ผงซักฟอก คือ สินค้าอุปโภคชนิดหนึ่งใช้สำหรับชำระล้างสิ่งสกปรกให้ออกจากเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนสามารถใช้ชำระล้างทำความสะอาดเครื่องใช้ต่างๆ ได้อีกด้วย
     ผงซักฟอกผลิตขึ้นมาใช้แทนสบู่ครั้งแรกในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และต่อมาได้ปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันผงซักฟอกได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง ผู้ผลิตจึงต้องปรับปรุงคุณภาพและรูปลักษณ์อยู่เสมอๆ จึงทำให้ในปัจจุบันได้มีผงซักฟอกสูตรต่างๆ วางขายกันตามท้องตลาดมากมาย
 
ผงซักฟอก มีส่วนประกอบของสารประกอบด้วยสารประกอบใหญ่ๆ อยู่ 2 ชนิด คือ สารประกอบหลักและสารประกอบรอง
     สารประกอบหลักมี 5 ชนิดคือ   
     1. สารลดแรงตึงผิว เป็นหัวใจของผงซักฟอก เพราะเป็นตัวที่ทำให้คราบสกปรกที่ติดอยู่กับเนื้อผ้าหลุดออกได้ง่าย ปัจจุบันผู้ผลิตได้ใช้สารลิเนียอัลคีลเบนซีนซัลโฟเนท (Linear Alkylbenzensulfonate หรือ LAS)
          สารลดความตึงผิวสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ
             1. สารลดความตึงผิวประเภทแอนไอออน (anionic surfactants) สารลดความตึงผิวประเภทนี้มีประจุไฟฟ้าลบ (-) มีความสามารถในการชำระล้างคราบสกปรกประเภทดินโคลน ออกจากผ้าฝ้ายและเส้นใยธรรมชาติอื่นๆได้ดีเป็นพิเศษ มีฟองมาก และจะทำงานได้ดีในน้ำที่มีอุณหภูมิสูง แต่จะใช้ได้ไม่ดีในน้ำกระด้าง
             2. สารลดความตึงผิวประเภทนอนไอออน (nonionic sufactants) สารลดความตึงผิวนี้ไม่มีประจุไฟฟ้า มีฟองน้อย ทำงานได้ดีในทุกสภาพน้ำ ไม่จำเป็นต้องเติมสารที่ทำให้น้ำอ่อน ดังเช่น ประเภทแอนไอออน สารประเภทนอนไออนนี้จะมีความสามารถในการชำระคราบไขมันออกจากพอลิเอสเตอร์และเส้นใยสังเคราะห์อื่นๆ ได้ดีเป็นพิเศษ
             3. สารลดความตึงผิวประเภทแคตไอออน (cationic surfactants) สารลดความตึงผิวประเภทนี้มีประจุไฟฟ้าบวก (+) นิยมผสมในน้ำยาปรับผ้านุ่ม (fabric softeners) มากกว่าสารซักฟอกเพราะ ประจุไฟฟ้าบวกจะไปช่วยทำให้เกิดความสมดุลหลังจากเสื้อผ้าได้รับประจุไฟฟ้าลบในระหว่างการซัก

     2. สารลดความกระด้างของน้ำ สารนี้ไม่ได้ช่วยให้สิ่งสกปรกหลุดออกจากเนื้อผ้าโดยตรง แต่จะช่วยให้สารลดแรงตึงผิวมีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยจะรักษาสมดุลความเป็นกรดด่างของน้ำ และช่วยทำให้น้ำลดความกระด้างลง จึงทำให้สิ่งสกปรกหลุดออกจากเนื้อผ้าได้โดยง่าย สารที่ผู้ผลิตนิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ โซเดียมไทรโพลิฟอสเฟต (Sodium Tripolyphosphate : STPP)

Sodium Tripolyphosphate : STPP

สารนี้ใส่เพื่อลดความกระด้างของน้ำ เป็นตัวช่วยให้น้ำเป็นด่างเพื่อให้ผงซักฟอกทำงานดีขึ้น และเป็นตัวกันสิ่งสกปรกที่หลุดออกไม่ให้กลับมาจับที่ผ้าอีก สารนี้ลดความกระด้างได้ผลเป็นอย่างดี แต่เป็นสารที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยทำให้เกิดปรากฏการณ์ ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) ในแหล่งน้ำ จึงได้มีการพัฒนาสารตัวใหม่ขึ้นมาแทนหลายชนิด ได้แก่

    • เกลือของกรดไนทริไทรแอซิติก (NTA)
    • เกลือของกรดซิตริก
    • เกลือของกรดโพลิคาร์บอกซิลิก (Polucaboxulic Acid : PAC)
    • เกลือฟอสเฟต
    • ซีโอไลต์  ผงซักฟอกในประเทศไทยบางสูตรนิยมใช้สารชนิดนี้แทนสาร STPP
     3. สารป้องกันการตกตะกอน ใส่เพื่อมิให้เกิดตะกอนขึ้นระหว่างองค์ประกอบ ต่างๆปัจจุบันใช้โซเดียมคาร์บอกซิเมทิลเซลลูโลส (Sodium carboxymethyl cellulose)
     4. สารที่ทำหน้าที่กันสนิมหรือรักษาความเป็นด่าง สารนี้จะรักษาความเป็นด่างของผงซักฟอกตลอดการซักทำให้ ผงซักฟอกไม่กัดภาชนะที่ซัก และช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสารลดแรงตึงผิว ได้แก่ โซเดียมซิลิเกตและโซเดียมคาร์บอร์เนต
     5. สารเพิ่มความสดใส มีคุณสมบัติดูดกลืนรังสีอุลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ทำให้เกิดการเรืองแสงและสะท้อนเข้าตา ทำให้ดูเหมือนผ้าขาวสดใส
     6.สารอื่นๆ