การปฏิรูป "ศาล" และระบบการตรวจสอบ

สิทธิในความเป็นผู้เป็นคน | การปฏิรูปราชการ | การปฏิรูป "ศาล" และระบบตรวจสอบ
การปฏิรูประบบผู้แทน | การขจัดความทุจริตในบ้านเมือง | บทส่งท้าย

... "อำนาจ" กับ "ความฉ้อฉล" นั้น ย่อมใกล้ชิดกันเป็นธรรมดา
แต่สำหรับ "อำนาจที่ไร้ขอบเขต" นั้น ย่อมอยู่คู่กับ "การฉ้อฉลที่ไร้ขอบเขต" เสมอ...

ระบบการเมืองการปกครองไทยได้ละเลย ทอดทิ้ง ไม่พัฒนาระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ฝากทุกอย่างไว้กับวิถีทางการเมืองทั้งในและนอกระบบราชการมาโดยตลอด จนนำมาซึ่งความไม่มีถูก ไม่มีผิดในบ้านเมืองเช่นปัจจุบัน เพื่อหลุดพ้นจากความอับจนเช่นนี้ สภาร่างรัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดให้ปฏิรูปศาล และระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้สมบูรณ์กว่าเดิม ดังนี้

มาตรา ๒๕๒ "ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ"

๓.๑ ศาลยุติธรรม

๓.๑.๑ ความเป็นอิสระ

ได้ปฏิรูปให้เป็นอิสระกว่าเดิม มีสำนักงานธุรการเป็นของตนเอง พ้นจากกระทรวงยุติธรรม

มาตรา ๒๔๙ ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น

การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ

การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาและตุลาการนั้น จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา

มาตรา ๒๗๕ ศาลยุติธรรมมีหน่วยธุรการของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา

การแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม

สำนักงานศาลยุติธรรมมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณและการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

๓.๑.๒ การบริหารงานบุคคล

กำหนดให้จัดระบบบริหารงานบุคลล และชั้นขั้นเงินเดือนใหม่ ให้สามารถคงผู้พิพากษาอาวุโสไว้เป็นหลักในศาลต้น และศาลต่างจังหวัดได้

มาตรา ๒๕๓ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ จะนำระบบบัญชีเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับมิได้

๓.๑.๓ กรรมการตุลาการ

ได้ปรับระบบกรรมการตุลาการ ให้ผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่ง ได้เลือกกันเองทั้งหมด โดยกระจายตัวแทนไปทุกชั้นศาล และเพิ่ม กต. ผู้ทรงคุณวุฒิที่วุฒิสภาเลือกอีก 2 คน

มาตรา ๒๗๔ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้

    ๑. ประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ

    ๒. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละชั้นศาล ชั้นศาลละสี่คน รวมเป็นสิบสองคน ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล และได้รับลือกจากข้าราชการตุลาการในทุกชั้นศาล

    ๓. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป้นข้าราชการตุลาการ และได้รับเลือกจากวุฒิสภา

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

๓.๑.๔ ศาลแขวง

ต้องพัฒนาศาลแขวงให้ทั่วถึงทุกท้องที่ เพื่อควบคุมการจับกุม และการฝากขังโดยใกล้ชิด

๓.๒ ศาลปกครอง

๓.๒.๑ อำนาจหน้าที่

มีหน้าที่หลักเป็นที่พึ่งให้ประชาชนฟ้องร้อง นำคำวินิจฉัยสั่งการตามกฎหมายต่างๆ ขององค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาให้ศาลทบทวนความถูกต้อง เพื่อเพิกถอนหรือแก้ไข ศาลปกครองจึงต้องเป็นอิสระ และมีหน่วยงานธุรการ เป็นของตนเองเช่นกัน

มาตรา ๒๔๙ ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

การพิจารณาพิพากอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น

การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ

การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาและตุลาการนั้น จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา

มาตรา ๒๘๐ ศาลปกครองมีหน่วยธุรการของศาลปกครองที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นต่อประธานศาลปกครองสูงสุด

การแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติ

สำนักงานศาลปกครองมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณและการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

๓.๒.๒ ศาลคู

ได้ตัดสินใจใช้ระบบศาลคู ให้ศาลปกครองมีศาลสูง และผู้พิพากษา แยกจากระบบศาลยุติธรรม

๓.๒.๓ การมีส่วนของสภา

การแต่งตั้งประธานศาลปกครองสูงสุด และ กต. ผู้ทรงคุณวุฒิ ๒ คน ต้องให้วุฒิสภาเห็นชอบ

มาตรา ๒๗๙ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้

    ๑. ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ

    ๒. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเก้าคน ซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองด้วยกันเอง

    ๓. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาสองคน และจากคณะรัฐมนตรีอีกหนึ่งคน

คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และวิธีการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

๓.๓ ศาลรัฐธรรมนูญ

๓.๓.๑ หน้าที่หลัก

เป็นศาลหลักที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ โดยคดีจะมาถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ต่อเมื่อมีการหยิบยกปัญหาขึ้นในศาลอื่นก่อน แล้วจึงส่งปัญหามาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในที่สุด หนทางอื่นนอกจากนี้จะกระทำได้ ก็แต่โดยการยื่นคำร้องของคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกรัฐสภา ว่าร่างกฎหมายใดที่ผ่านสภาแล้วขัดต่อรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๒๖๔ ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๖ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการ เพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรี่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว

๓.๓.๒ ที่มาและการทำงาน

ศาลรัฐธรรมนูญมี ๑๔ คน มาจากการคัดสรรของที่ประชุมผู้พิพากษา ศาลฎีกาผู้พิพากษาปกครองสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับความเห็นชอบของวุฒิสภา มีวาระแน่นอน ๙ ปี การพิจารณาในแต่ละคดีต้องมีผู้พิพากษา ๙ คน เป็นองค์คณะ

มาตรา ๒๕๕ ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีกสิบสี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้

    ๑. ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนห้าคน

    ๒. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนสองคน

    ๓. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา ๒๕๗ จำนวนห้าคน

    ๔. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา ๒๕๗ จำนวนสามคน

ให้ผู้ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่ง ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ

ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการรัฐธรรมนูญ

๓.๔ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

๓.๔.๑ อำนาจหน้าที่

องค์กรนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับร้องทุกข์จากประชาชนแทนรัฐสภา รัฐสภาจะมีผู้ตรวจการฯ ไม่เกิน ๓ คน คอยรับร้องทุกข์, สอบสวน แล้วรายงานต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีโดยเปิดเผย หนทางการร้องทุกข์นี้จะดีกว่าร้องเรียนหนังสือพิมพ์มาก เพราะนอกจากจะเป็นการเปิดเผยเหมือนหนังสือพิมพ์แล้ว ก็ยังมีอำนาจของรัฐสภาหนุนหลังอยู่ด้วย

มาตรา ๑๙๗ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

    ๑. พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี

    (ก) การไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย หรือปฎิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

    (ข) การปฎิบัติหรือละเลยไม่ปฎิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้น จะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม

    (ค) กรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

    ๒. จัดทำรายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา

๓.๕ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

๓.๕.๑ อำนาจหน้าที่

"เงินแผ่นดิน" ต้องใช้ให้ตรงไปตรงตามที่ตัวแทนประชาชนอนุมัติ ต้องเคารพต่อกฎหมาย และระเบียบที่จัดวางไว้ และต้องใช้ให้ได้มีประสิทธิภาพร่างรัฐธรรมนูญนี้ จึงได้กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในตัวกรรมการตามที่สรรหามาจากผู้ทรงคุณวุฒิโดยหวังว่า จะได้กรรมการที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารจริงๆ

มาตรา ๓๑๒ การตรวจเงินแผ่นดิน ให้กระทำโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระและเป็นกลาง

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกเก้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงิน การคลัง และด้านอื่น

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีหน่วยธุรการของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระ โดยมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง หรือด้านอื่น