ยุทธวิธีที่มีความสัมพันธ์กับเกม

( Pre game Strategy )

1. เรียนรู้จากความพ่ายแพ้ ( Learning from being Defeated )

                ผู้ชนะส่วนใหญ่มักจะมีความมั่นใจในการแสดงออกสูง ( Ego ) และถือเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตเขาจึงมักจะลืมไปว่าเขาชนะมาได้อย่างไร ส่วนผู้แพ้มักจะเรียนรู้และจดจำได้ดีกว่าเมื่อเขาแพ้ยิ่งจะเป็นการท้าทายทำให้เขาอยากจะทำในสิ่งที่เขายังทำไม่ได้ และพยายามค้นหาข้อผิดพลาด จากเกมการเล่นของเขา

                ในการเล่นระดับสูงขึ้นไป คุณจะต้องมีจุดมุ่งหมายและพยายามที่จะพัฒนาเกมของคุณให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่คุณลงแข่งขันคุณควรที่จะ ท้าทายตัวเอง แม้ว่าคุณจะเล่นอยู่กับน้องสาวของคุณหรือตีกับกำแพง เช่นคุณตีใส่จุดแข็งของน้องสาว ส่วนตัวคุณตีในด้านจุดอ่อนของคุณ  คุณควรที่จะ สนุกสนานกับเกมตลอดเวลา ถ้าคุณเบื่อหน่ายกับการแข่งขันนั่นก็ถือว่าเป็นความผิดของคุณเอง เพราะว่าทุก ๆ ครั้งจะมีการท้าทายตัวคุณเองบนคอร์ต เทนนิส  คุณควรที่จะตีทุกลูกทุกแต้มอย่างมีความหมาย และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องเล่นแต้มที่สำคัญคุณจะพร้อมต่อการท้าทายเหล่านั้น

                นักเทนนิสในระดับแข่งขันมักจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง เขาจะยอมรับต่อความพ่ายแพ้และรู้ว่ายังมีคนที่เก่งกว่าเขาอีก แต่เขาก็จะไม่ ลดละความพยายามที่จะหาหนทางชนะให้จงได้ ยังมีนักเทนนิสระดับสโมสรอีกหลายคนที่พอจะมีฝีมืออยู่บ้าง แต่ไม่ชอบการแข่งขันเพราะเขาไม่อยาก ที่จะแพ้ใครและเขาก็ไม่เคยคิดที่จะท้าทายตัวของเขาเองเลย

                ในกรณีที่คุณแข่งขันกับนักเทนนิส ในระดับชั้นที่เหนือกว่า คุณควรจะยอมรับความพ่ายแพ้และรู้ว่ามีสิ่งที่จะต้องเรียนรู้อีกมาก แต่ถ้าหาก คุณแข่งขันกับนักเทนนิสในระดับเดียวกัน เกมสูสีกันมากคุณมักจะเกร็งและตีลูกผิดพลาดเอาง่าย  ๆ ในขณะที่คุณตกอยู่ในสภาวะความกดดัน เมื่อ เป็นเช่นนั้นคุณจะต้องปรับปรุงและเปลี่ยนเกม โดยคุณจะต้องเข้าใจถึงความคิดในแง่บวกและการทำใจให้นิ่ง ซึ่งจะทำให้คุณพัฒนาเกมของคุณและ ยกระดับสูงขึ้น โอกาสที่คุณจะเป็นฝ่ายชนะก็จะ    มีมากขึ้น

2. เรียนรู้ที่จะชนะ ( Learn the Way to win )

                นักเทนนิสส่วนใหญ่ที่แต้มกำลังนำอยู่นั้นแทนที่จะคิดว่า “ทำอย่างไรฉันจึงจะชนะได้ เขากลับคิดว่า “ทำอย่างไรเขาจึงจะหลีกเลี่ยง ความพ่ายแพ้ได้” นักเทนนิสน้อยคนนักที่จะเรียนรู้การที่จะเอาชนะให้ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อสกอร์ 6:4 , 5:4  นักเทนนิสหลายคนมักจะคิดว่า “เขามีโอกาสที่จะชนะแล้วเพียงแค่ทำแต้มอีกสี่แต้มเท่านั้น” แทนที่จะคิดถึงวิธีการตีเพื่อที่จะทำแต้มและปิดเกมการแข่งขัน

                สิ่งสำคัญมาก ๆ ในทางด้านจิตวิทยา ก็คือ ความมั่นใจที่จะสามารถชนะได้เพราะกว่าที่คุณจะผ่านการมาเป็นผู้ชนะได้นั้น คุณจะต้องผ่าน ความพ่ายแพ้มาแล้วอย่างโชกโซน ดังนั้นจึงอาจจะเกิดกำแพงความรู้สึกของความพ่ายแพ้ขวางกั้นอยู่ ฉะนั้นคุณจะต้องทำลายกำแพงนี้ออกไปให้ได้ ด้วย “เชื่อมั่นเท่านั้นเอง” หากคุณทำสำเร็จโดยชนะตัวเองได้คุณก็สามารถที่จะชนะคนอื่น ๆ ได้   เช่นกัน

 3. ตั้งเป้าหมายอย่างมีเหตุผล ( Set-up Reasonable Goals )

                ขั้นแรกที่จะพัฒนาเกมของคุณก็คือ การตั้งเป้าหมายอย่างมีเหตุผลที่จะเกิดขึ้นได้ ตัวอย่าง เช่น หลาย ๆ คนเมื่อนั่งดูนักเทนนิสระดับโลก แข่งขันในทีวี เขาก็มีความคิดที่จะเลียนแบบวิธีการตีเหล่านั้นทั้ง ๆ ที่เขายังทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกหยอดวอลเล่ย์ ลูกวิ่งตีแบคแฮนด์ผ่าน คู่ต่อสู้ ลูกโด่งด้วยท็อปสปินมาก ๆ เพราะเขาต้องระลึกอยู่เสมอว่า ในการที่จะทำเช่นนั้นได้ เขาจะต้องฝึกตีเทนนิสทั้งวันอย่างต่อเนื่องหรือต้องวิ่งอย่าง สม่ำเสมอหรือรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง เพื่อเตรียมตัวเป็นนักเทนนิสอาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะต้องมีกฎเกณฑ์และระเบียบวินัย ซึ่งเป็นคน ส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะกระทำเช่นนี้

               คุณจะต้องเข้าใจว่าคุณเป็นใคร คุณตีเทนนิสอยู่ในระดับไหน หากคุณตั้งเป้าหมายสูงเกินไปก็จะทำให้คุณสับสนไป ตัวอย่างเช่น คุณต้องการ จะแข่งขันในระดับโลกในอีก 2 ปีข้างหน้า ทั้ง ๆ ที่คุณเพิ่งจะหัดเล่นเทนนิสเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ในขณะที่คุณอายุ 30 ปี ซึ่งไม่สมเหตุผลเป็นอย่างมาก หลายคนที่เลิกเล่นเทนนิสไปไม่ใช่เพราะว่าแบคแฮนด์ของเขาอ่อนแต่เป็นเพราะว่าเขาตั้งเป้าหมายอย่างไม่สมเหตุสมผลซึ่งเขาไม่มีโอกาสจะไปถึงได้ จึงทำให้เขาเกิดความสับสนและเหนื่อยหน่าย เมื่อคุณเข้าใจเช่นนี้แล้วก็ให้ตั้งเป้าหมายอย่างสมเหตุสมผล แล้วจึงค่อย ๆ เลื่อนระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ การทำเช่นนี้จะทำให้คุณรู้สึกถึงความสนุกสนานกับเกมเทนนิสมากขึ้น

4. เล่นเทนนิสอย่างมีความสุข ( Happy Tennis )

                เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับคุณหรือไม่ ? หลังจากที่คุณนั่งชมการแข่งขันที่ดียอดเยี่ยมและสนุก เมื่อคุณลงสนามซ้อมในช่วงห้าหรือ หกเกมแรก เกมการเล่นของคุณจะดีมาก ๆ เอาเลยทีเดียวเพราะคุณกำลังมีความอยากที่จะเล่นมาก คุณเคยคิดบ้างไหมว่าถ้าคุณสามารถรักษาระดับ พัฒนาการของคุณได้ดีเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เกมของคุณจะพัฒนาขึ้นได้เร็วขนาดไหน

                จิมมี่ คอนเนอร์ ( Jimmy Connors ) เป็นนักเทนนิสที่มีความกระฉับกระเฉง กระตือรือร้นในการเล่นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เขายังเด็ก ๆ เขาใช้เวลาในการฝึกซ้อมเพียงสี่สิบห้านาทีเท่านั้น แต่เป็นการฝึกที่หนักมากอย่างเอาจริงเอาจัง หากคุณเองขาดความกระตือรือร้นในการเล่นก็ให้ หยุดซ้อม จะดีกว่าคนที่ฝึกซ้อมจริงจังอย่างคอนเนอร์ใช้เวลาเพียง 1 ชม. จะมีประโยชน์มากกว่าคนที่ฝึกซ้อมอย่างเฉื่อยชา 5-6 ชม.

                นักเทนนิสในปัจจุบันหลายคนลืมที่จะเล่นเทนนิสอย่างสนุกสนาน คุณควรที่จะเสริมสร้างแนวความคิดที่ดีและมีความสุขกับการเล่นเทนนิส ทุก ๆ ครั้ง ไปแล้วคุณจะรักเกมเทนนิส คุณจะรักความกระตือรือร้น และเกมของคุณจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว

5. ความตั้งใจแน่วแน่และความขยัน ( Determined and Deligent )

               ในการที่จะพัฒนาเกมเทนนิสได้นั้นคุณจะต้องมีความตั้งใจแน่วแน่และมีความรับผิดชอบในการฝึกซ้อมการเข้าใจในเกมมีความจำเป็นมาก ในการ ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเกม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากคุณตั้งเป้าหมายที่จะเป็นนักเทนนิสแข่งขันในระดับอาชีพ ความตั้งใจแน่วแน่นี้จะ ช่วยคุณให้สามารถพัฒนาขึ้นสู่จุดสูงสุดของคุณเองได้

                การฝึกซ้อมทำให้เกิดนิสัย 2 อย่าง คือ การฝึกนิสัยที่ดีและการฝึกนิสัยที่ไม่ดี คุณจะต้องรู้ด้วยว่า หลายสิ่งหลายอย่างแม้ว่าคุณจะฝึกซ้อม อย่างหนักเพียงไร ก็จะต้องใช้เวลามากเป็นเดือนเป็นปีกว่าที่คุณจะทำได้ดี ฉะนั้นขอให้คุณจงพยายามที่จะฝึกต่อไปเรื่อย ๆ ในที่สุดคุณก็จะทำได้และ นิสัยที่ดีจะติดตัวคุณตลอดไป

                นักเทนนิสในระดับสโมสรหลาย ๆ คนมักจะอ้างโน่นอ้างนี่แล้วไม่ฝึกซ้อม เช่น “วันนี้ลมแรงไปถ้าฉันซ้อมจะทำให้เกมแย่ลงไปอีก” ซึ่ง ผิดถนัด เพราะถ้าหากคุณต้องแข่งขันในวันที่ลมแรงเช่นนี้ คุณจะเคยชินได้อย่างไรในเมื่อคุณหลีกเลี่ยงการฝึกซ้อมอยู่ตลอดเวลา

                นิสัยที่ไม่ดีอีกอย่างก็คือ นักเทนนิสเหล่านั้นมักจะต้องการซ้อมกับนักเทนนิสที่เก่งกว่าเขาหรือไม่เช่นนั้นเขาจะถือว่าการซ้อมครั้งนั้น ไม่มี ประโยชน์ แท้จริงแล้วการฝึกซ้อมกับนักเทนนิสที่มืออ่อนกว่านั้น คุณสามารถที่จะเลือกฝึกซ้อมจุดอ่อนของคุณได้ การซ้อมกับนักเทนนิสที่เก่งกว่าคุณ เขามักจะตีลูกให้คุณวิ่งไล่บอลเสียมากกว่า

                นักเทนนิสส่วนใหญ่สูญเสียเวลาในการฝึกซ้อมโดยเปล่าประโยชน์ เพราะในขณะที่ฝึกซ้อมนั้นเขาไม่มีจุดมุ่งหมาย คุณควรจะคิดแบบ ฝึกซ้อม ให้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ของการแข่งขัน เช่นตีลูกบอลไปยังเป้าหมาย ไม่ปล่อยให้ลูกบอลกระดอน 2 ครั้ง โยกคู่ต่อสู้ได้เมื่อต้องการ วิ่งไล่ตี ลูกบอลทุกลูกเท่าที่จะทำได้

ภาพการฝึกซ้อมที่ตั้งใจอย่างแน่วแน่ ของ 3 พี่น้อง นางสาวสุปราณี  นางสาวประภาศรี และเด็กชายกิตติพงษ์  ตรุวรรณ์ โดยมีคุณพ่อ จ.ส.อ.ประสพ  ตรุวรรณ์ เป็นโค้ช

6. แรงฮึดสู้และไม่ท้อถอย ( Guts and Never Give Up )

                เมื่อร่างกายของคุณอ่อนล้า หรือเป็นตะคริวหรือเริ่มเป็นตะคริว เกมการเล่นของคุณจะตกต่ำลง ความรู้สึกจริง ๆ แล้วในขณะนั้นคุณอยากจะ นอนลง หรือดื่มน้ำ ในสถานการณ์เช่นนี้คุณจะต้องมีแรงฮึดสู้ นักเทนนิสที่ยอดเยี่ยมเมื่อเล่นไปถึงเซ็ทที่ห้า ร่างกายย่อมจะเหนื่อยล้าเป็นของธรรมดา  แต่เขาจะมีกำลังสำรองที่เหลืออยู่ก็คือแรงฮึดสู้กับความตั้งใจที่แน่แน่และไม่ท้อถอย

                คุณจะต้องรู้ว่าเมื่อคุณเหนื่อย คู่ต่อสู้ของคุณก็ต้องเหนื่อยด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าเขาจะซ่อนความรู้สึกเมื่อยล้าเอาไว้ได้ ไม่มีมนุษย์คนใด ที่เล่นเทนนิส 3 ชั่วโมงแล้วจะไม่เหนื่อยทางร่างกาย ทางจิตใจยังเพลียด้วยเช่นกัน คุณไม่ควรแสดงอาการเหนื่อยอ่อน เช่น ก้มศีรษะลง เอาไม้ เทนนิสค้ำตัวคุณไว้คุณควรที่จะลุกออกจากเก้าอี้ก่อนคู่ต่อสู้สักเล็กน้อย เดินด้วยท่าทางที่กระฉับกระเฉง คุณจะได้เปรียบมากในด้านจิตวิทยา เทคนิค การหายใจในขณะที่คุณเหนื่อยมาก ๆ หลังจากแต้มที่ต้องขับเคี่ยวกันนานก็ คือ การหายใจออกสั้น ๆ หลาย ๆ ครั้ง สลับกับหายใจเข้า 1 ครั้ง เพื่อลด ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบการหายใจ และเพิ่มระดับของออกซิเจน 4-5 เท่าเร็วกว่าปกติ

                ถ้าคุณไม่เคยที่จะอดทนหรือผลักดันตัวคุณเองที่จะต่อสู้กับความรู้สึกที่ไม่สบายกายหรือใจเลยแล้วคุณจะรู้ถึงขอบเขตความสามารถของคุณได้ อย่างไร? ขณะทำการแข่งขันคุณควรที่จะเตรียมยุทธวิธีการเล่นสักหนึ่งหรือสองวิธีเอาไว้ เมื่อใช้ไม่ได้ผลจริง ๆ แล้วก็ให้ใช้ยุทธวิธีขั้นสุดท้ายก็คือ แรง ฮึดสู้นั่นเอง  

7 . ฝึกให้ถึงขั้นไร้ขอบเขตจำกัดทางด้านจิตใจ ( No Mental Limitations )

                ความคิดที่ผิดของนักเทนนิสทั่ว ๆ ไปก็คือ ความคิดที่จะเลียนแบบเฉพาะท่าทางการตีของนักเทนนิสในระดับโลก ซึ่งโอกาสที่จะกระทำได ้เช่นนั้นยากมาก แต่การเลียนแบบทางด้านจิตใจนั้น นักเทนนิสในทุกระดับสามารถที่จะทำได้ง่ายกว่า ผมมีความเชื่อว่านักเทนนิสทุกคนในโลก มี ความสามารถที่จะเป็นนักเทนนิสที่มีจิตใจเข้มแข็งและเป็นนักสู้ที่ดีได้ ยังมีโค้ชอีกหลายคนที่มีความคิดผิด ๆ อยู่ เช่น การอ่านทางบอล การหลอก หน้าไม้ จะเก็บไว้สอนเฉพาะนักเทนนิสระดับขั้นสูง ซึ่งเขาจะไม่สอนให้กับนักเทนนิสหัดใหม่ ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมาก และ ควรที่จะสอนแต่เนิ่น ๆ เพราะเรื่องเช่นนี้ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้นานมาก คุณจะเห็นได้จากสโมสรทั่วๆ ไปที่นักเทนนิสผู้ใหญ่อายุสามสิบห้าปีขึ้นไป ยังสามารถที่จะชนะเด็กหนุ่มวัยยี่สิบปีได้ เพราะเขาอ่านเกมได้ดีกว่า เขารู้ว่าเขาทำอะไรได้บ้าง เขาทำอะไรไม่ได้ การตีลูกแต่ละลูกอย่างถูกจังหวะและ ใช้อย่างเหมาะสมกับเหตุการณ์มากกว่าการที่คุณจะชนะคู่ต่อสู้ที่มีฝีมือเท่าๆ กันได้นั้น คุณจะต้องใช้ความสามารถสูงสุดของคุณทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

8. การเข้าใจเกมของคุณเอง ( Understand Your Tennis Game )

                นักเทนนิสที่มีความคิดสร้างสรรค์ มักจะเกิดมาจากการที่มีความเข้าใจเกมเทนนิส รู้ว่าทำไมตัวเองถึงทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ไม่ใช่พยายาม ที่จะเลียนแบบนักเทนนิสคนอื่นเพราะท่าทางสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าจะเลียนแบบก็เพราะทำให้ตีลูกบอลได้ดีขึ้น และนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้า กับเกมของคุณ คืออย่างไรก็ได้ที่ท่าทางไม่ขัด ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย และผลของลูกบอลที่ออกมาดีก็ถือว่าใช้ได้ผล

                จุดมุ่งหมายของคุณก็คือ เข้าใจเกมเทนนิสอย่างถ่องแท้ เพื่อที่คุณสามารถที่จะเป็นโค้ชให้กับตัวคุณเองได้ ถ้าคุณศึกษาอย่างเข้าใจถ่องแท้ ดีแล้ว ค่อย ๆ ฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ และใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการโค้ชให้กับตัวเอง เกมของคุณก็จะค่อยๆ พัฒนาดีขึ้น ในเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้าคุณก็จะ สามารถยกระดับฝีมือของคุณให้พ้นไปจากระดับเดิมที่คุณติดค้างอยู่เป็นปีๆ ได้ และถ้าหากเพื่อนคุณถามว่า “ทำไมคุณถึงพัฒนาเกมการเล่นของคุณ ได้ดีขึ้นมาก คุณอย่าตอบเขาว่าอาจารย์เจริญชัย บอกให้คุณทำอย่างนั้นหรืออย่างนี้ แต่ให้ตอบเขาไปว่า ในที่สุดคุณก็เข้าใจว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ บนคอร์ตและคุณก็เข้าใจเกมเทนนิสอย่างถ่องแท้