แนะนำรุ่นพี่ NSC : แพทย์หญิงเอมปวีร์ กีรติรัตน์วัฒนา (NSC 2007)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนมิถุนายน 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ธวัชชัย เหล่าชัยพฤกษ์
แนะนำรุ่นพี่ NSC
ความเก่งจะทำให้เราชนะในเกมการแข่ง แต่ความแกร่งจะทำให้เราชนะในชีวิตจริง…

แม้อายุจะเพิ่งพ้นช่วงเบญจเพสมาได้ไม่กี่ขวบปี แต่ทัศนะของหมอปิ๊น แพทย์หญิงเอมปวีร์ กีรติรัตน์วัฒนา คุณหมอรุ่นใหม่หัวใจไอที ที่สะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้นั้น ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดแบบผู้ใหญ่ ที่ได้เรียนรู้จากการแข่งขันในสมัยเรียน ผ่านมาจนถึงชีวิตการทำงานจริง ท่ามกลางเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้ผสานลงรอยเดียวกับความชอบ เธอสามารถปรับแต่งชีวิตด้วยความคิดแบบใดให้ตัวเองประสบความสำเร็จและมีความสุขได้ หาคำตอบได้โดยพลันในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้…

อยากเป็นเด็กไอทีเพราะพี่สาว

ตั้งแต่เด็กชอบคอมพิวเตอร์อยู่แล้วค่ะ ครั้งแรกเห็นพี่สาวทำอนิเมชันที่สามารถเปลี่ยนจากวงกลมเป็นสี่เหลี่ยมได้ มันมหัศจรรย์มาก อยากทำได้บ้าง เริ่มจากให้พี่สาวสอนก่อนแล้วค่อยๆ ฝึกทำ พอคุณครูที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์เห็นว่าเราชอบและอยากทำก็เลยสอนและให้โอกาสแข่งขันเวทีต่างๆ ทำให้เราได้พัฒนาฝีมือ ซึ่ง NSC ก็เป็นการแข่งขันหนึ่งที่ทำให้ได้พัฒนาฝีมือมากขึ้น เลยเริ่มเข้าสู่วงการนี้ตั้งแต่นั้นค่ะ

จริงๆ ตอนเด็กๆ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยากประดิษฐ์อะไรแปลกๆ ได้ อยากเป็นอนิเมเตอร์ ทำการ์ตูนที่โด่งดังไปทั่วโลก นี่คือความฝันในวัยเด็กเลย แต่พอโตขึ้นมีอะไรหลายๆ อย่างเข้ามา ทำให้ ณ วันนี้อาจไม่ได้ทำตามความฝันที่เคยฝันไว้

เรียนรู้ทุกอย่าง…บนเส้นทางสายไอที

ตอนนั้นชอบด้านไอทีมาก ชอบกราฟิกดีไซน์ อนิเมชัน แต่ด้วยความเป็นโรงเรียนหญิงล้วน คนที่เขียนโปรแกรมได้ไม่ค่อยเยอะ ถ้าเป็นกราฟิกจะมีคนช่วยทำได้มากกว่า และคุณครูเห็นว่าเราทำโปรแกรมมิ่งได้บ้าง เลยให้มาทำด้านโปรแกรมมิ่งด้วย เพราะฉะนั้นการแข่งส่วนใหญ่จะทำด้านโปรแกรม

ครั้งแรกที่ประกวด NSC คือช่วงม.ต้น (ปี 2007) แต่ก่อนหน้านั้นเคยเข้าร่วมหลายๆ โครงการมาก่อน NSC เป็นโครงการที่ทำร่วมกับเพื่อน ผลงานแรกคือ ‘สนุกกับตรรกศาสตร์’ เป็นโปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ ใช้ Visual Basic ร่วมกับ Flash Animation ในการสอน อยากให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก ได้ความรู้และได้ความสนุกด้วย เด็กจะได้เข้าใจและจำได้ ซึ่งบทบาทของเราส่วนใหญ่จะเป็นโปรแกรมไดเรคเตอร์ เป็นคนคิดว่าเราจะทำโปรแกรมอะไรออกมา หน้าตาอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง และเขียนโปรแกรมบางส่วนด้วย ซึ่งจะมีเพื่อนอีกคนที่ทำรูปภาพอนิเมชัน ตอนนั้นได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ปีถัดมาก็ทำสื่อการเรียนรู้เหมือนกัน แต่ไม่ได้รางวัลค่ะ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ประสบการณ์ล้ำค่า…ได้มาระหว่างแข่ง

ตอนนั้นรู้สึกว่า NSC เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยร่วมหลายๆ รายการที่มีการแข่งขันมา และเป็นโครงการที่ดีมากค่ะ หนึ่ง ทำให้เด็กได้พัฒนาฝีมือ เพราะถ้าเราไม่ได้ฝึกทำเราจะไม่ได้พัฒนา ฝึกหนึ่งครั้งอะไรที่เคยทำไม่เป็นก็ทำเป็นมากขึ้น สอง รู้จักการทำงานเป็นทีม เพราะการแข่งขันทุกครั้งเราไม่สามารถทำได้คนเดียว ต้องทำร่วมกับเพื่อน สาม รู้จักการแบ่งงานและเวลา เนื่องจากทุกคนเป็นนักเรียน หน้าที่หลักคือเรียนหนังสือ แต่เราต้องแบ่งเวลามาทำงานในส่วนนี้ด้วย นอกจากนี้ การได้เห็นหลายๆ โรงเรียนที่มาแข่งขัน ทำให้ได้เพื่อนใหม่และเห็นไอเดียของคนอื่นว่าเขาคิดอย่างไร เขามีความคิดสร้างสรรค์อย่างไร เขาทำกันไปถึงไหนแล้ว เป็นการเปิดโลกทัศน์ของเรา มันได้อะไรมากกว่ารางวัล ซึ่งรางวัลเป็นแค่ปลายทาง แต่ระยะทางที่ทำมามันได้อะไรมากกว่ามากๆ เลยค่ะ

อุปสรรคแก้ได้…ง่ายนิดเดียว

จริงๆ ตอนที่แข่งไม่ได้คิดอะไรเลย รู้สึกว่าเราชอบ เราอยากทำ ด้วยความที่เราเด็ก เราไม่ค่อยมองอะไรเป็นอุปสรรค คิดว่าอะไรทำได้ก็คือทำ ความรู้อะไรที่จะมาใส่ในโปรแกรมถ้าเราไม่รู้ก็ถามคุณครู อันไหนที่ทำไม่เป็นก็ถามคุณครู แล้วหาข้อมูลเพิ่มเติม คิดว่าอุปสรรคเป็นแค่ปัญหาหนึ่งที่เราเจอ เราก็หาวิธีการแก้ปัญหา แล้วมันก็ผ่านไป อุปสรรคก็จะไม่มีอีกต่อไป

แนะนำรุ่นพี่ NSC

อยู่จุดไหน…ก็ได้ใช้ไอที

ความฝันจริงๆ คืออยากเรียนวิศวะฯ คอมพิวเตอร์หรือนิเทศศาสตร์ แต่พอได้คุยกับที่บ้านว่าเราจะเรียนอะไรดี คุณพ่อคุณแม่เห็นเราชอบช่วยเหลือคนอื่นเลยคิดว่าเรียนแพทย์น่าจะดี จะได้ช่วยเหลือคนอื่นได้เยอะ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแค่ว่าเราเกิดมาครั้งหนึ่งอยากทำอะไรเพื่อคุณพ่อคุณแม่สักครั้ง ถ้าไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงเราจะทำ และคิดว่าสิ่งที่เราชอบ ทั้งโปรแกรมเมอร์ กราฟิกดีไซน์ ไม่ว่าเราอยู่จุดไหนมันจะเป็นสิ่งที่เราชอบเสมอ เราสามารถประยุกต์นำสิ่งเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์ในสาขานั้นๆ ได้

สุดท้ายตัดสินใจเอนทรานซ์เข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งตั้งแต่ปี 1 ก็ได้ทำงานด้านกราฟิกอย่างที่อยากจะทำและเราไม่ได้หยุดทำเลย ทำตั้งแต่สูจิบัตร โปสเตอร์ วิดีโอคลิปแนะนำโรงพยาบาล วิดีโอคลิปแนะนำรุ่นน้องให้มาศึกษาต่อที่คณะแพทย์ฯ ฯลฯ มันเป็นอย่างที่เราคิดจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่สาขาไหน เราสามารถประยุกต์ไอทีมาใช้ได้

เรียนรู้สิ่งที่ไม่ชอบ…เพื่อยืนยันสิ่งที่ชอบ

หลังจากเรียนจบแพทย์ 6 ปีต้องไปใช้ทุน 3 ปีที่ต่างจังหวัด เลยเลือกไปใช้ทุนที่เชียงราย คิดว่าไหนๆ เรามีโอกาสขอไปใช้ทุนไกลๆ จะได้รู้จักโลกใหม่ๆ ได้ฝึกประสบการณ์ ตอนแรกเลือกเรียนด้านเด็ก (กุมารเวช) เพราะคิดว่าเป็นวอร์ดที่ช่วยเหลือคนไข้ได้เยอะ แต่พอไปใช้ทุนจริงๆ พบว่า สิ่งที่เราชอบก็ยังเป็นสิ่งที่เราชอบอยู่ดี ด้วยความชอบของเราคือเรื่องรูปภาพ เอ็กซเรย์ ก็เลยคิดว่าเราคงไปต่อด้านนี้ไม่ได้แล้ว จึงเปลี่ยนสายไปด้านรังสี ซึ่งที่โรงพยาบาลทรวงอกจะดูแลด้านปอดเป็นหลัก ถ้าจะเรียนต่อด้านนี้ก็ต้องย้ายมา พอดีโรงพยาบาลทรวงอกเปิดรับแพทย์ก็เลยลองสมัครและได้เข้าทำงานถึงปัจจุบันค่ะ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

เพราะไอทีประยุกต์ใช้ได้กับทุกอย่าง

ณ ตอนนี้เป็นแพทย์ทั่วไป รอศึกษาต่อเฉพาะทางด้านรังสีวิทยาหรือเอ็กซเรย์ ซึ่งเป็นการนำภาพมาช่วยวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย อย่างที่บอกว่าวงการไอทีไม่ได้จำกัดแค่คอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรม หรือโรงงาน แต่ปัจจุบันไอทีสามารถประยุกต์ได้กับทุกอย่าง ในด้านการแพทย์ เดี๋ยวนี้เราไม่ได้ดูประวัติคนไข้ในแฟ้มอย่างสมัยก่อน แต่สามารถเปิดดูข้อมูลคนไข้จากคอมพิวเตอร์ได้ หรือเรียกข้อมูลคนไข้จากหลายๆ ปีมาดูได้ หรือดูภาพเอ็กซเรย์ก็ดูในคอมพิวเตอร์ได้ จะสั่งยาก็สั่งจากคอมพิวเตอร์ได้เหมือนกัน ซึ่งด้านไอทีเข้ามามีบทบาทในทุกวงการอยู่แล้วรวมทั้งวงการแพทย์ด้วย

สิ่งที่เราสนใจอย่างเช่น ซีทีสแกน เวลาเข้าไปปุ๊บมันตัดภาพเป็นแว่นๆ ต้องรู้จักการมองภาพสามมิติ เป็นสิ่งที่เราชอบและทำได้ดี อีกอย่างคือการรักษาโดยใช้อัลตราซาวด์หรือเอารูปถ่ายมาช่วย เช่น เจาะน้ำในปอดไปดู ทำให้ดูจากภาพได้ว่าน้ำอยู่ตรงนี้ เอียงองศาประมาณนี้ ใส่เข็มเข้าไปตรงนี้ คิดว่าน่าจะได้ใช้ทักษะที่เรามีและต่อยอดไปได้ ซึ่งโปรแกรมที่ใช้ดูภาพทุกวันนี้เป็นของต่างประเทศ จริงๆ เราน่าจะต้องทำได้นะ เป็นโปรแกรมที่ดูภาพเอ็กซเรย์ ถ้าเป็นของไทยจะดีมาก และเราน่าจะนำความรู้ที่มีเรื่องการมองภาพ การใช้คอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ด้านรังสีได้ดี เลยอยากทำประโยชน์ตรงนี้ต่อไป

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

ถ้าให้มองตัวเอง ณ วันนี้ เราเป็นคนมองโลกในแง่บวก ไม่ว่าจะทำอะไร ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไรเข้ามา ทุกอย่างจะมีทางออกมีทางแก้ปัญหาต่อไป คิดว่าเราเป็นคนประมาณนั้น เราเป็นตัวของตัวเอง และมีจุดมุ่งหมายคืออยากรักษาคนไข้ อยากทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น แต่เราอาจไม่จำเป็นต้องเดินตามทางปกติทั่วไปของหมอก็ได้ เราจะเป็นอย่างไรก็ได้ถ้าสุดท้ายเราสามารถช่วยรักษาคนไข้ได้ ช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ ถ้ามีโอกาสอยากเป็นอาจารย์แพทย์ต่อ เพราะคิดว่าทุกวันนี้มีข้อจำกัดที่เรามีแค่สองมือ มีเวลาจำกัด เราอาจช่วยคนได้ประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเราสามารถสอนคนอื่นให้เป็นหมอต่อไปได้ เราสามารถช่วยชีวิตคนได้เป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสน

เป็นหมอที่ทำสื่อ (และคงไปทำสื่อถ้าไม่ได้เป็นหมอ)

เคยคิดเหมือนกันว่าถ้าไม่ได้เป็นหมอ ตอนนี้เราอาจจะอยู่เบื้องหลังรายการอะไรสักอย่างหนึ่งมั้ง (หัวเราะ) อาจทำโฆษณาทางทีวี เพราะชอบเรื่องสื่อ การทำให้ประชาชนหรือคนเข้าใจ มีความรู้เรื่องต่างๆ และมองว่าสื่อเป็นสิ่งที่เข้าถึงทุกคนไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เรารับสื่อกันตลอดเวลา เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของสื่อนั้นๆ ที่ทำให้คนมีความรู้ เปลี่ยนทัศนคติ มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งวันนี้อยู่ในวงการแพทย์เราก็อยากทำในด้านนั้น สื่อที่เคยทำ เช่น วิดีโอสอนความรู้ด้านการแพทย์ ก็พยายามทำอยู่ ไม่ได้ทิ้งห่างออกไป แต่จะเป็นด้านการแพทย์แทน

ประยุกต์ใช้ความชอบกับทุกเส้นทางของชีวิต

สำหรับคนที่เลือกทางเดินมาแล้วแต่อาจไม่ได้เป็นตามที่ตัวเองคิดไว้ ก็ไม่เป็นไร เพราะทางเดินของเราไม่ได้เป็นทางตัน มันมีทางเลี้ยว มีทางแยก และจากความเชื่อเดิมคือสิ่งที่เราชอบก็จะเป็นสิ่งที่เราชอบ ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับทุกสถานการณ์ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าวันนี้จะทำอะไรอยู่ เชื่อว่าความสามารถ ความชอบ สิ่งที่เราเคยทำ จะนำมาประยุกต์ใช้ได้

อยากให้เปิดใจกว้างๆ ไม่ต้องรู้สึกแย่ที่เราเดินมาทางนี้แล้วผิด เชื่อว่ามันเป็นแค่ทางเลือกทางหนึ่ง เดี๋ยวมันก็จะเลี้ยว เดี๋ยวมันก็แยก และมันอาจกลับไปสู่จุดหนึ่งที่เราแยกมาแล้วก็ได้ ส่วนคนที่กำลังคิดว่าจะเรียนหรือทำอะไรดี อาจเป็นเพราะเรายังไม่เจออะไรที่อยากทำ ให้เปิดโอกาสให้ตัวเองเยอะๆ ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ ทำหลายๆ อย่าง เราอาจเจออะไรที่ชอบ และหาทางไปต่อจากนั้นได้

คนรอบตัวช่วยผลักดัน…ฝ่าทางตันเพราะใจสู้

สำหรับตัวเอง เราโชคดีที่เจอคนรอบตัวที่ดี ตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ที่สนับสนุนให้เราเรียนสิ่งที่อยากเรียน ทั้งดนตรี กีฬา ฯลฯ ทำให้เราเป็นคนที่มีโอกาสเยอะ ได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง พอเข้าโรงเรียนคุณครูก็ให้การสนับสนุน เห็นเราชอบอะไรก็หาโอกาสให้ มีการแข่งขันอะไรก็ให้ไปร่วม ทำให้เราค่อยๆ สะสมประสบการณ์เติบโตขึ้นมา อีกอย่างคือการมีเพื่อนที่ดีช่วยกันทำงาน เพราะงานแต่ละอย่างเราไม่ได้ทำคนเดียวอยู่แล้ว ทุกอย่างค่อยๆ เติบโตมาถึงทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนรอบตัวที่ช่วยผลักดันให้มาถึงจุดนี้ได้ อีกส่วนที่สำคัญคือตัวเองที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ขอบคุณคนรอบข้างที่สนับสนุน ให้กำลังใจ ร่วมมือกันทำ ขอบคุณตัวเองที่มีความเชื่อในตัวเอง มีความพยายาม ไม่ย่อท้อกับอุปสรรค

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ไปได้ไกล…ถ้าใจเชื่อ (ว่าเราทำได้)

สำหรับการพัฒนาเด็กไอที อย่างแรกตัวเด็กเองต้องมีความเชื่อก่อนว่าเราสามารถทำได้ ทุกวันนี้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนมากนำเข้า แม้จะมียี่ห้อของไทยแต่อาจไม่ได้พัฒนาไปไกลมากหรือคนไม่ค่อยใช้ อยากให้เชื่อว่าเราทำได้หรือทำได้ดีเทียบเท่าหรือมากกว่าสินค้าต่างประเทศที่เขาทำกัน การที่มีความเชื่อแบบนี้จะทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีหรือสินค้าอะไรก็ตามไปได้ไกล อีกส่วนหนึ่งคือ อยากให้คนไทยคนอื่นมีความเชื่อว่าสินค้าไทยก็ดีเหมือนกัน เพราะความเชื่อสำคัญที่สุด ต่อให้เราพัฒนาของดีแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่เชื่อว่ามันดี คนทำก็หมดกำลังใจ คนใช้ก็ไม่อยากใช้ นอกจากนี้ เด็กไอทีต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองและไม่ย่อท้อ ทุกครั้งที่ลงมือทำอะไรให้นำความเชื่อมาปลุกตัวเองแล้วทำต่อไปให้สำเร็จ

ก้าวข้ามถูก-ผิด…ด้วยความคิดสร้างสรรค์

ทักษะที่สำคัญของเด็กไอทีคือ การคิดแบบสร้างสรรค์ การคิดแบบนอกกรอบ การที่ทุกอย่างไม่ได้มีแค่ผิดกับถูก ขาวกับดำแต่มีสีเทาด้วย เพราะความสามารถในการทำโปรแกรมเป็นสิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันและพัฒนาได้ไม่ยาก แต่ความคิดสำคัญที่สุด อยากให้เสริมสร้างตรงนี้ ไม่ต้องกลัวว่าจะทำผิด

เห็นด้วยหากจะมีการจัด Alumni ของเด็ก NSC เพราะอยากรู้ว่าตอนนี้แต่ละคนไปทำอะไรกันบ้าง เขาไปอยู่ที่จุดไหนกันแล้ว จากที่ทราบคร่าวๆ แต่ละคนไปทำหลากหลายสาขามาก ถ้าจับมารวมกันได้จะดีมาก เพราะเรามีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งและเราก็มีความหลากหลายที่แตกต่าง อาจมีมุมมองที่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งอาจเกิดเป็นอะไรบางอย่างใหม่ๆ ที่สร้างประโยชน์ต่อไปได้…

เพราะโลกนั้นกว้างใหญ่ และหลายครั้งโลกก็เหวี่ยงชีวิตของคนเราไปอยู่บนเส้นทางคนละสายกับที่เราชอบ ถึงเวลานั้นความเก่งอาจไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญเท่ากับความแกร่งของจิตใจ ในการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ และมากกว่านั้นคือ ความสามารถในการปรับแต่งชีวิตตัวเองให้มีความสุข จากการประยุกต์ทำสิ่งที่ชอบในทุกๆ พื้นที่ที่ชีวิตก้าวเดินไป เหมือนคุณหมอคนเก่งคนนี้

แนะนำรุ่นพี่ NSC
 
ข้อมูลการศึกษา
  • อุดมศึกษา – คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย – โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2007
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • รับประทานเข็มเกียรติยศสำหรับนักเรียนที่ทำชื่อเสียงให้กับโรงเรียน จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุในงานวันแม่ประจำปีการศึกษา 2550 ของโรงเรียน ทำชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนด้านคอมพิวเตอร์ จากมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) แห่งประเทศไทยครั้งที่ 6 ในหัวข้อการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ครั้งที่ 9 ได้รับรางวัลที่ 2 โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ระดับนักเรียน (การประกวดครั้งนี้ไม่มีนักรียนที่ผ่านเกณฑ์ได้รับรางวัลที่ 1 )
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง จากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9 (National Software Contest : NSC 2007) ประเภทโปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ระดับนักเรียน จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NECTEC)
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง จากการประกวดผลงานด้านซอฟต์แวร์แห่งชาติหัวข้อ “ ไทยแลนด์ ไอ ซี ที อวอร์ดส์ 2007 ” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสา
  • รางวัลชมเชย จากการประกวดเขียนเอนิเมชั่น AACP Thailand Animation Contest 2007 หัวข้อ “ รวมพลังลดโลกร้อน ” จัดโดยมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช ร่วมกับบริษัทอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
  • รางวัล “ทูตรักษ์พลังงานปี 2007” โครงการปฏิบัติการหาร 2 (Energy Fantasia) รุ่นที่ 3 จัดโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน – รางวัลชนะเลิศในการประกวด อย.น้อย ระดับเขตกรุงเทพมหานคร และรางวัลชมเชย ระดับภาคกลาง จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ในการประกวดสร้างเกมส์และสื่อสร้างสรรค์ในระดับสากล จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปี 2551 

ระดับอุดมศึกษา
  • แพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
  • รางวัลผู้ที่มีจิตอาสาและสำนึกสาธารณะ ประจำปีการศึกษา 2555 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • รางวัลชนะเลิศอันดับที่สามในการประกวด Public Poster ในหัวข้อ Disaster Medicine ในการประชุมนิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งเอเชีย 2013 (East Asian Medical Students’ Conference 2013 : EAMSC 2013) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้นกว่า 15 ประเทศ ผลงานที่ได้รับรางวัลคือ โปสเตอร์สร้างความตระหนักถึงโรคซึมเศร้าและแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ป่วยและผู้พบเห็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลังเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 “Flood disaster, what you see is just the tip of the iceberg”
  • รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งเหรียญทองในการประกวด Health Campaign Competition ในหัวข้อ Chronic disease ในการประชุมนิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งเอเชีย 2014 (East Asian Medical Students’ Conference 2014 : EAMSC 2014) ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้นกว่า 13 ประเทศ ผลงานที่ได้รับรางวัลคือโครงการรณรงค์ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อHIV “Let’s treat HIV as a chronic disease” เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่แก่โรค HIV ลดปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้่ป่วยและตราบาปในใจผู้ติดเชื้อ
  • รางวัลโครงการดีเด่น สำหรับโครงการที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีประโยชน์ต่อสังคมและเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนสมควรได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นโครงการดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2557 ได้รับโล่รางวัลและเกียรติบัตรจากศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการที่ได้รับรางวัลคือโครงการ “MDCU series” 100 ปี โรงพยาบาลจุฬาฯ ร้อยเรียงความรู้สู่สังคมไทย ได้ปฏิบัติงานในฐานะ ผู้รับผิดชอบโครงการ เผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนผ่านคลิปวีดีโอ 5 ชุด จัดทำโดยความร่วมมือนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 – 5
ระดับหลังปริญญา
  • รางวัลบัณฑิตแพทย์ผู้มีผลการศึกษายอดเยี่ยม จากมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ประจำปี 2559 รับรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดโลโก้องค์กรแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ปัจจุบัน
แพทย์เวชปฏิบัติ สถาบันโรคทรวงอก จังหวัดนนทบุรี
ความเชี่ยวชาญด้านไอที
  • Adobe illustrator
  • Adobe Photoshop
  • Adobe Premiere Pro
  • Adobe Animate