การปฎิรูประบบผู้แทน

สิทธิในความเป็นผู้เป็นคน | การปฏิรูปราชการ | การปฏิรูป "ศาล" และระบบตรวจสอบ
การปฏิรูประบบผู้แทน | การขจัดความทุจริตในบ้านเมือง | บทส่งท้าย

..."ผู้แทนราษฎร" กับ "ขุนนางเลือกตั้ง" ทำอย่างไร?
คนไทยจึงจะมีทางเลือกที่มีความหมาย เมื่อ "เลือก" แล้วก็ "ตั้ง"
ให้เกิดการปกครองที่มี ประสิทธิภาพ
และมีเยื่อใย รับผิดชอบ ต่อประชาชนได้จริงๆ...

ระบบการปกครองโดยระบบผู้แทนนั้น มีทั้งระบบพรรคการเมืองการเลือกตั้งและระบบรัฐบาล ประกอบกัน ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดการปฏิรูปไปโดยลำดับ ดังนี้

มาตรา ๔๗ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน และเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

๔.๑ คำยืนยันที่จะคงไว้ซึ่งระบบรัฐสภา

สภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าระบบพรรคการเมืองของไทยยังไม่พัฒนาพอที่จะใช้ระบบ "แบ่งแยกอำนาจ" ที่ให้ประชาชนเลือกผู้บริหารโดยตรงได้ จึงตัดสินใจให้คงระบบรัฐสภา ให้ประชาชนเลือกผู้แทนราษฎรเพียงสายเดียวแล้วให้สภาผู้แทนราษฎรจัดตั้งคณะบริหารที่เรียกว่า คณะรัฐมนตรี บริหารราชการภายใต้ความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรจัดตั้งคณะผู้บริหารที่เรียกว่า คณะรัฐมนตรี บริหารราชการภายใต้ความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรไว้เช่นเดิม

๔.๒ การปฏิรูประบบพรรคการเมือง

มาตรา ๓๒๖ นอกจากที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

    ๑. การแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้ง และการอำนวยความสะดวกในการไปเลือกตั้ง

    ๒. การให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๕ วรรคสอง ออกเสียงลงคะแนน

    ๓. การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ การตรวจสอบและการคัดชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ซ้ำกันออกจากการสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อ

    ๔. การกำหนดแบบบัตรเลือกตั้ง ซึ่งต้องมีที่สำหรับทำเครื่องหมายว่า ไม่ลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการประกาศจำนวนผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง

    ๕. การสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการแนะนำผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยรัฐ รวมทั้งวิธีการแนะนำผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาเองหรือบุคคลอื่นที่อาจกระทำได้

    ๖. การจำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง การแต่งตั้งสมุห์บัญชีเลือกโดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง การตรวจสอบและการประกาศผลการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง

    ๗. การนับคะแนนและการประกาศผลการนับคะแนนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ซึ่งต้องกระทำโดยเปิดเผย ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งแต่เพียงแห่งเดียว เว้นแต่เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเฉพาะท้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ได้

    ๘. การนับคะแนนและการประกาศผลการนับคะแนนในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา

    ๙. การประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งจากผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และการเลื่อนผู้มีรายชื่ออยู่ในลำดับถัดไปขึ้นมาแทนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อพ้นจากตำแหน่ง

๔.๒.๑ ส.ส ต้องสังกัดพรรค

ได้เห็นควรกำหนดบังคับให้ผู้สมัคร ส.ส ต้องสังกัดพรรคการเมือง และหาก ส.ส. พรรคใดขาดสมาชิกภาพพรรคเมื่อใด ก็ต้องขาดจาก ส.ส. ไปด้วยเช่นกัน เหตุผลทั้งนี้ ก็เพื่อรักษาเสถียรภาพ และ ส่งเสริมประสิทธิภาพของระบบผู้แทนไว้

๔.๒.๒ การสนับสนุนพรรค

ขณะเดียวกันร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้ผ่อนคลายให้ตั้งพรรคการเมืองง่ายกว่าเดิม และได้รับการสนับสนุนจากรัฐทั้งในการพัฒนาพรรคและการเลือกตั้ง

๔.๒.๓ การเลือกพรรค

ได่ส่งเสริมให้ "พรรคการเมือง" มีความหมายทางการเมืองยิ่งขึ้น โดยนำระบบเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อมาใช้ ใครชอบพรรคไหนก็ออกมาเลือกบัญชีพรรคนั้นได้ โดยไม่ต้องท้อถอย แม้ผู้สมัคร ส.ส เขตของพรรคนั้นจะต้องแพ้เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นอย่างแน่นอนก็ตาม

๔.๒.๔ พรรคของประชาชน

พร้อมกับการส่งเสริมพรรคการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็มีมาตราการควบคุมพรรค ให้มีความโปร่งใสในรายรับรายจ่าย มีสาขาพรรคที่เป็นจริงเป็นจังเพื่อรับเงินอุดหนุน ต้องขยายสาขาพรรคไปทั่วภูมิภาค เพื่อคัดสรรผู้เหมาะสม มารวมเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อให้ทั่วถึงทุกภาค และในท้ายที่สุดนั้น หากมติขับไล่ ส.ส ออกจากพรรคเป็นไปโดยมิชอบต่อระบบประชาธิปไตย ส.ส นั้นก็อาจฟ้องร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญทบทวนได้

๔.๒.๕ การส่งเสริมพรรคหลัก

ในเรื่องของจำนวน "พรรคการเมืองหลัก" นั้น เชื่อว่าน่าจะมีน้อยลง ทั้งนี้เพราะว่าพรรคใหญ่จะได้เปรียบในการได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เนื่องจากมีกิจกรรมและผลงานที่เป็นจริงเป็นจังมากกว่า ด้านที่นั่ง ส.ส ก็จะได้เปรียบพรรคเล็ก เพราะในการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส แบบบัญชีรายชื่อนั้นจะตัดคะแนนพรรคที่ได้ไม่ถึง ๕ % ออกไป เมื่อผนวกด้วยเงื่อนไขให้บัญชีรายชื่อผู้สมัครเลือกตั้งแต่ละพรรคต้องแสดงการกระจายทั่วไป ตามภูมิภาค แล้วพรรคใหญ่ย่อมได้เปรียบและน่าจะยืนโดดเด่นเป็น "พรรคหลัก" โดยแท้จริงได้

๔.๓ การปฎิรูประบบเลือกตั้ง

๔.๓.๑ ปัญหาเสียง "ตกน้ำ"

เพื่อมิให้เสียงประชาชน "ตกน้ำ" โดยใช่เหตุ จึงปฎิรูประบบเลือกตั้งดังต่อไปนี้

  • กำหนดจำนวน ส.ส ตายตัว ๕๐๐ คน แบ่ง ส.ส เป็น ๒ ประเภท คือ ประเภท ส.ส เขต ๔๐๐ ที่นั่ง และประเภทบัญชีรายชื่อพรรค ๑๐๐ ที่นั่ง
  • ส.ส ที่เลือกตั้งตามเขตเลือกตั้ง ให้เลือกแบบเขตเดียวที่นั่งเดียว เมื่อทำได้ เช่นนี้ จะทำให้สนามเลือกตั้งเล็กลง ง่ายต่อการดูแลของ ส.ส อีกทั้งเป็นการง่ายที่จะตั้งสาขาพรรค และเอื้ออำนวยให้ผู้สมัครอาศัยบารมีชื่อเสียง เอาชนะ อำนาจเงินได้ โดยไม่ต้องไปเอาชนะด้วยเงินในอำเภอหรือเขตที่ราษฎรไม่รู้จัก
  • ส.ส. ประเภทบัญชีรายชื่อพรรค มาจากคะแนนรวมจากบัตรเลือกตั้งอีกใบหนึ่งที่ประชาชนกาบัตรให้พรรคที่ตนชอบ คะแนนที่แต่ละพรรคได้มานี้จะนำไปรวมกันทั่วประเทศ แล้วคิดเป็นอัตราส่วนว่าแต่ละพรรคจะได้ที่นั่งเป็นสัดส่วนเท่าใดใน ๑๐๐ ที่นั่งที่มี (โดยตัดคะแนนพรรคที่ได้ไม่ถึง ๕% ออกก่อน) พรรคใดได้ที่นั่งเท่าใดก็นำไปให้ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อที่ได้แสดงตน และเรียงลำดับไว้แล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งสมัครรับเลือกตั้ง

๔.๓.๒ "หน้าที่" ไปเลือกตั้ง

ได้กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ หากผู้ใดไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันควรจะเสียสิทธิ์ หรือผลประโยชน์ตามกฎหมายกำหนด ขณะเดียวกัน ก็จะอำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิ์ที่อยู่นอกภูมิลำเนา สามารถใช้สิทธิ์ได้โดยไม่ต้องกลับบ้านอีกด้วย

๔.๓.๓ การเลือกตั้งต้องตรงไปตรงมา

  • ได้จัดตั้งและให้ "คณะกรรมการเลือกตั้ง" ที่เป็นอิสระ เป็นผู้จัดการเลือกตั้งแทนนักการเมือง อีกทั้งห้ามนักการเมือง แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระหว่างช่วงเลือกตั้งโดยไม่ได้รับความเห็นชอบของกรรมการเลือกตั้งก่อน
  • "คณะกรรมการเลือกตั้ง" นี้ มี ๕ คน มาจากกระบวนการสรรหาที่รัดกุมคัดสรรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้วุฒิสภาคัดเลือก มีวาระแน่นอน ๗ ปี มีอำนาจกำกับดูแลการเลือกตั้ง และสั่งข้าราชการทั่วประเทศ เมื่อมีเหตุและหลักฐานอันควร ก็ให้มีอำนาจสั่งนับคะแนนใหม่ หรือเลือกตั้งใหม่ในเขตที่เป็นปัญหาได้
  • กำหนดให้ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต้องนำบัตรลงคะแนนแต่ละหน่วยมารวมนับ ณ ที่เดียวกัน เว้นแต่จะมีเหตุขัดข้องโดยสภาพ วิธีนี้เชื่อว่าจะป้องกันการลงทุนซื้อเสียงได้ไม่น้อยเช่นกัน

๔.๓.๔ การซื้อเสียงที่ควรจะลดลง

โดยภาพรวมของมาตรการที่ลำดับมา ก็เป็นที่น่าเชื่อได้โดยสมเหตุผลว่าการ "ซื้อเสียง" น่าจะลดลงโดยรวม โดยเหตุดังนี้

  • สำหรับระบบ ส.ส. เขตนั้น เขตเลือกตั้งที่เล็กลงจะทำให้เกิดการ "จอง" พื้นที่ด้วยบารมี หรือกำลังของสาขาพรรค เป็นผลให้ลดความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินไปชิงคะแนนในพื้นที่นอกเขตที่ไม่มีเสียงสนับสนุนไปได้มาก
  • ต่อปัญหาการที่พรรคการเมืองจะแย่งกันซื้อตัวผู้สมัครที่ "จอง" พื้นที่ไว้ได้แล้วนั้น ก็ได้ป้องกันไว้แล้ว โดยกำหนดให้ผู้สมัครในนามของแต่ละพรรคต้องสังกัดพรรคแล้วไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน (มีบทเฉพาะกาลผ่อนผันให้ใช้บังคับในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ ๒)
  • ในส่วน ส.ส ระบบบัญชีรายชื่อพรรคนั้น ได้กำหนดให้ถือเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ทำให้ไม่มีความแน่นอนในจำนวนที่นั่งที่จะได้ การลงทุนซื้อเสียงจึงไม่แน่นอนพอที่จะลงทุนได้

สำหรับปัญหา "ผี" หรือผู้มีสิทธิ์ที่ช่วยกันย้าย เข้ามาเพื่อเลือกผู้สมัครรายใดนั้น ก็แก้ไขให้แล้วเช่นกันว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านมาแล้วไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน

  • การนับคะแนนเลือกตั้ง ณ จุดเดียว จะทำให้ประเมินผลการซื้อเสียงเป็นหน่วยได้ลำบาก ยังผลให้ทำลายความแน่นอนในการลงทุนไปได้
  • ในแง่ของการใช้จ่ายหาเสียง รัฐได้ให้บริการโฆษณาในที่สาธารณะ และสื่อวิทยุโทรทัศน์ ยังผลให้เกิดความเสมอภาค ตัดค่าใช้จ่ายในการนี้ไปด้วยอีกส่วนหนึ่ง

๔.๔ การปฏิรูประบบรัฐสภา

๔.๔.๑ รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และประสิทธิภาพ

ได้พยายามสร้างสรรค์ให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และประสิทธิภาพภายใต้ความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรดังนี้

  • สร้างระบบเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของ "พรรคการเมืองหลัก"
  • ยกคุณวุฒิรัฐมนตรีให้จบปริญญาตรี
  • กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และเลือกโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้เพื่อกำหนดให้การจัดตั้งรัฐบาลมาจากการเจรจาตกลงโดยรวมของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยแท้จริง

มาตรา ๒๐๑ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐบาลคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่พ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๑๘ (๗) ในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวกัน

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

  • ได้ลดคณะรัฐมนตรีให้เหลือไม่เกิน ๓๖ คน (รวมนายกรัฐมนตรีด้วย) ทั้งนี้เพื่อความมีประสิทธิภาพในการตัดสินใจร่วมกัน รัฐนตรีนั้นจะแต่งตั้งจากผู้เป็น ส.ส. หรือไม่ก็ได้ แต่ห้ามแต่งตั้งจากสมาชิกวุฒิสภาที่พ้นตำแหน่งมาไม่เกิน ๑ ปี
  • ห้ามรัฐมนตรีเป็น ส.ส. ในขณะเดียวกัน กล่าวคือ หาก ส.ส. ใด ได้เป็นรัฐมนตรี ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. โดยหากเป็น ส.ส. ประเภทบัญชีรายชื่อ ก็ให้เลื่อนผู้อยู่ในบัญชีของพรรคนั้นขึ้นมาเป็น ส.ส. แทน หากเป็น ส.ส เขต ก็ให้จัดเลือกตั้งซ่อมแทนที่ว่าง

เทคนิคการแบ่งแยกหน้าที่นี้ มีเหตุผลหลักมุ่งไปที่การทำให้คณะรัฐมนตรีเป็นหนึ่งเดียวกัน อยู่ใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอย่างมีเอกภาพได้พรรคการเมืองเองก็จะต้องคัดสรรผู้สมควร เป็นรัฐมนตรีเสียแต่ต้นมือโดยนำเสนอชื่อได้ในบัญชีผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อให้ประชาชนได้พิจารณาตั้งแต่ในชั้นเลือกตั้ง

มาตรา ๒๐๔ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้

สมาชิกวุฒิสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันถัดจากวันที่ครบสามสิบวันนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

ต่อปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลนั้น ได้วางข้อกำหนดป้องกันการโค่นล้มรัฐบาลโดยอำเภอใจไว้แล้ว โดยระบุให้ญัตติขออภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ต้องมีจำนวน ส.ส. ผู้สนับสนุนไม่น้อยกว่าสองในห้า และต้องมีชื่อผู้สมควรเป็นนายกฯ แนบแสดงมาด้วย หากอภิปรายลงมติแล้วได้เสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่ง ผู้นั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีทันที โดยวิธีนี้เสียงของพรรครัฐบาลที่จะแตกแถวสนับสนุนฝ่ายค้าน ก็จะต้องแสดงตัว และมีข้อตกลงกับฝ่ายค้านเป็นที่เรียบร้อยแแล้ว การใช้อำนาจของสภาก็จะสมเหตุผลขึ้นโดยนัยนี้

มาตรา ๑๘๕ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าสองในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตติดังกล่าว ต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา ๒๐๑ วรรคสองด้วย และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงตามวรรคสาม

ในกรณีที่ฝ่ายค้านไม่ได้เสียงข้างมาก แต่สามารถคว่ำร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลก็ไม่ได้เสียงข้างมากเช่นกันนั้น ได้วางกลไกให้ชี้ขาดร่างกฎหมายนั้นโดยการประชุมร่วมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา

มาตรา ๑๓๗ ร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีระบุไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาตามมาตรา ๒๑๑ ว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใด หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ และคะแนนเสียงที่ไม่ให้ความเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่อยู่ คณะรัฐมนตรีอาจขอให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อมีมติอีกครั้งหนึ่ง หากรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบให้ตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกของแต่ละสภา มีจำนวนเท่ากันตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ประกอบกันเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น และให้คณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภารายงาน และเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัธรรมนูญนั้นให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๙๓ ถ้ารัฐสภามีมติไม่ไห้ความเห็นชอบ ให้ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป

ให้อำนาจรัฐบาลปรับกระทรวงทบวงกรม เพื่อสนองนโยบายของตนโดยคล่องตัวได้

๔.๔.๒ รัฐสภาที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ

หลังจากที่ได้พยายามสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และประสิทธิภาพแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้พยายามสร้างรัฐสภาที่มีเสถียรภาพด้วยเช่นกันคือ

  • ให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นเครื่องมือประจำในการติดตามกำกับดูแล ราชการบริหาร
  • กำหนดให้สมัยประชุมสามัญของรัฐสภาทั้ง ๒ สมัย มีระยะเวลายาวนานขึ้นจาก ๙๐ วัน เป็น ๑๒๐ วัน และสมัยประชุมหนึ่งสมัย ต้องใช้เพื่อการนิติบัญญัติโดยเฉพาะ ร่างกฎหมายใดที่ค้างมาจากรัฐสภาชุดก่อน รัฐสภาชุดใหม่สามารถหยิบยกมาดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ ตามคำขอของคณะรัฐมนตรี
  • กำหนดให้สภาผู้แทนมีอำนาจตั้ง "กระทู้สด" ๑ วันในหนึ่งอาทิตย์ สามารถถามเช้าและให้รัฐมนตรีตอบในบ่ายวันเดียวกันได้ เป็นเหตุให้ฝ่ายบริหารต้องตื่นตัวอยู่เสมอ ส่วนการตั้งกระทู้ถามก็จะทันการณ์อยู่เสมอเช่นกัน

มาตรา ๑๘๔ การบริหารราชการแผ่นดินเรื่องใดที่เป็นปัญหาสำคัญที่ยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นเรื่องที่กระทบถึงประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชน หรือที่เป็นเรื่องเร่งด่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อนเริ่มประชุมในวันนั้น ว่าจะถามนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินเรื่องนั้น โดยไม่ต้องระบุคำถามและให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในวาระการประชุมวันนั้น

การถามและการตอบกระทู้ตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินนั้นได้เรื่องละไม่เกินสามครั้ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

  • กำหนดห้ามยุบสภาในระหว่างที่มีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล
  • คงให้มีวุฒิสภาอยู่อีกสภาหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองร่างกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทน และเข้าประชุมร่วมตัดสินใจกับสภาผู้แทนใจกิจการสำคัญ
  • ยกคุณวุฒิ สส., สว. ให้ต้องจบปริญญาตรีหรือเคยเป็น ส.ส., สว. มาก่อน