แนวทางการดำเนินงานหอวัฒนธรรมนิทัศน์
ลายเส้นคั่น

       การดำเนินงานหอวัฒนธรรมนิทัศน์ เป็นเรื่องที่เพิ่งได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ดำเนินการขึ้นในเมืองไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจทั้งที่เกี่ยวกับความคิดและวิธีการดำเนินงาน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานหอวัฒนธรรมนิทัศน์ขึ้น ดังนี้
ความหมายของคำว่า "หอวัฒนธรรมนิทัศน์"
คำว่า "หอวัฒนธรรมนิทัศน์" เป็นคำที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กำหนดขึ้นเพื่อการดำเนินงานวัฒนธรรม ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจตรงกัน จึงได้กำหนดความหมายของคำว่า "หอวัฒนธรรมนิทัศน์" ดังนี้
หอ หมายถึง เรือน อาคาร หรือสถานที่ซึ่งใช้สำหรับดำเนินกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Hall"
วัฒนธรรม หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมที่เกิดจากการสั่งสม เลือกสรร ปรับปรุงแก้ไข จนถือว่าเป็นสิ่งดีงามเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม สามารถสืบสาวความเป็นมา เพื่อให้เกิดความเข้าใจและภาคภูมิใจร่วมกัน ตลอดจนสามารถสืบสาวความเป็นมาเพื่อสามารถเป็นพื้นฐานในการประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไปในปัจจุบันได้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Culture"
  นิทัศน์ หมายถึง การจัดแสดง การนำเสนอ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Exhibition"
       จากพื้นฐานความหมายของศัพท์ ทั้ง ๓ คำ "หอวัฒนธรรมนิทัศน์" จึงหมายถึง อาคารหรือสถานที่จัดแสดง หรือนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตของสังคมใดสังคมหนึ่งหรือชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และที่จะเป็นไปในอนาคต โดยมุ่งหมายให้เป็นแหล่งกลางในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความรัก และความภาคภูมิใจในวิถีการดำเนินชีวิตของสังคมหรือชุมชนนั้น และเป็นข้อมูลพื้นฐานในการนำวิถีการดำเนินชีวิตเหล่านั้นมาปรับใช้อย่างมีคุณภาพในสังคมปัจจุบัน
       ในความคิดสากลหอวัฒนธรรมนิทัศน์ (Cultural Exhibition Hall) ตรงกับความหมายภาษาอังกฤษว่า "Mankind"
นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในการสนับสุนการจัดตั้ง และดำเนินงานหอวัฒนธรรมนิทัศน์
       โดยที่งานวัฒนธรรม เป็นงานที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของทุกคนในชุมชน หรือในสังคมนั้น ทำให้ธรรมชาติของงานวัฒนธรรมเป็นงานของทุกคนทุกฝ่าย ในชุมชนเพื่อในสังคมนั้น ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการดำเนินงาน ดังนั้นในการดำเนินงานหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานวัฒนธรรมของท้องถิ่น จึงเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง โดยที่ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาร่วมกันรับผิดชอบดำเนินงานตามความถนัด ความสนใจ และความสามารถ โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีนโยบายหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์ดังนี้
  ๒.๑ การดำเนินงานหอวัฒนธรรมนิทัศน์ มีหลักการสำคัญ คือ ให้ท้องถิ่นรับผิดชอบและบริหารงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง ได้แก่ การก่อสร้าง การจัดหาอาคารสำหรับจัดแสดง การบริหารโครงการ การระดมสรรพกำลังในการหารายได้ และแนวทางในการดำเนินงานให้มั่นคงถาวรต่อไปในอนาคต
  ๒.๒ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในเชิงวิชาการ วิธีการในการนำเสนอ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้ความรู้ในเชิงการบริหารและการจัดการ ตลอดจนสนับสนุนการจัดพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์บางประเภทตามความเหมาะสม
เนื้อหาที่จะจัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์
  จากความหมายของวัฒนธรรมดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้นเพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตของท้องถิ่นในทุกด้าน การจัดหอวัฒนธรรมนิทัศน์จึงควรประกอบด้วยโครงสร้างเนื้อหาหลักอย่างน้อย ๔ เรื่อง คือ
  ๓.๑ บทนำ (Highlight) เป็นส่วนจัดแสดงเรื่องราวที่เป็นจุดเด่นของสังคม หรือชุมชนที่จะจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ซึ่งจะมีเฉพาะท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น เช่น จังหวัดพะเยามีจุดเด่น คือ กว๊านพะเยา หรือจังหวัดเชียงราย มีจุดเด่น คือ การประทับรอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จฯ เยือนเชียงราย พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นต้น
  ๓.๒ มานุษยวิทยา (Anthropology) เป็นส่วนจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ทุกด้านทุกสาขาในเชิงวัฒนธรรม เช่น ภาษา การแต่งกาย ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ เป็นต้น
  ๓.๓ ชาติพันธุ์วิทยา (Ethnology) เป็นส่วนจัดแสดงเรื่องราวเฉพาะของกลุ่มชนต่าง ๆ ในเชิงวัฒนธรรมเปรียบเทียบ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน
  ๓.๔ ธรรมชาติวิทยา (Natural History) เป็นส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ธรรมชาติ สัตว์ พืช แร่ธาตุ เป็นต้น
  นอกจากนี้ ยังสามารถจัดแสดงเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญและเกี่ยวพันกับวิถี การดำเนินชีวิตเฉพาะของท้องถิ่น หรือสังคมนั้นด้วยก็ได้
  จะเห็นได้ว่าเนื้อหาการจัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์ จะเน้นวิถีการดำเนินชีวิตของท้องถิ่นนั้น ซึ่งจะแตกต่างกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ (Museum of Art) ซึ่งจะมุ่งเน้นการจัดแสดงศิลปะวัตถุเป็นสำคัญ
องค์ประกอบการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์
  เนื่องจากการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์เป็นงานของท้องถิ่น ดังนั้นองค์ประกอบหลักในการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์จึงขึ้นกับความพร้อมของชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นเป็นสำคัญ ได้แก่
  ๔.๑ ชุมชนหรือท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย สถาบัน องค์กร เอกชน ฯลฯ เห็นความสำคัญในการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์ สำหรับเป็นแหล่งในการศึกษาค้นคว้า ประวัติความเป็นมาของชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งต้องมีความรู้ ความเข้าใจความเป็นมา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของท้องถิ่นของตนเองเป็นอย่างดีด้วย
  ๔.๒ ความร่วมมือจากผู้นำของแต่ละท้องถิ่นที่จะเป็นหลักในการดำเนินงานหอวัฒน-ธรรมนิทัศน์ให้ประสบผลสำเร็จ เช่น จังหวัดพะเยามีพระธรรมวิมลโมลี เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ หรือจังหวัดเชียงราย มีผู้ว่าราชการจังหวัด (นายคำรณ บุญเชิด) เป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อสามารถโน้มนำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยแรงศรัทธา ความรักและบารมีของตัวผู้นำเป็นสำคัญ
  ๔.๓ ความร่วมมือจากชุมชน เพื่อระดมความคิด ระดมสรรพกำลัง และระดมทรัพยากร ในการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์ให้ประสบผลสำเร็จ เช่น การจัดหาข้อมูลทางวิชาการ การจัดหาทุน การบริจาคศิลปวัตถุจากประชาชน ที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจและความเต็มใจในการเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นจัดหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ซึ่งจะมีคุณค่าทางจิตใจแก่ผู้เริ่มดำเนินการหรือที่จะสานต่อไปในอนาคต
วิธีการในการเตรียมจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์
  การเตรียมการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์ อาจจะมีวิธีการได้ดังนี้
  ๕.๑ ระดมความคิดเพื่อหาข้อมูลเชิงวิชาการ สำหรับจัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์ เช่น จัดประชุมสัมมนา, จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อมูลทางวิชาการ เป็นต้น
  ๕.๒ จัดหาแหล่งงบประมาณในการดำเนินงาน
  ๕.๓ เตรียมการในเชิงการบริหารและการจัดงานเพื่อให้การดำเนินงานของหอวัฒนธรรมนิทัศน์เป็นไปด้วยดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต
แนวทางในการบริหารและการจัดการ
  การบริหารและการจัดการ นับเป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งของการดำเนินงานหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ให้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งจะมีประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญดังต่อไปนี้
  ๖.๑ การบริหารทั่วไป เป็นการจัดการบริหารในภาพรวม เช่น กำหนดเวลาเปิด-ปิด, งานด้านธุรการ สารบรรณ การบริหารงานบุคคล พัสดุ เป็นต้น
  ๖.๒ วิธีการในการบริหารหอวัฒนธรรมนิทัศน์ เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ โดยอาจจะดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ เช่น
 
  • คณะกรรมการที่ปรึกษา
  • คณะกรรมการบริหาร
  • คณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ
  ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของหอวัฒนธรรมนิทัศน์ให้ก้าวหน้าทันสมัย ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น
  ๖.๓ การพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรมผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในหอวัฒน-ธรรมนิทัศน์ในเรื่องต่าง ๆ เช่น เทคนิคการนำชม เทคนิคการจัดเก็บและดูแลเอกสาร วัตถุ เทคนิคการจัดนิทรรศการ เทคนิคการใช้และผลิตสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นต้น
  ๖.๔ การจัดอาสาสมัครนำชม เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้เข้าชมนิทรรศการโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน การจัดอาสาสมัครดำเนินการได้หลายวิธี อาทิเช่น รับสมัครจากมหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฏ โรงเรียน หรือข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว แต่ยังคงต้องการที่จะทำประโยชน์ให้สังคม เป็นต้น
  ๖.๕ การจัดตั้งกองทุนหรือมูลนิธิหอวัฒนธรรมนิทัศน์ เพื่อให้สามารถนำเงินดอกผลมาใช้ในกิจกรรมของหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ทั้งนี้ โดยการรณรงค์หาทุน หรือโดยการรับบริจาค หรือโดยวิธีการอื่น ๆ
  ๖.๖ การจัดกิจกรรม แบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่
 
  • ๖.๖.๑ การจัดกิจกรรมในเชิงวิชาการ เพื่อให้หอวัฒนธรรมนิทัศน์มีความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง และมีชีวิตชีวา เช่น จัดประชุมสัมมนา สาธิต การแสดง การประกวด การแข่งขัน เป็นต้น
  • ๖.๖.๒ การจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้เข้าหอวัฒนธรรมนิทัศน์ เช่น การจำหน่ายของที่ระลึกที่มีคุณค่าสำหรับผู้มาเยือน การจัดมุมเครื่องดื่ม การจัดพิมพ์เอกสารและสื่อมัลติมีเดีย เป็นต้น
  ๖.๗ การประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงดูดให้คนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาชมหอวัฒนธรรมนิทัศน์ โดยอาจจะจัดระบบลูกค้าสัมพันธ์ การติดต่อกับบริษัททัวร์ต่าง ๆ การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำสัญลักษณ์ หรือแผนที่ชี้นำให้เข้าชม เป็นต้น
บทสรุป
  หอวัฒนธรรมนิทัศน์ นับเป็นมิติใหม่ในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมยุคโลกไร้พรมแดน (Globalization) ปัจจุบันประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ มีแนวโน้มและมีความต้องการที่จะศึกษาและเก็บรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง เพื่อสื่อให้คนทั่วไปได้เห็นถึงประวัติความเป็นมา และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสมและสืบทอดมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานเช่นเดียวกับนานอารยะประเทศที่ได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง
  นอกจากนี้ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นศูนย์รวมทางด้านการพาณิชย์และการคมนาคมจากทั่วโลก หอวัฒนธรรมนิทัศน์จะเป็นชุมทางการคมนาคมทางวัฒนธรรมที่จำเป็นและสำคัญที่สุด ซึ่งมีความจำเป็นต้องช่วยกันดำเนินการให้เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองโลกยุคไร้พรมแดนในมิติทางด้านวัฒนธรรม

[จอหลัก | ความเป็นมา | ข้อมูล ๗๖ จังหวัด | ถามไถ่ไทย | ฟังเพลง | ชมวิดีโอ | หอวัฒนธรรมนิทัศน์ | คณะผู้จัดทำ | กาญจนาภิเษก]
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๔๒ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗
ห้ามนำข้อมูลของเครือข่ายนี้ ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร