แนะนำรุ่นพี่ NSC : นายณครินทร์ เลิศนามวงศ์ (NSC 2002)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนพฤษภาคม 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์

ภาพ | ชาคริต นิลศาสตร์

“การประกวดไม่ได้มีปลายทางอยู่แค่รางวัล…”

นั่นคือสิ่งที่ ‘กาย’ ณครินทร์ เลิศนามวงศ์ เฮดใหญ่แห่งอินโนเวชั่น พลัส สะท้อนผ่านประสบการณ์ในชีวิตของเขาให้เราฟัง น่าสนใจว่าถ้าไม่ได้แข่งเพื่อหวังรางวัลแล้ว คนเราจะแข่งไปเพื่ออะไรได้บ้าง? ลองหาคำตอบจากบทสัมภาษณ์ของ CEO หัวใจใหญ่คนนี้ดูได้ แล้วเราจะพบแง่มุมดีๆ ของการแข่งขันอีกมากมายจากประสบการณ์ชีวิตของเขา

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

เริ่มต้นจากหุ่นยนต์…แต่ค้นพบว่าไม่ใช่!

หากถามถึงการเข้ามาในเส้นทางนี้ ต้องเล่าย้อนไปก่อนว่า ทำไมผมเลือกเรียนวิศวะฯ คอมพิวเตอร์ ตอน ม.1 – ม.2 ที่บ้านเริ่มมีคอมพิวเตอร์ใช้แล้ว ตอนนั้นชอบสองอย่างคือคอมพิวเตอร์กับการประดิษฐ์ต่างๆ หลังจากนั้นผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จริงๆ อยากเรียนอิเล็กทรอนิกส์แต่ไม่มีสาขาให้เลือก เลยเลือกเรียนคอมพิวเตอร์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ใช่สาขาที่โด่งดังมากครับ

ผมได้ค้นเจอตัวเองตอนที่เข้าไปอยู่ชมรมเมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics) คือเมคคานิกส์บวกอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการประกอบพวกเครื่องกลก็คือหุ่นยนต์ และได้เป็นคอมพิวเตอร์โปรแกรมมิ่งแข่งหุ่นยนต์ด้วย พอปี 2 ก็ได้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยไปแข่งหุ่นยนต์ระดับประเทศ ตอนนั้นประสบการณ์ยังไม่เยอะ ยังไม่ได้รางวัลอะไร จนปี 3 รู้สึกว่าการทำเมคคาทรอนิกส์หุ่นยนต์ไม่ได้ใช้แค่คอมพิวเตอร์ แต่มันต้องพึ่งเครื่องกลด้วย ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นสนามแข่งขันที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ เป็นจุดเริ่มต้นแข่งขัน NSC ตอน ปี 3 ครับ

อยากวัดความรู้…จึงไปสนามแข่ง

ผมเป็นคนชอบเข้าโครงการประกวดอยู่แล้ว ตอนมัธยมฯ ก็ไปแข่งฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ส่วนหนึ่งรู้สึกว่าอยากวัดความรู้ตัวเอง ในโรงเรียนเราพอจะเข้าใจส่วนอื่นๆ มากกว่าเพื่อน มักได้เป็นตัวแทนโรงเรียนทำอะไรสักอย่าง พอได้เป็นตัวแทนบ่อยๆ รู้สึกชอบ พอขึ้นปี 2 เราไปแข่งหุ่นยนต์ แต่รู้สึกว่าไม่เหมาะ ปี 3 เลยไปแข่งคอมพิวเตอร์อย่างเดียวเลย ก็ชวนเพื่อนและปรึกษาอาจารย์ อาจารย์ก็เห็นดีด้วย เพราะตอนเรียนวิศวะฯ คอมฯ จะมีโปรเจกต์โปรแกรมมิ่งที่เราต้องเขียนกันอยู่แล้ว ซึ่ง NSC จะจัดปีละครั้ง โปรเจกต์ใหญ่ที่เราต้องทำก็ปีละครั้งเหมือนกัน ก็เลยคิดว่านอกจากส่งงานอาจารย์แล้วต้องเอาส่วนหนึ่งของวิชามาทำให้เป็นโปรดักส์ส่งเข้าแข่งขันด้วย

ประยุกต์ความรู้สู่การใช้จริง

ตอนปี 3 ผมเรียนเกี่ยวกับ Network Programing เลยคิดว่า ทำอย่างไรสิ่งที่อาจารย์สอนในคลาสจะเป็นโปรดักส์ให้คนใช้จริงได้ ครั้งแรกที่ส่ง NSC เลยเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับ Home monitoring โดยทำบ้านจำลองขึ้นมา ในบ้านมีกล้องเว็บแคม (web camera) และมีสวิตช์เชื่อมต่อประตูหน้าต่าง ถ้าเปิดปุ๊บตัวซอฟต์แวร์ที่บ้านจะรู้ว่าสวิตช์ประตูหน้าต่างเปิด มันจะบอกมาที่ส่วนกลาง ซึ่งสามารถเปิดเว็บฯ แล้วเห็นได้ว่าประตูปิดหรือเปิดอยู่ ตอนนั้นสิบกว่าปีมาแล้วยังไม่มีกล้องออนไลน์ด้วย

พอปี 4 ผมเลือกเอก Image Processing คือการเอาภาพมาประมวลผล ตอนแข่ง NSC เลยทำเกี่ยวกับกล้องพันตา วิธีการคือเอาแก้วที่เป็นทรงกลมรับภาพจากทั่วห้องแล้วเอากล้องตัวหนึ่งมาจับภาพแล้วแปลงออกมาเป็นพาโนรามา เรียกว่ากล้องพันตา คือกล้องตัวเดียวเห็นได้รอบทิศทาง มันมาจากแนวความคิดว่าเราเรียนหลักการแล้ว ถ้าจะเอามาประยุกต์ให้มีการใช้งานจริงจะเอาไปทำเป็นอะไรได้บ้าง ก็เลยออกมาเป็นโปรเจกต์นี้ และได้รางวัลชนะเลิศประเภทโปรแกรมประยุกต์ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานมาด้วยครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

NSC เวทีแห่งโอกาส

ตอนปี 4 เริ่มมีเวทีประกวดอื่นนอกจาก NSC ด้วย เช่น การประกวดของโนเกีย จำไม่ได้ว่าได้ที่หนึ่งหรือที่สอง แต่ซอฟต์แวร์ของเราถูกเอาไปขายในสโตร์ของโนเกีย ซึ่งตอนเริ่มประกวด NSC เริ่มมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ามาแล้ว และด้วยการชนะการแข่งขัน NSC และการประกวดของโนเกีย ทำให้มีบริษัทติดต่อเข้ามาให้ไปทำงานด้วยตั้งแต่ปี 4 นี่คือส่วนดีส่วนหนึ่ง เพราะมันสปอร์ตไลท์เราขึ้นมาจากเด็กนักเรียนต่างจังหวัดทั่วไป ทำให้บริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทชั้นนำเข้ามาตามตัวเราที่มหาวิทยาลัยและเสนอหลายอย่างให้ ยอมจ้างเราตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ จ่ายเงินเดือนให้และให้เริ่มทำโปรดักส์ให้เขาเลย นั่นเป็นประโยชน์ในแง่การได้งาน

ในแง่อื่นๆ ยิ่งสำหรับเด็กต่างจังหวัด ผมมองว่า NSC เป็นเวทีที่สามารถวัดตัวเราได้ว่า สิ่งที่เรารู้สึกภูมิใจในมหาวิทยาลัย เวลาไปอยู่ในตลาดจริงๆ แล้วแข่งกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ เราเป็นอย่างไร อยู่ระดับไหน มันสะท้อนได้ชัดกว่าฟังจากคนอื่น ทำให้รู้ว่าถ้าจะแข่งกับคนอื่นเราควรจะแข่งทางด้านไหนที่สามารถผลักเราไปได้โดยไม่มีข้อจำกัดและมหาวิทยาลัยสามารถสนับสนุนได้เต็มที่

กระโดดสู่โลกกว้าง สร้างอาณาจักรของตัวเอง

ผมทำงานอยู่ 2 – 3 ปี ได้อะไรมาเยอะ เพราะบริษัทก็เหมือนมหาวิทยาลัยที่สอนอะไรเราหลายๆ อย่าง โชคดีที่นอกจากเป็นโปรแกรมเมอร์แล้ว เขาให้เราไปเก็บ requirement จากลูกค้าด้วย การได้ประชุม ได้ปิดงาน ทำให้เราได้เห็นโครงสร้างทั้งหมดของการทำงาน ทำให้มองเห็นโอกาสหลายอย่าง และได้เห็นว่าการอยู่ภายใต้องค์กรอาจไม่ตอบโจทย์ การที่เราอยู่ในโครงสร้างที่คนอื่นกำหนดมา ทำให้เราอยู่ในจุดที่อยากอยู่ไม่ได้ รู้สึกว่ามีข้อจำกัดเลยลองกระโดดออกมาข้างนอก ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเยอะ เพราะเดิมก็รับงานฟรีแลนซ์ตั้งแต่สมัยเรียนมาเรื่อยๆ พอออกจากบริษัทเดิมเราเริ่มรับงานนอกที่ใหญ่ขึ้น แต่ยังไม่ได้คิดจะทำบริษัทเป็นเรื่องเป็นราว

ผมเป็นฟรีแลนซ์อยู่ปีกว่าๆ พอได้โปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้น เริ่มทำไม่ไหวแล้ว ต้องมีพนักงาน จึงเริ่มหาหุ้นส่วนมาตั้งบริษัท ทำได้สักพักพอจะขยายก็เริ่มติดขัด เลยมาคุยกับหุ้นส่วนคนปัจจุบันและร่วมกันทำบริษัทนี้มาประมาณ 6 – 7 ปีแล้ว โดยใช้ knowhow ที่เรามี ตอนแรกโฟกัสเรื่อง Mobile app อย่างเดียว หลังจากนั้นคู่แข่งเริ่มเยอะขึ้น ก็เริ่มทำโปรดักส์เกี่ยวกับด้าน AR ครับ หลักๆ ธุรกิจตอนนี้ ส่วนแรกทำ Mobile app เป็นเหมือนซอฟต์แวร์เฮ้าส์ด้านโมบายให้องค์กรต่างๆ ส่วนที่สองคือ ขายระบบจอดิสเพลย์ ซึ่งพอบริษัทเริ่มใหญ่ขึ้นก็ต้องเลือกโปรดักส์หรือเซอร์วิสที่เป็นซุปเปอร์สตาร์และเลี้ยงบริษัทได้จริงๆ

สร้างเครดิตจากการประกวดต่อเนื่อง

ช่วงที่ทำบริษัทผมก็ยังประกวดอีกหลายเวที รางวัลล่าสุดที่ได้คือไทยไอทีไทยคูน ปีนั้นทำบริษัทเข้าสู่ปีที่สอง เทคโนโลยี AR เริ่มเป็นที่สนใจ โดยใช้โทรศัพท์สแกนภาพออกมาเป็น 3D เราตั้งใจทำเป็นอินเตอร์แอคทีฟแมกกาซีน ทุกคนที่มีแคตตาล็อกสามารถขายออนไลน์ได้เลย ผมได้นำโครงการนี้ไปประกวดของซิป้า (ปัจจุบันคือดีป้า – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) ได้รางวัลมา 1 ล้านบาท จังหวะนั้นไปโครงการประกวดนวัตกรรมระดับโลกที่ประเทศเกาหลี ได้รางวัลถ้วยทองกลับมา แล้วนำเงินที่ได้รางวัลมารันบริษัทต่อ

ผมอยู่ในเส้นทางสายประกวดมาตลอด ตอนเรียนประกวดเพื่อท้าทายว่าสิ่งที่ทำมันอยู่ระดับไหนของประเทศ พอได้รางวัลมาก็ดีใจส่วนหนึ่ง พอปี 4 ประกวดก็ได้งานกลับมา เราโดดเด่นกว่าคนอื่นแน่นอน บริษัทก็อยากได้ตัวเรา และพอมาเป็นรูปแบบบริษัทการประกวดมันได้หลายๆ อย่าง เช่น ได้สื่อฟรี คนรู้จักมากขึ้น ได้เงินรางวัลจากการประกวด ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนที่ดีขึ้นจากการประกวดที่เป็นมาตรฐานของรัฐ เพราะมันเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากที่บริษัทที่เพิ่งทำมาปีสองปีจะมีบริษัทใหญ่ๆ มาใช้งาน แต่ถ้ามีรางวัลจากการประกวดมาการันตีมันช่วยเราได้เยอะขึ้นครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

เติบโตอย่างเป็นตัวเอง

ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ดีที่กระแส Startup หรือการเป็นผู้ประกอบการ การเป็นตัวของตัวเอง ถูกจุดขึ้นมา เพราะว่าจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เกิดองค์กรใหม่ๆ เกิดวิวัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ส่วนตัวผมมองว่าคนเราไม่เหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าคนที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้แล้วจะประสบความสำเร็จทั้งหมด บางคนเหมาะกับการอยู่ในองค์กร บางคนเหมาะกับการเป็นฟรีแลนซ์ บางคนเหมาะกับการทำ startup ใหญ่ๆ สำคัญที่สุดเราอย่าปิดกั้นตัวเอง มีโอกาสใหม่ๆ มาเราได้ไปศึกษาไหม ได้ไปรู้จักเขาจริงๆ หรือเปล่า แล้วเอามาปรับกับตัวเองว่า อันไหนเหมาะกับเรา อย่าปฏิเสธเรื่องการเป็นพนักงาน อย่าปฏิเสธเรื่องการเป็นฟรีแลนซ์ อย่าปฏิเสธเรื่องการเป็น Startup ถ้าอยากรู้ต้องลองดูแล้วมาทำความเข้าใจว่ามันใช่เราไหม ถ้าค้นเจอว่าใช่ค่อยกระโดดเข้าไปทำ ผมว่าการทำสิ่งที่เหมาะกับตัวเองและรู้จักตัวเองสำคัญกว่าที่เราเลือกว่าจะทำอะไร ถ้าสิ่งไหนเหมาะกับเรา ลองจับสิ่งนั้นมาทำให้เติบโตและเป็นแนวทางของตัวเอง รู้จักตัวเองก่อน ค้นหาตัวเองให้เจอ แล้วตั้งเป้าที่จะไปตรงนั้นให้ได้

ไม่มีใครจำกัดเราได้…นอกจากตัวเราเอง

ตอนผมยังเป็นแค่สายประกวดอยู่ จำได้ว่าที่หนึ่งได้เงินมาหกหมื่นบาท แบ่งกับเพื่อนได้คนละประมาณสามหมื่น ได้โน๊ตบุ๊คคนละเครื่องก็แฮปปี้แล้ว แต่ก่อนถ้าจะทำอะไรต้องไปอ่านหนังสือหรือเปิดอินเตอร์เน็ตซึ่งมีน้อยมาก หรืออยากได้อุปกรณ์สักอย่างต้องลงมากรุงเทพฯ การจะทำอะไรขึ้นมามันยากมาก แต่การประกวดหรือการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ สมัยนี้ง่ายขึ้นเยอะ เด็กสมัยนี้มีทั้งอินเตอร์เน็ต คอร์สออนไลน์ ชุมชนต่างๆ ที่เฉพาะทางเยอะมาก สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ไม่ต่างจากต่างประเทศเลย จะหาของก็สั่งออนไลน์ได้หมด การประกวดก็มีเวทีต่างๆ เยอะมาก รวมทั้งได้นักลงทุนและความชัดเจนในการทำธุรกิจมาด้วย ดังนั้น ถ้าเด็กรุ่นใหม่อยากทำอะไรสักอย่างจริงๆ แทบมองไม่เห็นเลยว่าอะไรจะมาจำกัดเขา นอกจากตัวเขาเอง

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

เก่งด้านเดียว…อาจไม่รอดเสมอไป

สมัยก่อน NSC เป็นเวทีแข่งขันซอฟต์แวร์ที่โดดเด่นมาก เพราะตอนนั้นเราต้องปั้นคนด้านไอทีขึ้นมา แต่ปัจจุบันสิ่งที่เราค้นหากันคือ ‘พหุปัญญา’ การที่คนๆ หนึ่งเก่งด้านหนึ่งแล้วจะประสบความสำเร็จได้นั้นอาจไม่เสมอไป เพราะคนที่จะประสบความสำเร็จต้องมีแนวหลักของตัวเองอันหนึ่ง เช่น ในแง่ไอทีเราต้องแข่งแกร่งถึงจะโดดเด่นกว่าคนอื่น แต่สิ่งที่จะทำให้ใช้ชีวิตประสบความสำเร็จได้ต้องมีด้านอื่นด้วย เช่น เป็นไอทีที่ชอบศิลปะด้วย เป็นไอทีที่ชอบธุรกิจด้วย หรือเป็นไอทีที่เข้าใจโลกธุรกิจด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าจะตอบว่า NSC ในอนาคตจะต้องมีอะไร ผมมองว่า ต้องมีมุมอื่นเข้ามาเยอะๆ เพื่อเอาไปประยุกต์กับธุรกิจอื่นได้ด้วย และให้น้ำหนักคะแนนว่า สิ่งที่ทำอยู่เวลาไปประยุกต์ในเชิงธุรกิจมีความเป็นไปได้แค่ไหน หรือนอกจากเชิงเทคโนโลยีแล้วจะสามารถนำไปประยุกต์อะไรได้บ้าง

NSC ชี้ช่องทางให้ชีวิต

สำหรับผม NSC เป็นจุดที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนมาได้พอสมควรจากช่วงสำคัญคือมหาวิทยาลัยสู่การทำงาน เบื้องต้น NSC ทำให้เรารู้จักตัวเองว่าชอบอะไร และสามารถทำอะไรให้โดดเด่นในระดับประเทศได้บ้าง ส่วนที่สองคือ ทำให้คนอื่นรู้จักเรา เห็นเราในส่วนที่เป็น และทำให้ได้เส้นทางการทำงานตรงนี้มา ส่วนที่สามคือ มันกลายเป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจของเราไปเลยว่า การจะทำอะไรสักอย่าง หากมีการประกวด NSC เป็นพื้นฐาน มันเป็นเส้นทางหนึ่งที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจและทำให้เราเติบโตได้ นอกจากการประกวดจะทำให้เราพิเศษแล้ว ยังทำให้เราได้เงินทุน ทำให้เราได้คนที่รู้จักเข้ามา และสนับสนุนให้ธุรกิจเราเติบโตขึ้นมาจนถึงปัจจุบันครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 

ถ้ามั่นใจ…อะไรก็ทำได้!

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง NSC ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าถ้าจะทำโปรเจกต์อะไรขึ้นมาสักอย่าง เราทำได้ เราผ่านมา 2 ครั้ง ครั้งแรกได้รางวัลชมเชยมาเรายังสู้ต่อ เราเชื่อว่าสามารถทำโปรเจกต์ให้เป็นระดับประเทศได้ แล้วพอทำต่อตอนปี 4 ได้รางวัลที่ 1 เหมือนการทำงาน ตอนเป็นพนักงานประจำมันมีโครงการหนึ่งที่อยากทำมาก เราเชื่อว่าเราทำได้ด้วย แต่มันมีข้อจำกัดอยู่ ไม่เป็นไรงั้นเราออกมาทำเอง เราพยายามปั้นโปรดักส์ออกมาเอง คือเราเชื่ออะไร เราก็ทำมันออกมาได้ สิ่งที่เคยพิสูจน์เราในวัยเด็ก มันเป็นพื้นฐานหนึ่งในการสะท้อนเราในวัยที่โตขึ้นว่า ถ้าอยากทำสิ่งนี้ แล้วตั้งใจทำ เราทำได้แน่นอน ซึ่ง NSC กลายเป็นพื้นฐานวิธีคิดในการทำอะไรต่างๆ ขึ้นมา ทำให้บริษัทมีโปรดักส์หลายๆ อย่างขึ้นมาและเติบโตมาถึงปัจจุบัน

สร้างเครือข่ายให้ศิษย์เก่า

หาก NSC จะมี Alumni อาจทำรูปแบบเหมือนโครงการหนึ่งที่ผมเคยเข้าร่วมและชอบมาก คือ มีการแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งเป็นคนที่เพิ่งประกอบการได้สัก 2 – 3 ปี กำลังค้นหาตัวเอง จะรอดหรือไม่รอด กลุ่มที่สองทำมาสัก 5 ปี เริ่มหารายได้ได้แล้วและกำลังเติบโต กลุ่มที่สามเป็นขาเก่าในวงการซอฟต์แวร์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ แล้วเอาทั้งสามกลุ่มมารวมกัน ทำให้เขาสนิทกัน สุดท้ายอาจไม่ได้เกิด output ในแคมป์ แต่พอเขาได้เป็นเพื่อนกันแล้ว ทำให้เขามีที่ปรึกษากัน และเป็นเครือข่ายอย่างที่เราออกแบบไว้แล้วว่าเขาจะช่วยกันอย่างไร ผมว่าด้วยโครงสร้างแบบนี้มันน่าสนใจ

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

ณ วันนี้ ผมยังเป็นนักศึกษาอยู่ ทุกวันที่ได้เจอลูกค้า ได้เจออะไรใหม่ๆ ก็ยังมีความรู้สึกว่า สิ่งที่เราไม่รู้ยังมีอีกเยอะ พอเข้าไปเรียนรู้แล้ว เราอยากเอาสิ่งที่เรียนรู้กลับมาเป็นโปรดักส์เหมือนเดิม กลับไปเป็นเหมือนตอนที่เราเรียนอยู่ ปี 3 ปี 4 เราเรียนอะไรจากอาจารย์มาเราก็อยากพัฒนาให้คนได้ใช้ ถ้าให้จำกัดความผมตอนนี้ผมก็ยังเป็นนักเรียนอยู่ เป็นนักเรียนที่ยังต้องออกไปเจออะไรใหม่ๆ ทุกวัน และอยากจะเอาสิ่งใหม่ๆ นั้นกลับมาทำเป็นโปรดักส์ให้คนอื่นใช้ทุกวันครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

แฮปปี้กับครอบครัวเล็กๆ (ที่มุ่งมั่นทำสิ่งใหญ่ๆ)

ตอนเด็กๆ ผมเคยตั้งเป้าไว้ว่า อยากมีบริษัทที่มั่นคง เป็น CEO บริษัทใหญ่ๆ มีลูกน้องเยอะๆ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าผมมีความสุขกับการรันบริษัทเท่านี้ ตอนนี้บริษัทเรามีพนักงานอยู่ประมาณ 15 คน มันเหมาะสมเพียงพอที่จะทำให้องค์กรมีกำไรระดับหนึ่ง แต่ไม่ใหญ่เกินไปที่จะทิ้งความรู้สึกของครอบครัวหรือพี่น้อง ณ ปัจจุบันผมมีความสุขกับสิ่งที่เป็นไปแบบนี้มากกว่า ถ้าถามว่าอนาคตจะเป็นอะไร เราอยากรักษาความเป็นครอบครัวในองค์กรนี่แหละ แต่อยากให้องค์กรไปทำอะไรที่ใหญ่ขึ้น เป็นประโยชน์กับคนมากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีที่เรามี แค่รู้สึกว่ามีความสุขกับตรงนี้และอยากให้ความสุขตรงนี้ไปสร้างความสุขให้คนอื่นอีกเยอะๆ

เพราะการประกวดไม่ได้มีแค่รางวัล หากมันคือสนามการวัดฝีมือ ให้รู้ว่าเราอยู่แถวไหนในวงการ คือสะพานที่เชื่อมเราไปหาคนเก่งๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมไปสู่ลูกค้าเพื่อการต่อยอดธุรกิจ และเหนืออื่นใด มันคือห้องเรียนชีวิต ให้เราได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นจากกระบวนการพัฒนาผลงานเพื่อแข่งขัน จึงไม่แปลกที่แม้จะพ้นช่วงวัยในรั้วมหาวิทยาลัยมานานแล้ว แต่กายก็ยังพร้อมที่จะลงสนามแข่งขันอยู่เสมอ

และก็เป็นเพราะการแข่งขันนั่นเอง ที่ผลักดันให้เขาก้าวมาอยู่ในจุดนี้ได้ในวันนี้…

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

 
ข้อมูลการศึกษา
  • 2557 Innovation and New Strategies in Entrepreneurship, University of California Los Angeles
  • 2556 Disrupt University Gen 2 (โดย คุณ กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล)
  • 2549 – 2550 ปริญญาโท สาขาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  • 2541 – 2544 ปริญญาตรี ภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2002
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • 2559 ได้รับสนับสนุนในโครงการ Startup Voucher สำหรับ Nebula
  • 2559 อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (วิชาผู้ประกอบการ)
  • 2558 – 2559 วิทยากรพิเศษ โครงการ Y.E.S (Young Entrepreneur Support) ของ UBI (University Business Incubation)
  • 2558 วิทยากรพิเศษ มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด (วิชาผู้ประกอบการ)
  • 2557 – 2559 วิทยากรพิเศษ โครงการ SUT Startup Camp ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • 2555 ผลงาน แผนธุรกิจ MAYAR รางวัลชนะเลิศ โครงการนวัติกรรมวานิชย์ ภาคค้นหาThai IT Tycoon 2012 จัดโดย SIPA ได้รับเงินสนับสนุน 1,000,000 บาท
  • 2555 ผลงาน MAYAR ถ้วยรางวัลพิเศษ รางวัล Excellent Creative Award งาน Seoul International Invention Fair 2012 จากประเทศเกาหลี
  • 2555 ผลงาน MAYAR รางวัล นวัติกรรมระดับเหรียญทอง งาน Seoul International Invention Fair 2012 จากประเทศเกาหลี
  • 2554 เข้าร่วมอบรมโครงการ นวัติกรรมวานิชย์ ภาคค้นหา Thai IT Tycoon 2012 จัดโดย SIPA
  • 2554 รางวัลรองชนะเลิศ Blackberry Hackathon 2012 Bangkok
  • 2554 เข้าร่วม โครงการ Incubation Center Software Park
  • 2551 เข้าร่วมอบรม โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ Software Park
  • 2549 ผลงาน iHome (ระบบ Home Automation) รางวัลรองชนะเลิศการประกวดแผนธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  • 2549 รองประธานนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตร CEO-MBA มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  • 2547 ผลงาน เกมบนโทรศัพท์มือถือ รางวัลรองชนะเลิศ Nokia Java Game Competition
  • 2546 ผลงาน กล้องพันตา รางวัลชนะเลิศ การประกวดซอฟต์แวร์ NSC (National Software Contest by NECTEC) ประเภทโปรแกรมประยุกต์ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพฯ
  • 2545 ผลงาน การควบคุมและตรวจสอบอุปกรณ์ในบ้านผ่านระบบอินเตอร์เน็ต รางวัลชมเชย ประเภทโปรแกรมประยุกต์ การประกวดซอฟต์แวร์ NSC (National Software Contest by NECTEC) ประเภทโปรแกรมประยุกต์
ปัจจุบัน
  • CEO / Co-Founder บริษัท อินโนเวชั่น พลัส จํากัด (พัฒนา โซลูชั่น ด้านโมบาย และ Digital Display – Nebula )
ความเชี่ยวชาญ
  • Native Mobile Development (Java, Swift, Objective C)
  • Innovative Entrepreneur (Lean Startup, Design Thinking, Business Model Canvas)
  • Business Management (Blue Ocean Strategy, OKR)