Skip Navigation

เว็บที่ทุกคนเข้าถึง

บทความเรื่อง Web Accessibility การบริการข้อมูลข่าวสารที่คนพิการสามารถเข้าถึงได้

เรียบเรียงโดย น้ำหนึ่ง มิตรสมาน
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546
ความสำคัญ ในการให้บริการข้อมูล ข่าวสารที่ให้คนพิการ สามารถเข้าถึงได้
สืบเนื่องมาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 43 ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาชั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า สิบสองปีที่รัฐจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย" ประกอบกับมาตรา 30 วรรค 3 บัญญัติว่า "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะแห่งความแตกต่างในเรื่อง ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะบุคคล ... จนกระทำมิได้" ซึ่งความหมายว่า ประชาชนไทยทุกคนย่อมมีสิทธิทางการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อยอย่าง เสมอภาคและเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีสภาพทางกาย หรือสุขภาพอย่างไร ทั้งนี้โดยรัฐต้องจัด สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือให้ ตามมาตรา 55 ซึ่งบัญญัติ ว่า "บุคคลซึ่งพิการหรือ ทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก อันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
เว็บไซต์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหาความรู้ ดังนั้นผู้พัฒนาเว็บไซต์ทั้งหลายควรคำนึงถึง และอำนวยความสะดวกกับคนพิการในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์ด้วย
ภาพสัญลักษณ์คนพิการประเภทต่างๆ
กลับสู่เนื้อหาหลัก
ความหมายของ Web Accessibility
หมายถึงเว็บไซต์ที่สามารถให้บริการข้อมูลข่าวสารที่อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการสามารถใช้บริการได้ ซึ่งผู้ที่พัฒนาเว็บจะต้องมีแนวทางในการพัฒนาที่ตรงกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ให้คนพิการสามารถใช้บริการได้ด้วย โดยจะคำนึงถึงความพิการในทุกๆ ด้าน เช่น ความพิการทางด้านการมองเห็น, การได้ยิน, การเคลื่อนไหวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่ไม่สามารถทำได้ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเน้นไปทางผู้บกพร่องทางการมองเห็น เนื่องจากการมองเห็น คือการดูข้อมูลข่าวสารเพื่อที่จะอ่านทำความเข้าใจ ดังนั้นแล้วจึงต้องมีทางเลือกใหม่สำหรับผู้บกพร่องทางด้านนี้ซึ่ง ก็คือเปลี่ยนข้อมูลที่อยู่ในรูปตัวอักษร ให้เป็นข้อมูลทางเสียง นั่นก็หมายถึงว่าจะต้องมีโปรแกรมหรือบราวเซอร์ สำหรับอ่านหน้าจอให้นั่นเอง ซึ่งได้แก่ โปรแกรม JAWS ของ Freedom Scientific ที่เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง ,Homepage reader ของ IBM ที่เป็นบราวเซอร์สำหรับอ่าน Homepage ซึ่ง IBM ได้พัฒนาให้อ่านภาษาไทยได้แล้ว อีกโปรแกรมที่ใช้กันบ่อยก็คือ Narrator เป็นโปรแกรมที่มีมากับ Microsoft Windows ตั้งแต่ Windows2000 ขึ้นไป กลับสู่เนื้อหาหลัก
จะรู้ได้อย่างไรว่า เว็บไหนอำนวยความสะดวก ให้คนพิการเข้าถึงข้อมูลได้
การที่จะทำให้ทราบถึงว่าเว็บใดเป็นเว็บที่อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้นั้น จะต้องมีสัญลักษณ์กำกับอยู่ที่หน้าแรกของเว็บนั้นๆ ซึ่งสัญลักษณ์ที่ว่านี้ก็คือ Icon ซึ่งหมายถึงการที่เว็บนั้นๆ ได้ผ่านการตรวจสอบความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้ ตามแนวทางของการเข้าถึงข้อมูล (Web Content Accessibility Guideline1.0 WCAG1.0) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วโลก
สำหรับ Icon ที่จะแสดงนั้นจะแบ่งระดับความสามารถในการเข้าถึงเป็น 3 ระดับ ด้วยกันคือ
  1. Level A
  2. Level Double-A หรือ AA
  3. Level Trible-A หรือ AAA
และในความหมายของแต่ละ Level นั้นจะต้องมีค่าระดับความสำคัญ Priority ดังต่อไปนี้
  1. Priority 1, หมายถึง ผู้ที่พัฒนาเว็บจะ ต้อง ปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐาน ของคนพิการเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
  2. Priority 2, หมายถึง ผู้ที่พัฒนาเว็บ ควรจะ ปฏิบัติตาม ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ
  3. Priority 3, หมายถึง ผู้ที่พัฒนาเว็บ อาจจะ ปฏิบัติตาม คำแนะนำก็ได้ ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าปฏิบัติตาม คนพิการที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงว่าถ้าไม่ทำตามจะเข้าถึงข้อมูลไม่ได้ ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้แต่กระทำได้ยาก
ดังนั้นในความหมายของระดับความสามารถในการเข้าถึงมีดังนี้
  1. Level A หมายถึง จะต้องผ่านการตรวจเช็คที่ Priority 1 ทั้งหมด ตัวอย่าง Icon ที่ใช้ Icon Level A conformance icon,W3C-WAI Web Content Accessibility Guidelines 1.0
  2. Level Double-A หรือ AA หมายถึง จะต้องผ่านการตรวจเช็คที่ Priority 1 และ Priority 2 ทั้งหมด Icon Level Double-A conformance icon,W3C-WAI Web Content Accessibility Guidelines 1.0
  3. Level Trible-A หรือ AAA หมายถึง จะต้องผ่านการตรวจเช็คที่ Priority 1, Priority 2 และ Priority 3 ทั้งหมด Level Trible-A conformance icon,W3C-WAI Web Content Accessibility Guidelines 1.0
ถ้าเว็บใดมีสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ไว้ที่หน้าเว็บก็จะทำให้ทราบแล้วว่า เว็บนั้นอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากน้อยเพียงใด และจะเป็นเครื่องยืนยันด้วยว่า การพัฒนาเว็บให้อำนวยความสะดวกกับคนพิการเป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับมาตรฐานสากล กลับสู่เนื้อหาหลัก
เครื่องมืออะไรบ้างที่ใช้ตรวจสอบเว็บที่สามารถอำนวยความสะดวกให้คนพิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
ฉะนั้นการที่จะทำให้รู้ว่าเว็บไหนอำนวยความสะดวกให้คนพิการเข้าถึงข้อมูลได้จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ในการพัฒนา ซึ่งทาง World Wide Web Consortium หรือ W3C ได้จัดทำแนวทางในการพัฒนาเว็บขึ้นมาเรียกว่า "Web Content Accessibility Guideline 1.0 (WCAG1.0)" และ Checkpoint ของแต่ละหัวข้อเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแต่ละหัวข้อในแนวทางการพัฒนา ในส่วนของการตรวจสอบนั้นจะมีวิธีการอยู่ 2 วิธี คือ
  1. Automatic Check แบบอัตโนมัติ โดยใช้โปรแกรมตรวจสอบ ซึ่งอาจเป็นโปรแกรมที่ให้บริการตรวจสอบผ่านเว็บ หรือโปรแกรมที่ติดตั้งบนเครื่อง ก็ได้
  2. Manual Check แบบตรวจสอบเอง โดยพิจารณาจากตัวผู้ตรวจสอบเองซึ่งจะอ้างอิงตามข้อกำหนดจาก Guildline ในหัวข้อ Checkpoint
ซึ่งส่วนมากแล้วในการตรวจสอบจะต้องใช้ทั้งสองวิธีรวมกัน โดยที่จะทำการตรวจสอบจากโปรแกรมที่ให้บริการผ่านเว็บก่อน ซึ่งตัวโปรแกรมจะตรวจสอบแล้วจะแจ้งผลการตรวจสอบ พร้อมกับบอกถึงจุดที่ผิด หรือจุดที่น่าจะผิด ซึ่งจุดที่ผิดจากโปรแกรมตรวจสอบแล้วนั้น หมายถึงว่า จุดนั้นเป็นจุดที่ขัดต่อหรือมีผลต่อการเข้าถึงข้อมูลของคนพิการอย่างแน่ๆ แต่จุดที่น่าจะผิด ก็จะหมายถึงจุดนั้นๆ อาจจะขัดต่อหรือ มีผลต่อการเข้าถึงข้อมูลของคนพิการได้ ต้องตรวจสอบจากตัวของผู้ตรวจสอบอีกที อย่างเช่นเรื่องของ สีที่แสดง สีของตัวอักษรต้องใช้เป็นสีที่ชัดเจนไม่กลมกลืนไปกับ สีของพื้นหลัง เป็นต้น กลับสู่เนื้อหาหลัก
ตัวอย่างเว็บไซต์ ที่ให้บริการตรวจสอบ บนอินเตอร์เน็ต (Web Services)
ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ให้บริการตรวจสอบบนอินเตอร์เน็ต (Web Services) ดังนี้
  1. Bobby
  2. The Cynthia Says
Bobby เป็นการพัฒนาของ บริษัท Center for Applied Special Technology (CAST) โดย Bobby จะทำการรายงานผลได้ในทันทีที่ใส่ URL ที่ต้องการให้ตรวจสอบหน้าเว็บนั้นๆ ซึ่งการรายงานผลจะตรวจเช็คตามหัวข้อ Checkpoint ใน WCAG1.0 ถ้ามีส่วนใดที่ไม่เป็นไปตาม หัวข้อ Checkpoint ใน WCAG1.0 ก็จะแสดงสัญลักษณ์รูปหมวกขึ้นมาและเลขบรรทัดของ Code HTML ตามหัวข้อนั้นๆ ส่วนในกรณีที่แสดงเครื่องหมายคำถาม ("?") จะหมายถึง ส่วนนั้นอาจจะมีข้อผิดพลาดได้แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้จากการตรวจสอบแบบอัตโนมัตินี้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบ ด้วยวิธีตรวจเช็คตาม หัวข้อ Checkpoint ด้วยตัวเอง หรืออาจจะไม่ผิดพลาดในส่วนนั้นก็เป็นได้

The Cynthia Says เป็นของบริษัท HiSoftware โดย cynthia จะทำหน้าที่เป็นเหมือน Web service ที่ให้บริการในการตรวจสอบเหมือนกับของ Bobby แต่จะแตกต่างกับของ Bobby ตรงที่ Cynthia จะรายงานผลตามหัวข้อการใช้งาน Checklist of Checkpoint for WCAG1.0 และจะบอกว่า ผ่านหรือไม่ผ่าน โดยการตรวจสอบแบบอัตโนมัติ ก็จะบอกให้ตรวจสอบโดยวิธี User Manual หรืออาจจะบอกว่าในหัวข้อนี้ไม่มีการใช้ก็ได้

มีบางโปรแกรมสามารถตรวจสอบและแก้ไขในให้สามารถ Accessible ได้เลยตัวอย่างเช่น โปรแกรมของ A-Prompt ซึ่งเป็น Application โปรแกรมที่ใช้ติดตั้งลงบนเครื่องเพื่อตรวจสอบจากไฟล์ html แล้วแก้ไขในส่วนที่ไม่ Accessible ให้สามารถ Accessible ได้ พร้อมทั้งกำหนดได้ว่าให้สามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นๆได้ในระดับไหน กลับสู่เนื้อหาหลัก
เอกสารอ้างอิง
  1. Web Content Accessibility Guidelines
  2. Welcome to the Bobby Online Service
  3. The Cynthia Says
  4. A-Prompt
กลับสู่เนื้อหาหลัก

บทความต่อไป

สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ | สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
E-mail: suppakit.thongdee@nectec.or.th

ระดับความสามารถในการเข้าถึงเว็บไซต์ ความสามารถในการเข้าถึงเว็บไซต์ระดับ 3 ดาว, อ้างอิง WCAG1.0