คำสรรพนาม
คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนนามหรือข้อความที่กล่าวมาแล้ว เพื่อไม่ต้องกล่าวนามหรือข้อความนั้นซ้ำอีก เพราะภาษาต้องการความไพเราะและความหมดจดเกลี้ยงเกลา ถ้าต้องกล่าวคำหรือข้อความซ้ำกันอยู่บ่อยๆ ก็ต้องขาดความสละสลวย
สรรพนามแบ่งออกเป็น ๖ ชนิด คือ


๑.บุรุษสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนชื่อผู้พูด, ผู้ที่พูดด้วย และผู้ที่พูดถึง แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ

๑) ถ้าใช้แทนชื่อผู้พุด เช่นคำว่า ฉัน ผม ข้าพเจ้า อีฉัน อาตมภาพ เป็นต้น เรียกชื่อว่า บุรุษที่ ๑ ตัวอย่างประโยค ฉันชอบเลี้ยงสุนัขตัวเล็ก มีขนสีขาว
ข้าพเจ้าขอสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ที่ตนได้กระทำ
ข้าพระพุทธเจ้านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

๒) ถ้าใช้แทนชื่อผู้ที่พูดด้วย เช่นคำว่า ท่าน เธอ ใต้เท้า ฝ่าพระบาท เป็นต้น เรียกชื่อว่า บุรุษที่ ๒ ตัวอย่างประโยค
พนักงานจะนำพวกท่านไปชมบริเวณโรงงาน
ดิฉันคิดว่าคุณต้องชอบสินค้าตัวใหม่ของเรา
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จพระราชดำเนินงานวันวิทยาศาสตร์

๓) ถ้าใช้แทนชื่อผู้ที่ถูกกล่าวถึง เช่นคำว่า เขา มัน ใคร อะไร ผู้ใด เป็นต้น เรียกชื่อว่า บุรุษที่ ๓
การสังเกตคำบุรุษสรรพนามว่าจะเป็นบุรุษที่ ๑, ที่ ๒ หรือ ที่ ๓ นั้น ให้ถือหน้าที่ของคำเป็นสำคัญ เพราะคำบางคำอาจเป็นได้หลายบุรุษ สุดแต่ว่าทำหน้าที่เป็นผู้พูด, ผู้พูดด้วย หรือผู้ที่พูดถึง เช่นคำ “ท่าน” ในประโยคต่อไปนี้

ก. นายมีได้พูดกับประชาชนที่มาเลือกตั้งว่า “ท่าน ที่เคารพ”
ข.นายทองได้สั่งนายเทาว่า“ขอคุณช่วยบอกคุณหลวงด้วยว่าผมคิดถึงท่านมาก” ดังนี้คำ “ท่าน” ในประโยค ก. เป็นบุรุษที่ ๒ เพราะแทนผู้ที่พูดด้วย แต่คำ “ท่าน” ในประโยค ข. เป็นบุรุษที่ ๓ เพราะแทนผู้ที่พูดถึง

 

๒. ประพันธสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนนาม หรือแทนสรรพนามที่อยู่ติดต่อกันข้างหน้า ได้แก่คำว่า ผู้ ที่ ซึ่ง อัน ดัง ผู้ที่ ผู้ซึ่ง ตัวอย่าง เช่น
๑) ใครๆ ผู้ ที่ไม่กินผักก็ให้กินผลไม้
๒) คน ที่ เป็นทหารต้องมีความอดทน
๓) เขาบูชาความรัก ซึ่ง ทำให้เขาตาบอด
๔) บุคคล ดัง จะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้อาวุโส
๕) ไม้ อัน อยู่ในห้องคือไม้ตะพด
๖) นักเรียน ผู้ที่ สอบได้ที่หนึ่งจะได้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ
๗) เขา ผู้ซึ่ง ชอบการพนันจะต้องพินาศ

ประพันธสรรพนาม ตามตัวอย่างนั้น ย่อมทำหน้าที่ในคราวเดียวกัน ๔ ประการ
๑) ใช้แทนนามหรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า
๒) เป็นวิกัติการก ขยายนามหรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า
๓)เป็นประธานของคุณานุประโยคซึ่งเป็นอนุประโยคของสังกรประโยค ๔)เป็นบทเชื่อมระหว่างมุขยประโยค กับอนุประโยค
คำประพันธสรรพนามบางคำ คือ ที่ ซึ่ง อัน ใช้ซ้ำกับคำประพันวิเศษณ์ แต่มีวิธีใช้ต่างกัน คือ ถ้าเป็นประพันธสรรพนามต้องเรียงติดต่อกับนามหรือสรรพนาม ถ้าเป็นประพันธวิเศษณ์ ต้องเรียงติดต่อกับคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ ตัวอย่าง เช่น
๑) คน ที่ยืนอยู่นั้นเป็นทหาร (ที่ เป็นประพันธสรรพนาม)
๒) เขาเป็นคนดี ที่ฉันพึงปรารถนา (ที่ เป็นประพันธวิเศษณ์)
๓) ของ ซึ่งวางอยู่ในห้องหายไปไหน (ซึ่ง เป็นประพันธสรรพนาม)
๔) ผู้ใหญ่ ซึ่ง เอื้อเฟื้อผู้น้อยควรได้รับความคารวะ (ซึ่งเป็นประพันธสรรพนาม)
๕) มันเป็นของดี ซึ่ง ควรแก่การรักษา (ซึ่ง เป็นประพันธวิเศษณ์)
๖) เขาได้ให้โอวาท อัน น่านับถือแก่การรักษา (อัน เป็นประพันธสรรพนาม)
๗) สิ่งดี อัน ไร้ค่าเป็นเหมือนยอดปราสาทสำหรับประดับฟ้า (อัน เป็นประพันธวิเศษณ์)

๓. วิภาคสรรพนาม คือสรรพนามที่ใช้แทนนามหรือสรรพนามที่แยกออกเป็นแต่ละคน แต่ละสิ่ง หรือแต่ละพวก ได้แก่คำว่า ต่าง บ้าง กัน

วิภาคสรรพนาม ทำหน้าที่ดังนี้
ต่าง , บ้าง ทำหน้าที่ใช้แทนและขยายนามและสรรพนามข้างหน้า
กัน ทำหน้าที่เป็นกรรมหรือรวมกับบุพบทขยายคำข้างหน้า
ตัวอย่างเช่น
๑) นักกีฬา ต่าง ทำหน้าที่ของตน
๒) กรรมการ ต่าง ก็ขนของขึ้นจากเรือ
๓) ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่าง ก็มีงานทั้งนั้น
๔) นักศึกษาทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน, บ้าง ก็ฟังคำบรรยาย, บ้าง ก็ค้นตำรา, บ้าง ก็เข้าห้องทดลอง, บ้าง ก็ทำบันทึกการสอน
๕) นักเรียนทั้งหลาย บ้าง ก็อ่านหนังสือ บ้าง ก็เล่นฟุตบอล บ้าง ก็ดูรูปภาพ
๖) นักมวยชกกัน
๗) เขามองดูซึ่ง กัน และ กัน
๘) พี่น้องสูงเท่ากัน
คำ “ต่าง,บ้าง, กัน” ที่เป็นวิภาคสรรพนามนั้น จะต้องใช้แทนนามหรือสรรพนาม ดังตัวอย่างที่แสดงไว้นั้น ถ้าทำหน้าที่ประกอบนาม สรรพนาม กริยา หรือ วิเศษณ์ ซึ่งนับว่าเป็นคำวิเศษณ์ เช่น
ก. ประกอบนาม ต่าง คน ต่าง ใจ, ต่าง จิต ต่าง ความคิด, คน บ้าง สัตว์ บ้าง , วัว บ้าง ควาย บ้าง
ข. ประกอบสรรพนาม ต่าง เขา ต่าง เรา, เขา บ้าง เรา บ้าง
ค. ประกอบกริยา เขาพูด ต่าง กับฉัน , ทำ บ้าง หยุด บ้าง , เขาพยายาม กัน มาก, เขาเดิน กัน คนละทาง
ง. ประกอบวิเศษณ์ เขาเป็นคนดี ต่าง กัน , ทำมาก บ้าง ทำน้อย บ้าง , เขาพูดเก่ง กัน คนละอย่าง
คำ “ต่าง” และ “กัน” ยังใช้เป็นคำชนิดอื่นได้อีก เช่น
ก. เขา ต่าง กับฉัน (ต่าง เป็นกริยา)
ข. ต่าง อยู่บนหลังคา (ต่าง เป็นนาม)
ค. กัน มีเพื่อน สามคน (กัน เป็น บุรุษสรรพนาม)
ง. ฉัน กัน เงินไว้จำนวนหนึ่ง (กัน เป็นกริยา)

๔.นิยมสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามหรือข้อความ ที่กล่าวมาแล้วหรือที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า เป็นสรรพนามชี้เฉพาะเพื่อบ่งความให้ชัดเจน ได้แก่คำต่อไปนี้ : นี่ นั่น โน่น นี้ นั้น โน้น ทั้งนี้ ทั้งนั้น เช่นนี้ เช่นนั้น อย่างนี้ อย่างนั้น อย่างโน้น ตัวอย่าง เช่น
๑) ใคร จะมากับฉันก็ได้
๒) ฉันไม่ทราบว่า อะไร เป็น อะไร แล้ว
๓) ไหนๆ ฉันก็อยู่ได้
๔) ผู้ใด เป็นคนดีเราควรคบผู้นั้น
๕) คนเราจะดีได้ก็เพราะความดีเท่านั้น อื่น จากนั้นไม่มีอีกแล้ว
๖) ผู้หนึ่งผู้ใด เห็นว่า ผู้อื่น ดีกว่า ใครๆ ก็จงเลือกผู้นั้นเป็นผู้แทนของตน
๗) ชาวไหน ก็สู้ชาวพระนครไม่ได้

๕. อนิยมสรรพนาม คือ สรรพนามบอกความไม่บ่งเฉพาะ และไม่เป็นคำนาม
เช่น ใครๆ ใดๆ อะไร ผู้ใด สิ่งใด อันไหน สิ่งไหน ที่ไหน
ตัวอย่างประโยค ฉันจะวาดรูปอะไรส่งประกวดที่โรงเรียน
รองเท้าคู่ไหนที่เธอจะซื้อให้เขา

๖. ปฤจฉาสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามแต่มีเนื้อความเป็นคำถาม ได้แก่คำ ใคร อะไร ไหน ผู้ใด ชาวอะไร ชาวไหน ฯลฯ คำเหล่านี้มีใช้อยู่แล้วในอนิยมสรรพนาม แต่ต่างกับอนิยมสรรพนาม เพราะใช้เป็นคำถาม ส่วนอนิยมสรรพนาม ใช้เป็นคำแทนชื่อที่ไม่ชี้เฉพาะ หาได้ใช้เป็นคำถามไม่
ตัวอย่าง

๑) เมื่อเช้านี้ ใคร มาหาฉัน ? (เป็นปฤจฉาสรรพนาม)
๒) ใคร จะมาหาฉันก็ได้ (เป็นอนิยมสรรพนาม)
๓) อะไร อยู่ในกระเป๋า ? (เป็นปฤจฉาสรรพนาม)
๔) ฉันจะรับประทาน อะไร ก็ได้ (เป็นอนิยมสรรพนาม)
๕) ไหน คือบ้านของท่าน ? (เป็นปฤจฉาสรรพนาม)
๖) ฉันจะอยู่ ไหน ก็ได้ (เป็นอนิยมสรรพนาม)
๗) ผู้ใด อยู่ในห้องนั้น ? (เป็นปฤจฉาสรรพนาม)
๘) ผู้ใด จะอยู่ในห้องนั้นก็ได้ (เป็นอนิยมสรรพนาม)