แนะนำรุ่นพี่ NSC : ดร.กานดา ศรอินทร์ (NSC 2001)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนกรกฎาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์

ภาพ | ธวัชชัย เหล่าชัยพฤกษ์

ความสำเร็จไม่ได้วัดที่ความเก่งอย่างเดียว แต่ต้องขยันและตั้งใจด้วย…

นั่นคือสิ่งที่ ดร.กานดา ศรอินทร์ คุณแม่แห่งสาขาวิทย์คอม ม.ขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย บอกว่าเป็นเคล็ดลับที่ทำให้เธอข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตมาจนถึงจุดนี้ และถึงวันนี้ที่อยู่ในฐานะอาจารย์แม่ เธอสอนลูกศิษย์ว่าอย่างไรกันบ้าง อยากชวนไปฟังเลคเชอร์จากเธอดู…

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ชอบเพราะชื่อมันเท่!

ถ้าเล่าย้อนไปถึงการเข้ามาในเส้นทางนี้ น่าจะเริ่มจากการเลือกเรียนตั้งแต่ ม.6 เพราะต้องเอนทรานซ์เลือกสาขาวิชาที่ชอบ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แต่มีสาขาวิชาหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันดูเท่มาก คือ ‘วิทยาการคอมพิวเตอร์’ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘วิทย์คอม’ แม้จะยังมีคำถามกับตัวเองว่า สาขานี้มันใช่? มันคือตัวตนของฉันหรือเปล่า? แต่ถ้าดูจากชื่อแล้วชอบมาก เราเลยเลือกจากสิ่งที่ชอบก่อนแล้วไปค้นหาว่าสาขานี้เรียนอะไร จบออกมาจะเป็นอะไร ทำให้รู้จักสาขานี้มากขึ้น ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไร จนกระทั่งเข้าปี 1 เมื่อปี 2541 มันดูห่างจากเรามาก เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เขาอธิบายมันคืออะไร แต่มันก็น่าค้นหา

เอาห้องน้ำเข้าสนามแข่ง!

ตอนเรียนปี 4 เด็กวิทย์คอมทุกคนต้องทำโปรเจกต์จบ อาจารย์ที่ปรึกษาจะแนะนำแกมบังคับให้ส่งผลงานเข้าแข่งขัน NSC ตอนนั้นเราเพิ่งได้หัวข้อโปรเจกต์ว่าจะทำอะไร แต่มันเป็นการสั่งสมมาตั้งแต่ปี 1 – 4 แล้ว จนตกลงกับคู่โปรเจกต์ว่าจะทำระบบฐานข้อมูลการออกแบบห้องน้ำสามมิติ ซึ่งสำหรับเรามันว๊าวมาก! เพราะเป็นอะไรที่ใหม่และยังไม่มีคนทำ เราได้ความคิดมาจากว่า ถ้าจะเลือกห้องหรือออกแบบห้องสักอย่าง เราจะเห็นภาพได้อย่างไรและมันควรมีความเสมือนจริง เลยอยากออกแบบห้องสามมิติ โดยเลือกห้องน้ำด้วยความที่ชอบลายกระเบื้อง ซึ่งเราสามารถเลือกลายกระเบื้องและสุขภัณฑ์มาจัดวางในโปรแกรมได้ รวมทั้งมีการคำนวณราคาวัสดุที่จะนำมาใช้ด้วย จากหัวข้อที่เลือกจึงเป็นโอกาสที่ทำให้เราผ่านการคัดเลือกรอบแรกและได้รับเงินรางวัลเริ่มต้นในการพัฒนาผลงานประมาณ 5,000 บาท ซึ่งมันโอเคแล้วสำหรับเรา

ก้าวข้าม ‘ความไม่เคย’

ตอนแข่ง NSC เราทำงานไม่เสร็จ เพราะการศึกษาสามมิติมันเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา ต้องศึกษาข้อมูลที่จะเอามาใช้ในห้องน้ำใหม่หมด ต้องไปถ่ายรูปหรือหาตามอินเทอร์เน็ตเพื่อที่จะเอามาใช้ แต่ตรงนั้นไม่เสียเวลาเท่ากับทำสามมิติ คือเราเรียนมายังไม่ได้ปฏิบัติจริงสักครั้ง พอมาเจอตู้มเดียวของการทำโปรเจกต์ก็เลยกลายเป็นภาระหนักมาก ทำให้เสียเวลากว่าจะโค้ดได้และเสียเวลาทำภาพนานมาก รวมทั้งต้องปั้นโมเดลสุขภัณฑ์ จากที่ทำไม่เป็นก็เริ่มทำเป็น แต่เราไปใช้เวลาตรงนั้นมากเกินไป แม้โปรเจกต์อาจจะเสร็จไม่ทันใน NSC แต่ก็เสร็จระหว่างการเรียนปี 4 ทำให้เรียนจบมาด้วยโปรเจกต์นี้ค่ะ

สิ่งที่ได้จากการไป (ไม่) ถึงเส้นชัย

สิ่งที่ได้เรียนรู้ครั้งนั้นน่าจะเป็นเรื่องระยะเวลาที่มากำกับเรากับการทำงานให้ประสบความสำเร็จ จึงต้องมาวางแผนกับคู่โปรเจกต์ จากที่ไม่ได้คิดว่าต้องเร่งขนาดนั้น พอมี NSC เข้ามา ปรากฏว่าสิ่งที่เราคิดคนอื่นมองว่ามันมีคุณค่า ตอนแรกคิดอยากทำอะไรก็ทำ พอโปรเจกต์เข้ารอบก็ตื่นเต้นมาก แล้วเราจะทำเสร็จไหม ทำให้วางแผนงานกันมากขึ้น ตอนนั้นได้เรียนรู้เรื่องการวางแผนในส่วนงานที่เราทำ และมีเป้าหมายว่าต้องทำให้เสร็จหรือให้ได้มากที่สุดเพราะเราได้รับทุนมาแล้ว ต่อให้ท้อก็ต้องทำให้ได้ เราศึกษาใหม่หมดภายใต้กรอบเวลา สุดท้ายอาจจะไปไม่ถึงจุดหมายแต่เราได้เรียนรู้ตลอดกระบวนการ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ใบเบิกทางสู่งานที่ใช่!

คุณค่าที่ได้จาก NSC ตอนเริ่มต้นคือทำให้ได้งานที่เกี่ยวข้อง เวลาสัมภาษณ์งานเขาจะถามว่าที่ผ่านมาเราทำอะไร โปรเจกต์ที่เราทำน่าสนใจแค่ไหน พอบอกว่าเราเคยร่วมโครงการ NSC และผ่านเข้ารอบแรก เขาก็สนใจสอบถามเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่ทำ สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะได้เข้าร่วม NSC ในวันนั้น เป็นใบเบิกทางให้เราได้รับงานที่ดีและตรงสายงานที่อยากทำ แม้อาจไม่ได้เริ่มต้นเป็นโปรแกรมเมอร์โดยตรง เพราะเราสมัครเข้าทำงานตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เราไม่รู้ว่าหน่วยงานจะให้ทำอะไร แต่เขาให้เรียนรู้ทุกส่วนงาน มีงานหนึ่งที่คิดว่าเหมาะกับตัวเองคือ การได้ทำเว็บแอปพลิเคชันและเว็บมาสเตอร์ของมหาวิทยาลัย ที่เกิดจากการออกแบบและความคิดของเรา รู้สึกภูมิใจมากที่ได้บอกคนอื่นว่าเว็บฯ ที่คุณใช้คือเว็บฯ ที่ฉันทำ เริ่มต้นคือได้งานที่ชอบและรักมาตลอดค่ะ

ก้าวสู่โลกของการสอน

พอทำงานสักพักก็เรียนต่อระดับปริญญาโท พอดีวิทย์คอมของ ม.ขอนแก่นเปิดรับ ป.โทรุ่นแรก เราได้นำความรู้ที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการทำงานและการเรียน มันสอดคล้องกันไปหมด ซึ่ง NSC ทำให้เราเข้าสู่วงการนี้โดยตรง สายงานที่ทำก็เกี่ยวข้องกับที่เราเรียนมา การได้งานก็มีผลต่อเนื่องกัน พอเรียนต่อ ป.โท ก็มีโอกาสที่เข้ามาคือมหาวิทยาลัยรับตำแหน่งอาจารย์พอดี

ตอนแรกยังไม่รู้ว่าตัวเองจะสอนใครได้ แต่ตอนทำงานเป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ เรามีโอกาสเป็นวิทยากรอบรมการทำเว็บไซต์ให้น้องๆ นักศึกษา พอได้เริ่มสอนทำให้คิดว่าการสอนไม่ใช่เรื่องยาก เป็นเรื่องสนุก เราสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นได้โดยไม่กั๊ก ต่อให้ทำไม่ได้เราก็ศึกษาข้อมูลเพิ่ม รู้สึกว่าน้องๆ ก็สนใจ แล้วก็ขยับขั้นไปเป็นวิทยากรสำหรับทีมอาจารย์ หลายคนที่เป็นบุคลากรมาเรียนรู้กับเราที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ รู้สึกว่าการสอนและการบรรยายก็สนุกไปอีกแบบ

เป็นอาจารย์จากความฝันของแฟน

จริงๆ ที่มาเป็นอาจารย์จริงจังมาจากแฟนค่ะ (ยิ้ม) เพราะเขาชอบและอยากทำงานเป็นอาจารย์ ความฝันของเขาคืออยากเป็นอาจารย์สอนนักเรียน เขาบอกว่าให้เราลองเป็นให้เขาได้ไหม แต่เราก็มาคิดว่า ลองเป็นให้เขาแล้วมันใช่เราไหม? เราไม่รู้ว่าเราชอบอะไร แต่เมื่อมีโอกาสเข้ามาถ้าไม่คว้าไว้จะเสียโอกาส ก็ชั่งใจเยอะมากแต่ก็ลองสมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดู

พอได้มาลองเป็นอาจารย์รู้สึกว่าเรารักในงานสอนมาก แต่ละปีการศึกษาเราจะเจอเด็กนักศึกษาที่เข้ามาและหมุนเวียนตลอด กิจกรรมของมหาวิทยาลัยตลอดปีการศึกษาทำให้เราไม่เบื่อ และทำให้ได้เจอนักศึกษาทุกชั้นปีที่เข้ามา ได้เจออะไรแปลกๆ มีนักศึกษาเหมือนเป็นเพื่อน เราจะให้ความสนิทสนมและให้ใจกับเด็กมากๆ ในสาขาจะเรียกเราว่าอาจารย์แม่ (หัวเราะ) ถ้าคิดอะไรไม่ออกหรือมีปัญหาให้มาบอกอาจารย์กานดา เป็นเพราะเราเป็นที่พึ่งกับเด็กได้นอกจากให้ความรู้ บางคนมีปัญหาระหว่างเทอม เราก็อยากให้เขาไว้ใจมาเล่าให้เราฟัง

แนะนำรุ่นพี่ NSC

จากคนเคยแข่ง…สู่ผู้ผลักดัน

ตอนที่ศึกษาปริญญาเอกได้แรงบันดาลใจจากที่บ้านว่าไหนๆ มาทางอาจารย์แล้วก็ไปให้สุด เลยคิดจะเรียนต่อ พอเรียนจบก็กลับมาทำงานแบบเต็มตัวอีกครั้ง ระหว่างนั้นมีโอกาสเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโปรเจกต์ และได้เป็นคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอโครงการของรุ่นน้องๆ เราได้เห็นพัฒนาการ เทรนด์ของเทคโนโลยี ตัวอย่างกรณีศึกษาต่างๆ ที่อยากบอกต่อให้เด็กเข้าร่วมโครงการ อย่างน้อยได้เปิดโลก เอาความรู้ที่เรียนมา 4 ปีมาสร้างแอปพลิเคชันเข้าร่วมแข่งขัน และจากการที่เป็นกรรมการก็ถ่ายทอดให้เด็กฟังว่าแต่ละปีมีพัฒนาการอะไร มีหลายโครงการที่เราผลักดันและเขาสนใจ พอเด็กผ่านเข้ารอบ ทำให้เกิดความภูมิใจ เราเห็นตั้งแต่เด็กเริ่มสนใจ อยากแข่ง อยากส่งต่อ อยากไปต่อ ทำให้หัวใจพองโตมาก เพราะเราเป็นคนผลักดันและคอยดูความสำเร็จของเขา

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ความท้าทายของคนสอนไอที

จากที่เห็นนักศึกษาทุกคนที่เข้ามาในสายวิทย์คอม บางคนอาจหลงมาเรียนเหมือนเราในตอนแรก ซึ่งจะเห็นได้จากการสัมภาษณ์เด็กเลยว่า ทำไมเขาเข้ามาเรียน ส่วนใหญ่จะบอกว่าชอบคอมพิวเตอร์ แต่มันตีความได้หลายอย่าง คุณชอบทำอะไรกับคอมพิวเตอร์ หลายคนชอบเล่นเกม ชอบเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ค แสดงว่าคุณชอบการสื่อสารโดยใช้งานคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ได้ชอบคอมพิวเตอร์โดยแท้ สรุปคือคุณเป็นผู้ใช้ แต่เด็กอีกกลุ่มจะบอกเราว่า เขาอยากเรียนรู้ อยากศึกษาว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำงานอย่างไร การเขียนโปรแกรมต่างๆ แตกต่างกันอย่างไร เราจะได้จิตวิญญาณของเด็กที่ต่างกันมากซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนของเขาทันที เด็กที่บอร์นทูบีเพื่อจะมาสายนี้จะมีลักษณะการเรียนรู้ต่างกับเด็กที่ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรแล้วเลือกมาสายนี้ การขับเคลื่อนเขาก็จะแตกต่างกัน อันนี้คือความท้าทาย

ปรับความรู้ให้เหมาะกับความถนัด

สำหรับเด็กที่ไม่มีวิธีคิดเป็นระบบตั้งแต่แรก เราต้องสอนให้เขาคิดเป็นระบบ เพราะการสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต้องคิดเป็นระบบ เราจะฝึกเด็กให้รู้กระบวนการเพื่อให้เขาเอาไปใช้ประกอบอาชีพและดึงความสามารถของเขาออกมา ซึ่งเขาต้องมองตัวเองให้ออกก่อน เด็กบางคนเรียนวิทย์คอมก็จริงแต่ไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์ทุกคน เป็นวิกฤตโปรแกรมเมอร์ไทยที่เด็กวิทย์คอมไม่สามารถเขียนโปรแกรมได้ ซึ่งมันมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น ไม่ได้ชอบส่วนตัว หรืออาจมีสายงานอื่นที่เกี่ยวข้องหลากหลายด้าน หรือมีอาชีพอื่นที่สามารถเป็นได้ เช่น นักวิเคราะห์และออกแบบระบบสารสนเทศสำหรับองค์กร นักทดสอบซอฟต์แวร์ นักออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิก นักควบคุมดูแลอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เป็นกลุ่มงานสนับสนุนที่สามารถทำได้ และเป็นสายอาชีพที่ไม่มีทางตัน ขึ้นอยู่กับเขาสนใจอะไร เด็กบางคนอาจเขียนโปรแกรมไม่เก่ง แต่ออกแบบกราฟิกเก่ง บางคนแม้ไม่ได้บอร์นทูบีด้านนั้น แต่เขาสามารถปรับเปลี่ยนความรู้ให้เหมาะกับความถนัดแต่ละด้านได้ ซึ่งการวัดผลเราไม่ได้วัดด้านใดด้านเดียว เด็กต้องเรียนรู้รอบด้าน เวลามอบหมายงานให้เด็กปี 4 เราจะมองว่าเขาทำอะไรได้ ชอบอะไร ให้เขาเลือกหัวข้อโปรเจกต์จากสิ่งที่เขาอยากทำ เพราะเราไม่อยากปิดกั้นความคิดเด็ก แต่มันต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่เหมาะสม

แนะนำรุ่นพี่ NSC

บูรณาการความรู้ แล้วมุ่งสู่เป้าหมาย

สำหรับน้องมัธยมฯ เด็กบางคนยังไม่รู้ตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เขาชอบหรือสิ่งที่เขาควรจะเป็น ซึ่งเขาควรเลือกเรียนอะไรที่เขารักมากกว่า เพราะจะสามารถทำมันออกมาได้ดีมาก แต่กรณีที่เด็กบางคนอาจถูกพ่อแม่บังคับ สุดท้ายต่อให้เขาเรียนในสิ่งที่ไม่ได้รัก แต่เชื่อว่าระหว่างการเรียนเขาจะได้แสดงออกในสิ่งที่ชอบ เช่น พ่อแม่อยากให้เรียนบริหารธุรกิจ แต่เขาเรียนวิทย์คอม เราก็จะบอกเขาว่าแม้เรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ก็สามารถทำธุรกิจได้ บางรายวิชาเราได้ไปสอนหรือประสานงานเกี่ยวกับ Startup นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว เราก็อยากปลูกฝังให้เด็กสามารถก่อตั้งธุรกิจได้ ไม่จำเป็นว่าต้องมีความรู้ในศาสตร์เดียว การที่จะเป็นผู้ประกอบการหรือทำสิ่งที่รักหรือชอบ มันเป็นการบูรณาการศาสตร์ เป็นความรู้แบบเปิด ทุกคนสามารถหาความรู้ในสิ่งที่ไม่รู้มาใส่ตัวได้ เราจะสอนเด็กว่า ต้องไปสู่เป้าหมายสุดท้ายให้สำเร็จ วิ่งไปให้สุด ไม่ต้องไปหยุดกับคำว่ายอมอะไรทั้งนั้น เพราะเรามาตรงนี้แล้ว อยากให้มองเป้าหมาย เหมือนเราก็ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แต่ถ้าได้ทำสิ่งนั้นแล้ว ก็จะต้องทำให้สำเร็จ

ขยันและตั้งใจ สุดท้ายจะสำเร็จ!

สำหรับสิ่งที่ผลักดันให้เรามาถึงทุกวันนี้ เริ่มต้นน่าจะมาจากตัวเอง ด้วยลักษณะที่เราอาจไม่ใช่คนเรียนเก่งมาก แต่เป็นคนที่สามารถทำอะไรและจะส่งพลังให้สิ่งที่ตัวเองทำอยู่ ต่อให้ทำไม่ได้ก็จะหาทางทำให้สำเร็จให้ได้ ระหว่างทางอาจจะเกิดปัญหา เราท้อได้แต่ต้องลุกขึ้นใหม่ให้เร็ว ซึ่งเราต้องมีเป้าหมายก่อนว่าจะทำอะไร และไปให้ถึงจุดหมายนั้นให้ได้ ที่บ้านก็มีส่วนสำคัญมากในการผลักดันให้คนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จ ระหว่างที่เราวุ่นวาย ที่บ้านคือส่วนหนึ่งที่ช่วยเราและเป็นกำลังใจ รวมทั้งความมุ่งมั่นของคนๆ นั้น ต่อให้เก่ง ถ้าไม่ขยันและไม่ต่อเนื่องก็ไม่สำเร็จ เก่งไม่กลัว แต่เรากลัวคนที่ขยันและตั้งใจ สุดท้ายเราจะไปถึงเป้าหมายได้

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

นิยามตัวเอง ณ ปัจจุบัน

ในมุมมองของความเป็นอาจารย์ คำว่า ‘อาจารย์’ เป็นอาชีพหนึ่งที่หลายคนมองและให้ความเคารพเราอย่างดีมาก เราดูแลและเอาใจใส่นักศึกษาทุกคนเหมือนเป็นลูกของเรา ทุกครั้งที่เราถ่ายทอดความรู้หรือประสบการณ์ อยากให้เขาเรียนรู้จากที่เราเห็นมาจริงๆ และได้เต็มที่กับสิ่งที่เรามอบให้ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่มีโอกาสได้สอนหรือถ่ายทอดความรู้จะทำด้วยความตั้งใจและเต็มใจ เรามีความสุขกับการได้ทำอาชีพนี้ ถ้าถามว่าคิดถูกไหมหรือมันโอเคไหม คำตอบคือมันโอเคมากๆ พอเราได้สอนหรือถ่ายทอด มันรู้สึกว่าเราก็ทำได้ จากที่ไม่คิดว่าจะสอนใครได้ กลายเป็นเราสอนเขาได้ดี และเราจะชื่นชมทุกครั้งเวลาที่เด็กเอาเราไปพูดถึงว่าเราเป็นคุณแม่ของสาขา ด้วยความที่เราเห็นเด็กเป็นเหมือนลูกของเรา

ต่อยอดผลงานสู่การใช้จริง

NSC มีโครงการที่ดีเยอะมาก แต่อยากให้มองการไปต่อหรือการนำไปใช้ประโยชน์มากกว่า เช่น บางครั้งเราอาจมีแอปฯ ช่วยคนพิการ หรือช่วยน้องๆ ที่เดินไม่ได้ หรือต้องใช้รถเข็น อยากเห็นผลลัพธ์ว่ามันเกิดขึ้นจริงและมีการประชาสัมพันธ์ว่าผลลัพธ์จาก NSC สามารถช่วยน้องๆ เหล่านั้นได้ เพราะคนจะไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากศาสตร์ที่เราบูรณาการและต่อยอดให้นำไปใช้จริง เท่าที่สัมผัสคือโครงการดีๆ มีเยอะมาก แล้วมันไปไหน ปีต่อไปเราได้โปรเจกต์อื่นได้ไอเดียอื่น แต่อันเดิมยังไม่เห็นว่าเอาไปใช้ได้จริง เนคเทคอาจจะยังขาดการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไปสู่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ เราเห็นนักพัฒนารุ่นเยาว์เยอะมาก น่าจะมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ผู้ปกครองคนอื่นได้สร้างแรงบันดาลใจด้วย

ศิษย์เก่าร่วมแชร์ ศิษย์ใหม่ร่วมแจม

หากพูดถึงการรวมรุ่นของ NSC มันเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะจับคนหลายสาขา หลายสถานประกอบการ หลายแวดวงที่กระจายกันไปมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพราะแต่ละคนมีไอเดีย มีความสำเร็จที่อยากจะมาถ่ายทอด เราจะได้เห็นว่าพวกเขาเติบโตไปเป็นอะไร บางคนทำ Startup โด่งดัง บางคนไปเป็นนักวิชาการ เป็นนักวิจัย น่าจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาจจะเกิดเป็นโปรเจกต์หนึ่งที่มาจากการเอานักศึกษาปัจจุบันไปมีส่วนร่วมกับพี่ๆ ที่ทำโปรเจกต์นั้น ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะให้น้องๆ มีเวทีทดลองจริงค่ะ …

ความสำเร็จไม่ได้กลัวคนเก่ง และความสำเร็จในโลกนี้ก็ไม่ได้มีอยู่แค่แบบเดียว การค้นหาเส้นทางชีวิตของตัวเอง บวกกับการฝึกฝนความเก่งด้วยความขยันและตั้งใจ จึงเป็นคีย์เวิร์ดที่ ดร.กานดา ชี้แนะให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาของเธอทุกคน เพื่อที่สุดท้ายปลายทาง ทุกคนจะค้นพบเส้นทางชีวิต และประสบความสำเร็จอย่างที่ตนเองเป็น

แนะนำรุ่นพี่ NSC
 
ข้อมูลการศึกษา
  • ปริญญาเอก ปร.ด. (สารสนเทศศึกษา) คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่จบการศึกษา 2557
  • ปริญญาโท วท.ม. (วิทยาการคอมพิวเตอร์) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่จบการศึกษา 2548
  • ปริญญาตรี วท.บ. (วิทยาการคอมพิวเตอร์) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่จบการศึกษา 2545
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2001
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • รางวัล Highly Commended Paper in the 2016 Emerald Literati Network Awards for Excellence จากผลงานบทความวิจัยเรื่อง “Factors affecting the development of e-government using a citizen-centric approach” ตีพิมพ์ใน Journal of Science and Technology Policy Management.
  • รางวัลวิทยานิพนธ์นิพนธ์ดีเด่น “ระดับดี” กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ –ปริญญาเอก ประจำปี 2558 ในงานประชุมวิชาการระดับบัณฑิตศึกษา งานบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 15 มกราคม 2559
  • รางวัลวิทยานิพนธ์นิพนธ์ดีเด่น “ระดับดี” ประจำปีการศึกษา 2557 ในงานประชุมวิชาการของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558
  • รางวัลการนำเสอผลงานวิทยานิพนธ์ ระดับดีเด่น ประเภทบรรยาย ระดับปริญญาโท กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพ ในการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2549 ในวันที่ 25 มกราคม 2549
  • อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ “สื่อการเรียนรู้ ทฤษฎีของเมนเดล” ประเภทเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ในฐานะที่โครงการได้รับทุนสนับสนุนการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 11 (NSC2009)
  • อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ “ฝึกสนทนาภาษาญี่ปุ่นบนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก” ประเภท Mobile Application ในฐานะที่โครงการได้รับทุนสนับสนุนการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 11 (NSC2009)
ปัจจุบัน
  • อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ
คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
ความเชี่ยวชาญ
  • เทคโนโลยีเว็บและการออกแบบ
  • การวิเคราะห์และออกแบบระบบสารสนเทศ
  • ออนโทโลยี และเว็บเชิงความหมาย
  • ระบบฐานข้อมูลและการจัดการฐานข้อมูล
  • การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  • การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • พฤติกรรมและความต้องการสารสนเทศ