แนะนำรุ่นพี่ NSC : นายพีรพัทธ์ นันนารารัตน์ (NSC 2010)

Facebook
Twitter
บทสัมภาษณ์ | เดือนมิถุนายน 2561
เรื่อง | มณฑลี เนื้อทอง, กิติคุณ คัมภิรานนท์
ภาพ | ธวัชชัย เหล่าชัยพฤกษ์
“เป็ดนั้นทำได้ทุกอย่าง แต่อาจไม่ดีสักอย่าง ทว่ามนุษย์กลางๆ ถ้าพัฒนาตัวเองให้ถูกจุด จะสามารถทำได้ทุกอย่าง…”

นั่นคือคำจำกัดความของ ‘ฮง’ พีรพัทธ์ นันนารารัตน์ ที่ปรึกษาด้าน Interactive ที่นำเสนอตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาเป็นมนุษย์กลางๆ ที่ไม่มีทักษะไหนที่โดดเด่นชนิดเป็นเลิศ แต่ด้วยความที่เปิดรับสาขาวิทยาการอย่างรอบด้าน ไม่จำกัดตัวเองอยู่เพียงจุดใดจุดหนึ่งนั้นเอง ที่ทำให้เขาโดดเด่นรอบรู้ครอบคลุมทุกองคาพยพของโลกไอที ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สร้างเส้นทางชีวิตที่ชัดเจนให้กับเขา ลองไปฟังบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ แล้วคุณจะพบว่า ความสำเร็จอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับขอบเขตของความเก่ง แต่ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นและรู้จักตัวเองดีที่สุดต่างหาก

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

เพราะอยากเล่นเกมสนุก…จึงมาเป็นเด็กคอมฯ

เริ่มต้นจากเป็นเด็กชอบเล่นเกม ก็คงเหมือนกับหลายๆ คน ทำให้ศึกษาคอมพิวเตอร์ละเอียดมากขึ้น จะได้เล่นเกมสนุกขึ้น จนกระทั่งรู้จักโครงการ NSC ตอน ม.4 และได้เจอบทความต่างประเทศชิ้นหนึ่งที่บอกว่า เกมนอกจากเล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังสามารถเอาไปทำอย่างอื่นได้ ซึ่งมีเกมประเภทหนึ่งเรียกว่า Serious Game คือเกมที่มีวัตถุประสงค์หลักไม่ใช่เพื่อความบันเทิง แต่ยังต้องเล่นแล้วสนุก ผมก็เลยมีความคิดที่จะทำ Serious Game จนออกมาเป็นเกมชื่อว่า BKK TaXo MeTroN ส่งแข่งขัน NSC ครั้งที่ 12 ได้เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ แต่ไม่ได้รางวัลครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

ทำเนียบรุ่นพี่..จุดประกายแห่งโอกาส

จุดที่ตัดสินใจส่งผลงานเข้าแข่งขัน NSC ตอนนั้นก็คือ ผมไปเจอทำเนียบ NSC รุ่น 1 ในห้องสมุดของโรงเรียน มีงานหลายๆ ชิ้นที่น่าสนใจมาก บางชิ้นเป็นงานระดับมัธยมฯ ด้วย จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วตอนพวกเขาอยู่มัธยมฯ กัน เขาทำงานได้ขนาดนั้นเลยหรือ? ก็เลยคิดว่า NSC น่าจะทำให้เราพัฒนาตัวเองได้หลายอย่าง แม้ไม่ได้คิดว่าจะชนะหรือได้รางวัลอะไร แต่อย่างน้อยเป็นโอกาสที่ได้ทดลองทำครับ

หลังจากนั้นก็ส่งผลงานแข่งขันเวทีอื่นๆ ด้วย เช่น TICTA (Thailand ICT Awards) น่าจะปีเดียวกัน ได้รางวัลรองชนะเลิศ ถัดมาเป็นเวที Thailand Digi Challenge ได้รางวัลชนะเลิศ และมีงานของ อพวช. (องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ) ได้รางวัลรองชนะเลิศ ก็ประกวดเป็นระยะๆ เป็นคนละผลงานกัน แต่จะเป็นลักษณะ Interactive และ e-learning ครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

จัดระเบียบความคิดไปกับ NSC

NSC สอนให้ทำงานเป็นระเบียบ จากเด็กที่มีจินตนาการเต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่ข้อเสนอโครงการตามคู่มือที่ได้มามันเปิดโลกผมมาก แค่ทำงานเกมสักชิ้นหนึ่งมันฝังอยู่ในสัญชาตญาณของผมจนถึงทุกวันนี้ก็คือ Economy and Social Impact ดังนั้นไม่ว่าจะทำผลงานอะไรขึ้นมาก็ตาม ต้องอธิบายให้ได้ว่าเราคาดหวังให้งานชิ้นนี้มีผลต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร ผมมองว่ามันเป็นวิธีคิดที่ดีมาก และยังมีอีกหลายข้อของข้อเสนอโครงการที่ถามตรงๆ เลยว่า งานชิ้นนี้ทำเพื่ออะไร เพื่อใคร คุณค่าอยู่ที่ไหน ซึ่งผมกับเพื่อนหลายๆ คนก็พูดคุยตรงกันว่า ถ้าไม่หลอกตัวเองตั้งแต่รอบข้อเสนอโครงการอย่างไรก็ไปต่อได้ หลังจากนั้นเวลาผมทำงานสิ่งนี้มันอยู่ในความคิดของผมตลอด

ชีวิตดี๊ดีเมื่อเรียนสิ่งที่ชอบ

หลังจากเรียนจบมัธยมฯ ผมสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) วิชาเอกสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย ผมอยากเรียนสายนี้โดยตรง ซึ่งมีความสุขในการเรียนมากครับ หลายคนมองว่ามันยากแต่การที่เราเจอตัวเองมันสนุกมาก ผมรับงานระหว่างเรียนไปด้วย เรียน ทำงาน ใช้ชีวิต เป็นเรื่องเดียวกันหมด ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง พอผมเข้าไปเรียนที่ มศว.พบว่าเพื่อนทั้งหมดเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่เจ๋งมาก แต่ผมเป็นมนุษย์กลางๆ (หัวเราะ) ทำงานสายโปรแกรมมิ่งกึ่งๆ มา ผมก็ต้องมาไล่ตามเขาในด้านกราฟิกดีไซน์ ด้านอนิเมชัน แต่อาศัยว่าเรามีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ลึกกว่าเพื่อน มันก็เป็นประโยชน์ในการทำงานได้

แนะนำรุ่นพี่ NSC

 

มนุษย์กลางๆ ที่เป็นตัวของตัวเอง

แม้เริ่มแรกผมจะเรียนรู้การเขียนโปรแกรมก่อน แต่จริงๆ ผมเป็นคนที่โปรแกรมมิ่งก็ไม่ได้ดี ดีไซน์ก็ไม่ได้ดีมาก คือผมเป็นมนุษย์กลางๆ คนหนึ่ง หลายคนอาจเรียกว่า ‘เป็ด’ ก็ได้ แต่ในความกลางมันมีจุดหนึ่งที่เราเห็นงานทั้งสองข้าง แล้วเราพอจะให้น้ำหนักได้ว่าตรงนี้ใช้โปรแกรมมิ่ง ตรงนี้ใช้ดีไซน์ มันทำให้โตมาในแบบของตัวเอง ซึ่งความเป็นมนุษย์กลางๆ มันเริ่มชัดเจนตอนเรียนปี 3 ขณะที่เพื่อนเลือกกันหมดแล้วว่าจะเป็นอนิเมเตอร์ จะทำเกม เราก็ยังคงชอบวิถีกลางๆ อยู่ เพราะถ้าให้ไปทุ่มเททางใดทางหนึ่งด้วยเวลาและข้อจำกัดที่มี ผมอาจทำงานด้านหนึ่งได้ดีมาก แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะไม่ดีนัก เลยทำให้ตัดสินใจว่า อะไรที่เป็นตัวเราก็ไม่ต้องฝืนมัน ถ้ามันมีทางไปของมันเราก็ไปต่อ

ไปให้สุดทาง (สายกลาง)

ตอนนี้ผมเป็นที่ปรึกษาด้าน Interactive ซึ่งใช้ความรู้พื้นฐานด้านเกมเยอะ แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ทั้งงานภาครัฐและเอกชน การทำให้ผู้ใช้เข้าใจเนื้อหา เข้าใจกระบวนการทำงานต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น Dashboard ผู้บริหารองค์กรแห่งหนึ่งสามารถมองเห็นงานลูกน้องทั่วประเทศได้ สามารถควบคุม สั่งการ ดูแล อนุมัติ โดยลดขั้นตอนต่างๆ ทางราชการลงได้ หลังจากทำงานด้านนั้นมาทำให้เข้าใจว่ามันต้องผสมผสานหลายอย่าง ทั้ง Data visualization, Interactive ไปจนถึง Data science ผมก็เลยลงเรียนปริญญาโทต่อที่นิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) สาขา Interactive Media Science ให้มันลึกไปอีก ที่เลือกทำงานสายนี้ก็เพราะความที่ผมเป็นมนุษย์กลางๆ มองอยู่ในมุมที่เห็นซ้ายเห็นขวา รู้ความเป็นไปทั้งหมด มันเลยเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ว่า ถ้าเลือกจะอยู่ตรงกลางก็อยู่ตรงกลางให้สุดจริงๆ

ทางลัดของเด็ก (เก่งเป็น) พิเศษ

ผมไม่ได้เป็นคนใส่ใจการเรียนเท่าที่ควร เพราะรับงานด้วยแต่ก็ยอมแลก เพราะมองว่าการทำงานจริงสำคัญกว่า การมาเจอโลกข้างนอกสำคัญและมีประโยชน์กว่า มันทำให้ได้เรียนรู้อะไรจริงๆ และเร็วกว่ามาก ทันโลกกว่ามาก แค่ต้องรักษาระดับไม่ให้เรียนตกซ้ำชั้น ผมเลยอยากเสนอว่า ถ้าเราเจอนักเรียนที่เขามีศักยภาพในระดับหนึ่งและสามารถพัฒนาโดยตรงได้ เช่น มีความรู้เรื่องแอปพลิเคชันที่ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำตรงนี้ได้ น่าจะมีทางลัดให้เขาไปถึงจุดที่สามารถทำงานต่อได้เลยไวๆ คือถ้าศักยภาพถึงต้องติดสปีดให้เลย หรือถ้าจะเร่งรัดพัฒนาเยาวชนด้านนี้ต้องมีทางเลือกพิเศษเพิ่มขึ้นมา อย่างผมไปดูงาน NSC เจอเด็กบางคนด้วยความสามารถเขาน่าจะจบปริญญาตรีหรือน่าจะถึงปริญญาโทแล้ว แต่ยังเรียน ม.4 ม.5 อยู่ หรือบางผลงานดีมาก แต่เด็กไม่กล้า เราพาคนซื้อมาที่หน้าบูธแต่เขาไม่ขาย บอกว่าจะเรียนต่อ ป.โท ซึ่งทำให้เสียโอกาสทั้งประเทศและตัวนักเรียนด้วย

จงมั่นใจ แต่อย่าหลอกตัวเอง!

มีน้องๆ หลายคนเชื่อว่าไม่ต้องเรียนจบก็ได้ สตีฟ จ๊อบส์ กับบิล เกตท์ กับมารค์ก ซักเคอเบิร์ก ก็ยังเรียนไม่จบเลย (หัวเราะ) ซึ่งมันก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง มันไม่ได้พิสูจน์ว่าเราจะทำได้อย่างนั้น ต้องสร้างความมั่นใจให้ตัวเองและอย่าหลอกตัวเอง เวลาจะออกมาทำอะไรต้องเข้าใจตัวเองก่อน คือมันจะมีช่วงฝันหวานช่วงหนึ่งเวลาที่คิดอยากทำอะไรมากๆ มันมีไฟเยอะมาก คิดว่าสำเร็จแน่นอนโดยไม่มองหน้ามองหลังเลย แต่จริงๆ ต้องคิดเยอะกว่านั้น พยายามมองหลายๆ มุม รับฟังคนรอบข้าง คิดด้วยเหตุผลก่อนว่า หากจะทิ้งตรงนั้นมาทำตรงนี้มีอะไรมารองรับบ้าง ซึ่งตัวชี้วัดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่อย่าหลอกตัวเอง เหมือนเรากำลังตกหลุมรักกับงานนี้แล้วจะทำให้ได้ มันจะกลายเป็นดันทุรัง

ชีวิตจะก้าวหน้า ถ้ามองเห็น Career path

สิ่งที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จ ข้อหนึ่งก็คือ การมอง Career path ก่อน อย่างอาชีพราชการหรืออื่นๆ เขาจะมี Career Path แน่นอน จากระดับนี้ไประดับนี้แล้วไประดับนี้ แต่ถ้าเป็นอาชีพที่ Career Path ไม่ได้เป็นเส้นตรงเสมอไป อย่างสายไอทีที่อยู่นอกสายหลัก คือสายหลักเขาจะเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือ System Analysis หรือ Project Manager แต่ผมจะอยู่นอกสายหลักออกมา ต้องมองให้ชัดว่าตอนนี้จะเป็นอะไร จะทำอะไรต่อ ทุกวันนี้ผมเป็นอาจารย์พิเศษบ้าง มันก็พอจะมองปะติดปะต่อว่านอกจากตรงนี้เราจะไปทำตรงนั้นต่อได้ ต้องมองให้ขาดว่าอนาคตหลังจากจุดนี้ ระยะสั้น ระยะยาวจะเป็นอะไรต่อ เพราะถ้ามองไม่ขาดพอไปถึงจุดหนึ่งก็จะเคว้ง ถ้าเลือกจะเป็นคนกลางๆ ต้องคิดไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

นิยามตัวเอง ณ วันนี้

ช่วงแรกๆ ที่ผมส่งผลงานแข่งขัน NSC ผมเรียกตัวเองว่า Game Developer ก็เป็นคำกลางมาก เพราะมันไม่ได้บ่งว่าเป็นโปรแกรมเมอร์หรือกราฟิกดีไซเนอร์ บางทีก็ทำงานวันแมนโชว์เขียนเกมขึ้นมาด้วยตัวคนเดียว แต่ตอนนี้มองกว้างกว่า Game Developer ขึ้นมาครับ ก็คือเป็นคนทำ Interactive รวมไปถึงซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันด้วย ทุกวันนี้ผมทำงานกับข้อมูลที่เข้าใจยากและเป็นข้อมูลเฉพาะทาง มีหน้าที่ทำให้มันเป็น Dashboard หรือเป็น Business Intelligent Tools ถ้าตีความก็คงตีความว่าเป็นคนทำ Interactive ครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

แชร์ความรู้สู่สายงานอื่น

จริงๆ ผมชอบการสอนพอสมควร พอจบปริญญาตรีเคยลองสอนในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากร เคยไปสอนคณะที่อยู่นอกสาย เช่น คณะพยาบาลศาสตร์ ไปสอนทำสื่อเพราะเดิมเขาอธิบายด้วยศัพท์เทคนิค (Technical terms) ทำอย่างไรให้เขาอธิบายด้วยอินโฟกราฟิกได้ หรือทำเป็นวิดีโอแล้วเอาไปลงโซเชียลเน็ตเวิร์ค บางคนเอาความรู้ตรงนี้ไปทำเพจของตัวเอง ยอดไลค์เป็นหมื่นเป็นแสนก็มี

ผมชอบอยู่กับข้อมูลใหม่ๆ ถ้าอยู่นอกสายเราก็ทำความเข้าใจกับมัน คุยกับคนที่อยู่สายนั้นแล้วเอาความสามารถเราไปเสริมเขา บทบาทเราเป็นแบบนั้น ซึ่งมันเปิดโลกอีกอย่างเลยครับ จากที่คิดว่าถ้าเป็นอาจารย์ก็ต้องสอนไอที สอนเกม กลายเป็นว่าความรู้เราก็มีประโยชน์กับสายอื่นเหมือนกัน คิดว่าคงเป็นก้าวต่อไปของเราด้วยครับ

แนะนำรุ่นพี่ NSC

ไอทีคือรากฐานของโลกยุค 4.0

ผมเคยพูดมาตลอดว่าไอทีไม่ใช่สายที่แยกจากสายอื่น มันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่เสริมสายอื่นได้ เพราะพื้นฐานไอทีหรือพื้นฐานการคิดอย่างเป็นระบบมันเอื้อต่อการพัฒนาองค์ความรู้ในการทำให้ชีวิตง่ายขึ้น อะไรที่ซับซ้อนหรือต้องทำซ้ำๆ ถ้าเขาเขียนโปรแกรมได้ ช่วยงานเขาได้ มันก็ช่วยยกระดับงานเขา ลดเวลา ลดภาระ ความรู้ไอทีในระดับหนึ่งมันไปเสริมได้กับทุกศาสตร์ ไอทีไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็น Computer Science เสมอไป ซึ่งต่อไปก็คงผสมผสานเข้าหากันมากขึ้น สมมติครูเขียนโปรแกรมเป็นก็สามารถทำสื่อการสอนที่มีคุณภาพดีได้มากขึ้น หรือหมอก็สามารถทำฐานข้อมูลได้ มันเสริมกับทุกอาชีพจริงๆ เพราะมันเป็น Infrastructure ไปแล้วในยุค 4.0

คนไอทีต้องเปิดรับโลกภายนอก

เราทำให้คนสายอื่นมีความรู้ไอทีเพิ่มมา คนสายไอทีก็ต้องรู้กว้างรู้รอบมากขึ้น ต้องเข้าใจธรรมชาติของข้อมูลมากขึ้น รู้เนื้อหาและงานอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งผมอยากให้ผสมผสานระหว่างไอทีกับสายอื่นๆ ลดความแตกต่างลง นอกจากไอทีจะทำอะไรเชิงเทคนิคแล้วต้องมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย บางทีเราเจอปัญหา ด้วยความที่เราเป็นไอทีเราจะรู้ข้อจำกัด รู้ขีดความสามารถ สามารถมีข้อเสนอสะท้อนไปได้ว่าตรงนี้ซ้ำซ้อนนะ เปลืองแรง เสียเวลา ไอทีสามารถเติมส่วนนั้นเข้าไปได้ ซึ่งมันต้องลดช่องว่างระหว่างไอทีกับอื่นๆ ลง

คนที่ทำงานสายไอทีจะมี community อยู่เยอะ บางทีก็ได้ไปเจอคนที่เคยประกวด NSC มา อย่างเพื่อนที่ส่ง NSC ด้วยกันก็ได้เจอกันในโครงการถัดจากนั้น เป็นรุ่นราวคราวเดียวกัน เราได้เห็นเขาไปในทิศทางของเขาจริงๆ บางคนไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์แต่ก็เอาไอทีตามไปใช้ก็มี บางคนไปสายตรงจนประสบความสำเร็จก็มี ปลายทางมันเป็นตัวอย่างที่ดีว่าเขาสามารถผสมผสานตัวเขากับโลกภายนอก แม้ไปอยู่สายอื่นก็ยังผสมผสานกับไอทีได้

อดทนกับปัญหา คือชะตาคนไอที

สิ่งสำคัญต้องใช้ความอดทน เพราะพื้นฐานคนไอทีคืออยู่กับปัญหา งานทุกชิ้นเป็นปัญหามาหมด อย่าหัวเสีย ถ้าหัวเสียเวลาเจอปัญหา เจอโจทย์ หรือเจออุปสรรคแปลว่าไม่เข้าใจตัวเอง ต้องยอมรับว่ามันมีปัญหา ถ้าไม่ยอมรับว่ามีปัญหาแล้วโยนให้คนอื่นแก้หรือคิดว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของตัวเองมันจะไปต่อยาก ถ้าผ่านจุดนี้ได้ความอดทนจะเกิดแม้เจอแรงกดดันก็ทำหน้าที่ต่อได้ และต้องทำอย่างเต็มที่ทุกงาน..

เพราะถึงที่สุดแล้ว การจะประสบความสำเร็จนั้นอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความสามารถเป็นเอกด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะในมุมหนึ่ง คนที่เป็นมนุษย์กลางๆ ก็อาจมีความสามารถเป็นเอกในการมองเห็นภาพรวมและเชื่อมโยงสรรพวิทยาทั้งระบบได้

โจทย์ของการประสบความสำเร็จจึงน่าจะอยู่ที่การใช้ความสามารถที่เรามีนั้น พัฒนาผลงานเพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างประโยชน์ให้ผู้ใช้และสังคมได้อย่างไร? โดยที่ตัวเราเองไม่เดือดร้อน แถมยังมีความสุขที่ได้ทำมากกว่า

คนอื่นจะอย่างไรไม่อาจรู้ แต่สำหรับฮง..นั่นแหละคือความสำเร็จและความสุขของเขา

แนะนำรุ่นพี่ NSC
 
ข้อมูลการศึกษา
  • วิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกการออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย วิชาโทการสื่อสารเพื่อการจัดการนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ใบประกาศนียบัตร/ หลักสูตรการศึกษา
  • หลักสูตร Animation Kan Kluay 2 โดยความร่วมมือของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ บริษัท กันตนา แอนิเมชัน สตูดิโอ จำกัด
  • หลักสูตรนายทหารรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร กองทัพบก
  • โครงการ Open source software 3D Skill Improvement program for ASEAN Universities ณ Northern University of Malaysia
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
  • เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2010
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
  • รับพระราชทานรางวัล “โครงการด้วยรักและห่วงใย” ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี ปี 2557
  • รางวัลชนะเลิศ Thailand Digi Challenge สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ปี 2557
  • รางวัลรองชนะเลิศ ประกวดเกมการเรียนรู้องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ปี 2554
  • รางวัลรองชนะเลิศ Thailand ICT Award 2010
  • รางวัลชนะเลิศ การประกวดออกแบบเกมส่งเสริม วัฒนธรรมไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม ปี 2553
  • รางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ปี 2553
ปัจจุบัน
  • กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพอินเตอร์แอ็กทีฟ จำกัด
ความเชี่ยวชาญ
  • Interactive Media Design and Development
  • e-Learning Development
  • Business Process Management