Index

  สรุปผลการสำรวจปี 2546
  สรุปผลการสำรวจปี 2545

 

สรุปผลการสำรวจปี 2544
  สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
 

Links

  ECTI Policy (กลับหน้าแรก)
  NSTDA
  NECTEC
  ฝ่ายพัฒนานโยบายและกฎหมาย (PLD)
 

Internet User Profile 2003


การสำรจประจำปี 2546  ดำเนินการในช่วงเดือนกันยายน-
ตุลาคม 2546 ในปีนี้
มีการปรับปรุงแบบสอบถามจากปี
ก่อน โดยเพิ่มคำถามเกี่ยวกับการเล่นเกมออนไลน์ ซึ่งเป็น
ประเด็นที่ได้รับความสนใจประจำปี 2546 ทั้งนี้ผลการ
สำรวจโดยละเอียดได้
แสดงไว้ในหนังสือ "รายงานการ
สำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2546"
ทั้งในรูปแบบของข้อมูลในตารางและแผนภูมิ (กราฟ) 
อย่างไรก็ตาม มีผลการสำรวจบางประการที่น่าสนใจ
เป็นพิเศษ ซึ่งจะขอกล่าวถึงในส่วนนี้ ดังต่อไปนี้

<
download หนังสือรายงานผลการสำรวจฯ
ประจำปี 2546 ได้ที่นี่
!
>

 1. ยังมีความแตกต่างระหว่างผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเขตเมืองและชนบท โดยผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีสูงถึงร้อยละ 54.3 อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ายินดีว่าสัดส่วนดังกล่าวได้ลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจปีก่อนซึ่งมีผู้ใช้อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คิดเป็นร้อยละ 62.6 แสดงให้เห็นว่าการใช้อินเทอร์เน็ตเริ่มกระจายเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการกระจายของผู้ใช้ที่อยู่ในเขตเมืองและชนบท พบว่ามีผู้ใช้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง (รวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล) คิดเป็นร้อยละ 80.1 ซึ่งลดลงจากผลการสำรวจในปีก่อน (ร้อยละ 84.4) เล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าผู้ที่อยู่อาศัยในเขตนอกเมืองและชนบท ยังมีโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้น้อยกว่ามาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในเขตระยะไกลทำได้ยากกว่า และราคาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเมื่อคิดเทียบกับรายได้ของคนในเขตนอกเมืองนั้น ยังคงสูงอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเชื่อมต่อ/รายได้ของคนในเขตเมือง
        
                                  
แผนภูมิที่ 1: ผู้ตอบแบบสอบถามแยกตามที่อยู่อาศัย

2. กลุ่มประชากรวัยทำงาน (อายุ 20-29 ปี) ยังคงเป็นกลุ่มอายุที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุด (ร้อยละ 47.8) เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ รองลงมาได้แก่ กลุ่มอายุ 10-19 ปี ร้อยละ 21.4 และกลุ่มอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 19.9 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจปีก่อนๆ นั้น พบว่ามีแนวโน้มที่กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุจะใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

3. เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการมีโทรศัพท์มือถือกับการมีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ปรากฏว่า ส่วนใหญ่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านร้อยละ 83.1 ในขณะที่มีโทรศัพท์มือถือถึงร้อยละ 88.5 สำหรับการใช้บริการข้อความผ่านมือถือ ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าใช้บริการส่งข้อความประเภทอักษร (SMS) มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 79.3 รองลงมาคือการใช้ Internet email ผ่านโทรศัพท์มือถือ คิดเป็นร้อยละ 12.5 และใช้บริการส่งภาพ/ภาพเคลื่อนไหว/ภาพพร้อมเสียง (MMS) ร้อยละ 5.4

4. สำหรับวิธีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.1 ใช้อินเทอร์เน็ตจากที่ทำงานหรือสถานศึกษา รองลงมาได้แก่การใช้บริการจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ร้อยละ 39.1 และการใช้อินเทอร์เน็ตฟรีจากบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TOT online ร้อยละ 29.6 และสำหรับสถานที่ใช้อินเทอร์เน็ตนั้น เมื่อเทียบปริมาณการใช้ (ไม่ใช่ผู้ใช้) ทั้งหมดโดยเฉลี่ย จะพบว่าส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้จากที่บ้าน (ร้อยละ 46.9) รองลงมาได้แก่ที่ทำงาน (ร้อยละ 33.2) สถานศึกษา (ร้อยละ 13.4) และจากร้านบริการอินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 6.1 ) ตามลำดับ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับผลการสำรวจในปีก่อน

5. ผลการสำรวจพบว่าปัจจุบันผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 31.9 ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตสำหรับการค้นคว้าหาข้อมูลมากที่สุด รองลงมาได้แก่ การรับส่งอีเมล์ (ร้อยละ 31.6) และใช้ติดตามข่าว (ร้อยละ 14.1) ซึ่งลักษณะการใช้ประโยชน์นี้แตกต่างจากปีก่อนๆ ที่ทำการสำรวจ ซึ่งผู้ใช้มักตอบว่าใช้ประโยชน์จากอีเมล์มากที่สุด แสดงให้เห็นว่าปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการเป็นเครื่องมือสำหรับการค้นคว้าข้อมูลและติดตามข่าวสารของประชาชนมากขึ้น สำหรับการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตด้านการให้ความบันเทิง มีการเปลี่ยนรูปแบบไปจาก การสนทนา ดาวน์โหลดเกม ดาวน์โหลดเพลง ไปเป็นการเล่นเกมซึ่งเพิ่มเป็นร้อยละ 5.8 เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในปีก่อนซึ่งมีเพียงร้อยละ 2.3 และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี (ร้อยละ 14.1) ทั้งนี้เนื่องมาจากปัจจุบันมีเกมออนไลน์ใหม่ๆ ถูกนำเสนอเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาค่าบริการไม่สูงมากนัก ทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าไปเล่นเกมได้มากขึ้น

6. สำหรับการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตแยกตามเพศนั้น เพศหญิงใช้ประโยชน์จากการค้นคว้าหาข้อมูล ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และการสนทนา มากกว่าเพศชาย ในขณะที่เพศชายจะใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการติดตามข่าว เล่นเกม เว็บบอร์ด ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ชมสินค้า ดาวน์โหลดเพลง ดาวน์โหลดเกม มากกว่าเพศหญิง

7. สำหรับการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตแยกตามกลุ่มอายุ โดยจำแนกเป็น 3 กลุ่มคือ ต่ำกว่า 20 ปี อายุ 20-29 ปี และ อายุ 30 ปีขึ้นไป จะเห็นว่ากลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี จะใช้ประโยชน์ในกิจกรรมที่เน้นไปในด้านความบันเทิง เช่น สนทนา เล่นเกม เว็บบอร์ด ดาวน์โหลดเพลง ดาวน์โหลดเกม ฯลฯ มากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะการเล่นเกมนั้น พบว่ากลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี มีการเล่นเกมสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่อายุ 30 ปีขึ้นไป นิยมใช้ประโยชน์จากการค้นหาข้อมูล ติดตามข่าว สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

8. ในเรื่องของปัญหาที่สำคัญที่พบจากการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งแบบสอบถามได้ระบุให้ผู้ตอบแบบสอบถามสามารถเลือกได้ 3 ปัญหาที่คิดว่าสำคัญที่สุดนั้น พบว่าปัญหาเรื่องความล่าช้าของการสื่อสาร ยังเป็นปัญหาที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคิดว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมากที่สุด (ร้อยละ 59.0) ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมการออนไลน์ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นคว้าหาข้อมูลมากขึ้น จึงน่าจะเป็นเหตุผลให้ผู้ใช้ต้องการความรวดเร็วในการค้นหาและดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มขึ้น ในปีนี้ได้มีการเพิ่มตัวเลือกเกี่ยวกับปัญหาการได้รับไวรัสทางอินเทอร์-เน็ต ซึ่งพบว่า ปัญหานี้ได้รับความสำคัญเป็นอันดับสอง (ร้อยละ 45.7) สำหรับปัญหารองลงมาจากเรื่องไวรัส ได้แก่ปัญหาเรื่องอีเมล์ขยะ (ร้อยละ 29.7) ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้ความสำคัญลำดับต้นๆ มาตลอดสองปีที่ผ่านมา

9. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังไม่นิยมซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตมากนัก ในปีนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 20.9 ที่เคยซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน โดยมีผู้ตอบว่าเคยซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตร้อยละ 23.6 ผู้ชายยังคงเป็นกลุ่มที่มีการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตสูงกว่าผู้หญิง โดยผู้ชายร้อยละ 27.6 ตอบว่าเคยซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต ขณะที่ผู้หญิงตอบว่าเคยซื้อสินค้าบนอินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 15.5 และผู้ที่เคยซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 40.7 จะใช้จ่ายเงินผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยมูลค่าต่ำกว่า 1,000 บาทต่อปี ซึ่งถือเป็นการจ่ายที่ไม่สูงมากนัก มีเพียงร้อยละ 2.3 เท่านั้นที่ซื้อสินค้ามูลค่ามากกว่า 40,000 บาทต่อปี

10. จากคำถามถึงสาเหตุที่ไม่ซื้อสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต โดยผู้ตอบสามารถเลือกเหตุผลได้มากกว่า 1 ข้อนั้น ทำให้อนุมานได้ว่า การที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังไม่นิยมซื้อสินค้าผ่านอิน-เทอร์เน็ตเนื่องจากเหตุผลสำคัญคือ ไม่สามารถเห็นหรือจับต้องสินค้าได้ (ร้อยละ 51.6) ไม่ไว้ใจผู้ขาย (ร้อยละ 47.5) และไม่สนใจสินค้าบนอินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 33.9) การที่ไม่สามารถจับต้องสินค้าได้นี้เอง ทำให้สินค้าที่ซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตมากที่สุดเป็นสินค้าประเภทที่มีมาตรฐานชัดเจน และไม่มีความซับซ้อนในทางด้านคุณภาพเช่น หนังสือ ซอฟต์แวร์ เป็นต้น สำหรับปีนี้ พบว่าการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการสั่งจองบริการต่างๆ สูงเป็นลำดับสอง (ร้อยละ 20.7) โดยขยับเพิ่มขึ้นจากลำดับที่ห้าในปีก่อน แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนไทย นิยมการสั่งจองบริการต่างๆ เช่น โรงแรม ตั๋วภาพยนตร์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และมีความเชื่อมั่นในความถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว ในการจองเพิ่มขึ้นด้วย

11. สำหรับพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 56.7 ตอบว่าเคยเล่นเกมออนไลน์ ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 47.2 เคยเล่นเกมออนไลน์แบบเสียค่าบริการ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้เล่นเกมจะใช้เวลาและเสียเงินไม่มากนักในการเล่นเกม โดยร้อยละ 67.0 ระบุว่าใช้เวลาเล่นเกมน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และร้อยละ 82.1 ของผู้ที่เคยเล่นเกมออนไลน์ ระบุว่าเสียเงินน้อยกว่า 500 บาท ต่อเดือน อย่างไรก็ตามมีผู้ตอบถึงร้อยละ 6.7 ว่าเล่นเกมมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และร้อยละ 1.2 ที่เสียเงินมากกว่า 2,500 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นการใช้เวลาและเงินในการทำกิจกรรมนี้สูงมาก

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ชายและผู้หญิงที่เคยเล่นเกมออนไลน์ พบว่าสัดส่วนระหว่างหญิง-ชาย ที่เคยเล่นเกมออนไลน์ไม่ต่างกันมากนัก โดยมีผู้หญิงร้อยละ 56.2 และผู้ชาย ร้อยละ 52.9 เคยเล่นเกมออนไลน์

สำหรับการเล่นเกมออนไลน์จำแนกตามกลุ่มอายุ เมื่อนำเอาจำนวนผู้ตอบว่าเคยเล่นเกมออนไลน์ในแต่ละกลุ่มอายุ มาเปรียบเทียบหาสัดส่วนกับจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มอายุเดียวกัน พบว่ากลุ่มอายุ 10-14 ปี ตอบว่าเคยเล่นเกมออนไลน์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 76.6 ของผู้ที่อายุ 10-14 ปีซึ่งตอบแบบสอบถามในปีนี้ทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มอายุอื่นๆ จะมีแนวโน้มลักษณะที่เมื่ออายุสูงขึ้น การเล่นเกมออนไลน์จะลดลงตามลำดับ

    
                   
แผนภูมิที่ 2: สัดส่วนของผู้ตอบเล่นเกมออนไลน์/ผู้ตอบในกลุ่มอายุต่างๆ

12. ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่าเกมออนไลน์มีประโยชน์ที่สำคัญที่สุดคือ เป็นการพักผ่อนที่ดีอย่างหนึ่ง และสามารถฝึกทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ของผู้เล่น อย่างไรก็ตามข้อเสียที่สำคัญที่สุดก็คือเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการเล่น ทำให้ผู้เล่นขาดสังคมในโลกของความเป็นจริง

13. ในส่วนของการเข้าชมเว็บไซต์ภาครัฐ พบว่าเว็บไซต์ภาครัฐได้รับความนิยมจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ตอบถึงร้อยละ 22.5 ตอบว่าเคยเข้าชมมากกว่า 10 ครั้งต่อหนึ่งเดือนเทียบกับปีก่อนซึ่งมีร้อยละ 17.1 สำหรับการใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนใหญ่ผู้เข้าชมจะเข้าไปค้นคว้าหาข้อมูลทั่วไปร้อยละ 79.8 รองลงมาได้แก่ เพื่อรับทราบข่าวสารใหม่ๆ ร้อยละ 45.2 และเพื่อตรวจผลรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ร้อยละ 27.1 ปัญหาที่พบจากการเข้าชมเว็บไซต์ภาครัฐยังเหมือนกับปีก่อน โดยปัญหาที่มีผู้ตอบมากที่สุดคือ ข้อมูลไม่ทันสมัย ร้อยละ 50.1 รองลงมาคือ ไม่รู้จักชื่อเว็บไซต์ ร้อยละ 43.1 และหาข้อมูลที่ต้องการไม่พบ ร้อยละ 42.0 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับความคิดเห็นในปีก่อน พบว่าระดับของปัญหาลดลงเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าเว็บไซต์ของภาครัฐมีการปรับปรุงเนื้อหาไปในทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ และการจัดระบบข้อมูลในเว็บไซต์ให้ง่ายต่อการค้นหาของผู้ใช้ ยังเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต่อไป


เว็บไซต์ที่ให้ความอนุเคราะห์ติด banner ประจำปี 2546
เว็บไซต์ในเครือเอ็มเว็บ, dailynews.co.th, hunsa.com, kapook.com, pantip.com, police.go.th, siam2you.com, siamguru.com, thairath.co.th, th2.net, webmaster.or.th, truehits.net

download หนังสือรายงานผลการสำรวจฯ ประจำปี 2546 ได้ที่นี่ !

 

Comments & suggestions regarding ECTI policy Research please contact: panida.saipradit@nectec.or.th
..........................................................................................
Copyright ฉ 2005 NECTEC / NSTDA All Rights Reserved.

National Electronics and Computer Technology Center, National Science and Technology Development Agency.