็งแรง ในสามหรือสี่เกมแรกนั้น คุณควรที่จะตีโยกให้เขาวิ่งมาก ๆ เขาอาจจะนำ คุณไปในช่วงแรก แต่เมื่อเขาเหนื่อยแล้วเขาก็จะไม่สามารถที่จะตีลูกธรรมดา ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้คุณสามารถทำแต้มได้อย่างง่ายดาย  ในทำนองเดียวกันนี้ หากนักเทนนิสต่างชาติที่เพิ่งจะเดินทางมาจากการแข่งขันในประเทศที่มีอากาศหนาว เมื่อมาเจอกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อน จะทำให้เกิดความเหนื่อยอ่อนได้อย่างรวดเร็ว ยุทธวิธีในการตีโยกคู่ต่อสู้นี้ก็สามารถใช้ได้ผลเช่นกัน

                1.4 การจู่โจมจุดแข็งของคู่ต่อสู้ ถ้าคุณรู้จุดแข็งของคู่ต่อสู้แล้ว คุณควรที่จะตีเลี่ยงหนีไป ไม่ให้เขามีโอกาสได้ตีเลย และเมื่อมีโอกาสที่ดีจริง ๆ คุณจึงจะฉวยโอกาสจู่โจมจุดแข็งของคู่ต่อสู้ และถ้าหากคู่ต่อสู้ตีผิดพลาดในจุดแข็งของเขาบ่อยครั้ง หรือคุณสามารถทำแต้มได้จากการตีใส่จุดแข็ง ของเขาจะทำให้เขาขาดความมั่นใจ ซึ่งอาจจะทำให้เขาตีลูกบอลในจุดอ่อนยิ่งแย่ลงไปอีกก็เป็นได้

                ในการทำลายจุดแข็งของคู่ต่อสู้นั้น ให้คุณนึกถึงหลัก “สองสิ่งที่แตกต่างกัน” เช่นคู่ต่อสู้ตีโฟร์แฮนด์ดีมาก คุณก็ควรที่จะลองโดยเริ่มต้นตี อันเดอร์สปินใส่โฟร์แฮนด์ดูก่อน แล้วตามด้วยตี ท็อปสปินหรือตีลูกโรย ๆ ให้คุณสังเกตดูว่าเขาไม่ชอบที่จะรับลูกแบบไหน นักเทนนิสที่ตีลูกบอล รุนแรง มักจะอาศัยจังหวะในการตีก็ให้คุณใช้ลูกหยอด หรือตีลูกฉีกไปทางเส้นข้าง หรือตีลูกบอลให้ตกสั้นด้วยวิธีการตีอันเดอร์สปินจะทำให้เขา เสีย จังหวะ และตีลูกบอลอัดกลับไม่ได้

                ถ้าคุณต้องเจอกับคู่ต่อสู้ที่วิ่งดีและกลับตัวเร็วก็ให้ลองตีย้อนรอยไปในตำแหน่งทิศทางเดิมที่เขาเพิ่งจะวิ่งมา เพราะเขามักจะวิ่งเร็วและดักตี ในลูกไกล ๆ อีกทิศทางหนึ่งได้ทัน ซึ่งการตีย้อนรอยนี้จะมีผลทำให้เขาชะงักได้ หรืออีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีกับคู่ต่อสู้ที่วิ่งตีเก่ง ก็คือให้คุณตีลูกบอลเข้า ตรงกลางคอร์ตเลย เพราะเขามักจะไม่ถนัดในการยืนตีอยู่กับที่

                จงจำไว้ให้ดีว่า การเล่นของคุณนั้นเปลี่ยนไปได้ทุก ๆ วัน ทุก ๆ เกมของการแข่งขัน คู่ต่อสู้ของคุณก็เป็นเช่นเดียวกัน ฉะนั้นคุณจะต้องใช้ วิจารณญาณและสังเกตดูจากการแข่งขันนั้น ๆ ว่าจุดใดเป็นจุดอ่อน และจุดใดเป็นจุดแข็งในเกมนั้น ๆ หรือในขณะนั้น

 

2. สถานการณ์ในขณะแข่งขัน ( Match Situations )

                2.1 ลูกที่สมควรจะเลือกตีก่อนและเปอร์เซ็นต์ในการตี ( Priority and Percentages ) ผมจะไม่ขอเน้นเปอร์เซ็นต์ที่สูงในการตีลูกชนิดต่าง ๆ เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจความหมายดีนัก เช่นในกรณีเปอร์เซ็นต์ที่สูงของการตีแอพโพรัชช็อท ( ลูกตามขึ้นหน้าตาข่าย ) ด้านโฟร์แฮนด์ ของ คุณนั้นก็จะเป็นการตีลูกขนานเส้นข้างใส่แบคแฮนด์ของคู่ต่อสู้ แต่ถ้าคู่ต่อสู้ของคุณตีแบคแฮนด์ได้ดีกว่าโฟร์แฮนด์เสียอีก แล้วคุณคิดว่าคุณน่าที่จะตี ลูกขนานเส้นข้างอยู่อีกเหรอ ดังนั้นคุณจึงจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจว่าลูกใดที่สมควรจะเลือกตีก่อน

                คุณควรที่จะทำความเข้าใจให้ดีว่า เปอร์เซ็นต์ในการตีลูกบอลจะเปลี่ยนแปลงไปตามโอกาสต่าง ๆ เช่น ใครคือคู่ต่อสู้ของคุณ สถานที่แข่งขัน  เวลาใด การที่คุณจะตัดสินใจตีลูกบอลแต่ละลูกไปที่ไหนนั้น คุณควรจะพิจารณา ความเหมาะสมในการที่จะตีลูกบอลไปในขณะนั้นมากกว่าที่จะคำนึงถึง เปอร์เซ็นต์ ที่สูงในการตี คุณควรจะเลือกตีลูกที่สมควรจะตีไปในขณะนั้น ๆ โดยตีใส่จุดอ่อนคู่ต่อสู้ แต่ถ้าคู่ต่อสู้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทุกครั้ง  คุณจึงค่อยหันมาใช้การตีที่มีเปอร์เซ็นต์สูง และถ้าคุณยังไม่สามารถทำลายจังหวะของคู่ต่อสู้ได้ คุณจะต้องมีสมาธิที่ดีมาก ๆ และพยายามใช้ไหวพริบ ในการที่จะเปลี่ยนเกมอยู่ตลอดเวลา

                การวางแผนในการเล่นเกมทั่ว ๆ ไปนั้น คุณจะต้องตัดสินใจว่าสมควรที่จะเลือกตีลูกใดก่อน เช่น คู่ต่อสู้มีจุดอ่อนด้านแบคแฮนด์ คุณก็ควร ที่จะจู่โจมแบคแฮนด์ แต่เปอร์เซ็นต์ในการตีลูกบอลนั้นจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เช่น คุณควรจะเสิร์ฟใส่แบคแฮนด์ของคู่ต่อสู้ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์แต่ถ้าคู่ต่อสู้ของคุณรับลูกเสิร์ฟสไลซ์ฉีกสั้นด้านโฟร์แฮนด์ในการยืนรับคอร์ตขวาไม่ค่อยจะดีนัก คุณก็ควรที่จะเสิร์ฟลูกสไลซ์ฉีกสั้นใส่ ด้านโฟร์แฮนด์ของเขาบ่อยครั้งกว่า ในขณะแข่งขันนั้นคุณมักจะมีทางเลือกในการตีลูก 2 หรือ 3 ทางเสมอ ๆ นักเทนนิสที่ดีก็มักที่จะเลือกใช้การตีลูก เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง โดยพิจารณาว่าลูกใดที่สมควรจะเลือกตีก่อน ตัวอย่างเช่น ถ้าคู่ต่อสู้ของคุณมีจุดอ่อนด้านใดด้านหนึ่ง แต่วันนั้นลมแรงมาก คุณก็ไม่ควรที่จะคิดถึงแต่การที่จะจี้จุดอ่อนของคู่ต่อสู้ การเลือกตีลูกของคุณจึงต้องขึ้นกับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง คุณต้องรู้ว่าลมพัดในทิศทางใด และคุณ จะตีลูกบอลไปอย่างไรเพื่อที่จะให้ลูกบอลตกลงในสนามฝั่งคู่ต่อสู้ได้ หรือว่าในวันที่อากาศร้อนมาก ๆ การเลือกตีลูกของคุณก็จะแตกต่างไปจากวันที่ อากาศเย็น แทนที่คุณจะเสิร์ฟแล้วตามขึ้นหน้าตาข่าย คุณก็อาจจะต้องประหยัดพลังงานโดยการเลือกที่จะตีลูกโยกคู่ต่อสู้แทน

                จุดแข็งของคุณก็สามารถที่จะเป็นลูกที่สมควรจะเลือกตีก่อนได้เช่นกัน ในกรณีที่จุดแข็งของคุณดีกว่าจุดแข็งของคู่ต่อสู้ คุณก็ไม่จำเป็นที่จะ ห่วง เกี่ยวกับเรื่องเปอร์เซ็นต์ที่สูงในการตีลูกบอล เช่น อังเดร อากัสซี่ ( Andre Agassi ) และจิม คูเรียร์ ( Jim Courier ) ลูกที่เขาทั้งสองสมควรจะเลือก ตีก่อนนั้นก็คือการวิ่งอ้อมลูกในด้านแบคแฮนด์เพื่อไปตีลูกด้วยโฟร์แฮนด์ที่มีพลังมากกว่า หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือถ้าจุดอ่อนของคุณ อ่อนกว่าจุดอ่อน ของคู่ต่อสู้ สิ่งแรกที่คุณควรจะกระทำก็คือ ป้องกันจุดอ่อนของคุณ

 

                2.2 การรับลูกเสิร์ฟ ( Return of Serve ) ในกรณีเช่นนี้ เปอร์เซ็นต์ที่สูงในการรับลูกเสิร์ฟจะกลายมาเป็นลูกที่สมควรจะเลือกตีก่อน ในการ รับลูกเสิร์ฟนี้คุณควรที่จะคิดล่วงหน้าไว้ก่อนว่าคุณต้องการที่จะตีอย่างไร เช่นเมื่อคุณแข่งขันกับคู่ต่อสู้ที่เสิร์ฟแล้วขึ้นหน้าตาข่าย คุณควรที่จะพยายาม รับลูกเสิร์ฟให้เลียดต่ำลง หรือคู่ต่อสู้ยืนอยู่ท้ายคอร์ตหลังจากการเสิร์ฟ ก็ให้คุณเล็งที่จะตีลูกสูงเหนือตาข่าย เพื่อให้ลูกบอลตกลึกในแดนคู่ต่อสู้ เปอร์เซ็นต์ที่สูงในการรับลูกเสิร์ฟจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งในการรับลูกเสิร์ฟของคุณ

                (ก) ลูกเสิร์ฟที่มาทางด้านโฟร์แฮนด์ คอร์ตขวา ในกรณีที่เป็นลูกเสิร์ฟที่มาแรงคุณควรจะรับลูกเสิร์ฟ 80 เปอร์เซ็นต์ ทแยงไปยังแดนคู่ต่อสู้  ตามหลักที่ว่าคุณควรจะเปลี่ยนทิศทางให้น้อยที่สุดในกรณีที่ลูกบอลมากแรง ดังภาพที่ 4.1 เช่นเดียวกันกับหลักฟิสิกส์ ในเรื่องของแสงเมื่อแสงกระทบ กับพื้นผิวราบ มุมสะท้อนจะเท่ากับมุมตกกระทบ ในหลักการของเทนนิสก็เช่นเดียวกัน การตีลูกบอลที่เคลื่อนที่มาเร็วถ้าคุณตีลูกบอลกลับไปยังทิศทาง เดิมที่ลูกบอลเคลื่อนที่มา โอกาสที่ลูกบอลจะลอยกลับไปลงในคอร์ตจะมีเปอร์เซ็นต์สูงมาก แต่ถ้าคุณพยายามที่จะเปลี่ยนทิศทางของลูกบอลที่เคลื่อนที่ มาเร็วโดยการตีลูกขนานกับเส้นข้าง คุณจะต้องมีจังหวะและหน้าไม้ที่พอตีลูกบอลจึงจะลงในคอร์ต ด้วยเหตุผลเช่นนี้จึงทำให้นักเทนนิสที่พยายามจะตี ลูกขนานเส้นข้างในการรับลูกเสิร์ฟที่มาแรง ลูกบอลส่วนใหญ่จะออกเส้นข้างไป และในกรณีที่ลูกเสิร์ฟนั้นเบา คุณก็สามารถที่จะตี 80 เปอร์เซ็นต์ ตรงไปยังแบคแฮนด์ของคู่ต่อสู้ได้เลย ดังภาพ 4.2 และให้คุณระลึกอยู่เสมอว่าถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก การตีลูกที่ดีนั้นควรจะตีลูกทแยง

                (ข) ลูกเสิร์ฟที่มาทางด้านแบคแฮนด์ คอร์ตขวา ในกรณีลูกเสิร์ฟที่มีความเร็วในทุกระดับคุณควรจะรับลูกเสิร์ฟ 80 เปอร์เซ็นต์ขนานเส้นข้าง การตีลูกทแยงในเหตุการณ์เช่นนี้จะถือว่าเป็นการตีลูกที่ยากลูกหนึ่ง

                (ค) ลูกเสิร์ฟที่มาทางด้านโฟร์แฮนด์ คอร์ตซ้าย ในกรณีที่เป็นลูกเสิร์ฟที่มาแรง คุณควรจะรับลูกเสิร์ฟ 80 เปอร์เซ็นต์เข้าไปตรงกลางคอร์ต  หรือถ้าคุณบังคับบอลได้แม่นยำ ก็ให้ตีใส่แบคแฮนด์คู่ต่อสู้และในกรณีที่ลูกเสิร์ฟนั้นเบา คุณก็สามารถที่จะตีอัดลูกบอล 80 เปอร์เซ็นต์ไปยัง  แบคแฮนด์ ของคู่ต่อสู้ 

                (ง) ลูกเสิร์ฟที่มาทางด้านแบคแฮนด์ คอร์ตซ้าย ในกรณีลูกเสิร์ฟที่มีความเร็วในทุกระดับให้คุณรับลูกเสิร์ฟ 80 เปอร์เซ็นต์ ทแยงกลับไป ทางด้านแบคแฮนด์ของคู่ต่อสู้ ดังภาพ 4.6 และในกรณีที่คู่ต่อสู้เสิร์ฟลูกแล้ววิ่งตามขึ้นหน้าตาข่าย โดยไม่หยุดกระโดดเท้าคู่บริเวณเส้นเสิร์ฟในขณะที่ คุณตีลูกก็ให้คุณตีลูกโด่ง ( Lob ) กลับไป จะทำให้เขาเสียหลักในการกลับตัวที่จะวิ่งไปตีลูกโด่งนั้น

                การปฏิบัติตามหลักการรับลูกเสิร์ฟที่มีเปอร์เซ็นต์สูงนั้นจะทำให้เกิดผลที่ดีที่สุด แต่คุณเป็นคนตีลูกจึงควรจะรู้ว่าอะไรที่เหมาะสมกับตัวคุณ และควรจะปฏิบัติ สำหรับ อาร์เธอร์ แอช ( Arthur Ashe ) เขามีความมั่นใจในการรักษาเกมเสิร์ฟทุกครั้งเพราะเขามีลูกเสิร์ฟที่ดี ฉะนั้นเขาจะพยายาม รับลูกเสิร์ฟด้วยการตีลูกแรงเท่าที่เขาสามารถที่จะตีได้ในสามหรือสี่เกมแรกเพราะเขาหวังที่จะเบรคเกมเสิร์ฟของคู่ต่อสู้ การเล่นยุทธวิธีแบบนี้มี เปอร์เซ็นต์ที่จะทำให้สำเร็จได้ต่ำมาก แต่ในหลาย ๆ ครั้งที่แอชทำได้สำเร็จและนั่นก็คือเขาก็มีสิทธิ์ที่จะชนะในเซ็ทนั้นได้ แต่พอสกอร์ 4 เท่ากัน เขาจะ เล่นในแต้มที่มีเปอร์เซ็นต์สูง ผมไม่แนะนำให้คุณใช้ยุทธวิธีเช่นนี้ เว้นเสียแต่ว่าคุณมีความสามารถเท่าเทียมกับแอช

                2.3 วิธีการรับลูกเสิร์ฟ ( Types of Return ) ในการรับลูกเสิร์ฟให้คุณใช้หลักการเดียวกับวิธีการตีลูกวอลเล่ย์คือไม่ควรที่จะใช้วงสวิงที่กว้าง เพราะการที่คุณเหวี่ยงไม้ไปข้างหลังนั้นก็เพื่อเพิ่มกำลังในการตีลูกเท่านั้น คุณควรจะใช้ความเร็วจากลูกเสิร์ฟของคู่ต่อสู้นั้นให้เป็นประโยชน์โดยการ กั้น ( Block ) ลูกเอาไว้ ลูกก็จะพุ่งกลับไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ส่วนหน้าไม้ก็ให้ชี้ไปในทิศทางที่คุณต้องการจะตีไป และเมื่อคุณเริ่มมีความมั่นใจและ สามารถที่จะบังคับลูกบอลได้ดีขึ้นก็ให้เริ่มใช้บันได 5 ขั้นของการตีสโตรค คือ

(1)   การตีลูกบอลให้ลงในคอร์ต

(2)   ทิศทางการตี

(3)   ระยะการตี

(4)   การหมุนของลูกบอล

(5)   ความรุนแรงในการตีลูกบอล

           ในการรอรับลูกเสิร์ฟ วิธีการที่ดีคือคุณควรจับกริปโฟร์แฮนด์เพราะในกรณีที่คุณไม่มีเวลาเปลี่ยนกริปในการตีแบคแฮนด์  คุณก็สามารถที่จะตี แบคแฮนด์ด้วยอันเดอร์สปินได้ แต่ถ้าคุณจับ กริปแบคแฮนด์ในการรอรับลูกเสิร์ฟ ในกรณีที่คุณไม่มีเวลาเปลี่ยนกริปที่จะตีโฟร์แฮน์ คุณจะไม่ สามารถที่จะตีลูกโฟร์แฮนด์ อันเดอร์สปิน ได้อย่างถนัด

            การที่คุณเห็นนักเทนนิสในทีวีสวิงไม้กว้างในการรับลูกเสิร์ฟได้ นั่นก็เป็นเพราะว่าเขามีการคาดคะเนทางบอลที่ดี มีจังหวะในการเตรียมตัว ที่เร็วมาก และมีความสามารถสูงในการตีลูก เขาจึงมีเวลาในการสวิงไม้กว้างได

            แบบฝึกอย่างง่ายของการรับลูกเสิร์ฟ  วิธีที่ดีที่สุด คือ ให้ผู้เสิร์ฟ 2 คน เสิร์ฟแล้ววิ่งตามลูกบอลขึ้นหน้าตาข่ายเพื่อวอลเล่ย์ เล่นแต้มกัน ไปเลย คนเสิร์ฟผลัดกันเสิร์ฟคนละ 1 แต้ม ซึ่งจะทำให้แบบฝึกต่อเนื่องกันและผู้เสิร์ฟมีโอกาสได้พักบ้าง ผู้รับลูกเสิร์ฟก็จะคุ้นเคยกับเหตุการณ์ที่ คู่ต่อสู้วิ่งขึ้น หน้าตาข่าย

                2.4 แต้มสำคัญ ( Important Points ) ในแต่ละครั้งของการแข่งขัน จะมีหลาย ๆ แต้มที่มีความสำคัญที่ควรจะได้แต้มมากกว่าลูกอื่น ๆ แน่นอน ลูกที่สำคัญที่สุดก็คือลูกแมตซ์พ้อยต์ เพราะคุณต้องทำแต้มนี้ให้ได้คุณจึงจะชนะการแข่งขัน แต่ก็ยังมีแต้มสำคัญอื่น ๆ ที่มีความสำคัญที่จะส่งผลต่อการ แพ้หรือชนะได้ แต้มที่สามและห้าจะมีความสำคัญที่สุดของเกม ถ้าคุณชนะแต้มที่สามและห้าได้ในแต่ละเกม คุณก็จะมีโอกาสประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่จะชนะในเกมนั้น นี่เป็นความจริง ในทางสถิติที่ทางบริษัทปีเตอร์ เบอร์วอช อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ทำขึ้นจากนักเทนนิสในระดับแข่งขัน เช่นถ้า สกอร์ 30:0 และคุณทำแต้มที่สามได้สกอร์ก็จะเป็น 40:0 และมีผลในทางจิตวิทยามากที่คุณจะชนะเกม แต่ถ้าคุณเสียแต้มนี้ สกอร์ก็จะเป็น 30:15 สำหรับแต้มที่ห้านั้นสำคัญมาก เช่น สกอร์ 30:30 คุณอาจจะได้เกมพ้อยต์ คือ 40:30  หรือคู่ต่อสู้ได้เกมพ้อยต์ คือ 30:40 ไม่ว่าเกมนั้นจะตกเป็นของคุณ หรือของคู่ต่อสู้ก็ค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ทั้งนั้น ผมขอแนะนำให้คุณเสิร์ฟแล้ววิ่งตามลูกบอลขึ้นหน้าตาข่ายเมื่อสกอร์ 40:30 โดยไม่ต้องคำนึงถึงสภาพพื้น สนาม เสิร์ฟไปยังจุดอ่อนของคู่ต่อสู้เพื่อสร้างความกดดันให้แก่เขาเพิ่มขึ้น และให้สังเกตดูว่าเขาจะสามารถรับมือกับสถานการณ์เช่นนั้นได้เป็น อย่างไร

                เกมที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันคือเกมที่ห้าและเจ็ด ตัวอย่างเช่น เมื่อสกอร์ 4:2 ถ้าคุณชนะในเกมที่เจ็ดสกอร์จะเป็น 5:2 ก็จะทำให้คุณทิ้ง ห่างคู่ต่อสู้ไปมาก แต่ถ้าคุณแพ้ในเกมที่เจ็ด สกอร์ก็จะเป็น 4:3 ซึ่งเกมจะสูสีมากขึ้น หรือเมื่อสกอร์ 3:1 ถ้าคุณชนะในเกมที่ห้า สกอร์จะเป็น 4:1 ก็จะ ทำให้คุณทิ้งห่างคู่ต่อสู้ไปมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าคุณแพ้ในเกมที่ห้า สกอร์ก็จะเป็น 3:2

              อีกแต้มหนึ่งที่สำคัญมาก็คือแต้มที่ห้าของเกมที่เจ็ด นักเทนนิสอาชีพจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะทำแต้มนี้ให้ได้ ในขณะที่นักเทนนิส  ระดับสโมสรนั้นไม่เข้าใจความสำคัญของแต้มนี้และอาจจะตีลูกที่เสี่ยง เช่น ตีอัดลูกบอลด้านแบคแฮนด์อย่างสุดแรงเกิด ซึ่งโอกาสลูกนั้นจะลงในคอร์ต น้อยมาก

             สิ่งที่คุณควรจะกระทำอย่างยิ่งคือการที่คุณสร้างความกดดันให้แก่คู่ต่อสู้ในแต้มสำคัญต่างๆเหล่านี้ น้อยคนมากที่อาจะเกิดความกดดันขึ้นมา เอง ให้คุณสังเกตดูคู่ต่อสู้ในขณะที่ตีลูกต่าง ๆ ในแต้มที่สำคัญ คุณจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นในด้านจุดอ่อนของเขา เพราะในขณะนั้นเขาจะตื่นเต้นและตีเสีย เองได้หรือถ้าคู่ต่อสู้มีโฟร์แฮนด์ที่ไม่ค่อยจะแน่นอนอยู่แล้ว เขาก็ยิ่งจะตีลูกแย่ลงไปกว่านั้นอีกในแต้มที่สำคัญ

                2.5 การผสมผสานแต้ม ( Mix-up the shots ) ในการผสมผสานแต้มนั้น การตีลูกแรกมีความสัมพันธ์และส่งผลต่อเนื่องในการตีลูกต่อ ๆ ไป เช่น

                                - ถ้าคุณเสิร์ฟลูกได้ดีมาก ๆ ก็จะทำให้คุณมีโอกาสที่จะตีลูกวอลเล่ย์ได้อย่างง่ายดายในเปอร์เซ็นต์ที่สูง

                                - การตีลูกฉีกสั้นไปที่มุมเส้นเสิร์ฟตัดกับเส้นข้าง ( Side-T ) เมื่อคุณสามารถดึงคู่ต่อสู้ออกไปนอกคอร์ตได้แล้ว โอกาสต่อไปที่คุณ จะตีนั้นคือ พื้นที่สนามทั้งหมดฝั่งคู่ต่อสู้

                                - การตีลูกไปในทิศทางทแยง เช่นว่าหยอดไปทางด้านแบคแฮนด์แล้วตีลูกโด่งไปทางเส้นหลังด้านโฟร์แฮนด์ เพื่อโยกคู่ต่อสู้ให้ วิ่งไกลที่สุด วิธีการเช่นนี้ไม่ได้เป็นการทำแต้มโดยตรงแต่เป็นเพียงการโยกให้คู่ต่อสู้ต้องวิ่งและเหนื่อยไปในที่สุด

                การผสมผสานแต้มส่วนใหญ่จะเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ เพราะยุทธวิธีทั้งหลายที่จะใช้ให้ได้ผลดีนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับคู่ต่อสู้ โอกาส และ ความสามารถของคุณในการตีลูกทำแต้มอีกด้วย ฉะนั้นคุณจึงควรที่จะนำตัวอย่างจากข้างบนมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตัวคุณในการแข่งขันแต่ละ   ครั้งไป

                2.6 ทฤษฎี ส-ท-ด คือ = เสียเปรียบ , = เท่าเทียมกัน , = ได้เปรียบ

                ทฤษฎี ส-ท-ด มีหลักใหญ่ ๆ อยู่ 2 ประการ คือ

1.      ลูกบอลมีความสัมพันธ์กับแถบขาวของตาข่าย

2.      ตำแหน่งของนักเทนนิสทั้งคู่บนคอร์ต

หลักทั้ง 2 ประการของทฤษฎี ส-ท-ด สามารถอธิบายได้ดังนี้

                1. ถ้าคุณตีจุดปะทะบอลที่ต่ำกว่าแถบขาวของตาข่าย คุณก็จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบและถ้าคุณตีจุดปะทะบอลที่สูงกว่าแถบขาว ของตาข่าย คุณก็จะอยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบนักเทนนิสหลาย ๆ คนทำผิดพลาดมากคือในขณะที่เขาตีจุดปะทะบอลในตำแหน่งที่ต่ำกว่าแถบขาว ของตาข่าย แต่เขาก็ยังพยายามที่จะตีเป็นลูกบุกซึ่งถือว่าเป็นลูกที่มีเปอร์เซ็นต์ต่ำในการที่จะตีลูกให้ลงดีได้

                2. ตำแหน่งของนักเทนนิสทั้งคู่บนคอร์ตมี อยู่ 3 ลักษณะ คือ

                                ก. เมื่อทั้งคู่ยืนอยู่ท้ายคอร์ต ถือว่าทั้งคู่อยู่ในตำแหน่งเท่าเทียมกัน

                                ข. เมื่อทั้งคู่ยืนอยู่หน้าตาข่าย ถือว่าทั้งคู่อยู่ในตำแหน่งเท่าเทียมกัน 

                                ค. แต่ถ้าคนหนึ่งยืนอยู่หน้าตาข่าย และอีกคนยืนอยู่ท้ายคอร์ต คนที่ยืนอยู่หน้าตาข่ายจะเป็นตำแหน่งที่ได้เปรียบ ส่วนคนที่ยืน อยู่ท้ายคอร์ตจะเป็นตำแหน่งที่เสียเปรียบ 

                ตัวอย่างการใช้ทฤษฎี ส-ท-ด ถ้านักเทนนิสคนใดยืนอยู่หน้าตาข่าย (ด) แต่เขาตีจุดปะทะบอลใต้ตาข่าย (ส) แสดงว่าเขาอยู่ในสภาวะ เท่าเทียมกัน (ท) กับคู่ต่อสู้ที่ยืนอยู่ท้ายคอร์ต แต่ถ้านักเทนนิสคนนั้นยืนอยู่หน้าตาข่าย (ด) อีกทั้งยังตีจุดปะทะบอลเหนือตาข่าย (ด) ดังภาพ 4.10 แสดงว่าเขาก็จะมีความได้เปรียบถึงสองต่อ และมีสิทธิ์ทำแต้มได้เลยทันที

                โปรดจำให้ดีว่าไม่ใช่ทฤษฎี ส-ด-ท แต่เป็นทฤษฎี ส-ท-ด หมายความว่าในขณะที่คุณตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ คุณไม่ควรที่จะ พยายาม ตีลูกบุก หัวใจสำคัญของทฤษฎีนี้ก็คือ ให้คุณปรับสภาวะให้อยู่ในสถานการณ์ที่เท่าเทียมกันเสียก่อน แล้วจึงค่อยตีลูกบุกต่อไป ตัวอย่างเช่น คู่ต่อสู้ของคุณยืนอยู่หน้าตาข่าย (ด) และคุณยืนอยู่ท้ายคอร์ต (ส) คุณก็ต้อง พยายามที่จะทำให้คู่ต่อสู้ตีลูกที่ต่ำกว่าตาข่ายให้ได้ (ส)  โดยการตีลูกตัด อันเดอร์สปิน ให้ตกสั้น ๆ หรือตีลูกท็อปสปินให้ม้วนลงต่ำ คู่ต่อสู้ต้องตีลูกบอลต่ำกว่าตาข่ายสถานการณ์เช่นนี้ถือว่าคุณมีสถานภาพเท่าเทียมกัน (ท) กับคู่ต่อสู้ ซึ่งจะทำให้คู่ต่อสู้ต้องตีลูกบอลงัดโค้งขึ้น ซึ่งไม่ใช่ลูกวอลเล่ย์บุก คุณก็สามารถตีลูกผ่านคู่ต่อสู้ได้ง่ายขึ้น แต่นักเทนนิสหลายคนมักจะคิดว่า ลูกที่ใช้ได้ผลดีคือการตีลูกผ่านคู่ต่อสู้ที่ยืนอยู่หน้าตาข่ายเลยทันที แม้ในหมู่นักเทนนิสอาชีพขั้นสูงก็สามารถที่จะตีลูกผ่านคู่ต่อสู้ได้เพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์  เท่านั้น การตีเช่นนี้จึงไม่ใช่วิธีการที่ฉลาดนัก

                2.7 ทฤษฎี ส-ท-ด ในระดับขั้นสูง คุณควรที่จะขึ้นมาตีที่หน้าตาข่าย เพราะนักเทนนิสระดับสโมสรหลาย ๆ คนไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องขึ้นมา ตีลูกบอล ที่หน้าตาข่าย และไม่มีความมั่นใจมากพอ ซึ่งอาจจะมีผลมาจากการฝึกฝนในการตีลูกวอลเล่ย์ที่ยังไม่เพียงพอ

                เหตุผลที่คุณขึ้นมายืนหน้าตาข่ายนั้นก็เป็นเพราะคุณต้องการทำแต้มจากการตีลูกวอลเล่ย์ ไม่ใช่หวังที่จะให้คู่ต่อสู้ตีเสียเอง คุณจะอยู่ใน ตำแหน่ง ที่ถือว่าได้เปรียบ และนักเทนนิสคนใดที่ขึ้นถึงหน้าตาข่ายก่อนมักจะเป็นฝ่ายทำแต้มได้บ่อยครั้งกว่า เพราะคู่ต่อสู้เกิดความกดดันในการที่ จะตีลูกผ่านจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างในกรณีที่คู่ต่อสู้มีความสามารถในการตีลูกผ่านได้ดีเยี่ยม แต่ถึงกระนั้นก็ดีถ้าคุณเสิร์ฟและขึ้นหน้าตาข่ายได้ดีมาก เท่าไหร่ คู่ต่อสู้ก็จะมีโอกาสหรือจังหวะในการที่จะตีลูกผ่านคุณได้น้อยเท่านั้นครับ

                - การตีลูกผ่าน ( Passing shots ) สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณควรจะเข้าใจในการตีลูกผ่านก็คือ คุณควรที่จะเล็งให้ลูกบอลตกบริเวณเส้นเสิร์ฟ ไม่ใช่ตกลึกท้ายคอร์ตเพราะจะทำให้ลูกบอลลอยสูงเกินไป และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีกคือ ตีด้วยลูกท็อปสปิน ซึ่งจะทำให้ลูกโค้งมุดลงต่ำและบีบให้คู่ต่อสู้ ต้องตีลูกวอลเล่ย์ยากขึ้น

                คุณควรที่จะเตรียมตัวให้พร้อมเสมอหลังจากที่ตีลูกบอลไปแล้ว เพราะถ้าหากคู่ต่อสู้สามารถรับลูกนั้นกลับมาได้ คุณก็จะสามารถที่จะตามไปตี ลูกนั้นได้ทันที มีนักเทนนิสหลายคนที่มักจะยืนดูผลงานของตัวเขาเองว่าตีลูกบอลไปได้สวยมาก แต่พอคู่ต่อสู้รับกลับมาได้ถึงแม้ว่าในบางครั้งจะเป็น ลูกบอลที่ธรรมดามาก เขาก็อาจจะยังไม่ทันได้ขยับตัวหรือเคลื่อนที่ไปไม่ทันทีที่จะตีลูกบอลนั้นก่อนที่ลูกบอลจะกระทบพื้นครั้งที่สอง

                อีกสถานการณ์หนึ่งที่นักเทนนิสหลายคนมักจะเข้าใจผิดคือเมื่อเขาวิ่งไปตีลูกบอลที่อยู่หน้าตาข่าย (ด) แต่เป็นลูกที่ต่ำกว่าแถบขาว (ส) ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์เท่าเทียมกัน (ท) ฉะนั้นคุณควรที่จะตีลูกบอลนั้นเพื่อวางทางเป็นการนำไปสู่การทำแต้ม ไม่ใช่ตีลูกเพื่อทำแต้มทันที

               - ลูกตัดสั้น ( chip shots ) ลูกตัดสั้นนี้เป็นการตีด้วยอันเดอร์สปิน ด้วยความเร็วที่ไม่มากนัก มีการสวิงไม้แคบและฟอลโล่ว์ทรู ที่สั้นกว่าการตี ลูกสไลซ์ที่มีความเร็ว เพื่อให้ลูกบอลนั้นลอยไปช้า และถ้าคุณบีบให้คู่ต่อสู้ตีลูกบอลต่ำกว่าแถบขาวของตาข่าย (ส) เขาจะตีแรงไม่ได้ ตีได้ก็แค่วาง ทิศทางเท่านั้น

                ในการตีลูกตัดสั้นนี้ คุณสามารถที่จะตีลูกบอลได้ในหลาย ๆ ระดับของความเร็ว ซึ่งสามารถทำลายจังหวะของคู่ต่อสู้ได้ อีกทั้งคุณยังสามารถตี ลูกทแยงให้ลงในมุมแคบ ๆ หน้าตาข่ายได้ดีอีกด้วย

                เหมาะสำหรับตีใส่คู่ต่อสู้ที่ชอบวอลเล่ย์กับลูกบอลที่มีความเร็วมากหรือคู่ต่อสู้ที่เปลี่ยนกริปในการตีลูกวอลเล่ย์ หรือคู่ต่อสู้ที่ตัวสูงเพราะจะเป็น การลำบากสำหรับเขาในการย่อเข่าลงตีลูกต่ำ

                ในกรณีที่คุณขึ้นหน้าตาข่ายคุณควรที่จะรู้ว่า 

                    (ก) คู่ต่อสู้ของคุณจะตีลูกบอลผิดพลาดเองบ่อยขึ้น 

                    (ข) คู่ต่อสู้ของคุณจะพยายามตีลูกให้แรงขึ้น ซึ่งหมายความว่าจะทำให้ความแม่นยำลดลงจนกว่าที่เขาจะเรียนรู้ว่า การที่จะตีลูกผ่านนั้น ไม่จำเป็นต้องตีลูกแรงเสมอไป หรือเขาสามารถทำได้โดยตีลูกตัดสั้นหรือท็อปสปิน เพื่อให้ลูกบอลตกลงเท้าของคุณ ผู้เล่นที่ยืนอยู่หน้าตาข่ายในการตี ลูกวอลเล่ย์คือผู้ที่ได้เปรียบ

                2.8 ตีจุดปะทะบอลของกราวน์สโตรคเหนือแถบขาวของตาข่าย ( Hitting Ground Strokes above the White Band ) ในขณะที่คุณตีลูก กราวน์สโตรคที่ท้ายคอร์ตนั้น หากคุณสามารถที่จะตีลูกบอลอยู่เหนือแถบขาวของตาข่ายได้ ควรจะเป็นการตีอัดลูกด้วยท็อปสปินที่ผสมกับการตีแฟลต มากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ลูกบอลพุ่งได้เร็วขึ้นเพราะเป็นการตีลูกบอลที่วิถีลูกไม่โค้งมาก ทำให้คู่ต่อสู้มีเวลาในการตั้งรับน้อยลง

                ถ้าเป็นลูกบอลที่สั้นแถวบริเวณเส้นเสิร์ฟ และคุณสามารถตีลูกสูงกว่าแถบขาวของตาข่ายได้ก็ให้ตีลูกเพื่อทำแต้มไปได้เลย เทคนิคในการตี ลูกบอลนี้คือให้คุณคว่ำหน้าไม้ และตีส่วนบนของลูกบอลถ้าคุณต้องการใส่ท็อปสปินมากขึ้น คุณต้องสะบัดข้อมือมากขึ้น แต่วิธีที่ง่าย ๆ และแม่นยำกว่า คือ การล็อคข้อมือและตีส่วนบนของลูกบอล พร้อมกับลากไม้ไปข้างหน้าขนานกับพื้น ก็จะทำให้เกิดท็อปสปินขึ้นเองไปในตัว

3. ลม ดวงอาทิตย์ และปัญหาอื่น ๆ ( Wind Sun and Other problems )

                3.1 ลมและดวงอาทิตย์ ( Wind and Sun ) และปัญหาอื่น ๆ นักเทนนิสหลายต่อหลายคนเมื่อเจอกับวันที่ลมพัดแรงก็จะตีไม่ได้หรือ ในช่วง เวลา 11.00 น. – 13.00 น. ดวงอาทิตย์จะอยู่ตรงกับการโยนลูกบอลเพื่อเสิร์ฟ ในกรณีเหล่านี้ สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณควรที่จะคิดหาวิธีการที่จะทำ ประโยชน์จากสิ่งที่คู่ต่อสู้ไม่ชอบ เช่นวิธีการที่จะตีภายใต้สภาพลมแรงหรือดวงอาทิตย์ที่อยู่บนศีรษะและอากาศที่ร้อนจัด

                ถ้าคุณตีลูกตามลมก็ให้คุณตีเบาลง หรือตีด้วยลูกท็อปสปินมากขึ้น จะทำให้ลูกลงในคอร์ตได้ดีหรือถ้าคุณตีลูกต้านลม ก็ให้คุณตีแรงขึ้นหรือ ตีด้วยลูกอันเดอร์สปินมากขึ้น ก็จะทำให้ลูกลงในคอร์ตได้ดีขึ้นเช่นกัน

                ในการเสิร์ฟที่มีดวงอาทิตย์อยู่ด้านหน้าตรงกับจุดที่คุณโยนลูกบอลในท่าเสิร์ฟปกติพอดีนั้นหากคุณรู้จักการเสิร์ฟด้วยการใช้ข้อมือ คุณก็   จะ สามารถเลื่อนจุดโยนไปทางซ้ายมือ-ขวามือ หน้าหรือหลังได้เพื่อไม่ให้ตรงกับดวงอาทิตย์ และถ้านักเทนนิสที่ใช้ข้อมือเป็นก็จะมีโอกาสเสิร์ฟลูก  ชนิดต่างๆ ได้ดีอีกเช่นกัน เช่น ถ้าลมพัดผ่านด้านข้างคอร์ต ลูกบอลจะกระดอนเบี้ยว คุณก็ยังสามารถที่จะยื่นแขนออกไปและใช้ข้อมือช่วยในการตี ลูกบอลที่เลี้ยวหนีไปได้และคุณยังสามารถใช้ข้อมือช่วยแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

                ในกรณีลูกตบเหนือศีรษะ ในตำแหน่งที่ลูกบอลจะลอยผ่านดวงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้คุณตาพล่าและมองไม่เห็นลูกบอลชั่วขณะ วิธีแก้ไขง่าย ๆ คือ ปล่อยให้ลูกบอลตกพื้น หรือใช้มือซ้ายบังดวงอาทิตย์ หรือใส่หมวกที่มีขอบด้านหน้าเพื่อบังแสงแดด

                สำหรับในวันที่ร้อนจัด คุณควรที่จะเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมเช่น หมวก เสื้อหลาย ๆ ตัวสำหรับเปลี่ยนเมื่อเหงื่อชุ่ม ที่รัดข้อมือสำหรับซับเหงื่อ ผ้าเช็ดเหงื่อ และน้ำดื่ม และถ้าหากคุณแข่งขันกับคู่ต่อสู้ที่ไม่มีความอดทนต่ออากาศร้อน ซึ่งเขาอาจจะมีอาการมึนศีรษะหรือตัวสั่น ในโอกาสเช่นนั้น ให้คุณรีบฉวยโอกาสที่จะทำแต้มเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่เขาจะสามารถปรับตัวได้

                หรือในวันที่มีอากาศหนาว คุณควรที่จะกะระยะเวลาเพื่ออบอุ่นร่างกายและการวอร์มโต้ลูกให้เวลาพอดีใกล้กับที่จะลงแข่งขันทันที เพราะถ้า คุณพักนานในวันที่มีอากาศหนาวอาจจะทำให้คุณมีโอกาสบาดเจ็บได้ คุณก็ไม่ควรที่จะใส่ชุดวอร์มแข่งขันในสองสามเกมแรกแล้วถอดออก เพราะเหงื่อ ที่ติดค้างอยู่ที่เสื้อจะทำให้ตัวของคุณเย็นและมีโอกาสไม่สบายได้ง่าย ฉะนั้นคุณควรที่จะเตรียมเสื้อผ้าที่สามารถยืดหยุ่นได้ดีและมีคุณสมบัติเก็บ ความอบอุ่นได้พอดีโดยที่ไม่ต้องถอดออกเมื่อเริ่มแข่งขันแล้ว

                ปัญหาที่น่ารู้อีกอย่างก็คือ หลังจากที่นักเทนนิสเพิ่งจะแข่งขันบนสนามในระดับเดียวกับน้ำทะเล แล้วจะต้องย้ายมาแข่งขันในระดับภูเขาที่ สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,000 ฟุต จะมีปัญหาในการตีบังคับลูกบอลให้ลงในคอร์ต เพราะแรงดึงดูดของโลกน้อยลง ฉะนั้นคุณควรที่จะเล็งการตีลูกบอลให้ ลงบริเวณเส้นเสิร์ฟ ลูกบอลก็จะตกลึกไปเอง

                  3.2 สภาพพื้นสนามที่แตกต่างกัน ( Different Count Conditions )

                                - สนามดินแดง ( Red Clay ) ประการแรกเมื่อคุณลงแข่งขัน คุณจะต้องคิดว่าแมทซ์นี้จะต้องนานแน่นอน และคุณจะต้องคิดว่า จะทำทุกวิถีทางที่จะตีลูกบอลกลับไปและไม่ตีผิดพลาดเองเพราะการเล่นบนคอร์ตดินแดงนี้ ลูกบอลจะกระดอนช้าทำให้การตีฆ่าเพื่อทำแต้มนั้นยากมาก

                ประการต่อไปก็คือ คุณควรที่จะใช้เป้าหมาย 7 แห่งบนคอร์ตฝั่งคู่ต่อสู้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ตีลูกบอลไปที่มุมเส้นเสิร์ฟตัดกับเส้นข้าง          ( Side-T ) เพื่อดึงคู่ต่อสู้ออกนอกคอร์ต และเปิดพื้นที่คอร์ตให้คุณตี คุณอาจจะไม่ได้แต้มทันทีในลูกนี้ แต่คู่ต่อสู้ของคุณก็จะต้องวิ่งตีลูกบอลไกลขึ้น

                การเสิร์ฟแล้วตามขึ้นหน้าตาข่ายนั้นไม่เหมาะนักกับสภาพคอร์ตดิน ฉะนั้นคุณควรจะใช้ในบางแต้มเท่านั้น

                                - สนามพื้นแข็ง ( Hard Courts ) ก่อนอื่นคุณจะต้องรู้ถึงความช้า-เร็วของพื้นสนาม ถ้าหากสนามช้ามาก ๆ ให้ใช้ยุทธวิธีการเล่น เช่นเดียวกันกับสนามดิน แต่ถ้าหากสนามเร็วคุณควรที่จะรู้จักวิธีการเล่นโดยกั้น ( Block ) ลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรับลูกเสิร์ฟและในจังหวะที่ คู่ต่อสู้ขึ้นหน้าตาข่ายในการเล่นบนสนามเร็วนี้ควรจะใช้การตีลูกหยอดให้น้อยที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วการได้-เสียแต้มมักเกิดขึ้นหลังจากสามหรือสี่สโตรค ฉะนั้นความอดทนจึงไม่เป็นสิ่งที่สำคัญมากนัก การหาโอกาสที่จะจู่โจมและจี้จุดอ่อนของคู่ต่อสู้จะมีน้อยกว่าบนสนามประเภทอื่น ๆ เพราะลูกบอลพุ่งกลับ มาหาคุณเร็วมาก

                                 - สนามหญ้า ( Grass Courts ) การกระดอนของลูกบอลบนสนามหญ้าจะไม่มีความแน่นอน จุดมุ่งหมายในการเล่นของคุณคือ ขึ้นหน้าตาข่าย และวอลเล่ย์ลูกเพื่อที่จะได้ตีลูกบอลบนอากาศโดยที่ไม่ปล่อยให้ลูกบอลตกพื้น จะเห็นได้จากนักเทนนิสชาวออสเตรเลี่ยนที่ฝึกซ้อม บนสนามหญ้าจะได้รับการฝึกฝนให้ลุยขึ้นหน้าตาข่าย ในการเล่นบนสนามหญ้า คุณต้องยอมรับความจริงที่จะต้องรับลูกบอลที่กระดอนผิดวิถีบ่อย ๆ ครั้งและทำใจให้ชอบกับเหตุการณ์แปลก ๆ เช่นนี้ แล้วคุณจะสนุกกับการเล่นบนแกรนด์สแลม จะมีเพียงการแข่งขันวิมเบิลดันที่ประเทศอังกฤษ เท่านั้นที่เป็นสนามหญ้า ถ้าหากคุณมีโอกาสที่จะเล่นบนสนามหญ้าก็อย่ามัวรีรอที่จะลงพิสูจน์ความท้าทายของสนามดูนะครับ

                                - สนามในร่ม ( Indoors courts ) ในการเล่นสนามในร่มนี้ นักเทนนิสจะตัดสิ่งกังวลใจสองสิ่งไปได้เลย คือ ลม และดวงอาทิตย์ อีกทั้งยังทำให้มองลูกบอลได้ง่ายขึ้นจากการที่มีฉากด้านหลังคงที่ สิ่งแวดล้อมที่ดีเช่นนี้ก็จะส่งเสริมให้คุณมีสมาธิที่ดีในการเล่นอีกด้วย

                                 อุปสรรคในการเล่นสนามในร่มนี้คือ การตีลูกโด่งเนื่องจากหลังคาที่มีรูปร่างตัววีคว่ำ ( ^ ) ซึ่งคุณจะต้องเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ ของหน้าไม้กับมุมของหลังคาในการที่คุณจะสามารถตีลูกโด่งให้มีวิถีโค้งพอดี พ้นศีรษะของคู่ต่อสู้

                ปัญหาอีกอย่างก็คือการบาดเจ็บ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากการวอร์มโต้ลูกก่อนการแข่งขันไม่เพียงพอ เพราะค่าเช่าสนามในร่มจะแพง มาก นักเทนนิสซึ่งมักจะประหยัดเงินค่าเช่าสนามและตีเพียง 5 นาที ก่อนการแข่งขันซึ่งไม่พอแน่นอน ( แต่ถ้าเกิดการบาดเจ็บขึ้นคุณจะต้องเสียค่ายา ในการรักษามากกว่าค่าสนามเสียอีก แล้วคุณคิดว่าคุ้มกันหรือไม่)

                ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นอีกอย่างก็คือ เมื่อคุณย้ายออกไปตีบนสนามกลางแจ้งเพราะคุณต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอีกครั้ง ฉะนั้น คุณต้องเตรียมพร้อมสภาพจิตใจ และซ้อมให้เพียงพอก่อนการแข่งขันจริง

                3.3 คู่ต่อสู้ที่ถนัดมือซ้าย ( Lefthand Opponent ) คุณอาจจะเคยได้ยินนักเทนนิสบางคนพูดว่า”เขาเพิ่งจะรู้ว่าคู่ต่อสู้จะตีด้วยมือซ้าย ในเซ็ท ที่สอง ฉะนั้นความสำคัญอันดับแรกในการแข่งขันกับนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้าย ก็คือคุณควรจะรู้ว่าคุณแข่งขันกับนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้าย อย่างช้าที่สุด ก็คือในขณะวอร์มโต้ลูกก่อนแข่งขัน อันดับที่สองก็คือเรียนรู้และทำความเคยชินกับวิถีการเคลื่อนที่และการหมุนของลูกบอลของ นักเทนนิสที่ถนัด มือซ้าย ดังตัวอย่างของ ร็อด เลเวอร์(Rod Laver)ซึ่งแพ้แก่นักเทนนิสที่ถนัดมือซ้ายอยู่บ่อยครั้งมากในช่วงปลายปี พ.ศ.2500 เพราะในช่วงห้าปี ก่อน หน้านี้ ไม่มีนักเทนนิสอาชีพที่ถนัดมือซ้ายเลย ทำให้เลเวอร์ไม่คุ้นเคยกับการหมุนของลูกบอลและวิธีการเล่นของนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้าย ทั้ง ๆ ที่ ตัวเขาเองก็เป็นนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้าย

          คุณลองสังเกตดูซิครับว่า จะมีบ่อยครั้งมากที่คู่ต่อสู้ของนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้ายตีลูกบอลใส่ด้านโฟร์แฮนด์ของเขา เพราะการเคยชินกับการตี ลูกบอลจี้แบคแฮนด์ของนักเทนนิสที่ถนัดมือขวา ฉะนั้นคุณควรจะฝึกซ้อมทุกครั้งที่มีโอกาสกับนัดเทนนิสที่ถนัดมือซ้าย

           ปัญหาหลักใหญ่ ๆ 2 ประการที่คุณต้องเผชิญกับนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้าย คือ

                (ก)    ลูกบอลหมุนวิถีโค้งไปคนละทางกับนักเทนนิสที่ถนัดมือขวา เมื่อลูกบอลพุ่งมายังคุณเนื่องจากนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้ายจะหวด ลูกเทนนิส มาจากทิศทางตรงกันข้ามกับนักเทนนิสที่ถนัดมือขวา

            การตีโฟร์แฮนด์หรือท็อปสปินของนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้าย เมื่อตีลูกขนานเส้นข้างลูกจะหมุนโค้งดีดไปทางโฟร์แฮนด์ของ นักเทนนิสที่ถนัด มือขวามากกว่าปกติ และลูกสไลซ์แบคแฮนด์ของนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้ายในการตีลูกขนานเส้นข้างลูกจะหมุนแฉลบออกจากตัวไปทาง ด้านแบค แฮนด์ ของนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้ายมากกว่าปกติ วิธีการแก้ปัญหานี้ก็คือ หากคุณรู้ว่าเมื่อเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่ถนัดมือซ้าย คุณควรที่จะศึกษา การหมุน ของลูกที่จะมาจากนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้ายและเตรียมตัวให้พร้อมที่จะตอบโต้ลูกทุกลูกกลับไป

                (ข)ทิศทางที่คุณจะตีลูกบอลไปยังฝั่งตรงกันข้ามเมื่อคุณต้องเล่นกับคู่ต่อสู้ที่ถนัดมือซ้าย เช่น คุณอาจจะเผลอในการตีลูกแอพโพร้ชช็อท (Approach Shot)ไปยังโฟร์แฮนด์ของผู้เล่นที่ถนัดมือซ้ายและถ้าหากเขาถนัดโฟร์แฮนด์เขาก็จะสามารถตีลูกอัดกลับได้อย่างรุนแรงและมี ประสิทธิภาพ  ปัญหาอีกอย่างที่จะต้องปรับมากๆคือ การบังคับตีลูกวอลเล่ย์แบคแฮนด์ตรง เพื่อให้ตกไปแบคแฮนด์ของผู้เล่นที่ถนัดมือซ้าย เป็น การตีที่ไม่ใช่ง่ายนักเพราะคุณเคยใช้ลูกนี้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ในการตีกับนักเทนนิสที่ถนัดมือขวา แต่คุณจะต้องตีลูกนี้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อคุณ ต้องเจอกับคู่ต่อสู้ที่ถนัดมือซ้าย ถ้าหากคุณพลาดสองหรือสามครั้งในแต้มที่สำคัญก็อาจจะทำให้เกมพลิกผัน โอกาสที่คุณจะแพ้การแข่งขันแก่คู่ต่อสู้ที่คุณ จะสามารถชนะได้นั้น ก็มีสิทธิ์ที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

           หากคุณสามารถเสิร์ฟลูกสไลซ์ ไปยังแบคแฮนด์ของนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้ายได้ ก็จะทำให้เขาตีลูกได้ลำบากขึ้นได้เช่นกัน ตำแหน่งที่คุณควร จะยืนเสิร์ฟสไลซ์นี้ทำได้โดย ในด้านคอร์ตขวาให้คุณยืนห่างจากจุดกลางคอร์ตสักสองหรือสามฟุต และในคอร์ตซ้ายให้คุณยืนชิดกับจุดกลางคอร์ต เท่าที่จะเป็นไปได้

           ปัญหาอีกอย่างของนักเทนนิสที่ถนัดมือซ้ายก็คือ ลูกวอลเล่ย์ต่ำด้านโฟร์แฮนด์ โทนี่ โรช ( Tony Roche ) นักเทนนิสชาวออสเตรเลี่ยนกล่าวว่า  การที่นักเทนนิสที่ถนัดมือซ้ายตีลูกวอลเล่ย์ต่ำด้านโฟร์แฮนด์ลำบากก็เพราะว่า เมื่อเขาเสิร์ฟสไลซ์บีบคู่ต่อสู้ด้านแบคแฮนด์ในคอร์ตซ้าย คู่ต่อสู้มักจะ รับกลับโดยตีลูกขนานเส้นข้างและใส่แบคแฮนด์ของเขาบ่อยครั้งกว่า ฉะนั้นเมื่อเขาต้องตีในด้านโฟร์แฮนด์ ซึ่งนาน ๆ ครั้งจึงจะได้ตีหนหนึ่ง จึงกลาย เป็นจุดอ่อนไปโดยปริยาย คุณลองนำหลักการเช่นนี้ไปใช้ดูสิครับ

                3.4 คู่ต่อสู้ที่ถนัดสองมือ ( Two-handed Players ) ในทุกยุคทุกสมัยจะมีนักเทนนิสที่ใช้สองมือในการตีลูก ตัวอย่างเช่น ปานโช เซกูรา          ( Pancho Seguera ) จะใช้สองมือในการตีทั้งด้านโฟร์แฮนด์ และแบคแฮนด์เหมือนกับ โมนิก้า เชลเลส ( Monica Seles ) ส่วนจิม คูเรียร์ ( Jim Courier ) และอังเดร อากัสซี่ ( Andre Agassi ) จะใช้การตีสองมือเฉพาะด้านแบคแฮนด์และตีได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

                การตีลูกโดยใช้สองมือนี้ช่วยในการตีของนักเทนนิส เด็ก ๆ ให้มีกำลังมากขึ้น เพราะข้อมือและแขนที่ยังแข็งแรงไม่พอสิ่งที่สำคัญในการตี สองมือก็คือ นักเทนนิสจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงด้วย เพราะการตีลูกโดยใช้สองมือนั้นจะต้องก้าวเท้าเพิ่มหนึ่งหรือสองก้าวจึงจะตีลูกบอลได้ดี ในลูกที่ เอื้อมไกลการตีลูกด้วยมือเดียวถึงแม้แขนคุณจะเหยียดตึง ดังภาพ 4.12 คุณก็ยังสามารถตีลูกกลับไปดีได้ ส่วนการตีด้วยสองมือนั้นถ้าจะให้ลูก กลับไป แรง คุณจะต้องงอศอกเล็กน้อยซึ่งจะทำให้ระยะในการตีใกล้ตัวเข้ามาอีก จึงทำให้ต้องวิ่งมากขึ้นถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ในการที่คุณจะสามารถชนะ คู่ต่อสู้ที่ใช้สองมือได้นั้น คุณจะต้องตีให้เขาวิ่งและเอื้อมตี ทำได้โดยตีไปที่มุมเส้นเสิร์ฟตัดกับเส้นข้าง ( Side-T ) ให้ลูกพุ่งออกไปด้านข้างของสนาม คู่ต่อสู้ต้องตีลูกลำบากขึ้นและต้องวิ่งไล่ลูกบอลไกลขึ้นจะทำให้เขาเหนื่อยในเซ็ทที่สองได้ เว้นเสียแต่ว่าคู่ต่อสู้มีความเร็วและร่างกายที่ฟิตมาก

                อีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลก็คือการตีลูกให้กระดอนสูงหรือตีเข้าหาตัวของคู่ต่อสู้ที่ถนัดสองมือ รอโอกาสที่คู่ต่อสู้เสียจังหวะ แล้วคุณจึงตีลูกบอลใส่ไป ทางด้านโฟร์แฮนด์

                บางทีจุดอ่อนที่นักเทนนิสถนัดสองมือไม่ชอบมาก ๆ ก็คือ การตีลูกวอลเล่ย์ต่ำ เพราะเขามักจะจับกริปด้วยอีสเทิร์น ( Eastern ) ทั้งสองมือหรือ เซมิ-เวสเทิร์น (Semi-Western) โฟร์แฮนด์ทั้งสองมือฉะนั้นเมื่อเขาต้องการที่จะเปิดหน้าไม้มาก ๆ เพื่อที่จะตีลูกวอลเล่ย์นั้นข้อมือจะอยู่ในท่าทางที่ขัด มาก ๆ ถ้าผมมีโอกาสที่จะสอนนักเทนนิสที่ถนัดสองมือ สิ่งแรกก็คือฝึกให้เขาวอลเล่ย์ด้วยกริปคอนติเนนตัล ( Continental ) เพราะการที่จะใช้กริป เวสเทิร์น หรืออีสเทิร์น โฟร์แฮนด์ ( ดูรายละเอียดเพิ่มเติมตอนที่ 12 หัวข้อที่ 1 ) ถึงแม้จะช่วยในการตีลูกกราวน์สโตรคได้ดี แต่จะลำบากมากในการ ใช้ตีลูกวอลเล่ย์ ตัวอย่างจะเห็นได้จากนักเทนนิสระดับโลก เช่น อังเดร อากัสซี่ ( Andre Agassi ) หรือแอรอน คริคสตีน ( Aron Krickstein ) จะมีการตี วอลเล่ย์ที่อ่อนมากเมื่อเปรียบเทียบกับลูกอื่น ๆ ของเขา

                3.5 ผู้เชี่ยวชาญในการตีลูกหมุน ( Spin Specialist ) เมื่อคุณเจอกับคู่ต่อสู้ที่ตีลูกหมุนด้วยวิธีกาต่าง ๆ ไม่ว่าลูกจะกระดอนต่ำหรือสูง ลูกดีด ไปทางซ้ายมือหรือขวามือ วิธีง่าย ๆ ก็คือ ให้คุณสวิงไม้ไปข้างหลังสั้น ๆ อย่าพยายามที่จะตีอัดลูกหนัก ๆ กลับไปโดยหวังที่จะให้เขารับไม่ได้เพราะคุณจะ เป็นคนที่ตีลูกพลาดเองเสียก่อน

                ผู้เชี่ยวชาญในการตีลูกหมุนมักจะเป็นผู้เล่นที่ไม่ชอบในการตีวอลเล่ย์หรือลูกตบเหนือศีรษะซึ่งเมื่อเผชิญกับลูกชนิดดังกล่าว เขามักจะ พยายามตีลูกกลับไปเพียงแค่หวังให้ลูกบอลลงดีไว้ก่อนเท่านั้นในความเป็นจริงแล้วเขามักจะตีลูกไม่แรง จึงทำให้เขาต้องเรียนรู้และพัฒนาการตี ลูกปั่นเพื่อเสริมสร้างเกมของเขาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แน่นอนที่สุดว่าจะต้องมีคู่ต่อสู้บางคนที่สามารถตีลูกเบา หรือแรงก็ได้ ถ้าหากคุณเจอคู่ต่อสู้ เช่นนี้ คุณจะต้องอ่านเกมของเขาให้ออกว่าเขาจะตีอย่างไร? และคุณต้องสามารถที่จะตีให้เบา หรือแรงได้ไม่แพ้เขาเช่นกัน การฝึกฝนกับกำแพง โดยตีแรงสลับกับเบาจะช่วยคุณได้มากทีเดียว

                3.6 นักเทนนิสที่ตีอัดอย่างรุนแรง ( Blaster ) เป็นนักเทนนิสที่ตรงกันข้ามกับผู้เชี่ยวชาญในการตีลูกหมุน คือ เขาจะตีอัดลูกอย่างรุนแรง ตลอดเวลา แต่นักเทนนิสที่ดีนั้นจะไม่ตีอัดลูกสุดขีดทุกลูกฉะนั้นนักเทนนิสประเภทนี้จะเป็นนักเทนนิสระดับกลางหรือหัดใหม่ นักเทนนิสประเภทนี้ มีความเชื่อมั่นในการแสดงออกสูง ( Ego ) ซึ่งถือว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับการเล่นเทนนิสอย่างไม่ถูกต้อง

                โอกาสที่นักเทนนิสที่ตีอัดรุนแรงนี้จะชนะคุณได้ ก็อาจจะเป็นเพราะว่าคุณไม่สามารถที่จะต้านลูกที่รุนแรงของเขาได้เท่านั้นเอง การที่คุณจะ เอาชนะคู่ต่อสู้เช่นนี้ให้ได้นั้น ทำได้โดยให้คุณพยายามที่จะตีลูกกลับไปและโต้ลูกให้ได้นานที่สุด คุณควรที่จะจับไม้ให้แน่นโดยบีบนิ้วก้อย นิ้วนาง และนิ้วกลางไม้จะได้ไม่หลุดไปจากมือคุณ และใช้วิธีการของแรงสะท้อนจากเอ็น ( Profit with the String ) โดยการกั้นลูกกลับไป อย่าพยายามที่จะตีลูก แรงกว่าคู่ต่อสู้ถึงแม้ว่าคุณจะมีความรู้สึกอยากที่จะตีอัดลูกให้เกิดความมันส์บ้าง