การปฏิรูปราชการ

สิทธิในความเป็นผู้เป็นคน | การปฏิรูปราชการ | การปฏิรูป "ศาล" และระบบตรวจสอบ
การปฏิรูประบบผู้แทน | การขจัดความทุจริตในบ้านเมือง | บทส่งท้าย

...ท่ามกลางปัญหาบ้านเมืองที่รุมเร้าและหลากหลายเช่นทุกวันนี้
การปกครองของเราควรเล็งเห็นปัญหาพื้นฐาน แล้วมุ่งแก้ไขโดยแน่วแน่
ไม่แปรเปลี่ยน ตามรัฐบาลที่ผ่านพ้นไป
ส่วนราชการงานเมืองนั้นก็ควรแบ่งเป็นระดับชาติ และระดับถิ่น
ต้องกระจายให้คิดให้ทำกันเป็นถิ่นโดยไม่ลืมชาติ
และอีกส่วนหนึ่งก็รวมกันคิด และร่วมกันทำ เป็นชาติโดยไม่ลืมถิ่น ดังนี้จึงจะอยู่กันได้
การสั่งราชการทั้งหลายก็ควรจะโปร่งใส ให้ชาวบ้านผู้เกี่ยวข้องเขาได้รู้เห็นไต่ถามท้วงติงบ้างตามควร
มิใช่ถือว่ามีอำนาจแล้วใช้อำนาจกันไป ใครเดือดร้อนก็ประท้วงปิดถนนกันไป เช่นทุกวันนี้...
มาตรา ๗๐ บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชน

มาตรา ๗๖ รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ

มาตรา ๗๕ รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จัดระบบงานของกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ และอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

๒.๑ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ได้กำหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ให้รัฐมีหน้าที่สำคัญและตรงต่อปัญหาบ้านเมืองยิ่งขึ้น ดังนี้

๒.๑.๑ ชาติ

ได้คงไว้ซึ่งนโยบายหลักของชาติในการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต ตลอดจนการพัฒนากองทัพไว้

๒.๑.๒ การมีส่วนร่วม

ได้เพิ่มหน้าที่ส่งเสริม และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจระดับต่างๆ ของรัฐให้เด่นชัด และย้ำไว้เป็นพิเศษในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในงานจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม

๒.๑.๓ วัฒนธรรม

ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ได้ย้ำให้อุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตไว้อย่างชัดเจน ด้านระบบการศึกษา รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ และพัฒนาวิชาชีพครู โดยต้องให้องค์กรท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการจัดการศึกษาด้วย

๒.๑.๔ เศรษฐกิจ

ในส่วนเศรฐกิจนั้น ได้คงนโยบายเดิมที่จะคุ้มครองส่งเสริมการเกษตรฯ สหกรณ์ และผู้ใช้แรงงานไว้ อีกทั้งยืนยันในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมไว้ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นได้ยกระดับเป็นสิทธิไว้ด้วยแล้ว

๒.๒ การกระจายภาระกิจของรัฐ

๒.๒.๑ สิทธิชุมชน

ได้รับรองให้สิทธิแก่ชุมชนดั้งเดิม ที่จะเข้าจัดการดูแลรักษาฐานทรัพยากรของชุมชน อย่างสมดุลและยั่งยืน

มาตรา ๔๖ บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

๒.๒.๒ การปกครองส่วนท้องถิ่น

ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดหลักประกันและกลไกให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดขึ้นได้จริง โดยไม่กระทบต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของราชอาณาจักร ดังนี้

  • กำหนดให้การกำกับดูแลของรัฐต้องไม่ทำลายหลักการปกครองตนเอง
  • กำหนดให้การอำนวยการปกครองของท้องถิ่นต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นทั้งหมด ในส่วนของ อบต. ได้กำหนดให้ผ่อนผันไว้ในบทเฉพาะกาลให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอยู่ใน อบต. ต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. ใหม่

มาตรา ๒๘๕ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่น และคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรอผู้บริหารท้องถิ่น

สมาชิกต้องเลือกตั้งคณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นขอบของสภาท้องถิ่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี

  • ให้มีกลไกถาวรที่ไม่ตกอยู่ใต้ระบบราชการ เป็นคณะกรรมการพัฒนาการกระจายอำนาจ นำเสนอขั้นตอนการกระจายอำนาจและภารกิจ พร้อมการกระจายภาษีให้แก่ท้องถิ่นอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม และใช้บังคับได้ โดยท้องถิ่นจะมีหน้าที่หลักที่กำหนดไว้ ได้แก่ การศึกษา และการมีส่วนร่วมในงานจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย
  • ได้รับรองการกระจายภารกิจระดับจังหวัด ในพื้นที่ที่มีความพร้อมไว้ตามที่รัฐบาลและรัฐสภาในอนาคตจะกำหนด

มาตรา ๗๘ รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น

๒.๓ ราชการที่โปร่งใส

เพื่อควบคุมให้อำนาจในการสั่งราชการต่างๆ เป็นไปโดยสมเหตุผล ควบคุมได้จำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการปฏิบัติราชการให้โปร่งใส และเปิดรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้

๒.๓.๑ ข้อมูลสาธารณะ

ประชาชนมีสิทธิ์เข้าถึง "ข้อมูลสาธารณะ" โดยไม่ต้องมีส่วนได้เสีย

มาตรา ๕๘ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

๒.๓.๒ ความยุติธรรมก่อนสั่งการ

เมื่อจะวินิจฉัยสั่งการตามอำนาจในกฎหมายใด และจะยังผลกระทบเป็นโทษต่อผู้ใด เช่น จะสั่งปิดโรงเรียนราษฎร์ตาม พรบ. โรงเรียนราษฎร์ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจต้องให้โอกาสผู้ประกอบการทราบข้อเท็จจริง และเหตุผล เพื่อใช้สิทธิโต้แย้งก่อน

มาตรา ๖๐ บุคคลย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

๒.๓.๓ ประชาพิจารณ์

การวินิจฉัยสั่งการริเริ่มหรืออนุญาตโครงการใดที่กระทบต่อสาธารณชน รัฐต้องเปิดประชาพิจารณ์ให้โอกาสประชาชนผู้เกี่ยวข้องได้ทราบ ซักถามและท้วงติง อย่างเป็นธรรม เพื่อประกอบการพิจารณาก่อน

มาตรา ๕๙ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นก่อนการอนุญาต หรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติ

๒.๓.๔ "สภากระจก"

กำหนดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยตัวแทนขององค์การอันเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเศรษฐกิจ หรือสังคมในหมู่ประชาชน เพื่อให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

มาตรา ๘๙ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหมวดนี้ ให้รัฐจัดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ต้องให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็นก่อนพิจารณาประกาศใช้

องค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

๒.๔ รัฐต้องถูกฟ้องร้องได้

๒.๔.๑ การโต้แย้ง

คำวินิจฉัยสั่งการขององค์กรเจ้าหน้าที่ที่ผิดพลาด ต้องถูกฟ้องร้องให้แก้ไขเพิกถอนได้ โดยศาลปกครอง

๒.๔.๒ การละทิ้งหน้าที่

หากองค์กรเจ้าหน้าที่ไม่รักษาประโยชน์สาธารณะตามหน้าที่ในกฎหมาย ประชาชนผู้เดือดร้อนมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้ทำหน้าที่ได้

มาตรา ๕๖ สิทธิของบุคคลที่นะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชัวภาพและใสนการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่าางปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้ให้องคฺการอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าวทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ย่อมได้รับความคุ้มครอง

๒.๔.๓ ความรับผิด

เมื่อคนของรัฐทำผิด และประชาชนเสียหาย รัฐต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น ด้วย

มาตรา ๖๒ สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐ ที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิด เนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ