แนะนำรุ่นพี่ NSC : ณัฐดนัย หอมคง (NSC 2004)

Facebook
Twitter
หลายครั้งที่ชีวิตไม่ได้เป็นไปดั่งที่ใจคิด แต่เราก็สามารถเรียนรู้เพื่อเติบโตไปในเส้นทางที่ไม่คาดฝันนั้นได้

…เหมือนกับชีวิตของ ‘เป้’ ณัฐดนัย หอมคง CEO หนุ่มแห่งบริษัท บิ๊ก ดาต้า เอเจนซี่ จำกัด ที่ตลอดเส้นทางชีวิตของเขามีหลายอย่างที่พลาดฝัน แต่เขาก็เลือกที่จะเรียนรู้ เพื่อเปิดโอกาสชีวิตตัวเองไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จใหม่ๆ ได้ อยากให้ลองบทสัมภาษณ์ของเขา แล้วจะพบว่าโลกนี้ไม่เคยตัน ถ้าเรามีวิธีคิดที่ดี…

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

จากทหาร…สู่วิศวะคอมฯ

เดิมผมไม่ได้ชอบคอมพิวเตอร์แต่อยากเป็นทหาร ก็เลยใช้เวลาตอน ม.4 – ม.5 ไปสอบเตรียมทหาร สอบติดสี่เหล่าด้วย แต่สุดท้ายตกเรื่องตาบอดสีทำให้ไม่ได้เป็นทหารอย่างที่ตั้งใจ ก็เลยกลับมาสายที่น่าจะใกล้เคียงคือวิศวกร พอดีสอบติดโควต้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เลยเลือกเส้นทางนี้ไปเลยครับ ตอนนั้นสนใจไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่ง รองมาก็โยธาฯ ส่วนภาควิชาคอมพิวเตอร์เพิ่งกำเนิดมาใน มช. ซึ่งเป็นเกรดที่สามารถเลือกได้ แถมได้เรียนห้องแอร์ (หัวเราะ) ก็เลยเลือกคอมพิวเตอร์ครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

เรียนรู้สิ่งใหม่ แต่ไม่กดดัน (ตัวเอง)

พอเข้าเรียนคอมพิวเตอร์มีหลายวิชาที่เจอครั้งแรก เช่น โค้ดดิ้ง (Coding) ภาษาซี (C) ซิมูเลชัน (Simulation – การจำลองสถานการณ์) ฯลฯ ตอนปี 3 – ปี 4 ผมเลือกแล็บที่อาจารย์เพิ่งกลับจากญี่ปุ่น เพราะคิดว่าอาจารย์ก็ใหม่ เราก็ใหม่ด้วย จะได้เรียนรู้อะไรแปลกๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่ใช่แค่เขียนภาษาคอมพิวเตอร์อย่างเดียว แต่เป็นการทำซิมูเลชันเขียนเป็นภาพสามมิติด้วย เราก็เลยชอบ แต่เกรดเฉลี่ยก็ไม่ได้สวยนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องใหม่หมดเลย ยังไม่ถึงขั้นว่าจบไปแล้วจะไปทำอะไร ตอนนั้นยังไม่มีใครมาโชว์ให้ดูว่าจบคอมฯ ต้องทำงานอะไร เราก็เลยค่อยๆ เรียนไป ไม่ได้กดดันตัวเองว่าจบแล้วต้องทำอะไร

แรงบันดาลใจจากคนหูหนวก

จริงๆ ตอนนั้น NSC มีมาหลายปีแล้ว แต่ผมเพิ่งมารู้ตอนปี 4 ว่า NSC เขาทำอย่างไร เพราะส่วนใหญ่นักศึกษาต้องทำโปรเจกต์จบ ก็เลยส่งผลงานแข่งขัน NSC ได้เงินด้วย ทำโปรเจกต์จบแน่นอน และสอบได้สบาย ผลงานตอนนั้นชื่อว่าโปรแกรมแปลภาษาไทยเป็นภาษามือสามมิติ เป็นการแปลจากภาษาไทยที่พิมพ์เป็นภาษามือสามมิติ วิธีการนี้น่าจะช่วยคนหูหนวกในการสื่อสารได้หรือเป็นสื่อการเรียนรู้ได้ ตอนนั้นผมยังไม่อินเกี่ยวกับคนหูหนวกเลย รู้แค่ว่ามันทำได้ก็ลองทำดู แต่พอเราเริ่มศึกษา เริ่มเห็นว่าเขามีปัญหาจริงๆ ซึ่งเด็กหูหนวกกว่าจะเรียนรู้ได้ เขาจะเรียนรู้ช้าไปกว่าเรา 6 – 7 ปี เขารู้แค่คำศัพท์พื้นฐาน และเป็นภาษามือท้องถิ่นที่ไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ ก็เลยอยากทำ และได้รางวัลชมเชยมาครับ

ประกอบร่าง…สร้าง (โปรเจกต์) ใหม่

หลังจากเรียนจบ ผมไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น แล้วกลับมาเรียนต่อปริญญาโทที่ไทย ซึ่งสมัยที่เราส่ง NSC เทคโนโลยียังไม่ถึง เรารู้ว่าทำไมเราได้รางวัลชมเชย เพราะหุ่นของเราไม่ใช่คน มันเป็นทรงกระบอกที่มาต่อเป็นคน แต่มันทำงานได้ หลังจากที่กลับมาเรียน ป.โทแล้ว ผมได้คุยกับอาจารย์ว่าเทคโนโลยีมันถึงแล้ว เราลองทำใหม่ไหม กอปรกับได้น้องที่แข่ง NSC เหมือนกันมาเป็นคู่โปรเจกต์ น้องคนนี้เก่งคอมพิวเตอร์กราฟิกมาก เลยออกมาเป็นผู้หญิงที่ผมกระดิกได้ มีหน้าตา พูดได้ มือขยับคล้ายคน และเพิ่มสเกลเป็นโปรแกรมแปล มีโครงสร้างไวยากรณ์ ซึ่งไวยากรณ์ภาษาไทยกับภาษามือไม่เหมือนกัน มากกว่านั้นคือสร้างคำศัพท์ได้ด้วย ตอนนั้นน่าจะได้ไปโชว์ที่ NSC ในปีนั้นด้วย และไปแข่งในงานถนนเทคโนโลยี แล้วเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่ง i-CREATe ที่ประเทศจีน ได้รางวัลที่หนึ่งมาครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

ทางลัดสู่เจ้าของบริษัท

NSC ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการนำเสนอที่ดี อาจารย์มีเวลาแค่นั้น ทำอย่างไรให้อาจารย์เข้าใจทั้งหมดที่มี และได้รู้ว่าโครงสร้างไหนที่เราทำมันมีประโยชน์ แม้ยังไม่สมบูรณ์แต่รู้ว่ามีคอนเซ็ปท์ไอเดียอย่างไร เรามีการทำพรีเซนเทชันที่เปิดไฮไลท์ให้ดู แล้วใช้วิธีคิดแบบนั้นมาเรื่อยๆ ครับ

ผมมองว่า NSC สมัยนั้นคล้ายๆ Startup สมัยนี้ที่ต้อง pitching เพื่อให้ได้ทุน พอได้ทุนแล้วเราต่อยอดได้ ทำให้รู้ว่ามันไม่ได้มีแค่เรียนจบแล้วไปทำงานในบริษัท แต่มันมีวิธีการอื่นที่สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ น่าจะเป็นประเด็นหลักที่ผมยึดมาตลอด ผมเคยลองทำงานระยะสั้นๆ ทั้งบริษัทคนไทยและฝรั่ง งานโรงงาน งานขายของ จนถึงงานที่ไม่เกี่ยวกับไอที ก็ลองมาหมดแล้ว จนรู้ว่าผมอยากเป็นเจ้าของบริษัทมากกว่า เรารู้แล้วว่าพนักงานคนไทยเป็นแบบไหน พนักงานบริษัทฝรั่งเป็นอย่างไร งานโรงงานเราก็ไปลองมาแล้ว เราเห็นทุกอย่างว่าเป็นอย่างไร

จากบริษัทซอฟต์แวร์…สู่นักสร้างเกม

ตอนเปิดบริษัทผมก็ตัดสินใจง่ายๆ เพราะการทำธุรกิจต้องอาศัยคอนเนคชัน ซึ่งเราเคยเข้าไปทำระบบเว็บไซต์ที่กำลังบูม เราช่วยงานอาจารย์มาตั้งแต่ป.ตรี – ป.โท อาจารย์ทำงานวิจัยเราก็ไปช่วยงานในส่วนไอทีได้ เลยมองว่ามันสามารถขยายได้ ลองก้าวเข้าสังเวียนดู ตอนนั้นเริ่มจากการเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เพราะทุนจดทะเบียนน้อย สามารถดำเนินธุรกิจได้แบบมีใบรับรอง เป็นธุรกิจเกี่ยวกับไอที พัฒนาซอฟต์แวร์ สักพักเริ่มรู้ว่าเราไม่สามารถรับงานใหญ่ได้ เลยเปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนจำกัดมาเป็นบริษัท

แต่มันมีจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งคือผมอยากทำเกม และมีเพื่อนมาชวนว่าอยากลองทำด้วยกันไหม ผมไม่เคยทำเกมมาก่อน แต่เคยทำเรื่องกราฟิกมาก็เลยลองดู อีกอย่างมีเทคโนโลยี Unity 3D ช่วยให้ทำเกมง่ายขึ้น กลายเป็นว่าเกมติดอันดับหนึ่งของแอปสโตร์ ก็เลยคิดว่าออกมาทำจริงจังเลยดีกว่า เงินเก็บที่ทำบริษัทซอฟต์แวร์ยังมีอยู่ เลยออกมาทำเกมส่วนตัว ทำไปสักพักเราได้ไปโตเกียวเกมโชว์ที่ญี่ปุ่น แต่มันมีช่องว่างที่เราไม่สามารถพัฒนาโปรแกรมได้เร็วเท่าเขา เขาใช้เวลา 2 – 3 เดือน แต่เราใช้เวลา 1 ปี ทำให้ต้นทุนสูงมาก เราขายไม่ได้ เกือบเจ๊ง

แนะนำรุ่นพี่ NSC

ถ้า Logic ดีจะไม่มีกำแพง

หลังจากนั้นผมกลับมาตั้งบริษัทใหม่ ชื่อว่า บริษัท บิ๊ก เดต้า เอเจนซี่ จำกัด และมีนายทุนมาลงทุนให้ ซึ่งตอนนั้นเป็นเทรนด์ของ Big Data กับ AI เราตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งเราให้ความสำคัญกับเดต้าสูงมาก หลังจากได้เดต้าแล้วไปทำอะไรต่อ เช่น การวิเคราะห์ การแยกกลุ่มลูกค้า การทำนายผลต่างๆ เราทำให้ลูกค้าเห็นภาพนั้นเลย คือเราไม่ต้องการเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชัน เราต้องการเอาเดต้ามาใช้งานต่อ มาวิเคราะห์ต่อ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ตั้งใจเข้ามาเป็นนักศึกษาวิศวกรรมฯ ตั้งแต่ต้น รู้สึกว่าทุกอย่างเราทำได้หมด ภาษาไม่มีข้อจำกัดหรือกำแพง จะเขียนภาษาอะไรก็ได้ อยู่ที่อัลกอรึทึม วิธีการคิด และ logic มากกว่า ซึ่งการที่จะอยู่ในตลาดได้นาน ผมมองว่ามีปัจจัย 2 ส่วนจากในและนอกบริษัท ถ้าเป็นในบริษัทต้องฝึกเด็กไม่ให้มีกำแพงภาษาที่เขียนโปรแกรม เราไม่ได้ต้องการให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษานั้น เราต้องการแค่ให้เขาเขียนโปรแกรมได้ อาจใช้เวลาเรียนรู้หน่อย กับภายนอกเราต้องหาเทคโนโลยีใหม่ๆ จะได้เตรียมฝึกน้องๆ ได้ สามารถคุยกับลูกค้าได้ มันก็จะต่อยอดได้

เด็กรุ่นใหม่ต้องพัฒนา logic

ผมมองว่า ทักษะที่เด็กไอทียุคนี้ต้องมีเป็นเรื่อง logic อย่างเดียวเลยครับ ผมยกตัวอย่างจาก NSC ที่เห็นชัดเลย อย่างผมก็จะดูว่าเด็กผ่านการประกวดอะไรมาบ้าง เพราะถ้าเด็กที่ผ่านการประกวดมาจะมี logic ในการคิดว่าทำอย่างไรจะได้ที่หนึ่ง ทำอย่างไรจะพรีเซนต์ได้ ทำอย่างไรจะไปต่อได้ ซึ่งการเขียนโปรแกรมในมหาวิทยาลัยมา 4 ปีมันคือโปรแกรมส่งอาจารย์ แต่อาจใช้งานจริงไม่ได้ เราต้องการแค่ logic ซึ่งมีหลายกิจกรรมที่สร้าง logic ให้เด็กได้ และจะทำให้คุยกันรู้เรื่อง ถ้าจะไปทางไอทีต้องหากิจกรรมพวกนี้ที่ช่วยพัฒนา หรือถ้าอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่ง ก็ต้องไปแข่งเขียนโปรแกรมในระบบปิด แต่ถ้าอยากพรีเซนต์ได้ อยากเป็นคล้ายๆ สตาร์ทอัพด้วยก็มาแข่ง NSC

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

สอนเด็กได้…ก็เรียนรู้จากเด็กได้

ผมได้ไปเป็นกรรมการ NSC ระดับภาคเหนือหลายรอบเกี่ยวกับการพัฒนาเกมและสื่อการสอน เราเห็นชัดว่าเด็กทำ proposal ออกมาดี แต่ผลลัพธ์ที่แสดงไม่ได้ตาม proposal แสดงว่าเด็กขาดช่วงจังหวะการพัฒนา ผมอยากแนะนำเรื่องการแบ่งย่อยไทม์ไลน์ ซึ่งอาจต้องแนะนำเขาตั้งแต่แรกว่าควรทำแค่นี้จะทำเสร็จ ทำไมถึงคิดว่าทำได้ ทำไมทำไม่ได้ แล้วให้ความเห็นไป ตอนนี้มีแค่การตรวจว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้า proposal ดี เข้าใจคอนเซ็ปท์กันตั้งแต่ต้นก็จบครับ การตรวจก็ต้องตรวจตาม proposal ว่าเขาทำได้ตามนี้ไหม

ผมได้เอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นกรรมการ NSC ไปใช้พัฒนาในบริษัทเหมือนกัน มีการแข่งขันคล้ายๆ NSC ในบริษัท ลองให้น้องเสนอไอเดียมา เราก็จ่ายเงินไป บางอย่างที่เราไปขายลูกค้าอาจจะเรียนรู้มาจากลูกน้องก็ได้ ลองให้เขาคิดมากกว่าเดิม เด็กก็สามารถปรับปรุงตัวได้ จากนักพัฒนาอาจทำธุรกิจในอนาคตได้

NSC คือตลาดคนไอทีชั้นดี

สมัยก่อนเวลามีพี่ๆ หลายบริษัทมาเดินตามบูธแล้วให้นามบัตร เราจะแฮปปี้มาก เหมือนเราได้รับการติดต่อแล้ว เป็นอันหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับ NSC คือการสรรหาพนักงาน (Recruitment) เรามั่นใจว่าน้องมี logic ที่ดี มีน้องๆ NSC หลายคนที่ผม recruit มาอยู่ในบริษัท เราเห็นว่าเรื่อง recruit น่าจะสำคัญที่สุดแล้ว ไม่ได้บอกว่าเด็กที่ผ่าน NSC จะเก่งหรือเทพเลย แต่เรารู้ว่าน้องมี logic ที่ดี มีการเตรียมพรีเซนต์ รู้ว่าทำอย่างไรให้ตัวเองชนะ และคนที่เราเลือกมาส่วนใหญ่เป็นคนที่ชนะ เขาจะมี mindset ไม่เหมือนทั่วไป เขามีการเตรียมตัวไม่เหมือนคนอื่น ต่างจากคนที่ไม่ได้ผ่าน NSC มาที่เราอาจไม่เห็นภาพชัดเจนเท่า ยิ่ง NSC ปัจจุบันเด็กแข่งมาตั้งแต่มัธยมปลาย รู้ว่าจะเขียน proposal อย่างไร หรือพรีเซนต์อย่างไร

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

ผมค่อนข้างมั่นใจว่า เราไม่มีข้อจำกัด ดังนั้น เราสามารถเป็นผู้พัฒนาโซลูชัน (Solution) ให้ลูกค้าได้ เราไปช่วยเปลี่ยนปัญหาหรือโจทย์ของลูกค้าเป็นโซลูชัน ซึ่งเราไม่ได้บังคับว่าต้องใช้บิ๊กเดต้าเท่านั้น ใช้อะไรก็ได้ที่มันง่ายและ implement ได้ดี ได้เร็ว และเกิดผลลัพธ์ได้จริง ลูกค้าก็แฮปปี้และใช้งานเราต่อไปเรื่อยๆ

สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากเพื่อนรุ่นเดียวกัน อาจเป็นเพราะเราลองคำนวณรายได้จากการเป็นพนักงานประจำแล้วมันไม่เพียงพอ ซึ่งเราต้องการเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงพ่อแม่ เราต้องการเรียน ป.โทด้วย ทุกอย่างเป็นเงินที่เรารู้ว่าเท่าไหร่ มันมีเงินเป็นปัจจัยสำคัญ ทำอย่างไรจะได้เงินจำนวนเยอะ ต้องทำโปรเจกต์และออกมาเป็นผู้ประกอบการ รับงานเอง รายได้จะสูง แต่ความเสี่ยงก็สูง ตอนนั้นยังไม่คิดเรื่องความเสี่ยง คิดแค่เราส่งงานตรงเวลา ลูกค้าแนะนำกันต่อ แต่ที่ตั้งใจคืองานทุกงานต้องทำให้เสร็จและใช้งานได้ ถ้าไม่ได้ใช้งานต้องฝืนใจไม่รับ เพราะรู้สึกว่ามันจะขึ้นหิ้งไป ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครบอกต่อ ซึ่งเป็นผลมาถึงปัจจุบัน คนแนะนำก็จะบอกว่าเราทำงานจบแม้จะแพงกว่าคนอื่นก็ตาม

ฉีกตัวเองให้แตกต่าง!

ตอนอายุ 30 ปีผมก็ทำตัวเหมือนเน็ตไอดอลทั่วไป ที่บอกว่าอายุ 45 ปีจะเกษียณตัวเอง แต่มาถึงจุดนี้ผมทำไม่ได้ ที่ตั้งเป้าก็คือ ตอนนี้ลูกค้าของผมทั้งหมดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปีนี้เน้นภาครัฐ ปีถัดไปอยากกลับไปที่ภาคเอกชนที่เป็นธนาคาร ตั้งเป้า 3 ปี – 5 ปีตามเทรนด์ ยังไม่ได้มองไกลมาก เพราะเทคโนโลยีมันเปลี่ยน

ผมอยากไปทางอื่นที่ไม่ใช่ทางปกติ ถ้าเป็นทหารก็อาจจะมีอะไรบางอย่างที่ผมพยายามฉีกกว่าคนอื่น พยายามหาวิธีดีดตัวเองขึ้นมาให้ได้ อย่างตอนตั้งบริษัทก็คิดว่าเราจะสามารถใช้เงินศูนย์บาทในการสร้างบริษัทได้ไหม เราจะอยู่ได้ไหม มันเหมือนเป็นความท้าทายเรื่อยๆ ถ้าเป็นตอนนี้คือ เราจะทำเทคโนโลยีใหม่เหมือนต่างชาติได้ไหม …

เพราะชีวิตมักมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นตลอดเวลา การมีวิธีคิดแบบเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ย่อมทำให้เราไม่มัวจมอยู่กับฝันที่พลาดหรืออุปสรรคที่คอยดักจับ และมากกว่านั้น หากเราสามารถแปรรูปประสบการณ์จากการเรียนรู้ ไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่แตกต่างจากคนอื่นได้ เชื่อเถอะว่าความสำเร็จย่อมรอเราอยู่ไม่ไกล เหมือนที่เป้ทำได้ในวันนี้…

แนะนำรุ่นพี่ NSC
 
ข้อมูลการศึกษา
  • 2005-2009 M.Eng. – Master of Engineering (Computer Engineering) Faculty of Engineering, Chiang Mai University, Chiang Mai, Thailand
  • 2005-2007 M.Eng – Master of Engineering (Mechatronic Engineering) Faculty of Engineering, Mie University, Mie, Japan
  • 2000-2004 B.Eng. – Bachelor of Engineering (Computer Engineering) Faculty of Engineering, Chiang Mai University, Chiang Mai, Thailand
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2004
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • 2017 CSDeep: A crushed stone image predictor based on deep learning and intelligently selected features in 2017 2nd International Conference on Information Technology (INCIT)
  • 2017Developing Software for the Deaf Community: Conquering an Extreme Case Scenario in 2017 21st International Computer Science and Engineering Conference (ICSEC)
  • 2015 MOST Innovation Award 2015,1st prize (National Awards) Ministry of Science and Technology Award 2015 “Virtual Reality and 3D Hologram on Mobile platform”
  • 2015 NSP Innovation Awards 2015, 1st prize (Regional Awards) Northern Science Park Innovation Awards with “Virtual Reality and 3D Hologram on Mobile platform”
  • 2010 iCREATe2010, 1st prize (International Awards) in the National Software Contest with “Thai-3D Thai Sign Language Translator”
  • 2010 Technology Street 2010, 1st prize (National Awards) in Technology Street 2010 with “Thai-3D Thai Sign Language Translator”
  • 2004 NSC2004, 4th prize (National Awards) in the National Software Contest with “3D Thai Sign language Dictionary”
ปัจจุบัน
  • Solution Architect Director/CEO Big Data Agency co.,Ltd
ความเชี่ยวชาญ
  • Programming Languages
    • C / C++ / C#, J2SE/J2ME/Swing, VB, OpenGL, SQL, MySQL
  • Web Technology
    • Servlet, JSP, Java script,Ajax, XML, HTML, ASP.NET, C#.NET, PHP
  • Operating Systems / Application Platforms / Application Servers
    • MS Windows (all versions), Unix/Linux (Redhat), Mac OSX, MS Office
  • Programs
    • Adobe Dreamweaver, Photoshop
  • Other
    • Fuzzy Logic, Neural Network, Computer Simulation, Image Processing, Data Mining