ฮีด - คอง - คะลำ เป็นขนบธรรมเนียมของชาวอีสาน

ที่ใช้เป็นกฏระเบียบในการควบคุมความประพฤติและการกระทำของคนอีสาน ตามฐานะหรือตำแหน่งทางสังคมซึ่งได้ประพฤติปฏิบัติตนต่อเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว จนถือว่าทั้ง ๓ อย่าง คือ ฮีด-คอง-คะลำ เป็นกฏระเบียบของคนอีสาน ในสังคมชาวอีสาน ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตามฮีด ตามคอง และละเว้นคะลำ เหตุที่ต้องละเว้นข้อคะลำเพราะถือว่าเป็นของ “ขวง” หรือของต้องห้าม หากใครฝ่าฝืนไม่กระทำตาม ฮีดตาม คอง และไม่ละเว้นของคะลำจะต้องได้รับโทษหนังบ้างเบาบ้างตามความผิด
จึงอาจจะกล่าวได้ว่า “ฮีด-คอง-คะลำ” คือธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญของไทอีสาน
ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่ได้ตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นกฎหมายตามขนบประเพณี ซึ่งชาวอีสานในบรรพกาลได้พากันประพฤติตนตามฮีดตามคอง และเว้นของคะลำมาโดยตลอด จึงทำให้สังคมไทอีสานในบรรพกาล มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากผู้ร้ายอ้ายโจร คนมีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกัน อยู่ร่วมกันเป็นสังคมแบบรู้รักสามัคคี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
แต่ในปัจจุบันนี้มีไทอีสานบางส่วนไม่ได้ปฏิบัติตามฮีดตามคอง และไม่ละเว้นของคะลำที่บรรพบุรุษได้เคยถือ ประพฤติปฏิบัติมาตั้งแต่โบราณกาล เพราะหันไปรับเอาวัฒนธรรมของชนต่างเผ่าพันธุ์ที่ไม่เคยแยแสกับสิ่งที่ดีงามเหล่านั้น ซ้ำยังดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นของโบราณ คร่ำครึ ไม่ทันยุคทันสมัย ทั้งนี้เพราะอิทธิพลของสื่อต่างๆ ไม่ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ และนิตยสารต่างๆหรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่แสดงออกทั้งทางด้านข่าว ด้านภาพยนตร์ ด้านละคร ด้านเพลง ด้านดนตรี และตลอดจนการบันเทิงประเภทต่างๆอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีไทอีสานบางส่วนที่คิดว่าตนเป็นคนรุ่นใหม่ เพราะได้รับการศึกษาอบรมจากสังคมยุคใหม่ จึงไม่ใส่ใจเรื่องฮีดคองคะลำ อันเป็นวิถีชีวิตของคนอีสานรุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของพวกตน และยังมีคนไทยจากภาคต่างๆที่เข้าไปทำมาหากินหรือคบค้าสมาคมกับชาวอีสาน ไม่ได้ใส่ใจเรื่อง ฮีด-คอง-คะลำ อันเป็นขนบประเพณีที่ดีงามดั้งเดิมของชาวอีสาน ซ้ำร้ายกลับดูถูกเหยียดหยามว่า ฮีด-คอง-คะลำ นั้นเป็นของล้าสมัยคร่ำครึควรยกเลิกการประพฤติปฏิบัติตามสิ่งที่ไร้สาระนั้นเสีย แล้วยัดเหยียดจารีตประเพณีที่ดีงามของตนที่บอกว่า เลิศหรู ดีงามทันสมัยกว่าของดั้งเดิมไทอีสานเข้าไปแทนที่ ก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งเกือบทุกด้านในสังคมชาวอีสานยุคปัจจุบันผู้รวบรวมและเรียบเรียงเห็นว่า ฮีด-คอง-คะลำ ที่บรรพบุรุษไทยได้เคยประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคนแล้วนั้นน่าจะมีบางสิ่งบางอย่างที่ดี สมควรที่ลูกหลานไทยอีสานรุ่นปัจจุบันน่าจะได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อ และถ่ายทอดสู่ลูกหลานไทอิสานรุ่นต่อๆไป นอกจากนั้นยังจะได้เผยแพร่ให้คนไทยต่างถิ่น ได้รู้และเข้าใจแล้วจะก่อให้เกิดความรู้รักสามัคคีระหว่างคนไทยด้วยกันเอง
ถึงแม้จะสืบเชื้อสายมาต่างถิ่นและต่างเผ่าพันธุ์ และแม้ที่สุดาชาวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนถิ่นอีสานจะได้รู้ว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดควรเว้น เมื่ออยู่ในแดนดินถิ่นอีสาน หรือเมื่อคบหาสมาคมกับคนอีสาน
นอกจากนี้เผื่อว่าหากจะมีลูกหลานชาวอีสานอยากสืบค้นวิถีชีวิตคนอีสาน และสังคมชาวอีสานในยุคบรรพกาลสืบเนื่องมาจนยุคปัจจุบันนี้ มีความเป็นมาและเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ก็จะได้เห็น ฮีด-คอง-คะลำ ที่เป็นขนบประเพณาของไทอีสานที่ใช้เป็นเครื่องกำกับวิถีชีวิตคนอีสาน สืบเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้
จริงอยู่อาจจะมี ฮีด คอง คะลำ บางส่วนหรือบางข้อที่ล้าสมัยไม่เหมาะสมกับยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน อาจถูกเลิกใช้หรือบางข้อมีประโยชน์อยู่ อาจประยุกต์ใช้ หรือนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม และให้ทันสมัยตลอดไป ส่วนฮีด-คอง-คะลำ ข้อใดที่เลิกใช้ผู้อ่านก็จะได้รู้และเข้าใจถึงเหตุและผลของการเลิกใช้ ฮีด-คอง-คะลำ ข้อนั้นๆ ซึ่งตรงกับหลักความจริงที่ว่า “สรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”